PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

อย่าริลงเรือรั่ว

อย่าริลงเรือรั่ว!
โดย สิริอัญญา 
วันอังคารที่ 9 กรกฎาคม 2562

แม้ว่าจะครองอำนาจโดยเด็ดขาดมาเป็นเวลากว่าห้าปี แต่ทว่าผลการเลือกตั้งกลับไม่เป็นไปตามความคาดหมาย นั่นคือพรรคพลังประชารัฐไม่ได้คะแนนเสียงเป็นลำดับที่หนึ่ง แต่เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ ส.ว. สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ จึงมีแต้มต่อถึง 250 เสียง และทำให้ผลการเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นดังที่คาดหมายกัน 

ถึงกระนั้นความจริงก็บอกอย่างชัดเจนให้รู้ทั่วกันทั้งประเทศว่าในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ เป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค และในบางพรรคก็มีหลายก๊วน โดยรวมก็มีเสียงปริ่มน้ำมาก 

คือมีคะแนนเสียงของรัฐบาลผสมมากกว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านแค่ 4 เสียงเท่านั้น และเมื่อหักคะแนนเสียงของประธานสภาผู้แทนราษฎรและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรอีก 2 คน ซึ่งมีปกติที่จะรักษามารยาททางการเมืองในการวางตัวเป็นกลางไม่ออกเสียงลงคะแนน จึงเท่ากับมีคะแนนเสียงมากกว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านอยู่เพียงคะแนนเสียงเดียว 

ดังนั้นการประคับประคองให้มีสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลเข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่ครบเป็นองค์ประชุมก็ดี หรือในกรณีมีการลงมติก็ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่าฝ่ายค้านก็ดีจึงไม่ใช่เรื่องง่าย 

เพราะถ้าเผอิญ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลเกิดมีภารกิจเร่งด่วน เช่น ติดตามรัฐมนตรีไปตรวจงานในต่างจังหวัด หรือไปต่างประเทศ หรือป่วยไข้ หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นที่ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้แค่ 2-3 คนเท่านั้น สภาก็อาจจะล่มหรืออาจจะแพ้มติในการลงมติใด ๆ ก็ได้ และถ้าเป็นมติสำคัญก็อาจส่งผลให้รัฐบาลต้องยุบสภาหรือลาออก 

ไม่ต้องพูดถึงการตีรวนหรือการต่อรองทางการเมืองที่ปรากฏให้เห็นเป็นระยะ ๆ เพราะมีหลายพรรคร่วมหลายกลุ่มก๊วนที่ยังไม่ได้รับผลประโยชน์ในการร่วมรัฐบาลตามที่ตกลงกันหรือตามที่เรียกร้องต้องการ เพียงแค่ที่ผ่านมานั้นมีพลังบางอย่างไปสยบให้จำยอมไว้ ซึ่งก็คงจะได้ผลเพียงชั่วครั้งชั่วคราว พร้อมที่จะกำเริบขึ้นมาเมื่อใดก็ได้ หรือถ้าเมื่อใดก้อนหินที่ทับไว้นั้นถูกฟ้าผ่าก็ดี หรือถูกยกออกไปก็ดี บรรดาต้นหญ้าที่ถูกก้อนหินทับไว้ก็จะชูยอดไสวอีกครั้งหนึ่ง 

สิ่งเหล่านี้จึงเป็นอันตรายต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของรัฐบาล นี่คือปัญหาเสถียรภาพและความมั่นคงที่เกิดจากคะแนนเสียงและสถานการณ์ภายในพรรคร่วมรัฐบาล 

มาบัดนี้กลับมีคนยุยงส่งเสริมปูทางชี้ชวนให้บรรดา ส.ส.ของรัฐบาลไปลงนั่งในเรือรั่วอีก โดยชี้ช่องว่า ส.ส. สามารถไปดำรงตำแหน่งทางฝ่ายบริหาร คือสามารถไปดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรี หรือที่ปรึกษารัฐมนตรีได้ โดยอ้างว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามไว้ 

อันคุณธรรมและนิติธรรมนั้นย่อมไม่ใช่พิจารณาจากการมีกฎหมายห้ามหรือไม่ห้ามเพียงอย่างเดียว หากต้องพิจารณาถึงโลกนิติ ธรรมนิติด้วย เพราะในหลายกรณีแค่ราชนิติหรือบทกฎหมายที่บัญญัติไว้ก็ไม่อาจครอบคลุมหรือสอดคล้องกับสถานการณ์ได้ กรณีนี้ก็เหมือนกัน 

โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและหลักการอันมีมาได้กำหนดการแบ่งอำนาจอธิปไตยออกเป็นสามทาง คือ ทางนิติบัญญัติ ทางบริหาร และทางศาล โดยมุ่งหมายให้การใช้อำนาจทางนิติบัญญัตินั้นมีผลในการกำกับดูแลควบคุมการใช้อำนาจทางบริหารของรัฐบาลให้เป็นไปโดยถูกต้อง เป็นธรรม และบังเกิดประโยชน์สุขแก่อาณาประชาราษฎร 

และถ้าหากยึดมั่นในหลักการนี้ บรรดา ส.ส. ทั้งหลายก็ต้องทำหน้าที่นิติบัญญัติทางรัฐสภาให้เต็มที่เต็มกำลัง ส่วนฝ่ายบริหารอันมีคณะรัฐมนตรีเป็นศูนย์กลางก็ทำหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินให้ก่อเกิดประโยชน์สุขแก่มหาชนชาวสยาม ในขณะที่ศาลก็ทำการในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์เพื่อประสาธน์ความยุติธรรมให้เป็นไปทั้งแผ่นดิน ให้เป็นที่พึ่งพาอาศัยของผู้เดือดร้อนทุกข์เข็ญทั้งหลายที่ถือเอาศาลเป็นที่พึ่งแหล่งสุดท้าย 

ดังนั้นโดยหลักการอันมีมาตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ.2475 หากมีการปฏิบัติไปตามหลักการนี้บ้านเมืองก็ย่อมมีหลักมีเกณฑ์ และต่างก็จะได้ทำหน้าที่กันไปอย่างสมบูรณ์เต็มประสิทธิภาพ 

แต่ครั้นในยามที่รัฐบาลมีเสียงปริ่มน้ำขนาดนี้ หากจะชี้ชวนเปิดช่องให้ ส.ส. ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาหรือเลขานุการรัฐมนตรี ก็ย่อมต้องจัดเวลาไม่มากก็น้อยไปปฏิบัติหน้าที่ทางฝ่ายบริหาร ซึ่งนอกจากจะเสียหายในเรื่องการกำกับควบคุมการบริหารตามหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติแล้ว ยังจะต้องผูกมัดด้วยภารกิจในราชการแผ่นดิน ซึ่งหลายกรณีก็ต้องเดินทางไปต่างประเทศ หลายกรณีก็ต้องเดินทางไปต่างจังหวัดหรือปฏิบัติภารกิจอื่น ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการไปประชุมสภาผู้แทนราษฎร 

ลองนึกดูเถิดเพียงแค่ ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาหรือผู้ช่วยรัฐมนตรีแค่ 10 คนเท่านั้น อะไรจะเกิดขึ้นกับบ้านเมือง 

ก็จะได้เห็นการประชุมสภาผู้แทนราษฎรล่มแล้วล่มอีก ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลอย่างเต็มเปี่ยม จะไปตำหนิติเตียนว่าฝ่ายค้านตีรวนนับองค์ประชุมไม่ได้ และถ้าบ่อยครั้งนักก็ต้องถือว่ารัฐบาลล้มเหลวในกิจการนิติบัญญัติ ถ้าไม่ลาออกก็ต้องยุบสภา 

ก็จะได้เห็นสถานการณ์บางอย่างที่ไม่คาดคิด เช่น จู่ ๆ รัฐบาลอาจแพ้มติสำคัญในสภาผู้แทนราษฎร เช่น แพ้มติในเรื่องญัตติสำคัญ หรือแพ้มติในการพิจารณาร่างกฎหมายก็จะมีผลให้ต้องยุบสภาหรือลาออก 

นั่นคือสามัญผลหรือผลปกติที่จะต้องเกิดขึ้นจากการชี้ช่องชี้ชวนให้ ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลไปเป็นฝ่ายบริหาร ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการชี้ช่องให้ไปลงเรือรั่วที่มีแต่จะต้องอับปางโดยไม่ต้องสงสัยใด ๆ เลย.

ไม่มีความคิดเห็น: