PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2562

ไพบูลย์โมเดล : ไม่ยึดติดเก้าอี้หัวหน้าพรรค แต่ “ผมจะเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อของ พปชร.”

ไพบูลย์โมเดล : ไม่ยึดติดเก้าอี้หัวหน้าพรรค แต่ “ผมจะเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อของ พปชร.”

ไพบูลย์Image copyrightSTR/BBC THAI
พรรคประชาชนปฏิรูป (ปชช.) ซึ่งมีอายุเพียง 10 เดือน กำลังจะกลายเป็นเพียงอดีตไปแล้ว หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติเมื่อ 26 ส.ค. ให้ประกาศการสิ้นสภาพของ ปชช. ในราชกิจจานุเบกษา ท่ามกลางความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับสถานะของ ไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรค และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เพียงหนึ่งเดียวของพรรค
"น้อมนำคำสอนพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหา 'ทุกข์ร้อน' ให้กับประชาชน คืองานของพรรคประชาชนปฏิรูป" คำขวัญประจำพรรคได้กลายเป็นภาพลักษณ์ประจำตัวของ ไพบูลย์ ในช่วงรณรงค์เลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562
การใช้ชื่อพระพุทธเจ้าหาเสียง ทำให้ ไพบูลย์กับพวก ถูกวิจารณ์อย่างหนักจากองค์กรชาวพุทธ แต่ถึงกระนั้น ปชช. ก็เดินเข้าสู่สนามเลือกตั้งได้ตลอดรอดฝั่ง เนื่องจาก กกต. เห็นว่าไม่ขัดต่อบทกฎหมายใด และทำให้ภารกิจสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นนายกรัฐมนตรีสมัย 2 สำเร็จ-สมใจ
เมื่อ ปชช. ประกาศ "เลิกพรรค" ไพบูลย์ จึงมิลืมน้อมนำคำสอนพระพุทธเจ้ามาประกอบการตัดสินใจ
"ทุกอย่างมันคือความไม่เที่ยง อนิจจตา อย่าไปยึดมั่นถือมั่น" ไพบูลย์ กล่าวกับบีบีซีไทย
ไพบูลย์ กล่าวว่า แนวคิดในการ "เลิกพรรค" เกิดขึ้นจากการที่พรรคมี ส.ส. เพียงคนเดียวในสภา คณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) บางส่วนจึงไม่อยากทำงานต่อ ขอลาออก เพราะเป็นงานที่อาศัยความเสียสละ และเสียทรัพย์สินเงินทอง
"เมื่อเขา (กก.บห.) ไม่เห็นประโยชน์ เราก็ต้องปล่อยวาง อย่าไปยึดมั่นถือมั่นว่าต้องเป็นหัวหน้าพรรค ตถตา มันก็เป็นเช่นนั้นเอง"
โคว้ดพิค

งัดสารพัด กม. ตีความ ขอ "เลิกพรรค" = "ยุบพรรค"

นอกจากอ้างถึงหลักธรรมเป็นหลังพิง ไพบูลย์ ยังต้องเผชิญหน้ากับสารพัดปมปัญหาทางกฎหมาย
ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมืองปี 2560 กำหนดว่าการย้ายสังกัดของ ส.ส. เกิดขึ้นได้ใน 2 กรณีคือ ถูกที่ประชุม กก.บห. และ ส.ส. ของพรรคต้นสังกัดลงมติ "ขับพ้นพรรค" ต้องหาสังกัดใหม่ภายใน 30 วัน หรือ "พรรคถูกสั่งยุบ" ต้องหาสังกัดใหม่ภายใน 60 วัน แต่กรณี "ขอยุบตัวเอง" เพื่อย้ายไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคอื่น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก
ทว่า ไพบูลย์ ยืนกรานว่า ปชช. ไม่ได้ "ขอยุบพรรคตัวเอง" แต่เป็นการ "ขอเลิกพรรค" ซึ่งกฎหมายเปิดช่องให้ทำได้
พ.ร.ป. พรรคการเมือง มาตรา 91 (7) กำหนดว่าพรรคการเมืองจะสิ้นสภาพความเป็นพรรคเมื่อ "เลิกตามข้อบังคับพรรค" และวรรคสี่ระบุว่า "เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสมาชิกที่เป็น ส.ส. ให้ถือว่าการสิ้นสภาพของพรรคการเมืองตามมาตรานี้ เป็นการถูกยุบพรรคการเมือง"
ขณะที่ข้อบังคับ ปชช. ข้อที่ 122 เขียนไว้ว่า "ให้การยกเลิกพรรคเป็นไปตามมติของ กก.บห." ซึ่ง ไพบูลย์ บอกว่า มี กก.บห. จำนวน 16 จาก 27 คนมาร่วมประชุมนัดส่งท้าย ก่อนมีมติเป็น "เอกฉันท์" ให้ยื่นคำร้องต่อ กกต. เพื่อขอเลิกกิจการพรรค เมื่อ 5 ส.ค.
สมัคร ส.ส.Image copyrightWASAWAT LUKHARANG/BBC THAI
เป็นไปได้หรือไม่ที่ ไพบูลย์กับพวก จงใจกำหนดสถานะของ ปชช. เป็น "พรรคเฉพาะกิจ" ตั้งแต่ต้น จึงเขียนข้อบังคับพรรคให้พร้อมยุบ-เลิกกิจการได้ทุกเมื่อ ?
"พรรคไหน ๆ ก็ทำแบบนี้กันทั้งนั้นล่ะ" เขาแจกแจงทันควัน พลางยกเหตุผลประกอบว่าทุกพรรคการเมืองต้องเขียนข้อบังคับพรรคให้สอดคล้องกับเนื้อหาในกฎหมายลูก และย้ำว่า ปชช. ไม่ใช่พรรคการเมืองแรกที่ขอเลิกพรรค เพราะนับจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มี 29 พรรคที่เลิกกิจการไปแล้ว เนื่องจากไม่สามารถดำเนินการทางธุรการได้ตามเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือเลิกพรรคเองก็มี เพียงแต่พรรคเหล่านั้นไม่มี ส.ส. จึงไม่เป็นที่สนใจของสังคม

ปัดติดเงื่อนไขรอ "เคลียร์สมบัติเก่า" ใน 180 วัน เดินหน้าเข้า พปชร. ใน 60 วัน

สิ่งที่ ไพบูลย์ ผู้เป็น ส.ส. เพียงหนึ่งเดียวของ ปชช. ต้องทำภายใน 60 วันคือเร่งหาต้นสังกัดใหม่ ไม่เช่นนั้นสมาชิกภาพ "ผู้แทนปวงชนชาวไทย" ของเขาจะสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (10)
พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) คือ "บ้านใหม่" ที่ ไพบูลย์ หมายมั่นปั้นมือว่าจะโยก-ย้ายเข้าไปอยู่ ถึงขั้นดอดไปแสดงความจำนงผ่าน พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการยุทธศาสตร์ พปชร. ว่า "จะไปช่วยงานด้านกฎหมาย" แต่ขณะนี้เขายังติดภารกิจ "เก็บกวาดบ้านเก่า" ต้องส่งบัญชีและงบแสดงฐานะทางการเงิน และเอกสารการเงินของพรรคการเมืองภายใน 30 วันนับแต่วันที่พรรคสิ้นสภาพ และให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ชำระบัญชีให้เสร็จสิ้นภายใน 180 วันนับแต่รับแจ้ง
ลุงป้อมImage copyrightกองโฆษก พปชร.
คำบรรยายภาพพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ เข้าไปยังที่ทำการพรรคพลังประชารัฐ เป็นครั้งแรกเมื่อ 20 ส.ค. หลังตอบรับทำหน้าที่ประธานกรรมการยุทธศาสตร์พรรค
พ.ร.ป. พรรคการเมือง มาตรา 95 วรรคสอง กำหนดให้หัวหน้าพรรคและ กก.บห. "ยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่อยู่จนกว่าการชำระบัญชีจะแล้วเสร็จ แต่จะดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในนามพรรคการเมืองที่สิ้นสภาพหรือยุบมิได้" ทำให้เกิดการตีความกันว่าหัวหน้า ปชช. อาจย้ายไปสังกัด พปชร. ไม่ทันใน 60 วัน และทำให้แกนนำ พปชร. ออกอาการ "แบ่งรับ-แบ่งสู้" แทนที่จะเปิดบ้านรอ "ต้อนรับขับสู้" ว่าที่สมาชิกพรรคคนใหม่
วาทะ "ต้องไปจัดการตัวเองให้เรียบร้อยก่อน" จึงหลุดจากปาก ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช. เกษตรและสหกรณ์ของ พปชร. ในฐานะ "มือประสานงานพรรคจิ๋ว"
เกี่ยวกับประเด็น "เคลียร์ตัวเอง-เคลียร์สมบัติเก่า" ไม่ทำให้นักการเมืองที่หวังจะไปร่วมชายคา พปชร. ต้องสะทกสะท้าน เพราะเห็นว่าพวกที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เขาในเรื่องนี้ "อ้างกฎหมายผิด" พร้อมยืนยันว่าเมื่อ กกต. ประกาศราชกิจจานุเบกษาให้พรรคเลิกกิจการแล้ว การเป็นสมาชิกพรรคและหัวหน้าพรรคก็จะสิ้นสุดลง
"มันเหลือแต่ชื่อเพื่อไว้คอยตอบข้อซักถามของ สตง. เท่านั้น" และ "ผมแค่ไปสมัครเป็นสมาชิก พปชร. ชำระเงิน แล้วนำหลักฐานไปแจ้งต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง ก็ถือว่ามีสมาชิกภาพ ส.ส. ต่อแล้ว"

"ผมจะเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อของ พปชร."

คำถามต่อมาคือ หาก พปชร. รับ ไพบูลย์ เข้าสังกัด เขาจะเป็นผู้แทนฯ ประเภทใด ?
ไพบูลย์ ไม่มีชื่อในบัญชี 150 ผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) ของ พปชร. แต่เข้าสภามาได้ในฐานะ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ของ ปชช. เขาจะเป็นปาร์ตี้ลิสต์เบอร์เท่าไร หรือเขาจะเป็น "ส.ส. เฉย ๆ" ที่จำแนกประเภทไม่ได้ตามที่นักวิชาการบางคนคาดการณ์
"ผมจะเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อของ พปชร." เขาประกาศ
เขากล่าวต่อไปว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ พอได้เป็น ส.ส. ก็ถือว่าพ้นจากบัญชีไปแล้ว กลายเป็น ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ เวลาขานชื่อในสภาก็ไม่มีใครมานั่งพูดว่าในลำดับใด พูดแค่ว่าเป็น ส.ส.
"เรื่องการจัดลำดับ เป็นเรื่องของคนที่ยังไม่ได้เป็น ส.ส. แต่ผมเข้าไป พปชร. ในฐานะที่เป็น ส.ส. อยู่แล้ว จึงไม่ต้องไปจัดลำดับอะไร"

"ไม่เข้าใจ" พวกคำนวณ 4.5 หมื่นเสียงของ ปชช. และ "ไม่เกี่ยว" ลัทธิเอาอย่างจาก "ไพบูลย์โมเดล"

ปชช. เป็น 1 ใน 10 "พรรคจิ๋ว" หรือพรรคการเมืองที่มีที่นั่งในสภาพรรคละคนด้วยการปัดเศษทศนิยมตาม "สูตรคำนวณ ส.ส." ของ กกต. ทั้งที่ได้รับคะแนนมหาชน (ป๊อปปูลาร์โหวต) ไม่ถึงเกณฑ์มี "ส.ส. พึงมีได้" 1 คน หรือได้ 71,123.112 คะแนน
ปชช. เป็นพรรคอันดับ 4 จากท้ายตารางพรรคที่มีที่นั่งในสภา ได้คะแนนมหาชน 45,420 คะแนน จากการส่งผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 311 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 40 คน
พรรคจิ๋วImage copyrightTHAI NEWS PIX
คำบรรยายภาพนายอุตตม สาวนายน หัวหน้า พปชร. รับหนังสือแสดงเจตนารมณ์สนับสนุน พปชร. เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลจาก 11 พรรคการเมืองที่มีเสียงเดียวในสภา เป็นลายเซ็นของ ส.ส. 11 คน เมื่อ 13 พ.ค.
คะแนนที่ได้มา เพียงพอต่อการส่งหัวหน้าพรรคในฐานะผู้สมัคร ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์หมายเลข 1 เข้าสภาได้ แต่เมื่อ ปชช. ขอ "เลิกพรรค" จึงเกิดคำถามตามมามากมาย อาทิ คะแนน 4.5 หมื่นเสียงของ ปชช. ยังอยู่หรือไม่หลังเลิกพรรค และอยู่อย่างไร ? คะแนนจะติดตามตัว ไพบูลย์ ไปที่พรรคใหม่ด้วยหรือในเมื่อประชาชนเลือก ปชช. ไม่ใช่ พปชร. ? การย้ายพรรคของหัวหน้า ปชช. ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และไม่เป็นธรรมกับสมาชิกคนอื่นหรือไม่ ? กกต. ต้องคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อใหม่ทั้งระบบหรือไม่ โดยตัดทุกคะแนนของ ปชช. ออก ?
ทุกคำถามที่ดังขึ้นจากรอบด้านทั้งนักวิชาการและนักการเมืองขั้วตรงข้าม ไพบูลย์ ได้ยิน แต่คำตอบของเขามีเพียงสั้น ๆ ว่า "พอพรรคสิ้นสภาพไป ผมก็ไม่เกี่ยวแล้ว ไม่เข้าใจพวกที่ไปคิดเรื่องคะแนน เพราะในรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนเรื่องนี้ไว้ เมื่อไม่เขียนไว้ในกฎหมาย ก็ไม่ต้องทำอะไร"
ปฏิเสธไม่ได้ว่า "ไพบูลย์โมเดล" มีแนวโน้มก่อให้เกิด "ลัทธิเอาอย่าง" กับบรรดา "พรรคจิ๋ว" ซึ่งน่าจะหนาว ๆ ร้อน ๆ ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งซ่อม เพราะไม่รู้ว่าจะยึดเก้าอี้ ส.ส. เอาไว้ได้นานแค่ไหน เพื่อสร้าง "หลักประกันทางอำนาจ" การ "ยุบพรรคตัวเอง" แล้วโยก-ย้ายไปอยู่พรรคใหญ่อาจการันตีสถานะ ส.ส. ได้ดีกว่า
ไพบูลย์ หลีกเลี่ยงจะให้ความเห็นประเด็นนี้ โดยกล่าวเพียงสั้น ๆ ว่า "ถ้ามีเหตุให้สิ้นสภาพ เขาก็เลิกพรรคได้ตามกฎหมาย ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับผม"

คนถือศีล 5 ประกาศฟ้อง 2 นักวิจารณ์ แต่อนุโมทนาการทำหน้าที่สื่อ

ป้ายหาเสียงไพบูลย์Image copyrightWASAWAT LUKHARANG/BBC THAI
อย่างไรก็ตาม ไพบูลย์ ผู้ออกตัวว่าถือศีล 5 ไม่เคยขาด อ่านหนังสือธรรมพุทธทาสภิกขุเป็นประจำ ศึกษาธรรมอยู่กับบ้าน ออกไปทำงานประหนึ่งไปปฏิบัติธรรมและเรียกมันว่าการ "ถือบวชที่สภา" ได้ประกาศฟ้องดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทกับนักวิจารณ์อย่างน้อย 2 คนคือ บุญยอด สุขถิ่นไทย อดีต ส.ส. กทม. พรรคประชาธิปัตย์ และ เจษฎ์ โทณะวณิก อดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) หลังใช้คำว่า "ยุบพรรคตัวเอง" และ "เผาบ้านเอาประกัน" ซึ่งทำให้เขารูสึกได้รับความเสื่อมเสีย แต่กับสื่อมวลชนที่นำข้อวิพากษ์ของทั้ง 2 คนมาเผยแพร่ต่อ ไพบูลย์ยืนยันว่าจะไม่ดำเนินคดีใด ๆ เพราะเข้าใจว่าเป็นการทำหน้าที่
"ก็ขออนุโมทนาด้วย สาธุ ๆ ๆ" ไพบูลย์ กล่าวทิ้งท้ายบทสนทนา

ไม่มีความคิดเห็น: