PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2556

"เผาโลง “ปู” แล้ว ผู้ว่าฯ นครฯ เปิดอกขอย้ายตัวเอง หวังม็อบยางคลี่คลาย

นครศรีธรรมราช - ม็อบหนองหงษ์ เผาโลงศพ “ปู” แล้ว ชาวสวนยางที่ไร้เอกสารสิทธิเรียกร้องรัฐให้ดูแลชาวสวนยางอย่างทั่วถึง ขณะที่ผู้ว่าฯ เตรียมเดินทางไปรับตำแหน่งใหม่ที่ จ.เลย ยอมรับแล้วขอย้ายตัวเองหวังการชุมนุมคลี่คลาย ด้านภาคีเครือข่าย 16 จังหวัดเตรียมยกระดับการชุมนุมในอีก 7 วัน

วันนี้ (25 ก.ย.56) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.นครศรีธรรมราช ว่า สถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มเกษตรกรที่บริเวณแยกควนหนองหงษ์ ต.ควนหนองหงษ์ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งชุมนุมมาอย่างต่อเนื่องแล้วเป็นเวลากว่า 1 เดือน ยังคงมีความเคลื่อนไหวเป็นไปอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ช่วงเช้าวานนี้ ได้มีการรื้อถอนเวที และรื้อเต็นท์ที่หลบร้อนของผู้ชุมนุมออกไปในช่วงค่ำ ในวันนี้ได้มีการนำมาติดตั้งใหม่เช่นเดิม

ขณะเดียวกัน เกษตรกรบางรายที่ไปรับเงินสนับสนุนปัจจัยการผลิตจากรัฐ ได้นำเงินที่ได้มาสนับสนุนในการชุมนุม เนื่องจากเห็นว่าไม่สามารถช่วยเหลือชาวสวนยางได้อย่างแท้จริง แต่ถ้าเร่งสร้างเสถียรภาพทางราคาเกษตรกรชาวสวนยาง และระบบลูกจ้าง รวมทั้งเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิจะได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง

อย่างไรก็ตาม กลางดึกที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวของภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางพารา และปาล์มน้ำมัน 16 จังหวัด ที่มีการประชุมกัน โดยเป็นการประชุมลับเฉพาะสมาชิกที่วัดห้วยปริก อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช โดยมีประเด็นที่สำคัญคือ ได้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารทั้งหมด 5 ตำแหน่ง โดยเลือกนายทศพล ขวัญรอด เป็นประธานภาคีเครือข่าย นายมนัส บุญพัฒน์ เป็นเลขาธิการ มีตัวแทนจากภาคใต้ตอนบน และตัวแทนจากภาคใต้ตอนล่างเป็นรองประธาน และตัวแทนจากภาคใต้อันดามัน เป็นรองเลขาธิการ

นายทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยาง และปาล์มน้ำมัน 16 จังหวัด แถลงว่า ข้อสรุปของมติที่ประชุม ได้มีมติเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล 5 ข้อคือ

1.ให้รัฐบาลชดเชยส่วนต่างของราคายางพาราแผ่นดิบชั้น 3 ในราคา 100 บาท ทั้งนี้ เพื่อให้ผลประโยชน์ครอบคลุมไปถึงเกษตรชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดิน และกลุ่มผู้กรีดยางพาราซึ่งถือเป็นหุ้นส่วนกับเจ้าของสวนยาง

2.รัฐบาลต้องยุติการดำเนินคดี จับกุม คุมขังเกษตรกรชาวสวนยางพาราทั่วประเทศที่เป็นผู้ชุมนุมเรียกร้องราคายางพารา อันเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 63

3.รัฐบาลต้องยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการใช้อำนาจรัฐข่มขู่ คุกคาม เกษตรกรชาวสวนยางพาราที่ชุมนุมเรียกร้องราคายางพารา

4.ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ต้องประกาศยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.บ.บรรเทาและป้องกันสาธารณภัย ในเขตพื้นที่การชุมนุม

5.จากข้อเรียกร้องดังกล่าวข้างต้น 4 ข้อ รัฐบาลต้องปฏิบัติให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน หากเลยกำหนดเวลา ภาคีเครือข่ายฯ จะเรียกชุมนุมใหญ่เพื่อนำไปสู่การยกระดับการชุมนุมขั้นสูงสุดที่บ้านธรรมรัตน์ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์

และในวันเดียวกันนี้ เกษตรกรชาวสวนยางในอำเภอลานสกา จ.นครศรีธรรมราช โดยเฉพาะในส่วนที่ไม่มีเอกสารสิทธิ แถบตำบลกำโลน อ.ลานสกา ซึ่งเป็นที่อยู่ในเทือกเขาหลวง ทับซ้อนกับเขตป่าสงวน ทั้งที่เกษตรกรเหล่านี้ได้สืบทอดการทำเกษตรกรรมมาจากบรรพบุรุษมาแล้วหลายรุ่น แต่ก็ไม่มีสิทธิที่จะได้รับการช่วยเหลือ เนื่องจากยังไม่มีเอกสารสิทธิที่เป็นเอกสารสำคัญในการนำไปขึ้นทะเบียนเกษตรกร

นางกชพร เนาว์สุวรรณ อายุ 42 ปี เกษตรกรรุ่นที่ 4 ที่สืบทอดที่ดินแปลงนี้มาจากบรรพบุรุษ ระบุว่า อยากเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือเกษตรกรให้มีความเท่าเทียมและทั่วถึง เนื่องจากเวลาเกษตรกรไปขายยางพาราแผ่น จะมีการเก็บเงินของเกษตรกรไปแล้ว ซึ่งรวมทั้งเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ แต่มีผลผลิตยางพาราออกไปจำหน่าย ดังนั้น เมื่อเกษตรกรเดือดร้อนรัฐควรให้ความช่วยเหลือ

ส่วนความเคลื่อนไหวของ นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งจะเดินทางไปรับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ในวันหยุดสุดสัปดาห์นี้ เช่นเดียวกับ นายอภินันท์ ซื่อธานุวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ที่จะเดินทางมารับตำแหน่งใหม่ในช่วงเดียวกัน โดยมีภารกิจแรกที่ท้าทายคือ การแก้ไขปัญหากลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณแยกควนหนองหงษ์

นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ว่าที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ได้กล่าวก่อนเข้าประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จากกระทรวงมหาดไทยว่า หลังจากที่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเลยว่า

“ผมมีความรู้สึก 2 อย่าง คือ อย่างแรกรู้สึกเสียดายที่ได้ทำงานที่จังหวัดนครศรีธรรมราชมา 2 ปี ได้สร้างผลงานมากมาย และมีเรื่องที่จะทำต่อไปอีกหลายเรื่อง เช่น ท่าอากาศยานนานาชาติ ท่าเรือน้ำลึก และการต่อยอดการแก้ไขปัญหายาเสพติด เป็นต้น ส่วนอย่างที่สอง รู้สึกดีใจ เนื่องจากจังหวัดเลยเป็นภูมิลำเนาของภรรยา และตนเองก็บรรจุรับราชการที่จังหวัดเลยเป็นจังหวัดแรก ซึ่งมีบ้าน และญาติสนิทมิตรสหายมากมาย จึงทำให้มีความรู้สึกที่ดีที่ได้ไปจังหวัดเลย ซึ่งผมเป็นผู้เลือกเอง”

นายวิโรจน์ ยังกล่าวต่อว่า ส่วนหนึ่งของการตัดสินใจครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา พยายามแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยความตั้งใจ เพราะรักนครศรีธรรมราช รักชาวชะอวดมาก เพราะเคยเป็นนายอำเภอชะอวด ซึ่งพิจารณาดูแล้วว่าลำพังตนเองไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ให้สำเร็จได้ หากอยู่ต่อไปจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ และอาจจะทำให้ปัญหาบานปลายได้ จึงตัดสินใจว่า หากตนยุติบทบาทลงในเรื่องการแก้ไขปัญหายางพารา อาจจะทำให้มีความรู้สึกคลี่คลายไปในทางที่ดีได้ จึงตัดสินใจเสียสละงานที่อยากจะทำ ซึ่งเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์เองว่าในช่วงที่ตนอยู่นครศรีธรรมราชทำงานให้ใคร ทำเพื่ออะไร

“และหลังจากที่ตนเดินทางไปแล้ว ขอให้ทุกคนได้กลับมาคิดทบทวนว่าความสามัคคีปรองดอง ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองเป็นปัจจัยสำคัญซึ่งจะนำมาถึงการพัฒนา ไม่คิดว่าเพียงระยะเวลาเพียง 1 เดือน ภาพลักษณ์ที่ร่วมสร้างกันมาจะหายไป เพราะฉะนั้น จึงไม่อยากจะได้ชื่อว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของการทำลาย” นายวิโรจน์กล่าว

ขณะเดียวกัน เมื่อเวลา 14.00 น. วันนี้ (25 ก.ย.) กลุ่มเกษตรกรที่ร่วมชุมนุมบริเวณแยกควนหนองหงษ์ พร้อมด้วยกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ร่วมกันเผาหีบศพจำลอง ที่มีชื่อของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนักการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหายางพาราอีกหลายคน พร้อมทั้งทำพิธีสาปแช่งในบริเวณใกล้จุดชุมนุม จากเดิมที่จะมีการเผาเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา แต่พระสงฆ์ที่มาร่วมพิธีทำบุญ และรับภัตตาหารเพลบอกว่าวันจันทร์เป็นวันดีไม่ควรเผา ให้เลื่อนมาเผาเป็นวันพุธ ซึ่งเป็นวันเน่าวันเปื่อย โบราณว่าจะทำให้เกิดผลเร็วขึ้นส่งผลให้ผู้ชุมนุมทำพิธีในวันนี้

http://astv.mobi/AU9khRh

ไม่มีความคิดเห็น: