ปลุกกระแสเลือกตั้งใหญ่จุดไฟปฏิรูป : พลิกวิกฤติเป็นโอกาส

ได้ระบุถึงสภาพปัญหาทางการเมืองและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีความขัดแย้งจนเกิดความรุนแรงหลายครั้ง เหตุการณ์ในลักษณะนี้ได้วนเวียนมาอย่างยาวนาน
โดยเฉพาะในห้วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ต่างฝ่ายต่างอ้างความชอบธรรมในอำนาจปกครองที่แตกต่างกัน
ซึ่งเกิดจากความเชื่อ ทัศนคติ ความเข้าใจในหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่แตกต่างกัน
การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม นักการเมืองขาดคุณสมบัติและจริยธรรม ไม่ทำ หน้าที่เป็นผู้แทนของประชาชน มีปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ พรรคการเมืองถูกครอบงำจากนายทุน
สภาพปัญหาดังกล่าวนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพทางการเมือง ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงของประเทศ แม้มีการใช้มาตรการบังคับลงโทษทางกฎหมาย เพื่อแก้ปัญหาการเมือง แต่ปัญหาไม่ได้ทุเลาเบาบางลง เนื่องจากประชาชนยังมีความรู้ ความเข้าใจไม่ตรงกันในหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย
แม้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองมากว่า80 ปี แต่ไม่ทำให้การปฏิรูปทางการเมืองเกิดผลสัมฤทธิ์ ยังคงมีความพยายามสร้างประชาธิปไตยในแบบของไทย โดยยึดหลักประชาธิปไตยแบบตะวันตกเป็นพื้นฐาน ผสมผสานให้เกิดความยืดหยุ่นกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทย ให้มีความผสมกลมกลืน เหมาะสมกับสังคมไทยมากขึ้น
สถาบันพระมหากษัตริย์ยังคงมีความยั่งยืน เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนต่อไป และพระมหากษัตริย์ยังคงเป็นสถาบันที่สร้างความชอบธรรม เสมือนดั่งผู้ให้การรับรองในเรื่องต่างๆ และให้การทำงานเพื่อบ้านเมืองสามารถดำเนินการไปได้อย่างถูกต้อง ชอบธรรม
เช่น กรณีการยึดอำนาจรัฐประหาร หลังยึดอำนาจคณะที่ทำการรัฐประหารจะต้องเข้าเฝ้าเพื่อกราบบังคมทูลเรื่องราวต่างๆ การแต่งตั้งผู้นำรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีที่จะเข้าไปบริหารบ้านเมือง ต้องได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง พร้อมต้องถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่
ขณะเดียวกัน ในพื้นฐานเดิมที่เกี่ยวกับทางด้านการเมืองไม่ได้อ่อนแอไปเสียทั้งหมด
ยังมีแนวคิดและมีวัฒนธรรมการเมืองแบบไทยๆ ทำให้การบริหารบ้านเมืองดำเนินไปด้วยดีหลายประการ
เช่น วัฒนธรรมทางการเมืองในลักษณะของความเชื่อที่ว่า ก่อนการเลือกตั้งคือการเมือง หลังการเลือกตั้งคือบ้านเมือง การเคารพผู้อาวุโสทางการเมืองในลักษณะวัฒนธรรมรุ่นพี่รุ่นน้อง มีธรรมเนียมการขอโทษและให้อภัยภายใต้การแข่งขันทางการเมืองหรือการทำหน้าที่เพื่อบ้านเมือง
สอดรับกับหลักการทำงานของคนไทย วัฒนธรรมทางการเมืองเหล่านี้มีส่วนทำให้การพัฒนาทางการเมืองดำเนินไปด้วยดี
การปฏิรูปการเมืองจึงต้องผสมผสานรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทั้งแบบตะวันตกและแบบตะวันออกเข้าด้วยกัน ผสมผสานกับวัฒนธรรมทางการเมืองที่ดีของไทย มาเป็นแนวทางในการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ซึ่งจะส่งผลให้การพัฒนาการเมือง การปกครองในระบอบประชาธิปไตยเกิดเสถียรภาพ มีความมั่นคง ยั่งยืน
การเมืองจะปฏิรูปให้เกิดเสถียรภาพ มีความมั่นคง ยั่งยืนได้อย่างไร นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ให้สัมภาษณ์ ทีมข่าวการเมือง ว่า การเมืองไทยเป็นระบอบไฮบริด สลับขั้วไปมาระหว่างระบอบประชาธิปไตยกับระบอบทหาร สังคมไม่ได้มีความผูกพันภักดีต่อทั้ง 2 ระบอบมากนัก
เราจึงมุ่งหมายให้ประชาชนมีพลังทางการเมืองมากขึ้น เพื่อพัฒนาประเทศสู่ความรุ่งเรือง
พรรคการเมืองก็ต้องสานต่อการปฏิรูปและยุทธศาสตร์ชาติ หากไม่ชอบก็สามารถปรับแก้ได้
ไม่ใช่ชนะเลือกตั้งแล้วก็ลิงโลดใจ ถ้าทำไม่ดีทหารก็เข้ามาอีก ทหารก็เช่นเดียวกันเมื่ออยู่ในช่วงยึดอำนาจทหารก็เป็นใหญ่ แต่อย่าคิดว่าประชาชนจะยอมตลอดไป เขาก็ต้องการเลือกตั้ง
ผู้นำต้องทำด้วย ไม่ใช่สั่งอย่างเดียว ผู้นำที่บริการรับใช้ คนไทยชอบ ขอให้อธิบายให้เข้าใจ ประชาชนพร้อมที่จะทำเดินหน้าการปฏิรูป ทำไปเรื่อยๆ ตอนนี้ควรเน้นให้การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นสุจริต โปร่งใส ไม่นำไปสู่ความแตกแยก เป็นปรปักษ์ต่อกัน
และรัฐบาลควรทำเรื่องเฉพาะหน้าที่เป็นพื้นฐานมูลฐาน เช่น ปฏิรูปเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมทางการเมือง เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ มีความเชื่อ ค่านิยม ทัศนคติที่ดีในทางการเมือง การปกครอง มีความตระหนักในสิทธิหน้าที่ เคารพกฎ-หมายและกติกาในการอยู่ร่วมกันในสังคม รู้จักยอมรับใน ความเห็นทาง การเมือง
พร้อมเป็นพสกนิกร ที่ดีของพระเจ้าแผ่นดินและสถาบันพระมหากษัตริย์
แผนและขั้นตอนปฏิรูปทั้งหมด รัฐบาลจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด ทำหน้าที่เชื่อมโยงรัฐบาล คณะกรรมการปฏิรูปด้านต่างๆ และกระทรวง กรม มีอำนาจว่ากล่าวตักเตือน สั่งปลัดกระทรวง อธิบดี หัวหน้าที่รับผิดชอบหน่วยงานต่างๆได้กำกับดูว่าทำตามแผนปฏิรูปแค่ไหน
พอทำไปสักระยะหนึ่ง คณะกรรมการปฏิรูปด้านต่างๆจะบอกว่าคนนั้นคนนี้ทำไม่เป็นไปตามเป้า ก็เป็นอำนาจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ต่อไปก็เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อาจจะเป็นรัฐบาลผสม มีพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ หรือรัฐบาลผสม มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ หรือรัฐบาลผสม มีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นนายกฯ ก็จะต้องเอาแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไขได้ แต่ต้องทำให้ถูกต้อง
ขณะที่พรรคการเมืองก็เป็นส่วนหนึ่งของแผนการปฏิรูปการเมือง จะต้องทำให้เป็นสถาบันและไปร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผ่านสถาบันวิทยาการพรรคการเมือง เพื่ออบรมบุคลากรในพรรคให้มีคุณภาพ มีจิตอาสา ในฐานะที่ผมเป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาพรรค การเมืองเพื่อการปฏิรูปประเทศ ได้วางกรอบบทบาทของสถาบันวิทยาการพรรคการเมืองและกำหนดไว้ในแผนการปฏิรูปการเมืองแล้ว
“ผมในฐานะเป็น 2 ประธาน ได้คุยกับผู้ใหญ่ของพรรคการเมืองต่างๆมาพอสมควร พบว่ามีความพยายามหลายอย่างที่น่าชื่นชม เช่น บ้านเมืองที่ไม่สงบมาจากความบกพร่องของพวกเขาด้วย ก็พยายามปรับปรุง
เขาไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นเพียงคู่ขัดแย้ง เขาอยากทำตัวเป็นเจ้าภาพเชื่อมสมานฝ่ายต่างๆด้วยถ้าเป็นไปได้
รวมถึงมีความพยายามจะออกมาพูดให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าจะทำให้บ้านเมืองสงบ
อยากสัญญากับประชาชนว่าจะส่งผู้สมัครที่ดีที่สุด เสนอนโยบายที่ดีที่สุด ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
และพยายามไม่ทำตัวให้เป็นอุปสรรคต่อการจัดตั้งรัฐบาล พร้อมร่วมมือกับทุกพรรคให้กว้างที่สุด
ถ้าเป็นฝ่ายค้านก็จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ถ้าเป็นรัฐบาลก็อยู่กับฝ่ายไหนก็ได้เพื่อให้เกิดความคล่องตัว
ไม่อยากเห็นบ้านเมืองอยู่ในทางตีบทางตัน อยากเห็นบ้านเมืองมีทางรอด
นับว่าเป็นสัญญาณที่ดี และเป็นอะไรที่ค่อนข้างใหม่ ที่พรรคการเมืองมีอารมณ์ความรู้สึกแบบนี้”
อีกกี่ปีถึงจะเห็นหน้าเห็นหลังการปฏิรูปการเมืองตามที่ประชาชนต้องการ นายเอนก บอกว่า การปฏิรูปเสกหรือเป่าให้สำเร็จไม่ได้ ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ทั้งรัฐบาลเริ่มจากชุดนี้ ต้องอธิบายให้ประชาชนเห็นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เพื่อปฏิรูปการเมือง
พรรคการเมืองโดยหัวหน้าพรรคจะต้องยอมรับแผนการปฏิรูป ถ้าเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้านจะทำเรื่องปฏิรูปอย่างไร
ในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งแรก ขอให้ประชาชนเห็นคุณค่าและความจำเป็นของการปฏิรูป โดยแสดงออกบนเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การปฏิรูปการเมือง
ถ้าจำเป็นก็อย่าเพิ่งไปคิดถึงเรื่องชัยชนะ ต้องเลือกนักการเมืองที่ถูกใจเท่านั้น
เพราะจะทำให้ประเทศขยับไปไหนไม่ได้ ลูกหลานของเราจะอยู่กันอย่างไร โอกาสดีของประเทศจะเสียไป
หากเป็นไปได้อยากให้เลือกพรรคการเมือง นักการเมืองที่เราไว้ใจว่าจะเข้าไปปฏิรูปการเมือง
ทำให้การเมืองเป็นธรรมาธิปไตย เป็นการเมืองของพลเมือง เป็นการเมืองที่พลเมืองเป็นพสกนิกร
การคิดแบบนี้เป็นการปฏิรูปจากภายในจิตใจของเราที่เบื่อการเมือง
เมื่อต่างคนต่างคิดแล้วไปหย่อนบัตรในวันเลือกใหญ่
ผลออกมาจะมีพลัง บังคับทิศทางการปฏิรูปได้.
ทีมการเมือง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น