PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2556

ชาวกาฬสินธุ์ขุดบ่อน้ำใต้ดินใช้ประทังชีวิต


กาฬสินธุ์แล้งหนัก! หลายพื้นที่แหล่งน้ำแห้งขอด ส่งผลชาวบ้านขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค พร้อมเร่งขุดบ่อน้ำตามไร่นา เพื่อนำน้ำขึ้นมาใช้ประทังชีวิตจนกว่าจะถึงหน้าฝน

                         26 มี.ค.56 ปัญหาภัยแล้งในจังหวัดกาฬสินธุ์หลายพื้นที่ยังคงวิกฤติ แหล่งน้ำธรรมชาติ ห้วย หนอง คลองบึง และแหล่งน้ำสาธารณะแห้งขอดลง 100 % ส่งผลให้ชาวบ้านต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำดื่ม น้ำใช้อย่างหนัก โดยจากข้อมูลของสำนักงานป้องกันและบรรเทาจังหวัดกาฬสินธุ์ระบุว่าจังหวัดกาฬสินธุ์ประสบภัยแล้ง เนื่องจากฝนทิ้งช่วงมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2555 ถึงปัจจุบัน รวม 18 อำเภอ มีประชาชนได้รับความเดือดร้อน 132 ตำบล 1,493 หมู่บ้าน 111,000 ครัวเรือน 397,342 คน พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 382,043 ไร่ มูลค่าเสียหายเบื้องต้น 2,451,304,960 บาท

                         ทั้งนี้จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ชาวบ้านในตำบลหนองบัว อำเภอนามน จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน และประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซากทุกปี ล่าสุดปริมาณน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติและแหล่งน้ำสาธารณะต่างๆแห้งขอดลงแล้วทั้งหมด 100 % อีกทั้งบางแห่งน้ำใต้ดินก็หมดลงเช่นกัน ชาวบ้านต้องระดมแรงช่วยกันขุดบ่อน้ำในพื้นที่นาต่างๆ และนำพาชนะเดินทางไปไกลกว่า 2 กม.เพื่อนำน้ำขึ้นมาใช้อุปโภค บริโภค แต่ก็ยังพบว่าน้ำในบ่อที่ชาวบ้านช่วยกันขุดก็ยังไม่เพียงพออยู่ดี ชาวบ้านต้องเข้าคิวรอน้ำที่ไหลซึมออกมาจากดินหลายชั่วโมงและต้องรอให้น้ำตกตะกอนเสียก่อนจึงสามารถนำน้ำมาดื่มได้ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่วิกฤติหนักสุดในรอบ 40 ปี

                         นายกระจ่าง ทรัพย์บ้านใหม่ อายุ 57 ปี ชาวบ้านหนองบัวนอก ตำบลหนองบัว อำเภอนามน จังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตังแต่เกิดมายังไม่เคยประสบภัยแล้งขาดน้ำหนักสุดเท่ากับปีนี้มาก่อน เนื่องจากปีนี้ชาวบ้านในตำบลหนองบัว 8 หมู่บ้าน 1,040 หลังคาเรือน ต่างประสบปัญหาขาดแคลนน้ำดื่ม น้ำใช้ มาหลายเดือนแล้ว เนื่องจากฝนทิ้งช่วงยาวนาน ทำให้แหล่งน้ำต่างๆแห้งขอดทั้งหมด มีชาวบ้านหลายครัวเรือนลงทุนจ้างช่างมาขุดเจาะบ่อบาดาล แต่ก็ไม่สามารถนำน้ำขึ้นมาได้ เพราะน้ำใต้ดินก็หมดเหมือนกัน กระทั่งล่าสุดต้องระดมแรงงานชายช่วยกันขุดบ่อตามหัวไร่ปลายนา ซึ่งยังคงมีความชุ่มชื่นและพอมีน้ำใต้ดินหลงเหลือประทังชีวิตบ้าง แต่ก็ต้องประสบปัญหา โดยเฉพาะครอบครัวที่มีผู้สูงอายุและเด็ก อยู่กันตามลำพัง ซึ่งยากในการแบกหามน้ำ เพราะต้องเดินทางไปเอาน้ำไกลกว่า 2 กม. จึงอยากขอความช่วยเหลือไปยังรัฐบาลด้วย

สตูลแล้งหนัก! ชาวบ้านไร้น้ำกินน้ำใช้

                          ภัยแล้งกำลังคุกคามหลายพื้นที่ ล่าสุดที่จังหวัดสตูลก็เข้าขั้นน่าห่วง โดยพบว่า ชาวบ้านในพื้นที่เทศบาลตำบลคลองขุด อ.เมือง จ.สตูล ต้องประสบกับปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก โดยเฉพาะ บ้านใต้ ม.2 เทศบาลตำบลคลองขุด ชาวบ้านถึง 30 ครัวเรือนไม่มีน้ำประปาใช้ รวมทั้งต้องใช้น้ำบ่อบาดาล ซึ่งขณะนี้ภัยแล้งได้ลุกลามเป็นวงกว้าง ทำให้น้ำในบ่อแห้งขอดลง ส่งกลิ่นเหม็นและน้ำเป็นสีแดง เกิดเป็นตกตะกอนสนิม แต่ชาวบ้านก็ต้องทนใช้น้ำในการล้างจาน และอาบน้ำอยู่เนื่องจากไม่มีทางเลือก

                          วันเดียวกัน นายสุชาติ บริรักษ์กิจดำรง รองปลัดเทศบาลตำบลคลองขุดอ.เมือง จ.สตูลได้นำสื่อมวลชนลงพื้นที่ตรวจดูความเดือดร้อนของชาวบ้าน พบว่าในบางพื้นที่ต้องประสบปัญหาภัยแล้ง หลังขยายวงกว้างไปยังอยู่ ม.3 ม.4 ม.5 ในเขตเทศบาลตำบลคลองขุด ซึ่งถือว่าชาวบ้านได้รับความเดือนร้อนขาดน้ำกิน น้ำใช้แล้ว รวมทั้งในด้านการเกษตรพืชผักไม่มีน้ำรถผัก รวมทั้งโคกระบือก็แทบไม่มีน้ำกินเช่นกัน

                           นายสุชาติกล่าวว่า ได้สั่งการให้รถดับเพลิง จำนวน 2 คันที่บรรทุกน้ำเร่งลงพื้นที่แจกจ่ายน้ำให้กับชาวบ้านที่เดือดร้อน โดยวันหนึ่งต้องวิ่งตกวันละ 10 เที่ยวต่อวัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น สำหรับเทศบาลตำบลคลองขุด อ.เมือง จ.สตูลมีพื้นที่ทั้งหมด 142,894 ตารางกิโลเมตร มี 7 หมู่บ้าน ประชากรจำนวน 7,479 ครัวเรือน

จันทบุรี-ภัยแล้งลุกลามหนัก เร่งขุดบ่อบาดาล

                          เทศบาลมะขามเมืองใหม่ อ.มะขาม จังหวัดจันทบุรี ได้ขานนับนโยบายของอำเภอมะขาม จ.จันทบุรี ที่ได้ประกาศให้พื้นที่เทศบาลตำบลมะขามเมืองใหม่ทั้ง 10 หมู่บ้าน เป็นพื้นที่ภัยแล้ง ทำให้เทศบาลตำบลมะขามเมืองใหม่ ประสาน ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 17 จันทบุรี เร่งดำเนินการขุดเจาะบ่อบาลน้ำตื้น ให้กับประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ หมู่ที่ 1 -10 ต.มะขาม อ.มะขาม จ.จันทบุรี นายดิลก บัวเกิด นายกเทศมนตรีตำบลมะขามเมืองใหม่ พร้อมด้วย นายสมบูรณ์ เสมราช วิศกรเครื่องกลชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานสนับสนุนทรัพยากรกู้ภัย ได้นำเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่หมู่ 1 ซอยเกาะยาว ต.มะขาม จ.จันทบุรี นำเครื่องเจาะมาดำเนินการขุดเจาะบ่อบาดาลน้ำตื้น ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 เมตร ลึก 20 เมตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ให้มีน้ำใช้สำหรับการอุปโภค บริโภค รวมทั้งน้ำใช้ในการเกษตร โดยเฉพาะช่วงนี้เป็นช่วงที่เกษตรกรผู้ปลูกผลไม้มีความจำเป็นต้องใช้น้ำเพื่อเกษตรเป็นจำนวนมาก
                          สำหรับการดำเนินงานช่วยเหลือภัยแล้งในครั้งนี้ นายกเทศมนตรีตำบลมะขามเมืองใหม่ แจ้งว่า ปภ.เขต 17 จันทบุรี ได้พิจารณาดำเนินการขุดเจาะบ่อบาลน้ำตื้นในราคาบ่อละ 8,000 บาท  ที่ระดับความลึก ตั้งแต่ 10-20 เมตร พร้อมด้วยปอกปูนขนาดความกว้าง1เมตร หากมีความลึกเกิน 20 เมตร ประชาชนต้องออกค่าปอกปูน ลูกละ 200

ปราจีนบุรี-ภัยแล้งลามหนัก น้ำประปาขาดแคลน

                         ผู้สื่อข่าว จ.ปราจีนบุรี รายงานสถานการณ์ภัยแล้ง จ.ปราจีนบุรี โดยภาพรวมได้ประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินดังนี้ในพื้นที่ 2 อำเภอ 9 ตำบล 127 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอบ้านสร้าง ตำบลบางแตน 13 หมู่บ้าน อำเภอกบินทร์บุรี ตำบลนาแขม ตำบลย่านรี ตำบลวังดาล ตำบลวังท่าช้าง ตำบลลาดตะเคียน ตำบลวังตะเคียน ตำบลนนทรี และตำบลหาดนางแก้ว จำนวน 8 ตำบล 114 หมู่บ้าน

                         นายบุญเตือน อินคง อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางแตน (อบต.) อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า ภาวะน้ำเค็มหนุนในหน้าแล้งนี้แย่หนักต้องส่งน้ำจืดเพื่ออุปโภค-บริโภค ให้กับชาวบ้านทุกวันโดยตลอดในทุกหมู่บ้าน เดือดร้อนหนักเฉพาะหมู่บ้านที่อยู่ติดกับริมแม่น้ำปราจีนบุรี ได้แก่ หมู่ 10 ,11 ,12 เนื่องจากไม่มีระบบประปา ที่ผ่านมาใช้รถบรรทุกน้ำวิ่งวันละ 2 คัน วันละ 10 กว่าเที่ยว แจกจ่ายราษฎรรวมกว่า 300 ครัวเรือน เป็นรถ อบต.บางแตน 1 คัน และรถส่วนตัวของตนเอง 1 คัน โดยนำน้ำดิบจากสระประปาบางครั้งประสานขอจากเทศบาลตำบลบางขนาก อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทราที่พื้นที่
รอยต่อกัน พร้อมกันนี้ปัญหาสำคัญคือ น้ำในคลองบางแตน คลองบางกระดาน เริ่มแล้วในขณะนี้

                         นายบุญเตือน กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ปัญหาคือ การหมดวาระการดำรงตำแหน่งของผู้บริหารตั้งแต่ 8 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา  จะเลือกตั้งในวันที่ 7 เมษายน นี้ มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง 2 คนคือตนเองนายบุญเตือน อินคง อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางแตน (อบต.) และนายสายพิณ ศรีเพ็ชร อดีตนายกอบต.บางแตนเช่นกัน ทำให้การดูแลประชาชนไม่ได้เต็มที่” นายบุญเตือน กล่าว

                         ขณะที่นายนิติภูมิ โภชากรณ์ ปลัดอำเภอ(เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ) อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรีกล่าวว่า “ ปัญหาภาวะน้ำเค็มหนุน-ภัยแล้ง อ.บ้านสร้างยังไม่เดือดร้อนมาก ท้องถิ่นดูแลเรื่องน้ำดื่ม น้ำใช้ไม่ถึงขั้นวิกฤติ ส่วนที่เป็นปัญหาคือเรื่องน้ำดื่ม น้ำใช้ของหมู่บ้านที่ไม่มีประปาหมู่บ้านแต่มีถังกลางในการรองรับน้ำไว้แล้วดูแลกันทั่วถึง ซึ่งภาวะน้ำเค็มหนุนหน้าแล้งแม่น้ำปราจีนบุรีเป็นเรื่องปกติทุกปีเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ” นายนิติภูมิ กล่าว

                         ด้านนายเกียรติ พิจารณ์สรรค์ ปลัดอำเภอหัวหน้าฝ่ายความมั่นคง อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรีกล่าวรายงานในที่ประชุมคณะกรรมการธรรมาภิบาล จ.ปราจีนบุรีว่า สถานการณ์ภัยแล้ง อ.กบินทร์บุรี โดยรวมอ.กบินทร์บุรีมีแม่น้ำสำคัญ 4 สาย ได้แก่แม่น้ำปราจีนบุรี แควพระปรง แควโสมง และแควหนุมาน ตั้งแต่เดือนม.ค.56เป็นต้นมา น้ำในแหล่งน้ำที่สำคัญมีระดับลดลงมาก ทำให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อนจากน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตรกรรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรายงานอำเภอและอำเภอรายงานจังหวัดประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ภัยแล้ง 8 ตำบล 114 หมู่บ้าน

                         นายเกียรติ กล่าวต่อไปว่า ราษฎรได้รับความเดือดร้อนที่ผ่านมา จำนวน 8 ตำบล 81 หมู่บ้าน 9,912 ครัวเรือน ราษฎร 34,332คน ความเสียหายทางด้านการเกษตร ด้านประมงยังไม่มีความเสียหาย ด้านปศุสิตว์ยังไม่มีความเสียหาย ส่วนด้านการเกษตรกรรม มีการเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2 จำนวน 14 ตำบล 193 หมู่บ้าน 7,260 ไร่ ยังไม่มีความเสียหาย ใกล้ถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวแล้วประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์” นายเกียรติ กล่าว

                         ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติม ที่ประชุมคณะกรรมการธรรมาภิบาล จ.ปราจีนบุรี ได้สรุปการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในภาวะน้ำเค็มหนุนที่ผ่านมา โดยโครงการชลประทานปราจีนบุรีได้ประสานกับโครงการชลประทานจังหวัดสระแก้วระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำแควพระปรงมาสนับสนุนวันละ 300,000 ลบ.ม. ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.56 ถึงวันที่ 30 เม.ย.56 เพื่อผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำปราจีนบุรีและสนับสนุนการผลิตน้ำอุปโภค บริโภคและสิ่งแวดล้อม

พิจิตร-ชาวบ้านจัดระเบียบการใช้น้ำบ่อกลางบ้าน

                         ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดพิจิตรยังคงส่งผลกระทบกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยที่หมู่ที่ 1 ตำบลสายคำโห้ อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร ชาวบ้านที่มีกว่า 40 หลังคาเรือนต้องจำกัดการใช้น้ำจากบ่อน้ำกลางหมู่บ้านเนื่องจากปริมาณน้ำลดลง อย่างต่อเนื่อง น้ำประปาไม่เพียงพอกับความต้องการเนื่องจากน้ำใต้ดินมีไม่เพียงพอ ชาวบ้านจึงต้องหันมาใช้น้ำจากบ่อน้ำธรรมชาติขนาด 1 ไร่ ที่อยู่บริเวณกลางหมู่บ้านที่เคยใช้มาตั้งแต่สมัยบุกเบิกหมู่บ้าน วิธีการนำน้ำมาใช้ชาวบ้านจะใช้การต่อท่อลงไปในบ่อน้ำ ใช้แกลอนน้ำผูกติดเพื่อให้บริเวณหัวกะโหลกของเครื่องสูบน้ำลอยในจุดที่บริเวณน้ำสะอาด ส่วนเครื่องสูบน้ำจะติดตั้งไว้ที่บ้านเพื่อป้องกันการสูญหาย
                         จากสถานการณ์ภัยแล้งที่แล้งจัดติดต่อกันเป็นเวลานานนำประปามีไม่เพียงพอ ประชาชนจำเป็นต้องใช้น้ำบ่อกลางหมู่บ้าน โดยทั้งหมดต้องปฏิบัติตามกติกาของหมู่บ้านด้วยการสูบน้ำ เฉพาะการ อุปโภค บริโภคเท่านั้น ห้ามใช้ในการทำการเกษตร เนื่องจากน้ำในบ่อเหลือเพียงครึ่งบ่อเกรงว่าจะไม่เพียงพอใช้ในช่วงฤดูแล้งนี้

ที่มา :คมชัดลึก

ไม่มีความคิดเห็น: