PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

ย้อนแย้ง ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต

เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
11 ชม.
ย้อนแย้ง
ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต
นับเป็นความชาญฉลาดที่พรรคเก่าอายุ 73 ปี อย่างประชาธิปัตย์ จะตัดสินใจประกาศส่งคุณชวน หลีกภัย เข้าชิงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ในคืนวันที่ 24 พ.ค. 2562 ก่อนหน้าจะมีการประชุมเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่จะมีขึ้นเพียง 12 ชั่วโมง​
1. พรรคประชาธิปัตย์มี ส.ส.เพียง 52 คน แต่เสนอคุณชวน หลีกภัย ซึ่งเป็นผู้อาวุโส เป็นผู้ซื่อสัตย์สุจริต มีประสบการณ์ในสภายาวนานกว่าใคร
เคยเป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 2 สมัย และเคยเป็นประธานรัฐสภามาแล้วอีกด้วย
จึงเป็นผู้มีบารมี (ความดีสะสม) ที่ประชาชนทั่วไปยอมรับ และ ส.ส.พรรคการเมืองอื่นไม่รังเกียจ
​2. พรรคประชาธิปัตย์ในขณะที่มี ส.ส.เพียง 52 คน แต่ขณะที่จะเลือกประธานสภา มีความได้เปรียบสูงยิ่ง
​เพราะขั้วสืบทอดอำนาจโดยทุน ได้จับมือกันสนับสนุนด้วยพละกำลัง ส.ส. 245 คน เสนอนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ จากพรรคเพื่อไทยเป็นประธานฯ
​ถ้าอีกฝ่ายจะส่งผู้สมัครชิงประธานได้ จะต้องได้เสียงจาก ส.ส.ที่เหลือเกือบทั้งหมด (ประมาณ 250 คน)
​เมื่อ ปชป.ประกาศส่งคุณชวน ลงสมัครเป็นประธานสภาฯ แล้ว พลังประชารัฐจะส่งนายสุชาติ ตันเจริญ หรือใครก็ตาม ก็จะทำเสียงแตก จะส่งผลให้คนของพรรคเพื่อไทย คือ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ชนะ ได้เป็นประธานสภาฯ ทันที

​3. ประธานสภาฯ คือตำแหน่งสำคัญ เป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ที่จะต้องเป็นกลาง ไม่มีความเอนเอียงเข้าข้างฝ่ายใด แต่ที่ผ่านมา ประธานสภาฯ ในยุคที่แล้วจากพรรคเพื่อไทย ก็มีความลำเอียงอย่างออกนอกหน้า ถึงขั้นลากให้มีการประชุมยาวไปลงมติตอนตี 3 ตี 4 ให้พรรคจัดที่นอนในรถบัส ติดแอร์ แล้วปลุกขึ้นมาให้ไปโหวตก็มี
​การบรรจุวาระ การเลื่อนการประชุม การหยุดพักการประชุม การลงมติด้วยการตั้งประเด็นเพื่อลงมติ ประธานต่างมีบทบาทสำคัญ
​บทเรียนจากอดีต ทำให้พลังประชารัฐและพรรคแนวร่วมที่ประสงค์จะจัดตั้งรัฐบาล จะปล่อยให้พรรคเพื่อไทยที่จะเป็นฝ่ายค้าน ได้เป็นประธานสภาไม่ได้ เพราะหากพลังประชารัฐหวังจะได้จัดตั้งรัฐบาล ก็จะมีปัญหาในภายหลัง
​พรรคพลังประชารัฐจึงไม่มีทางเลือก จะส่งคนลงสมัครเป็นประธานฯ ก็ทำให้ทั้งพลังประชารัฐและประชาธิปัตย์ที่ส่งคนชิงประธานเช่นกันแพ้คะแนนเสียงทันที สุชาติ ตันเจริญ จึงหงุดหงิด หน้าตาหมองไปกว่าวันที่ไปลงทะเบียน ส.ส.
​4. จะกล่าวหาหรือตำหนิประชาธิปัตย์ว่าล้ำเส้นก็ไม่ได้ เพราะพรรคประชาธิปัตย์ก็มีธรรมเนียมปฏิบัติเสมอมา ที่ส่งคนชิงตำแหน่งประธานในอดีต แม้จะรู้ว่ามีเสียงสนับสนุนน้อยและคงเป็นฝ่ายค้าน
​หรืออาจจะมีการเจรจาในบรรดาแกนนำพรรคต่างๆ ก่อนหน้านี้ด้วยก็ได้ ที่พรรคพลังประชารัฐและแนวร่วมจะสนับสนุนคุณชวนเป็นประธานสภาฯ
​5. แต่ถึงเวลาวันเลือก กลุ่มที่ย้ายขั้วมาจากระบอบทักษิณเดิมเข้ามาอยู่พลังประชารัฐเกิดไม่พอใจ แสดงพลังกลุ่ม ทำให้พลังประชารัฐต้องขอเลื่อนการเลือกประธานสภาฯ ออกไปก่อน
​แน่นอน ขั้วสืบทอดอำนาจทุนหรือกลุ่มเพื่อไทย ย่อมไม่พอใจที่จะให้เลื่อน เพราะคิดว่าเลือกทันทีในขณะนั้นจะได้เปรียบ
​6. เมื่อมีการเลือกประธานในวันนั้น โดยไม่เลื่อนการลงคะแนนหลังจากหยุดพัก ปรากฏคะแนนที่เลือกคุณชวน 258 คะแนน คุณสมพงษ์ 235 คะแนน ซึ่งหมายความว่าคะแนนคุณชวนได้มาจากฝั่งเพื่อไทยและแนวร่วมเกือบ 10 คะแนน
​สะท้อนว่า เกิดงูเห่า ทั้งไปและมา หักกลบแล้ว สุทธิเกือบ 10 ตัว
​บทเรียนและภาพสะท้อน
​1) พรรคประชาธิปัตย์เข้าใจกลไก เกมการเมืองในสภาอย่างดี จึงสามารถกำหนดท่าทีได้ตรงจังหวะเวลา อย่างที่พรรคอื่นยากจะปฏิเสธหรือกล่าวหา ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังไม่ได้ยอมรับหรือปฏิเสธการร่วมรัฐบาล
​2) การที่พรรคประชาธิปัตย์ มี ส.ส.คุณภาพอย่างคุณชวน หลีกภัย ทำให้การดำเนินงานการเมืองง่ายขึ้น เพราะหาก ปชป.เสนอคนไม่มีคุณภาพ ก็จะทำให้เกิดปัญหาและยากลำบากกว่านี้
​3) การที่พรรคประชาธิปัตย์ ยึดหลักการประชาธิปไตยและการทำงานในสภาในอดีตก็ส่งผู้สมัครชิงประธานอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าอาจต้องพ่ายแพ้เพราะเป็นฝ่ายเสียงข้างน้อย พฤติกรรมนี้ก็เป็นเกราะกำบังการกล่าวหาโจมตี
​4) การที่พรรคประชาธิปัตย์ โดยคุณชวน หลีกภัย สนใจที่จะเป็นผู้นำในฝ่ายนิติบัญญัติ สอดคล้องกับบทบาทที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้ประชาธิปัตย์ในครั้งนี้เป็นฝ่ายค้าน ฝ่ายสนับสนุนอิสระ ซึ่งก็คือเป็นฝ่ายนิติบัญญัติที่ทำหน้าที่อย่างอิสระ (คล้ายองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ) เพื่อตรวจสอบ สนับสนุนฝ่ายบริหารอย่างอิสระ ไม่ผูกพันผูกมัดกับมารยาทในพรรคร่วมรัฐบาล
​5) การที่ทั้ง 2 ฝ่ายที่ประสงค์จะจัดตั้งรัฐบาล มีเสียงปริ่มน้ำ ก็จะเกิดเหตุอย่างที่เกิดเมื่อวันที่ 25 ที่ผ่านมา จะต้องเหนื่อยและเสียเวลากับการทำงานที่ไม่ราบรื่น ยื้อ ชักคะเย่อ เช่นนี้ แล้วบ้านเมืองจะเดินได้ดีแค่ไหน
​พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ประสงค์จะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ จะมีเสถียรภาพราบรื่นหรือไม่ จะต้องจัดการกับงูเห่า ทั้งที่จะมาและจะไปอย่างไร จะคุ้นเคยทันเกมการเมือง รู้ทันการเมืองแค่ไหน

​6) ส.ส.ใหม่ เพื่ออนาคตใหม่ จะต้องเรียนรู้ เพื่อรู้ทันการเมือง จากประสบการณ์ของคนรุ่นเก่า วันแรกของการประชุม 25 พ.ค. น่าจะเป็นบทเรียนแรก ถ้าสังเกตวิเคราะห์ก็จะได้เรียนรู้มากขึ้น ว่าคนในสภาก็มีคนทุกประเภท ทั้งเสือ สิงห์ กระทิง แรด นก หนู ปู ปลา สะท้อนพฤติกรรมและสัดส่วนของประชาชนผู้เลือกเข้ามา ว่ามีหลากหลายประเภทอย่างไร และต้องเลือกทำงานกับคนประเภทไหน

​7) หากจะเปรียบกับการประชุมเพื่อเลือกประธานวุฒิสภา รองประธานวุฒิสภา เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ก่อนหน้านั้น 1 วัน จะเห็นความแตกต่างอย่างมาก
​สมาชิกวุฒิสภาจากการแต่งตั้งเลือกสรรโดย คสช. จะนั่งเรียบร้อยเป็นแถวเป็นแนว นั่งเรียงหนึ่ง เว้นหนึ่ง
​ไม่มีการเสนอชื่ออื่นเพื่อเป็นตัวเลือกในการเลือกสรรผู้เป็นประธานวุฒิสภา
​ไม่มีการโต้เถียง เสนอญัตติด่วน เสนอญัตติซ้อน ไม่มีการประท้วงอ้างทำผิดข้อบังคับ ใช้เวลารวดเร็ว สมองไม่เมื่อยล้า ไม่ต้องใช้งานมาก
​และถ้ายังเป็นเช่นนี้ต่อไป ก็จะมีคนเข้าประชุมบ้าง ไม่เข้าบ้าง เพราะรู้แล้วว่าผลจะเป็นอย่างไร ปล่อยให้เขาว่ากันไป ถ้าเข้าประชุมก็ไม่จำเป็นต้องพูดอะไร ปล่อยให้คนกลุ่มอยากพูด พูดไป เซ็นต์ชื่อเข้าประชุมแล้วก็ไปนั่งกินกาแฟ อาหาร สังสรรค์ พูดคุยกันดีกว่า
​ยิ่งประธานจัดลำดับคนพูดก่อน-หลัง 1, 2, 3, 4... 50 เมื่อเราพูดแล้วคนที่แรกๆ ก็ไม่ต้องฟังคนต่อๆ ไป เพราะฟังไปก็พูดโต้แย้งลำบาก ผิดคิว และถ้าเราอยู่ในคิวท้ายๆ ก็รู้ว่าอีกนานจะถึงคิวพูด ก็ออกไปกินกาแฟ ทำธุระก่อนก็ได้
​เมื่อถึงเวลาลงมติ ก็จะถามกันไปมาว่า “เรื่องนี้เอาอย่างไร?” แล้วก็ลงมติกันไป
​ถ้าพฤติกรรมเป็นเช่นนี้ เราก็จะเห็นการแสดงเฉพาะของบางคน บางกลุ่ม ในวุฒิสภา
​แต่เราจะต้องจ่ายภาษีเพื่อเป็นเงินเดือน ส.ว. เงินเดือนผู้เชี่ยวชาญ เงินเดือนผู้ชำนาญการ เงือนเดือนผู้ช่วย ส.ว.อีก 5 คน ปีละเกือบ 2 พันล้านบาท 5 ปีก็เกือบหมื่นล้านบาท
​นี่แหละครับ ผลของการปฏิรูปการเมืองที่เราประกาศเมื่อ 5 ปีที่แล้ว
....0....

ไม่มีความคิดเห็น: