PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2562

ลำดับปัญหาแห่งรัฐธรรมนูญ

ลำดับปัญหาแห่งรัฐธรรมนูญ
โดย สิริอัญญา 
วันพุธที่ 26 มิถุนายน 2562

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทเกี่ยวกับหลักการสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญไว้ และมีการเผยแพร่พระราชดำรัสนั้นให้เป็นที่ทราบกันโดยทั่วกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่คนทั้งปวงโดยเฉพาะผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องจะเทิดไว้เหนือเกล้า แล้วน้อมนำมาประพฤติปฏิบัติ ซึ่งมีแต่จะเป็นประโยชน์สุขแก่ประเทศชาติและประชาชน 

พระบรมราโชวาทดังกล่าวนั้นสรุปก็คือ การร่างรัฐธรรมนูญจะต้องสั้น ต้องไม่ยาว ต้องชัดแจ้ง ทั้งนี้เพื่อให้เป็นที่เข้าใจได้โดยง่ายแก่ประชาชนโดยทั่วไป 

ซึ่งถ้าหากได้ร่างรัฐธรรมนูญตามพระบรมราโชวาทดังกล่าวแล้ว รัฐธรรมนูญก็จะต้องสั้น ชัดเจน ไม่เป็นที่เคลือบแคลงสงสัย ซึ่งจะเป็นทางที่ประชาชนทั้งหลายจะเข้าใจและปฏิบัติได้โดยไม่เป็นปัญหา แต่ทว่าน่าเสียดายนักที่ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องมิได้น้อมนำพระบรมราโชวาทดังกล่าวมาปฏิบัติ

มิหนำซ้ำ บางคนยังบังอาจกล่าวว่าการร่างรัฐธรรมนูญจะพยายามยึดหลักรัฐธรรมนูญของเยอรมันและฝรั่งเศส จนเกิดการท้วงติงว่าหลักการของรัฐธรรมนูญประเทศฝรั่งเศสและเยอรมันนั้นเป็นรัฐธรรมนูญที่มีหลักการการปกครองในระบอบสาธารณรัฐ คำพูดเหล่านั้นจึงค่อย ๆ เงียบหายไป แต่การร่างรัฐธรรมนูญก็มิได้เปลี่ยนแปลงไปจากแนวความคิดที่ว่านั้น 

นอกจากนั้น การร่างรัฐธรรมนูญต้องยึดหลักที่สำคัญคือต้องถือเอาประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชนเป็นที่ตั้ง หากการร่างรัฐธรรมนูญใดถือเอาบุคคลเป็นที่ตั้ง ไม่ว่าเพื่อกีดกันคนบางพวกไม่ให้เข้ามามีอำนาจ หรือเพื่อเกื้อกูลคนบางคนบางพวกให้มีอำนาจ การร่างรัฐธรรมนูญนั้นก็ผิดหลักผิดเกณฑ์ และย่อมเกิดปัญหานานาประการ 

โดยเฉพาะการเขียนบทเฉพาะกาลแห่งรัฐธรรมนูญนั้น จะต้องเป็นกรณีเฉพาะและจำเป็นเพื่อให้ระยะผ่านการบังคับใช้รัฐธรรมนูญสองฉบับให้เป็นไปโดยราบรื่นในเวลาอันรวดเร็ว เพื่อให้รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นใหม่สามารถบังคับใช้ได้เต็มรูปแบบ 

นับแต่ร่างรัฐธรรมนูญที่พยายามร่างกันขึ้นใหม่นี้ใช้บังคับปรากฏว่าได้เกิดปัญหานานัปการขึ้น ตั้งแต่กระบวนการในการสมัครรับเลือกตั้ง ในการประกาศผลการเลือกตั้ง ในการตรวจสอบไต่สวนเกี่ยวกับการกระทำที่ไม่ชอบหรือไม่สุจริตและเที่ยงธรรมในการเลือกตั้ง ทั้งในส่วนองค์กรที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องและผู้ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญนั้น 

ขณะนี้มาถึงชั้นการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีก็ส่อว่ากำลังจะเกิดปัญหาตามมาอีก ดังนั้นจึงสมควรจะได้ลำดับปัญหาที่เกิดขึ้นอันเป็นผลพวงมาจากการร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ที่สำคัญมีดังต่อไปนี้ 

ประการแรก เกี่ยวกับการสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งเป็นหน้าที่ของ กกต. จะต้องตรวจสอบการสมัครรับเลือกตั้งว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดมีคุณสมบัติที่ครบถ้วนที่จะรับสมัครหรือไม่ เพราะว่าถ้าหากมีความผิดพลาดในเรื่องนี้ก็มีเวลาจำกัดที่จะเพิกถอนการสมัครรับเลือกตั้งนั้น โดยรวมก็คือจะต้องขอเพิกถอนเสียก่อนการเลือกตั้ง 

แต่ปรากฏว่าด้วยระยะเวลาอันจำกัดและด้วยกระบวนการในการตรวจสอบคุณสมบัตินั้นยังมีช่องโหว่ช่องว่างอยู่เป็นอันมาก ดังนั้นจึงทำให้ผู้ที่ไม่มีคุณสมบัติได้ลงสมัครรับเลือกตั้งแล้วก่อเกิดปัญหาในภายหลังขึ้น 

ประการที่สอง เกี่ยวกับการประกาศผลการนับคะแนนแต่ละหน่วยเลือกตั้งและผลรวมของแต่ละเขตเลือกตั้ง รวมทั้งผลรวมของคะแนนรวมของแต่ละพรรคการเมืองสำหรับใช้ในการคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งจนถึงวันนี้การเลือกตั้งผ่านมาช้านานแล้ว แต่พรรคการเมืองและผู้เกี่ยวข้องก็ยังไม่ทราบว่าผลการเลือกตั้งแต่ละหน่วย แต่ละเขต เป็นอย่างไร ทำให้เกิดปัญหาข้อสงสัยเกี่ยวกับคะแนนการเลือกตั้งรวมที่ใช้ในการคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ และยังมีการร้องขอเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่หลายประการ ซึ่งไม่รู้ว่าจะเกิดปัญหาร้ายแรงขึ้นมาในวันใด 

ประการที่สาม การกำหนดหลักการนำผลคะแนนรวมเพื่อใช้ในการคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อนั้นเป็นเรื่องใหม่ที่อาจถือได้ว่าเป็นรุ่งอรุณของการนำหลักการตามรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสและเยอรมันมาใช้ เพราะใครจะรู้ว่าสักวันหนึ่งก็จะพัฒนาไปจนถึงขั้นการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง และอาจพัฒนาไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงต้องนับว่าตรงนี้เป็นย่างก้าวสำคัญที่อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นอย่างอื่นไปได้ในอนาคต 

ประการที่สี่ เกี่ยวกับการคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งมีช่องโหว่ช่องว่างทั้ง ๆ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดมีความชัดเจนอยู่พอสมควรแล้วว่า การจัดสรร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อนั้นจะต้องจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่มี ส.ส. แบบเขตเลือกตั้ง ตามสัดส่วนของคะแนนรวมที่ได้รับ แต่ต้องไม่เกิน ส.ส.พึงมี ซึ่งช่องโหว่ช่องว่างเหล่านั้นก่อให้เกิดการตีความที่เป็นปัญหาว่าสามารถจัดสรร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อให้แก่พรรคการเมืองที่ไม่มี ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งได้ด้วย จึงเป็นที่ครหานินทาและเป็นปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นอันอาจจะส่งผลต่อการเลือกตั้งโดยรวมก็ได้ 

ประการที่ห้า การกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งที่วกวนมากมายยิ่งกว่าการเดินทางรอบเขาวงกต โดยเฉพาะการขาดการคำนึงถึงสถานการณ์และความเป็นจริงของบ้านเมือง ดังเช่น การห้ามมิให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งและ ส.ส. เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ โดยขาดความเข้าใจว่าสิ่งที่เรียกว่าสื่อมวลชนนั้นในปัจจุบันนี้มิได้มีแค่หนังสือพิมพ์อย่างเดียว แต่มีสื่อมวลชนจำพวกโซเชียลมีเดียมากมายหลายชนิดที่เป็นสื่อมวลชนที่ทรงอานุภาพในปัจจุบัน และมีผลต่อการเลือกตั้งมากกว่าหนังสือพิมพ์จนสุดประมาณนัก 

ผลจากเรื่องนี้จึงทำให้เกิดเรื่องร้องเรียนเพื่อเพิกถอน ส.ส. และ ส.ว. นับถึงขณะนี้เกือบจะมีจำนวนรวมกันถึง 200 คนแล้ว ซึ่งย่อมก่อให้เกิดวิกฤตทางการเมืองขึ้นอย่างร้ายแรงต่อไปได้ 

ประการที่หก ผลจากความสลับซับซ้อนซ่อนเงื่อนวกไปวนมาจนแทบหาเค้าเงื่อนไม่เจอ ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้จึงเกิดผลดังที่เห็นอยู่ ซึ่งแต่เดิมมานั้นก็จะทราบผลการเลือกตั้งที่ค่อนข้างแน่นอนตั้งแต่คืนวันเลือกตั้งแล้ว และในระยะเวลาวันหรือสองวันหลังจากนั้นก็จะมีแถลงการณ์ร่วมจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างชัดเจน และจากนั้นไม่นานรัฐบาลใหม่ก็สามารถเข้าบริหารราชการแผ่นดินได้ ไม่ก่อให้เกิดความชะงักงัน หรือความไม่เชื่อมั่นในการบริหารราชการแผ่นดินทั้งในและต่างประเทศ 

ประการที่เจ็ด คือการกำหนดบทเฉพาะกาลให้ ส.ว. ซึ่งโดยหลักการนั้น ส.ว. มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับ ตรวจสอบ และควบคุม รวมทั้งการกลั่นกรองการทำงานของรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรด้วย แต่เมื่อกำหนดให้ ส.ว. แต่งตั้งโดย คสช. และมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี กระทั่งเข้าร่วมลงมติในการพิจารณาเรื่องสำคัญ ๆ ร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร จึงกระทบต่อหลักการการมี ส.ว. จนแทบจะสิ้นเชิง และถึงวันนี้ก็มีเสียงกล่าวหากึกก้องว่า ส.ว. คือองค์กรค้ำจุนทางการเมืองของพรรคการเมืองเท่านั้น ตรงจุดนี้จะเป็นตราบาปแห่งหลักการการมี ส.ว. ที่จะเป็นเรื่องเล่าขานต่อไปในประวัติศาสตร์การเมืองไทย 

ประการที่แปด ซึ่งเป็นเรื่องที่กำลังจะเกิดขึ้น นั่นคือการตั้งคณะรัฐมนตรี ซึ่งอาจจะเกิดปัญหาที่หนักหนาไม่ต่างกัน เพราะนอกจากคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นรัฐมนตรีที่ไม่ค่อยจะแตกต่างจากคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งและ ส.ส. ส.ว. แต่ที่เพิ่มเติมขึ้นจากนั้นก็คือการกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีจะต้องมีคุณสมบัติพิเศษ 

คือต้องเป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ 

นั่นคือต้องมีทั้งความซื่อสัตย์ ไม่ทรยศหักหลังใคร มีความซื่อตรงต่อประเทศชาติและประชาชน ไม่คดในข้องอในกระดูก หรือแม้กระทั่งทรยศต่อพรรคการเมืองที่ตนสังกัดหรือทรยศต่อคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนในการเลือกตั้ง 

นั่นคือต้องมีความสุจริต ไม่เคยมีประวัติด่างพร้อย ไม่ว่าจะมีคำพิพากษาของศาลตัดสินแล้วหรือไม่ ต้องเป็นผู้ที่ไม่มีพฤติกรรมหรือพฤติการณ์ในการทุจริต ฉ้อฉล ฉ้อราษฎร์บังหลวง คือทั้งฉ้อราษฎร์ก็ดี บังหลวงก็ดี หรือเป็นที่ประจักษ์รู้กันโดยทั่วไปว่ามีพฤติการณ์เช่นนั้นก็ดี 

ที่สำคัญคือทั้งความซื่อสัตย์และความสุจริตนั้นจะต้องเป็นที่ประจักษ์ เป็นที่รู้กันทั่วไปในสังคมและประชาชน 

ตรงนี้แหละจะเป็นปัญหา และเป็นความรับผิดชอบในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ 

เหล่านี้คือปัญหาเล็กน้อยตั้งแต่รับสมัครเลือกตั้ง มาจนถึงขั้นตั้งคณะรัฐมนตรี ก็ได้รู้เห็นกันแล้วว่าเป็นอย่างไร ยิ่งไม่ต้องพูดถึงในอนาคต ปัญหาความขัดแย้งและวิกฤตต่าง ๆ อาจจะเกิดขึ้นจนสุดหยั่งคาดก็ได้.

ไม่มีความคิดเห็น: