PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2561

อารมณ์ การเมือง เนื่องแต่ ถ้อย ‘ผมพอแล้ว’ มาจาก ‘ภายใน’

อารมณ์ การเมือง เนื่องแต่ ถ้อย ‘ผมพอแล้ว’ มาจาก ‘ภายใน’



คําว่า “ผมพอแล้ว” อันเปล่งจากปาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก่อให้เกิดนัยประหวัดไปยังคำว่า “ผมพอแล้ว” อันเปล่งจากปาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
เพราะเป็นการเปล่งในเดือนสิงหาคมเหมือนกัน
จะต่างก็เพียงแต่ว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เปล่งเมื่อเดือนสิงหาคม 2531 ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เปล่งในเดือนสิงหาคม 2561
ห่างกัน 30 ปี
หากดูจากเจตจำนงของ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ก็คือ ไม่ต้องการเป็นนายกรัฐมนตรีอีกแล้ว เมื่อประสานเข้ากับเจตจำนงของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เด่นชัดว่าพอแล้วในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
นี่คือ ความเหมือน
กระนั้น ที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ ผลสะเทือนจากการเปล่งคำว่า “ผมพอแล้ว” จะมีมากน้อยเพียงใดในทางการเมือง
เมื่อมองไปยังรากที่มาของคำกล่าว “ผมพอแล้ว” ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มาจากการประเมินว่าอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมายาว นานอย่างยิ่งแล้ว
คือจากเดือนมีนาคม 2523 มายังเดือนสิงหาคม 2531
เป็นการอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยไม่ได้ลงเลือกตั้ง โดยไม่มีพรรคการเมือง เวลา 8 ปีเศษจึงน่าจะเพียงพอ
ผลก็คือ หลังการตัดสินใจ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ก็ได้เป็น “รัฐบุรุษ”
กระนั้น กล่าวสำหรับ พล.อ.ประวิตรวงษ์สุวรรณ เราอาจไม่รู้ว่าเหตุผลอันจำหลักหนักแน่นอย่างแท้จริงคืออะไร
สัมผัสได้เพียงบางถ้อยคำ
“ผมพอแล้ว โดนด่าพอแล้ว ด่าตลอดจริงๆ ผมทำแทบตายผมได้อะไรขึ้นมา โดนด่าอย่างเดียวไม่ได้อะไรเลย”

ตรงนี้ต่างหากที่แหลมคม
มีความจำเป็นต้องหวนกลับไปตรวจสอบว่า สภาพที่ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ “โดนด่าอย่างเดียว” กระทั่งลงเอยด้วย “ไม่ได้อะไรเลย”
สถานการณ์ “ล่าสุด” เป็นอย่างไร
การถูกด่า ถูกวิพากษ์วิจารณ์ จากฝ่ายตรงกันข้ามในทางการเมืองย่อมไม่ถือว่าเป็นเรื่องแปลก หรือเป็นเรื่องผิดปกติ
เพราะถูกด่าเป็นประจำอยู่แล้ว และแทบไม่ระคาย
ความละเอียดอ่อนของเรื่องนี้จำเป็นต้องตรวจสอบลักษณะอันเรียกได้ว่า “ปฏิสัมพันธ์” ภายในกลุ่มอำนาจอย่างเป็นด้านหลัก
โดยถือเอา “แนวร่วม” จากขบวน “รัฐประหาร” เป็นสำคัญ
ถามว่าอะไรคือกรณีล่าสุดอันมีผลสะเทือนโดยตรงไปยัง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จากภายในหรือจากพวกเดียวกัน
หากค้นพบ นั่นแหละคือ มูลเชื้อ
จากนี้จึงมีความเป็นไปได้ว่า อาการหงุดหงิดอันเกิดขึ้นและดำรงอยู่ภายใน “ทำเนียบรัฐบาล” มากด้วยความสลับซับซ้อน
ไม่ว่าจะจาก “นายกรัฐมนตรี” ไม่ว่าจะจาก “รองนายกรัฐมนตรี”
มิได้เป็นเรื่องจาก “ภายนอก” แม้ว่าดูเหมือนบรรดานักข่าวน้อยใหญ่จะกลายเป็นเป้าหมาย แต่ในความเป็นจริง มิใช่
หากที่สุดก็เป็นเรื่องภายในคนกันเองมากกว่า

ไม่มีความคิดเห็น: