PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2561

ดูดแชร์อำนาจ ประกันเสียงข้างมาก

ดูดแชร์อำนาจ ประกันเสียงข้างมาก



ผ่ายุทธการ“หลังม่าน”สมประโยชน์ต่างตอบแทน
ควันหลงเทศกาลมหาสงกรานต์
ในจังหวะไล่เลี่ยกับ “วันไหล” บางแสน พัทยา จังหวัดชลบุรี
มันก็มีปรากฏการณ์เซอร์ไพรส์ทางการเมือง ตามการอนุมัติของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. ผ่านมติคณะรัฐมนตรีนัดแรกหลังวันหยุดยาว
แต่งตั้งนายสนธยา คุณปลื้ม หัวหน้าพรรคพลังชล อดีต รมว.วัฒนธรรม ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และในคราวเดียวกันยังแต่งตั้งนายอิทธิพล คุณปลื้ม อดีตนายกเมืองพัทยา นั่งในตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีการท่องเที่ยวและกีฬา
มาเป็นแพ็กเกจ 2 พี่น้อง “พลังชล”
เบื้องต้น ตามเหตุผลที่ พล.อ.ประยุทธ์ชี้แจงเป็นเชิงว่า สถานการณ์ใกล้ปลดล็อกการเมืองไปสู่การเลือกตั้ง จำเป็นต้องตั้งที่ปรึกษาทางการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดินบ้าง
เพราะตนเองไม่มีความเชี่ยวชาญ
ขณะที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ตามข่าวเป็นผู้ประสาน ระบุว่า นายสนธยาได้อาสามาเพื่อจะสื่อสารกับประชาชน และทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่ เกี่ยวกับโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพราะพื้นที่ของนายสนธยาเป็นอีอีซีอยู่แล้ว
ดูแนวก็สมเหตุสมผล ว่ากันตามเนื้องาน
แต่โดยเงื่อนไขสถานการณ์มันหนีไม่พ้นถูกมองมุมแฝงเหลี่ยมทางการเมืองอยู่ดี
โดยเฉพาะในสายตาของนักการเมือง ทั้งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยต่างประสานเสียงโจมตียุทธการ “ดูด” ของพรรคการเมืองหนุน “นายกฯลุงตู่” ตีตั๋วต่อ
ปั่นกระแสประจาน “ตกเขียว” ด่า “ตกปลาในบ่อเพื่อน”
ทั้งเตือน ทั้งโห่ฮา ทั้งขู่ จะซ้ำรอยเผด็จการทหารที่ต่อท่ออำนาจการเมือง
แต่เรื่องของเรื่อง นักการเมืองเจ้าถิ่น ขาใหญ่อย่างประชาธิปัตย์กับเพื่อไทยด่าไป
ก็ต้องรีบตาลีตาเหลือก “อุดเลือดไหล” ไป
อาการแบบที่ “นายใหญ่” ดูไบ ต้องส่งน้องเขยอย่างนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ นำทีมแกนนำพรรคเพื่อไทยกว่า 20 คน ไปออกรอบตีกอล์ฟรายการเดิมพันสำคัญ
ชิงตระกูล “สะสมทรัพย์” รั้งบ้านใหญ่จังหวัดนครปฐมให้อยู่กับพรรคต่อไป
ไล่ตามรอยจากที่ “นายกฯลุงตู่” ไปออกรอบ พร้อมปรากฏรูปถ่ายกับพี่น้อง “สะสมทรัพย์” ต่อเนื่องกับปรากฏการณ์ที่ “บ้านใหญ่สะสมทรัพย์” ยังไม่ยืนยันสมาชิกกับพรรคเพื่อไทย
ส่อนัยจะชิ่งวิบากกรรมกับ “นายใหญ่” ย้ายเข้าสังกัดใหม่
อารมณ์เดียวกับพรรคประชาธิปัตย์ที่ต้องยืนขาสั่น ปากตะโกนเสียงแข็ง มั่นใจจะไม่มีสมาชิกย้ายออกจากพรรคไป ไล่หลังปรากฏการณ์ที่นายสกลธี ภัททิยกุล อดีต ส.ส.กทม. แกนนำ กปปส.ลาออกไปรับตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม. ต่อเนื่องจากการเข้าพบนายสมคิดที่ทำเนียบรัฐบาล
สถานการณ์ยังโยงกับคิวของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีตผอ.พรรคประชาธิปัตย์ แกนนำกปปส. ที่ส่อแหกค่าย ตามจังหวะเชิดใส่เสียงไล่ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ประกาศชัดใครหนุน พล.อ.ประยุทธ์ ให้ไสหัวออกจากพรรคไป
ล้อกับข่าววงในประชาธิปัตย์อาจมีอดีต ส.ส.กทม.หายอีกหลายคน
เพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ต่างคนต่างผวาแรงดึงดูด “ลุงตู่” ที่ไม่ธรรมดา
นั่นก็เพราะไม่ใช่แค่อิทธิพล อำนาจปืน อำนาจเงิน เหลี่ยมกฎหมาย ตามฟอร์มของผู้นำทหารเท่านั้น
แต่มันยังพิเศษตรงที่กระแสประชาชนไม่น้อย หนุน “นายกฯลุงตู่” ตีตั๋วต่อ เพราะเชื่อมั่นการทำให้บ้านเมืองสงบ จากผลงานที่สามารถคุมความมั่นคงจนปลอดม็อบป่วนเมือง การพัฒนาประเทศเดินหน้าต่อเนื่อง
คนไม่อยากเสี่ยงให้นักการเมืองกลับมาลากไปลงเหววิกฤติ
ประกอบกับแรงส่งจากนายสมคิดก็พาเศรษฐกิจภาพรวมติดลมบน การันตีด้วยคนระดับโลกอย่าง “แจ็ค หม่า” ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทอาลีบาบา และคณะผู้บริหาร บินตรงมาพบ “นายกฯลุงตู่” ที่ทำเนียบรัฐบาล
พร้อมกับมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) โครงการลงทุนด้านสมาร์ทดิจิทัล ฮับ จำนวน 4 โครงการ มูลค่ากว่า 1.1 หมื่นล้านบาท ในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นภาพที่ตอกย้ำเชื่อมั่นสถานการณ์การลงทุนในประเทศไทย
ตลอดช่วง 3–4 ปีที่ผ่านมา มีการแต่งตัวให้พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งในมุมเนื้องาน ความนิยม ความชอบธรรม และความเหมาะสม
เห็นได้ชัดเลยว่า กระบวนการหนุน “นายกฯลุงตู่” ตีตั๋วต่อรอบนี้ เตรียมทำการบ้านมาอย่างดี ศึกษาวางแผนจากโจทย์ความล้มเหลวในอดีต
ไม่ใช่สูตรสำเร็จของพรรคทหารที่ใช้อำนาจใช้เงิน เพื่อไปเจ๊งตอนจบ
ถึงจุดที่ครบเครื่องแล้ว ถึงเปิดไพ่ตีตั๋วต่อ
และแน่นอน ด้วยระบบนิเวศการเมืองแบบไทยๆ การก่อกำเนิดพรรคใหม่ได้ ต่อให้โลกสวย หลักการหรูยังไง มันก็ต้องมีนักการเมืองเก่าเป็นส่วนผสม
เพื่อประกันความชัวร์ ไม่จั่วลมวืดเป้า
โดยเฉพาะตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญใหม่ ถึงแม้จะมีการยกระดับความชอบธรรมให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็น “นายกฯคนใน” จากบัญชีนายกฯพรรค
แต่นั่นก็ต้องได้เสียงไม่ต่ำกว่า 25 ที่นั่ง พรรคถึงจะมีสิทธิเสนอชื่อผู้ชิงนายกฯได้
นี่คือสิ่งที่เป็นคำตอบได้ในเบื้องต้น เหตุผลที่พรรคหนุน “ลุงตู่” ตีตั๋วต่อ จำเป็นต้อง “ดูด” นักการเมืองเข้าสังกัด ไม่เว้นแม้แต่การ “ตกปลา” ในบ่อเพื่อน ดึงตัวกลุ่มการเมืองจากพรรคขนาดกลางและขนาดเล็ก ทั้งๆที่พร้อมยกมือโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่แล้ว
ต้องเอาให้ชัวร์ที่สุด ไม่เสี่ยงยืมจมูกคนอื่นหายใจ
ไว้ใจเขี้ยวนักการเมืองไม่ได้
และตามรูปการณ์ มันก็ย้อนรอยทฤษฎี “ขนมชั้น” ของ “ทักษิณ ชินวัตร” ในการก่อกำเนิดอาณาจักรไทยรักไทยที่เริ่มต้นจากเทคโนแครต นักวิชาการ รวมตัวกันคิดนโยบายขายตรงกับชาวบ้านรากหญ้า ถัดมาก็ดึงนักธุรกิจชั้นนำที่ประสบความสำเร็จมาร่วมทีม ก่อนจะโปะด้วยนักเลือกตั้งอาชีพเป็นชั้นสุดท้าย
กลายเป็นพรรคการเมืองที่สร้างประวัติศาสตร์ได้รับการเลือกตั้งถล่มทลาย
พรรคหนุน “ลุงตู่” ตีตั๋วต่อ ก็เริ่มก่อกำเนิดจากชื่อของนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ ทีมมือบริหารของ “สมคิด” เป็นชั้นแรก แล้วก็เริ่มห่อหุ้มด้วยนักการเมืองประเภทชัวร์ๆใส่แต้มล่วงหน้าได้อย่างทีมพลังชลและบ้านใหญ่นครปฐม
และว่ากันตามสูตรการเสริม “ขนมชั้น” ต้องมีตามมาอีกแน่
ไม่ใช่เรื่องเหนือการคาดหมาย ถ้าจะมีการต่อสายให้พรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดเล็กที่เคยมีที่นั่งในสภาฯ ทั้งพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา ฯลฯ ส่งตัวแทนเข้ารับตำแหน่ง ร่วมเป็นทีมงานบริหารกับรัฐบาล “ลุงตู่” ลักษณะเดียวกับค่ายพลังชล
ได้ทั้งเนื้องาน พร้อม “มัดจำ” ทางการเมือง
ที่สำคัญเป็นจังหวะแชร์อำนาจให้นักเลือกตั้ง ทหารเลิกผูกขาดแต่ผู้เดียว
ตามรูปการณ์มาถึงตรงนี้มันก็หนีไม่พ้นภาพการเมืองเป็นเรื่องของการสมประโยชน์
ไม่ว่ายุคทหารหรือยุคนักเลือกตั้งครองเมือง
อยู่ที่ว่าจะสมประโยชน์เฉพาะกลุ่ม หรือทำให้ประชาชนสมประโยชน์ด้วย
จากอดีตในยุคประชาธิปไตยเต็มใบ ทฤษฎี “ขนมชั้น” ทำให้ “ทักษิณ” เป็นเสือติดปีก เหลิงอำนาจ แปลงร่างเป็นเผด็จรัฐสภา สุดท้ายเข้าป่าเข้าพง
ทิ้งไว้ซึ่งความเจ็บปวดให้ประเทศไทยต้องเจอกับวิกฤติยาวนับสิบปี
ถึงวันนี้ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ ภายใต้การนำของ “ลุงตู่” ก็กำลังย้อนตำนานทฤษฎีขนมชั้นเดินหน้าสร้างรัฐบาล “ไทยนิยม” ตีตั๋วต่ออำนาจช่วงเปลี่ยนผ่าน
ประสบการณ์มีตัวอย่างแล้ว ต้องลุ้นตอนจบจะลงเอยอย่างไร.
“ทีมการเมือง”

ไม่มีความคิดเห็น: