PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2556

คกก.ข้อมูลข่าวสาร วินิจฉัย กลต.ไม่ต้องเปิดบันทึกภายใน กับ “บ.ไร่ส้ม”


คกก.ข้อมูลข่าวสาร วินิจฉัย กลต.ไม่ต้องเปิดบันทึกภายใน กับ “บ.ไร่ส้ม” กรณีแนะนำระวังทำธุรกิจกับบริษัท หลังถูก ป.ป.ช.ชี้มูลคดียักยอกเงินโฆษณา อสมท.138 ล้านบาท ชี้เป็นความเห็นภายในหน่วยงานรัฐ ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ไม่เปิดเผยได้

เมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาเศรษฐกิจและการคลังของประเทศ ที่มี ศ.พิเศษ ชมเพลิน จันทร์เรืองเพ็ญ เป็นประธาน ได้มีคำวินิจฉัยที่ คศ.1/2556 กรณีที่ บริษัท ไร่ส้ม จำกัด (ที่มีนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท) ผู้อุทธรณ์ ส่งหนังสือ ถึง เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ขอให้ชี้แจงและขอเอกสารที่เกี่ยวข้องกับกรณีที่สำนักงาน กลต.ออกหนังสือเวียน ที่ กลต.ศส. (ว) 28/2555 ลงวันที่ 2 พ.ย.2555 ไปยังบริษัทต่างๆ ในตลาดหลักทรัพย์ ให้ระมัดระวังการทำธุรกรรมกับบุคคลที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศไทย (หลังจากบริษัทไร่ส้ม ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดในคดีสนับสนุนให้พนักงานบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ยักยอกเงินโฆษณาเกินกว่าเวลาที่ระบุไว้ในสัญญา เป็นเงินกว่า 138 ล้าน)

แต่สำนักงาน กลต.มีหนังสือที่ กลต.ศส.3223/2555 ลงวันที่ 4 ธ.ค.2555 แจ้งปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร โดยให้เหตุผลว่า การออกหนังสือเวียนดังกล่าวเป็นการแสดงบทบาทในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ตลาดทุนในการสร้างความตระหนักในกลุ่มผู้เกี่ยวข้องกับปัญหาการทุจริต คอร์รัปชั่น สำหรับเอกสารที่ผู้อุทธรณ์ขอถือเป็นความเห็นหรือคำแนะนำภายในหน่วยงานของรัฐ จึงไม่อาจเปิดเผยแก่ผู้อุทธรณ์ ตามนัยแห่ง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร พ.ศ.2540

บจ.ไร่ส้มมีหนังสือลงวันที่ 18 ธ.ค.2555 อุทธรณ์คำสั่งมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าว

สำหรับข้อมูลข่าวสารที่ บจ.ไร่ส้ม ขอให้สำนักงาน กลต.เปิดเผยมีจำนวน 4 รายการ ประกอบด้วย

1.หนังสือเวียนดังกล่าว หน่วยงานใดภายในสำนักงาน กลต.เป็นผู้รับผิดชอบเสนอเรื่องและร่างหนังสือ และเป็นกรณีเสนอตามลำดับขั้นอย่างไร ผ่านเจ้าหน้าที่ผู้ใดบ้าง

2.หนังสือเวียนดังกล่าว เลขาธิการ กลต.ได้ออกตามอำนาจหน้าที่หรือไม่ โดยอาศัยอำนาจหน้าที่ที่ระบุไว้ตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับใด

3.การออกหนังสือเวียนดังกล่าว ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) หรือไม่

และ 4.สำนักงาน กลต.หรือเลขาธิการ กลต.ได้ปฏิบัติเป็นมาตรฐานโดยเคยมีหนังสือหรือข้อความลักษณะเดียวกันและระบุบุคคลเฉพาะเจาะจงเช่นเดียวกันมาบ้างหรือไม่ โดยเฉพาะในส่วนของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่เคยถูกศาลพิพากษาว่ากระทำผิดฐานทุจริต กรณีใดบ้าง และกรณีของ บ.ไร่ส้มเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ ตามธรรมาภิบาลของสำนักงาน กลต.

ทั้งนี้ ผู้เกี่ยวข้องได้เข้าให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการวินิจฉัยฯ โดย บจ.ไร่ส้ม ชี้แจงด้วยวาจา เมื่อวันที่ 4 ก.พ.2556 และมีหนังสือชี้แจงลงวันที่ 15 ก.พ.2556 ว่า การออกหนังสือเวียนของสำนักงาน กลต.ดังกล่าว ทำให้ บจ.ไร่ส้มเสื่อมเสียชื่อเสียงและมีผลต่อการประกอบธุรกิจ ทั้งนี้ การชี้มูลของ ป.ป.ช.เป็นกระบวนการยุติธรรมในเบื้องต้น ศาลยังไม่ได้พิพากษาว่า บจ.ไร่ส้มมีความผิด อีกทั้ง บจ.ไร่ส้มไม่ได้เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์

“จึงต้องการขอข้อมูลข่าวสารเพื่อตรวจสอบว่าสำนักงาน กลต.มีอำนาจออกหนังสือเวียนดังกล่าวหรือไม่ และมีกระบวนการออกหนังสืออย่างไร หากสำนักงาน กลต.ไม่มีอำนาจ บจ.ไร่ส้มจะดำเนินคดีกับสำนักงาน กลต.และผู้เกี่ยวข้อง” ตัวแทนบริษัทไร่ส้ม ในฐานะผู้อุทธรณ์ระบุ

สำนักงาน กลต.มีหนังสือชี้แจงลงวันที่ 20 ก.พ.2556 และผู้แทนสำนักงาน กลต.ชี้แจงด้วยวาจา เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2556 มีใจความว่า สำนักงาน กลต.มีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมให้เกิดบรรษัทภิบาลที่ดีในตลาดทุน ซึ่งการดำเนินมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นส่วนหนึ่งของการมีบรรษัทภิบาล โดยสำนักงาน กลต.ได้กำหนดหลักการไว้ในแผลกลยุทธ์ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. ซึ่งการออกหนังสือเวียนดังกล่าวอยู่ภายใต้แผนกลยุทธ์ของสำนักงาน กลต. สาเหตุที่หนังสือเวียนกล่าวถึง บจ.ไร่ส้ม ซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน กลต.นั้น เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวปรากฏข่าวกรณี ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด บจ.ไร่ส้ม ฐานะสนับสนุนพนักงาน บมจ.อสมท.กระทำความผิด

ทั้งนี้ หนังสือเวียนมิใช่การออกคำสั่ง ประกาศ หรือหลักเกณฑ์ที่บังคับให้บุคคลใดต้องปฏิบัติตาม เป็นเพียงการสื่อสารขอความร่วมมือเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น สำนักงาน กลต.สามารถดำเนินการได้เองโดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. ซึ่งการออกหนังสือเวียนดังกล่าวเป็นกรณีแรก เนื่องจากสำนักงาน กลต.เพิ่งเข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น และในอดีตเมื่อสำนักงาน กลต.กล่าวโทษผู้ใดว่ากระทำความผิด แม้คดียังไม่ถึงที่สุดสำนักงาน กลต.ก็แถลงข่าวทุกครั้ง

“เมื่อ บจ.ไร่ส้มมีคำขอข้อมูลข่าวสารแล้วสำนักงาน กลต.ได้มีหนังสือชี้แจงเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่และบทบาทของสำนักงาน กลต.ให้บริษัทไร่ส้มทราบแล้ว (ตามหนังสือที่ กลต.ผด.435/2556 ลงวันที่ 12 มี.ค.2556) แต่ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับบันทึกการเสนอเรื่องของเจ้าหน้าที่ที่เป็นต้นเรื่องในการออกหนังสือเวียนดังกล่าว เนื่องจากเป็นการแสดงความเห็นของเจ้าหน้าที่ในแต่ละระดับ มีลักษณะเป็นความเห็นหรือคำแนะนำภายในหน่วยงานของรัฐในการดำเนินการเรื่องหนึ่งเรื่องใดตามมาตรา 15 (3) แห่ง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 อีกทั้ง บจ.ไร่ส้มอาจนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประกอบการฟ้องคดีแพ่ง หรือคดีอาญาแก่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง แม้เจ้าหน้าที่จะมีข้อต่อสู้ว่าดำเนินการโดยสุจริต แต่ก็อาจมีผลกระทบต่อขวัญและกำลังใจของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน” คือคำชี้แจงของตัวแทนสำนักงาน กลต.

คณะกรรมการวินิจฉัยฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่สำนักงาน กลต.มีหนังสือที่ กลต.ฝด.435/2556 ลงวันที่ 12 มี.ค.2556 ถึง บจ.ไร่ส้ม ชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารตามคำขอในข้อ 2 ถึงข้อ 4 ถึงว่าสำนักงาน กลต.ได้เปิดเผยข้อมูลตามคำขอในส่วนดังกล่าวแก่ บจ.ไร่ส้มแล้ว กรณีจึงไม่มีประเด็นต้องวินิจฉัย

ส่วนคำขอข้อ 1. ได้แก่บันทึกภายในสำนักงาน กลต. ซึ่งเป็นต้นเรื่องในการออกหนังสือเวียน เป็นข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่และหน่วยงานภายในสำนักงาน กลต.เสนอเรื่องราวและความเห็นต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบตามข้อเสนอที่เป็นไปตามแผนกลยุทธ์

“ข้อมูลข่าวสารดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นความเห็นหรือคำแนะนำภายในหน่วยงานของรัฐ ในการดำเนินการเรื่องหนึ่งเรื่องใด ตามมาตรา 15 (3) แห่ง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ดังนั้น การที่สำนักงาน กลต. ไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามอุทธรณ์ให้แก่ บจ.ไร่ส้มนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงมีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์” คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยฯระบุ



-----

สำหรับ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2540

มาตรา 15 ข้อมูลข่าวสารของราชการที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจมีคำสั่งมิให้เปิดเผยก็ได้ โดยคำนึงถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์ของเอกชนที่เกี่ยวข้องประกอบกัน

...

(3) ความเห็นหรือคำแนะนำภายในหน่วยงานของรัฐในการดำเนินการเรื่องหนึ่งเรื่องใด แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงรายงานทางวิชาการ รายงานข้อเท็จจริง หรือข้อมูลข่าวสารที่นำมาใช้ในการทำความเห็นหรือคำแนะนำภายในดังกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น: