PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2562

การเมืองไทยเริ่มผันแปรแล้ว

การเมืองไทยเริ่มผันแปรแล้ว
โดย สิริอัญญา 
วันอังคารที่ 12 มีนาคม 2562

สภาพการต่อสู้ทางการเมืองในการเลือกตั้งทั่วไปเป็นที่รู้กันว่าได้เกิดสภาพสามก๊กขึ้น คือก๊กเพื่อไทยก๊กหนึ่ง ก๊กประชาธิปัตย์ก๊กหนึ่ง และก๊กพลังประชารัฐอีกก๊กหนึ่ง ซึ่งแต่ละก๊กก็มีพันธมิตรพรรคเดียวบ้างหรือหลายพรรคบ้าง ยกเว้นก็แต่พรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่ได้จัดตั้งพรรคย่อยไว้เป็นพรรคสำรองหรือเป็นพรรคพันธมิตร 

ภายใต้สภาพสามก๊กดังกล่าวนั้น พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ได้ประกาศให้แกนนำของพรรคเป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรค โดยพรรคเพื่อไทยได้ประกาศให้คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นนายกรัฐมนตรีส่วนพรรคประชาธิปัตย์ประกาศให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี 

สำหรับก๊กพลังประชารัฐนั้น เดิมมีมติให้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรครวม 3 คน คือพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายอุตตม สาวนายน และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ แต่หลังจากมีการยื่นคำเชิญพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาแล้ว ต่อมาภายหลังได้มีการถอนชื่ออีกสองคนที่เหลือ จึงทำให้พรรคพลังประชารัฐมีนายกรัฐมนตรีคือพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพียงคนเดียว

ในระดับพรรคพันธมิตรนั้น ก็เป็นที่รู้กันว่าพรรคตระกูลเพื่อทั้งหลาย รวมทั้งพรรคไทยรักษาชาติ และพรรคอนาคตใหม่ ล้วนเป็นพันธมิตรของก๊กเพื่อไทย ในขณะที่พรรครวมพลังประชาชาติไทยและพรรคประชาชนปฏิรูป รวมทั้งพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา และพรรคภูมิใจไทย โดยพรรคภูมิใจไทยและพรรคอนาคตใหม่นั้นได้เสนอหัวหน้าพรรคเป็นนายกรัฐมนตรี 

ครั้นระยะเวลากำหนดการเลือกตั้งทั่วไปเหลือเพียงอีกไม่กี่วันก็ปรากฏผลโพลยืนยันผลโพลก่อนหน้านี้ตรงกันในลักษณะทั่วไปว่า คนส่วนใหญ่สนับสนุนให้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี แต่คนส่วนใหญ่กลับสนับสนุนให้พรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล ตามมาด้วยพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนพรรคพลังประชารัฐตกไปเป็นลำดับที่สาม 

ในขณะที่พรรคพันธมิตรทั้งหลายที่ไม่ได้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้แผ่วเสียงลงโดยลำดับ โดยเฉพาะพรรคที่สนับสนุนพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา คะแนนเสียงตกไปจนแทบหากระแสไม่ได้ สาเหตุสำคัญก็เพราะว่าผู้ที่นิยมชื่นชมพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หันไปเทคะแนนเสียงให้พรรคพลังประชารัฐแทน เพราะไม่ต้องเสียเวลาลงคะแนนโดยอ้อมให้กับพรรคอื่น 

ทำให้พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคประชาชนปฏิรูป และพรรคอื่น ๆ ที่ประกาศสนับสนุนพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี มีกระแสแผ่วลงจนน่าตกใจ 

ยกเว้นก็แต่พรรคพันธมิตรสองพรรค คือพรรคภูมิใจไทยซึ่งเป็นพรรคพันธมิตรของพรรคพลังประชารัฐมาแต่เดิมและได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างพรวดพราดเพราะประกาศนโยบายเสรีกัญชา ทำให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องและมีส่วนได้เสียกับผลประโยชน์ดังกล่าวพากันเทเสียงสนับสนุน จนแกนนำพรรคภูมิใจไทยมีความมั่นใจว่าจะได้รับเลือกตั้งถึง 70 ที่นั่ง 

ในขณะที่พรรคอนาคตใหม่ซึ่งกำหนดเป้าหมายไปที่คนรุ่นใหม่ที่มีอายุ 18-25 ปี กว่า 7 ล้านคน และประสบผลสำเร็จในการรณรงค์เลือกตั้งแบบใหม่ชนิดที่เข้าถึงใจคนรุ่นใหม่ กระแสจึงพุ่งแรงแซงทางโค้งขึ้นมาจนเป็นที่ตื่นตกใจของหลายพรรค จึงเกิดกระบวนการโจมตีทำลายพรรคอนาคตใหม่อย่างครึกโครม ถึงขั้นเกิดกระแสว่ามีคนหาทางที่จะยุบพรรคอนาคตใหม่ให้ได้ 

ซึ่งต้องไม่ลืมว่านี่เป็นเรื่องของการเมือง อาจจะหาเรื่องยุบพรรคบางพรรคได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะชนะสงคราม เพราะผลแท้จริงอาจจะเกิดขึ้นตรงกันข้าม ดังเช่นความพยายามโจมตีพรรคอนาคตใหม่ที่ใช้สื่อหลักหลายสำนักและใช้นักวิชาการมือเก๋าหลายคนรุมกันตีรุมกันกระหน่ำ แต่กลับกลายเป็นว่าบรรดาคนแก่คนเก๋าทั้งหลายที่รับจ๊อบมาทำงานนี้ล้วนหน้าแตกหงายท้องตาม ๆ กัน เพราะนอกจากไม่ได้ผลแล้ว กลับถูกคนรุ่นใหม่รุมกันถอนหงอกอย่างน่าเวทนา ดังนี้เป็นต้น

และที่น่าจับตามากที่สุดก็คือ ผลโพลล่าสุดที่พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคพลังประชารัฐได้คะแนนเสียงเรียงลำดับกันมาหนึ่ง สอง สาม จนเห็นได้ชัดว่าคะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทยถ้ารวมกับพรรคประชาธิปัตย์แล้วก็จะเกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร 

และถ้ารวมกับผลโพลคะแนนของพรรคภูมิใจไทยกับพรรคอนาคตใหม่แล้วก็อาจมีคะแนนเสียงรวมกันเกิน 376 เสียง ซึ่งเพียงพอที่จะเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ดังนั้นจึงทำให้ความคาดหมายเดิมที่เสียง ส.ว. 250 เสียง เป็นฐานเสียงใหญ่ โดยพรรคพลังประชารัฐทำคะแนนเสียงเพียง 126 เสียง ก็สามารถเลือกพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีได้ถูกท้าทายครั้งสำคัญ 

และล่าสุดนี้ทั้งหัวหน้าพรรคและผู้บริหารพรรคภูมิใจไทยซึ่งได้กลายเป็นตัวแปรและเป็นผู้ถือดุลทางการเมืองที่สำคัญไปแล้วก็ได้ประกาศท่าทีทางการเมืองครั้งใหม่ว่า ส.ว. ไม่ควรออกคะแนนเสียง เพราะควรเปิดโอกาสให้ผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากประชาชนเป็นผู้สรรหานายกรัฐมนตรีกันเอง 

ถัดมาก็มีการประกาศท่าทีเสริมเข้าไปอีกว่า ถ้าพรรคพลังประชารัฐไม่ได้คะแนนเสียงข้างมาก พรรคภูมิใจไทยก็จะไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลด้วย 

ถ้าถือเอาก๊กเพื่อไทยและก๊กพลังประชารัฐเป็นคู่แข่งในการจัดตั้งรัฐบาล มาถึงวันนี้สถานการณ์มีความชัดเจนว่าพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยได้กลายเป็นผู้ถือดุลที่เด็ดขาดแล้ว สองพรรคนี้รวมกันสนับสนุนก๊กไหนก๊กนั้นก็จัดตั้งรัฐบาลได้ 

แต่อย่ามองข้ามที่ก๊กเพื่อไทยจะเทคะแนนเสียงให้กับพรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคภูมิใจไทยให้เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อกันพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ออกจากวงอำนาจไปก่อน จากนั้นก็จะเป็นเรื่องที่พรรคการเมืองทั้งหลายจะขับเคี่ยวกันด้วยเชิงชั้นทางการเมืองต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องน่าจับตาอย่างยิ่ง.

ไม่มีความคิดเห็น: