PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2556

ทีวีดิจิทัลยุคทอง"คอนเทนท์"

กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2556

โดย รัตติยา อังกุลานนท์


การเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมโทรทัศน์ไทยสู่ระบบดิจิทัล พร้อมการจัดสรรคลื่นความถี่ "ทีวีดิจิทัล" ใหม่รวม 48 ช่อง นอกจากเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการก้าวสู่การเป็น"เจ้าของ" สถานีโทรทัศน์ "ฟรีทีวีดิจิทัล" แล้ว นับเป็นยุคทองของ คอนเทนท์ โปรวายเดอร์ ด้วยเช่นกัน

กว่า 30 ปีในอุตสาหกรรมสื่อวันนี้ เจเอสแอล โกลบอล มีเดีย ก้าวสู่การเป็น 1 ใน 5 บริษัทผลิตรายการโทรทัศน์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย รวมทั้งเป็นบริษัทออแกไนเซอร์ชั้นนำสร้างสรรค์งานทุกรูปแบบทั้งระดับประเทศและต่างประเทศ และกำลังก้าวสู่เป้าหมาย Content Empire ภายใต้การบริการ "เจเนอเรชั่น 2" ของเจเอสแอล ในยุคดิจิทัล

รติวัลคุ์ ศรีมงคลกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทเจเอสแอล โกลบอล มีเดีย จำกัด กล่าวว่าการเกิดขึ้นของ "ทีวีดิจิทัล" ช่วยสร้างโอกาสให้คอนเทนท์ โปรวายเดอร์ ในการพัฒนาคอนเทนท์ที่มีความหลากหลาย จากเดิมผลิตงานเพื่อออกอากาศบนฟอร์แมทฟรีทีวี แต่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและการเติบโตของเครือข่ายสังคมออนไลน์ ทำให้สามารถสร้างสรรค์งานได้หลากหลายในยุคนี้

"แฟลตฟอร์มที่หลากหลาย ทำให้สามารถผสานสื่อในรูปแบบต่างๆ การคิดคอนเทนท์ สนุกขึ้น และหลากหลายมุมมอง"

ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เจเอสแอล ได้พัฒนาเทคโนโลยี Transmedia ผ่านสื่อต่างๆ ทั้งออนไลน์ และโซเชียลมีเดีย เพื่อจะนำมาใช้งานกับ "คอนเทนท์" ที่สร้างสรรค์ขึ้น ซึ่งในต่างประเทศได้ใช้แนวคิด "ทรานส์มีเดีย" มาแล้วหลายปี โดยเฉพาะในสื่อภาพยนตร์ คือก่อนสร้างภาพยนตร์ จะมีการสร้างเรื่องราวในโลกโซเชียล มีเดีย เพื่อดึงผู้ชมเข้ามามีส่วนรวมกับตัวละคร ให้เกิดกระแสสนใจต่อเนื่องไปยังภาพยนตร์

เจเอสแอลกำลังพัฒนาคอนเทนท์ในรูปแบบทรานส์มีเดียผ่าน "ละคร" ที่กำลังผลิตให้กับช่อง True10 ของทรูวิชั่นส์ ซึ่งจะเป็นการผสานคอนเทนท์เข้ากับแบรนด์อย่างกลมกลืน นำเสนอผ่าน "มัลติ
แพลตฟอร์ม" ในทุก "จอ" ไม่ว่าจะเป็น มีแอพพลิเคชั่น เว็บบล็อก เว็บไซต์ และจอทีวีที่เข้าถึงผู้ชมตามไลฟ์สไตล์การเสพคอนเทนท์

ภายใต้แนวคิด "ทรานส์มีเดีย" ดังกล่าวเจเอสแอล จะนำใช้กับการสร้างสรรค์คอนเทนท์ให้กับ "ทีวีดิจิทัล" แม้เจเอสแอล จะไม่เข้าร่วมประมูลช่องรายการ แต่เชื่อว่าการเกิดขึ้นของทีวีดิจิทัล ธุรกิจ 24 ช่อง จะเป็นพื้นที่ใหม่ให้บริษัทได้นำเสนอคอนเทนท์เพิ่มขึ้น

ขณะนี้มีการพูดคุยกับพันธมิตรผู้ประมูลช่องรายการ เพื่อเป็นหนึ่งในพันธมิตรผลิตรายการป้อนช่องทีวีดิจิทัล คาดว่าจะผลิตให้กับผู้ชนะการประมูลรวม 3-4 ช่อง ช่องละ 3-4 ชั่วโมงต่อวัน โดยจะพัฒนาคอนเทนท์เพื่อนำเสนอในแต่ละช่องแตกต่างกันและในช่วงเวลาที่ไม่เหมือนกัน เพื่อตอบสนองผู้ชมในแต่ละกลุ่ม โดยมุ่งคอนเทนท์แนวถนัดในกลุ่มวาไรตี้และเอ็ดดูเทนเมนท์

ปัจจุบันเจเอสแอลและบริษัทในเครือผลิตรายการทางฟรีทีวี รวม 8 รายการ โดยกำลังอยู่ระหว่างพูดคุยกับพาร์ทเนอร์ กลุ่มคอนเทนท์โปรดิวเซอร์ เพื่อร่วมกันทำงานรองรับปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นอีกหลาย "เท่าตัว" ผ่านช่องทางทีวีดิจิทัล คาดว่าในปีหน้าที่ "ทีวีดิจิทัล" ธุรกิจเริ่มออนแอร์ เจเอสแอลจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการผลิตคอนเทนท์ใหม่ป้อนให้ทีวีดิจิทัล ปีแรกไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท


ในยุคทีวีดิจิทัล เจเอสแอลวางเป้าหมายองค์กรก้าวสู่การเป็น Content Empire ที่ไม่ใช่เพียงการ ผลิตคอนเทนท์รายการทีวี แต่จะผลิตคอนเทนท์ที่รองรับทุกแพลตฟอร์มทุกช่องทาง ตอบโจทย์อุตสาหกรรมสื่อยุคดิจิทัล ที่มีการเปลี่ยนแปลงและเกิดสื่อใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลาขณะที่คอนเทท์ที่ดีสามารถอยู่ได้ในทุกแพลตฟอร์ม


'เรทติ้ง'ชี้ชะตาราคาโฆษณา

งบโฆษณาผ่านการซื้อสื่อมูลค่ากว่าง"แสนล้านบาท" ต่อปี เค้กก้อนใหญ่เกือบ 60% อยู่ที่ "ฟรีทีวี" โดยมี 2 ช่องผู้นำเรทติ้งผู้ชม "ช่อง3-ช่อง7" ร่วมกันครองเม็ดเงินโฆษณาสูงสุด


มณี เอียบ กรรมการผู้จัดการ แมกน่า โกลบอล ในเครือไอพีจี มีเดียแบรนด์ส ดำเนิน
ธุรกิจการซื้อสื่อโฆษณา กล่าวว่า "ทีวีดิจิทัล" จะทำให้เกิดการแข่งขันและมีตัวเลือกให้ผู้ชมและผู้ลงโฆษณาผ่านสื่อฟรีทีวีมากขึ้น จากเดิมที่มีเพียง "รายใหญ่" ก็จะมี "รายใหม่" มาเป็นทางเลือก

แต่การจะโกยเรทติ้งผู้ชมและเม็ดเงินโฆษณาไปได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของคอนเทนท์ที่สามารถดึงผู้ชม สร้างความนิยมและเรทติ้งได้หรือไม่

เชื่อว่าใน 2-3 ปีแรกทีวีดิจิทัล ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงด้านผู้ชมจาก "รายใหม่" ที่เข้ามา เพราะต้องรอการขยายการส่งสัญญาณของโครงข่าย (mux) ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ 80% ในปีที่2 อีกทั้งผู้ชมยังมีความคุ้นเคยกับช่องเดิมๆ

อย่างไรก็ตามการเกิดขึ้นของช่อง "ทีวีดาวเทียม" ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เห็นมาแล้วเช่นกัน พบว่าคอนเทนท์ที่ดีของทีวีดาวเทียม ไม่ว่าจะเป็น "อาร์เอสและแกรมมี่" สามารถเรียกเรทติ้งผู้ชมได้สูงกว่าบาง "รายการ"ทางฟรีทีวี

แสดงให้เห็นว่า "คอนเทนท์" ที่ดี มีเรทติ้งผู้ชม ทั้งลูกค้าและมีเดีย เอเยนซี่ พร้อมจะตามไปซื้อโฆษณา โดยไม่ติดยึดกับรายการใด รายการหนึ่ง หรือช่องใดช่องหนึ่ง

ขณะที่การเกิดขึ้นของทีวีดิจิทัล ธุรกิจ 24 ช่อง การกำหนด "ราคา"โฆษณา จะขึ้นอยู่กับคอนเทนท์ว่าสามารถเรียกเรทติ้งผู้ชมได้ระดับใด หากมีเรทติ้งสูง สามารถกำหนดราคาได้สูง แต่ในช่วงแรกจะไม่สามารถตั้งราคาในระดับเดียวกับ"ฟรีทีวี อนาล็อก"

อีกทั้งความแตกต่างด้านความคมชัดสูง (เอชดี) ไม่สามารถนำมาใช้เป็นปัจจัยกำหนดราคาเพิ่มขึ้นมากกว่าช่องปกติ เพราะผู้ชมไม่มองความแตกต่างของคอนเทนท์ จากระบบเอชดี เช่นเดียวกับช่อง

ทีวีดาวเทียม ที่จะเปลี่ยนแพลตฟอร์มสู่ทีวีดิจิทัล หากเป็นคอนเทนท์เดิม เชื่อว่าไม่สามารถกำหนดราคาโฆษณาได้เพิ่มจากความแตกต่างของแพลตฟอร์ม

การกำหนดราคาค่าโฆษณาของทีวีดิจิทัล "ทุกอย่างอยู่ที่ความนิยมและเรทติ้ง"

ไม่มีความคิดเห็น: