PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ย้อน 4 “รัฐประหารซ้อน” เลือกตั้งสกปรก ต่ออายุอำนาจ พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ



ท่ามกลางกระแสข่าวลือ “รัฐประหารซ้อน” โหมกระหน่ำหนักหน่วงไปทั้วทั้งแผ่นดิน ชาวโซเชียลตื่นตระหนกแห่แชร์เรื่องราวที่ไม่รู้ว่าจริงเท็จประการใด โดยมีภาพประกอบข้อความแสนชวนคิด คือ ภาพเคลื่อนย้ายรถถังในหลายพื้นที่ อันเป็นเครื่องยืนยันว่า อาจมีข่าวไม่สู้ดีไม่เร็วก็ช้านี้

กระทั่ง ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ต้องออกมาแจกแจงกันให้แจ่มแจ้งว่า “ไม่มีรัฐประหารซ้อนแน่นอน! และขอให้เชื่อมั่นในรัฐบาล เราจะทำบรรยากาศการเลือกตั้งครั้งนี้ให้เกิดความเรียบร้อย มีเสรีเป็นธรรมและเท่าเทียม”
ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ ไล่เรียงประวัติศาสตร์ “รัฐประหารซ้อน” ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว จนประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งการทำรัฐประหารที่มากที่สุดประเทศหนึ่ง 

“จอมพล ป. ยึดอำนาจจอมพล ป."

ย้อนกลับไป 29 พฤศจิกายน 2494 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ทำการรัฐประหาร แต่เป็นการรัฐประหารครั้งแรกที่เรียกได้ว่า “รัฐประหารตัวเอง” หรือ “การยึดอำนาจตัวเอง”
ขณะที่ การยึดอำนาจกระทำโดยไม่ใช้การเคลื่อนกำลังใดๆ เพียงแต่มีความเคลื่อนไหวโดยมีตำรวจและทหาร รวมทั้งรถถังเฝ้าประจำการในจุดยุทธศาสตร์ต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มาตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน จนกระทั่งในเวลาหัวค่ำ ของวันที่ 29 พฤศจิกายน ได้มีการประกาศผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ว่า
เหตุที่มีการรัฐประหารในครั้งนั้น เพราะ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีขณะนั้น อ้างว่าไม่ได้รับความสะดวกในการบริหารประเทศ ซึ่งสืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2492 อันเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ขณะนั้น ไม่เอื้อให้เกิดอำนาจ และข้ออ้างสุดคลาสสิกในการยึดอำนาจ ก็คือ “...มีอิทธิพลของคอมมิวนิสต์เข้าแทรกซึมอยู่เป็นมาก แม้ว่ารัฐบาลจะทำความพยายามสักเพียงใด ก็ไม่สามารถจะแก้ปัญหา เรื่องคอมมิวนิสต์ได้ ทั้งไม่สามารถปราบการทุจริตที่เรียกว่า คอร์รัปชัน...” 
จากนั้น คณะบริหารประเทศชั่วคราวได้สั่งยกเลิกรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2492 หันกลับไปใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2475 อันเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกมาใช้แทน ซึ่งการรัฐประหารครั้งนี้ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าเป็นการกระทำที่ประหลาดที่สุดในโลก และเป็นเหตุให้พรรคฝ่ายค้าน คือ พรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้การนำของพันตรีควง อภัยวงศ์ ได้ประกาศคว่ำบาตรรัฐบาลทุกประการ เช่น ไม่ร่วมเลือกตั้งในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2495 เป็นต้น

จอมพลสฤษดิ์ ก่อรัฐประหารยึดอำนาจ จอมพล ป. พิบูลสงคราม

ย้อนกลับไป 16 กันยายน 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อรัฐประหารยึดอำนาจจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี
โดยสาเหตุการรัฐประหาร เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 26 ก.พ.2500 ซึ่งมีการกล่าวขานว่าเป็นการเลือกตั้งที่สกปรกที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคเสรีมนังคศิลา ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้รับเสียงข้างมาก ได้จำนวนผู้แทนทิ้งห่างคู่แข่งคือพรรคประชาธิปัตย์แทบไม่เห็นฝุ่น และได้ตั้งรัฐบาล ท่ามกลางการเดินประท้วงของประชาชนจำนวนมาก ที่เรียกร้องให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง
ขณะที่ การเลือกตั้ง ณ เวลานั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ประกาศจะจัดการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ ถวายเป็นพุทธบูชาเนื่องในโอกาสครบวาระกึ่งพุทธกาล แต่ประชาชนทั่วทุกหัวระแหง กลับพบว่าเกิดการทุจริตเลือกตั้งอย่างโจ๋งครึ่ม กลโกงที่ปรากฏทุกรูปแบบ ก็นำสู่การเดินขบวน ต่อต้านครั้งใหญ่ของนักศึกษาและประชาชน ทั้งมีการลดธงชาติครึ่งเสาไว้อาลัยการเลือกตั้ง
13 กันยายน 2500 จอมพลสฤษดิ์ และคณะทหาร ยื่นคำขาดต่อ จอมพล ป.ว่า ให้รัฐบาลลาออก แต่ได้รับคำตอบจาก จอมพล ป. ว่า ยินดีจะให้รัฐมนตรีลาออก แต่ตนจะขอเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลเอง ยิ่งสร้างความไม่พอใจแก่ประชาชน ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ ได้พูดผ่านวิทยุยานเกราะถึงผู้ชุมนุมจำนวนมากที่กำลังเดินประท้วงรัฐบาล ว่า “พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ”
15 กันยายน 2500 ประชาชนพากันลุกฮือเดินขบวนบุกเข้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อไม่พบจอมพล ป. จึงพากันไปบ้านจอมพลสฤษดิ์ ในขณะที่รัฐบาลจอมพล ป. ก็กำลังเตรียมจับกุมจอมพลสฤษดิ์ ในข้อหากบฏ แต่ไม่ทัน 
ค่ำคืนอันเงียบสงัดในวันที่ 16 กันยายน 2500 จอมพลสฤษดิ์ นำกำลังรัฐประหารรัฐบาลจอมพล ป. ส่วน จอมพล ป. ได้ลี้ภัยไปต่างประเทศ

จอมพลสฤษดิ์ ยึดอำนาจ พลเอกถนอม ฉบับเตี๊ยมกันไว้แล้ว

หลังยึดอำนาจรัฐบาลจอมพล ป. แล้ว จอมพลสฤษดิ์ เห็นว่า ไม่เหมาะสมที่ตนเองจะขึ้นครองอำนาจ ประกอบกับมีปัญหาสุขภาพ จึงมอบหมายให้พจน์ สารสิน เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อจัดการเลือกตั้ง หลังจากรัฐบาลพจน์ สารสิน จัดการเลือกตั้งเป็นที่เรียบร้อย พลเอก ถนอม กิตติขจร ก็รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 ม.ค. ปี 2501
ต่อมาไม่นาน ได้เกิดความวุ่นวายจากความขัดแย้งระหว่างสมาชิกพรรคที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับรัฐมนตรี เนื่องจากบรรดา ส.ส. มีข้อต่อรองบางอย่าง แลกกับการไม่ถอนตัวจากการสนับสนุนรัฐบาล
พลเอก ถนอม กิตติขจร ก็ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ จอมพลสฤษดิ์ จึงเดินทางกลับจากต่างประเทศแล้วร่วมมือกับ พลเอก ถนอม นายกรัฐมนตรี กระทำการบางอย่าง
เช้าวันที่ 20 ตุลาคม 2501 พลเอก ถนอม กิตติขจร ประกาศลาออกในเวลาเที่ยงวัน แต่ยังไม่ได้ประกาศให้แก่ประชาชนทราบโดยทั่วกัน พอช่วงค่ำ เวลา 21.00 น. จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกาศยึดอำนาจอีกครั้ง โดยอ้างถึงเหตุความมั่นคงของประเทศ
รัฐประหารครั้งนี้เรียกได้ว่าเป็น “การยึดอำนาจตัวเอง” ก็ว่าได้ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ได้ร่างกันขึ้นมานั้น ส่งผลให้จอมพลสฤษดิ์ สามารถใช้อำนาจในตำแหน่งได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จากรัฐธรรมนูญ มาตรา 17 ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีเต็มที่ สามารถจัดการกับบุคคลที่ก่อความไม่สงบได้ทันที แล้วจึงค่อยแจ้งต่อสภา

จอมพลถนอม รัฐประหารตนเอง ต่ออำนาจ

จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี 4 สมัย รวมเป็นเวลา 10 ปี 6 เดือน เคยก่อรัฐประหารรัฐบาลตัวเองเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2514 เพราะไม่อาจควบคุมสถานการณ์ความวุ่นวายในสภาผู้แทนราษฎรได้
การยึดอำนาจครั้งนี้สะดวกง่ายดาย ถึงขนาดทางกรมประชาสัมพันธ์ที่เป็นหน่วยงานของรัฐได้ออกข่าวบอกประชาชนล่วงหน้าเป็นเวลา 1 ชั่วโมงให้รอฟังข่าวสำคัญ ซึ่งก็คือ “ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 1”

การบริหารบ้านเมืองโดยคณะปฏิวัติผ่านมาจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2514 จึงได้มีประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 34 ตั้งสภาบริหารคณะปฏิวัติขึ้นมา และจอมพลถนอม กิตติขจร ที่เคยเป็นหัวหน้ารัฐบาล หัวหน้าคณะปฏิวัติก็มาเป็นประธานสภาบริหารคณะปฏิวัติ และมีกรรมการสภาบริหารคณะปฏิวัติอีก 15 คน พอไปดูที่อำนาจหน้าที่ของสภาบริหารคณะปฏิวัติก็จะเห็น เขาต้องการให้มาทำหน้าที่คณะรัฐมนตรีนั่นเอง เพราะประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 34 ได้สั่งให้ “บรรดาอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่บัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีนั้นให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสภาบริหารคณะปฏิวัติ”
ต่อมา จอมพลถนอม อายุครบ 60 ปี จึงได้ต่ออายุราชการของตัวเอง ประกอบกับหลายๆ เหตุการณ์ที่ด่างพร้อยของรัฐบาล จึงทำให้รัฐบาลถูกประท้วงโดยนิสิต นักศึกษา และประชาชน และเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จนท่านต้องลาออกและเดินทางไปอยู่ต่างประเทศ และบวชเณรเข้ามาใหม่อีกครั้งในปี 2519 กลุ่มนักศึกษาประชาชนก็ได้ขับไล่อีกครั้งจนเกิดการนองเลือดกลายเป็นเหตุการณ์ล้อมฆ่าหมู่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519
หลายคนอ่านจบ มีเพลงเพลงหนึ่งดังเข้ามาในหัวทันที...ประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำ ประวัติศาสตร์จะต้องเปลี่ยน เปลี่ยนไปเป็นฉันและเธอเท่าเทียมกัน ประวัติศาสตร์ในวันนี้ จะแตกต่างจากวันนั้น (อนาคต) ของเราจะทันสมัย.


ไม่มีความคิดเห็น: