PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2556

(ย้อนหลัง)ศึกชิงเมืองหลวง2ขั้วอำนาจ


ศึกชิงเมืองหลวง2ขั้วอำนาจ
บทความ วันพุธที่ 16 มกราคม พ.ศ.2556 17:21น.
428637
ปี่กลองเริ่มโหมโรง บรรยากาศการลงพื้นที่และติดป้ายหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ในที่สุดก็มีการเปิดตัวคู่เอกครบถ้วน จากทั้งพรรคประขาธิปัตย์ ที่ส่ง "ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร" ลงสมัคร หวังทำแฮตทริก ขณะที่พรรคเพื่อไทย ส่ง"พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ" ลาออกจาก เลขาฯป.ป.ส. เป็นตัวแทน ที่หลังการเปิดตัวที่พรรค (15 ม.ค.) ก็ลงพื้นที่ประเดิมหาเสียงกับชาวบ้าน โดยเลือกเขต กทม.โซนรอบนอก โดยเฉพาะฝั่งตะวันออก ย่าน กม.8 รามอินทรา พื้นที่ของเจ้าแม่เมืองหลวง (คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่เจ้าตัวไม่ปรากฏตัวนับแต่ที่พรรคและการลงพื้นที่ครั้งนี้) อันเป็นฐานที่มั่นสำคัญของพรรคเพื่อไทยในกรุงเทพฯ โดยมี "น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี มาร่วมเดินรณรงค์ พร้อมด้วย "นางปวีณา หงสกุล" ที่มีฐานเสียงย่านสะพานใหม่ ดอนเมือง ร่วมด้วย "บิ๊กแจ๊ด พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง" ผบช.น. มาประกบ และระดมทีม ส.ส.กทม. ทีมที่ปรึกษามาเต็มขบวน แบบจัดเต็ม (16 ม.ค. 56)
โดย "พล.ต.อ.พงศพัศ" พยายามชูภาพความสดใหม่ให้ทดลอง แบบ "ขอโอกาส" เข้าไปเปลี่ยนแปลง พร้อมเปิดยุทธศาสตร์หลักหาเสียงเน้นการทำงานที่ "ไร้รอยต่อกับรัฐบาล" เป็นมือประสาน 10 ทิศ สามารถเชื่อมต่อกับทุกหน่วยงาน เพื่อแก้ไขปัญหาให้คน กทม. ได้อย่างรวดเร็วทันใจ แบบ บลัฟเปรียบเทียบ ไปยัง "ข้ออ่อน" ของฝ่ายตรงข้าม ครั้งที่พรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐบาล แต่เกิดปัญหาการสื่อสารทำงานกับ ผู้ว่าฯกทม. พร้อม ชูเวิร์ดดิ้ง สัญญา "จะคืนความสุขให้คนไทยให้ได้"
ขณะที่ ฝั่งพรรคประชาธิปัตย์ เลือกที่จะตะลุยในเขตกรุงเทพฯชั้นใน ที่เป็นฐานที่มั่นย่านธุรกิจ โดย "ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์"ได้ลงพื้นที่หาเสียงบริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสโพธินิมิตร (15 ม.ค.) โดยมีการชูสโลแกน "รักกรุงเทพฯ ร่วมสร้างกรุงเทพฯ" และชู 2 ยุทธศาสตร์ ด้วยการรณรงค์ให้ประชาชนสนับสนุนให้ผู้ว่าฯกทม. ทำงานอย่างต่อเนื่อง กับสิ่งที่ทำไว้
ส่วนการขับเคลื่อนการรณรงค์หาเสียง พรรคประชาธิปัตย์ มีระดมสรรพกำลังเครือข่ายของ ปชป. ไม่ว่าจะเป็น ส.ก. ส.ข. ส.ส. สาขาพรรค และผู้สนับสนุนพรรค เข้ามาขับเคลื่อนรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง และ ประสานงานกับองค์กร เครือข่ายภาคประชาชน กลุ่มวิชาชีพต่างๆ ในการร่วมกันขับเคลื่อน
น่าสนใจว่า ศึกการชิงพื้นที่เมืองหลวงครั้งนี้ ถูกประเมินจากหลายฝ่ายว่า เปรียบเสมือนเป็นการทำสงครามผ่านตัวแทนของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ จากคนละขั้วข้างทางการเมือง โดยฝ่ายหนึ่งกุมฐานบน-กลาง อีกฝั่งกุมฐาน กลาง-ล่าง มีสรรพกำลัง สื่อ ทุนปัจจัย มวลชน และอำนาจ พอๆ กัน ที่ต่างฝ่ายก็แพ้ไม่ได้
มีการประเมินกันว่า คะแนนเสียงพื้นฐานจัดตั้ง ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ กับพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์เป็นต่อมากกว่า โดยเฉพาะพื้นที่ กทม. ชั้นใน ขณะที่พรรคเพื่อไทยมีคะแนนหลักอยู่ที่ กทม. ชั้นนอก โดยเฉพาะโซนฝั่งตะวันออก
แต่ก็ยังมีะคะแนนที่จะชี้ขาดว่า ใครแพ้ชนะ จึงอยู่ที่คน กทม. อีกประมาณ 40% ที่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเลือกผู้สมัครจากพรรคไหน ซึ่งต้องสู้กันที่นโยบาย และการหาเสียง
ที่น่าสนใจคือ เทียบฟอร์มแบ็คอัพทั้ง 2 ฝ่าย (ยิ่งลักษณ์ - อภิสิทธิ์) อาจก้ำกึ่ง แม้ฝ่ายเพื่อไทยจะคุมอำนาจบริหารของรัฐบาลอยู่ แต่ในสนาม กทม. ที่คนชั้นกลาง คนชั้นสูง ที่มีพลังเสียงมากกว่ารากหญ้า ทำให้ "น.ส.ยิ่งลักษณ์"ขวัญใจชาวบ้านรากหญ้า ไม่อยู่ในสถานะได้เปรียบ "อภิสิทธิ์" ที่ยังครองใจคนชั้นกลาง คนชั้นสูง
อย่างไรก็ตาม ยังมีคะแนน "ตัวแปร" ที่อาจส่งผลต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. หนนี้ จากที่สนับสนุน "พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส" ที่ถูกมองว่ามีกลุ่มสนับสนุนเดียวกับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์
น่าสนใจที่ว่า จากที่ผ่านมา ใครที่มีแวว อย่างน้อยต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 800,000 คะแนน ซึ่งหนก่อนที่"ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์" ชนะได้นั้น 934,602 คะแนน คนที่ตามมาที่สองคือ นายยุรนันท์ ภมรมนตรี (เพื่อไทย) ได้ 611,669 คะแนน อันดับสามคือ ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล (เพื่อไทย/แดง) ได้ 334,846 คะแนน
ครั้งนั้น มีการวิเคราะห์ว่า มีการตัดคะแนนกันเองระหว่าง ม.ล.ณัฏฐกรณ์ (334,846 คะแนน) กับ ยุรนันท์ (611,669 คะแนน) จนทำให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ชนะไป
ดังนั้น หนนี้จึงน่าจับตาว่า กลุ่มเป้าหมายคะแนนกลุ่มเดียวกันของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ จะส่งกระทบหรือไม่
ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังไม่นับรวมปฏิบัติการขับเคลื่อนแบบใต้ดิน บนดิน และกลเกมการเมืองการหาเสียงแบบดิสเครดิตทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม ที่จะส่งผลกระกับฐานการไหลเข้าออกเพิ่มขึ้นลดลง และการเข้ามาใหม่ของ คนกรุงเทพฯ อีกประมาณ 40% ที่ยังไม่ได้ตัดสินใจด้วย
ที่น่าสนใจอย่าลืมว่า หากผลออกมาเช่นใด จะเป็น "ตัวชี้วัด" อีกครั้ง ระหว่าง 2 ขั้วอำนาจการเมือง ว่าแนวรบและการครอบคลุมพื้นที่สำคัญทางยุทธศาตร์ในเขตเมืองหลวง ยังคงสภาพ หรือเปลี่ยนแปลงไปแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น: