PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ระทึก ศาลรธน.พิจารณายับยังทูลเกล้าร่างรธน.?

ระทึก ศาลรธน.พิจารณายับยังทูลเกล้าร่างรธน.?
02-10-13 21:03   อ่าน : 695
คอลัมน์ : เจาะข่าวร้อนล้วงข่าวลึก
ต้องติดตามสถานการณ์ทางการเมือง ภายหลังนายกฯ ลงนามร่างแก้ไขรธน.  ในขณะวันนี้ศาลรธน.ได้มีมติยกคำร้องให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระงับการนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ
ต้อนรับคุณผู้ชมทางทีนิวส์ทีวี และทางสถานีวิทยุชื่นฤทัยในธรรม เอฟเอ็ม 91.25 จ.นครศรีธรรมราช เข้ามาในช่วงเวลาของรายการเจาะข่าวร้อน ล้วงข่าวลึกประจำวันพุธที่ 2 ตุลาคม 2556
เรายังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์ทางการเมือง ภายหลังจากที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมลงนามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาส.ว.ก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ในขณะที่ วันนี้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็มีการประชุมประจำสัปดาห์ โดยหนึ่งในวาระการพิจารณา ก็คือ คำร้องที่ขอให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระงับการนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้า ซึ่งท้ายที่สุด ผลปรากฏว่า ศาลได้มีมติยกคำร้องดังกล่าว
ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้องของ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม กับคณะ และคำร้องของนายสาย กังกเวคิน กับคณะ ที่ขอให้มีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวเป็นกรณีฉุกเฉิน โดยให้มีคำสั่งห้ามไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อไม่ให้นำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 111, มาตรา 112, มาตรา 115, มาตรา 116 วรรคสอง, มาตรา 117, มาตรา 118, มาตรา 120, มาตรา 241 วรรคหนึ่ง และยกเลิกมาตรา 113 และมาตรา 114 ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย
ซึ่งผลการพิจารณาคำร้องดังกล่าว ศาลให้ยกคำร้องดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่ากรณีนี้ เป็นกระบวนการต่อเนื่องกับประเด็นที่ศาลเคยพิจารณาและมีคำสั่งยกคำขอไปแล้วในคราวประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2556 และวันที่ 27 กันยายน 2556 ประกอบกับข้อเท็จจริงตามคำร้องในขณะนี้ยังไม่มีเหตุจำเป็นที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวใดๆ ไปยังนายกรัฐมนตรี
นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ ยังรับคำร้องของนายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กับคณะ ที่ขอให้ศาลวินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของ ส.ว. ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่ รวมไว้ในสำนวนเดียวกัน และมีคำสั่งให้ ผู้ร้องทำสำเนา จำนวน 312 ชุด ส่งต่อศาลเพื่อส่งให้ ผู้ถูกร้องและให้แจ้งผู้ร้องต่อไป
ขณะเดียวกันในวันนี้ ทางด้านของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐธรรมนูญ ก็ยังคงยืนยันถึงการนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้า ทูลกระหม่อมว่าเป็นการปฏิบัติตามขั้นตอนโดยยึดหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นหลัก
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ออกมาย้ำอีกครั้งว่ากระบวนการและขั้นตอนต่างๆ ได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาและได้มีหนังสือแจ้งมาว่ารัฐสภาผ่านความเห็นชอบวาระ 3 ซึ่งถือเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ในส่วนของรัฐบาลโดยฝ่ายเลขานุการ ครม.ก็ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวต้องตรวจสอบ อีกทั้งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเองก็ได้ดำเนินการตรวจสอบในข้อกฎหมายเรียบร้อยแล้ว ตนในฐานะนายกรัฐมนตรีก็มีหน้าที่นำเสนอตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ โดยไม่สามารถไปยึดตามหลักอื่นได้ ตนก็ต้องยึดหลักตามข้อกฎหมาย ในส่วนของความเห็นนั้นก็มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ดังนั้นรัฐบาลก็ต้องยึดตามหลักของข้อกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นหลัก ซึ่งขั้นตอนต่างๆถือว่าเสร็จสมบูรณ์
นายกรัฐมนตรีพยายามอธิบายว่า อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติคืออำนาจของประชาชนและรัฐสภา อำนาจของฝ่ายบริหารก็ต้องแยกกัน และตนเองก็มีหน้าที่ทำตามของรัฐธรรมนูญเท่านั้น
เมื่อถามว่าแต่ กลุ่ม 40 ส.ว.เรียกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญคุ้มครองชั่วคราวชะลอไม่ให้มีการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ระหว่างรอการตีความว่าร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฯ นั้นขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่รัฐบาลยึดหลักตามข้อกฎหมายทั้งหมดว่าในส่วนของรัฐสภาได้ยืนยันมาแล้วว่าได้มีการโหวตวาระ 3 ขณะเดียวกันฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลก็ได้ตรวจสอบแล้วก็คงต้องทำตามในแง่ของรัฐสภาและรัฐธรรมนูญ
         
เมื่อถามว่าเป็นห่วงผลพวงที่จะตามมาหรือไม่ ในฐานะเป็นผู้รับผิดชอบสูงสุดนายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำว่า “ยึดการดำเนินการตามข้อกฎหมายที่กำหนด”
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาควรเร่งแจ้งไปยังนายกรัฐมนตรี ถึงกรณีที่มี ส.ส.ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่มาของ ส.ว.ส่อไม่ชอบ ทั้งกระบวนการ และเนื้อหา เพื่อให้นายกรัฐมนตรีระงับการทูลเกล้าฯ แต่เมื่อทูลเกล้าฯ ไปแล้ว นายกรัฐมนตรีจะต้องขอเรื่องกลับคืนมา เพราะยังอยู่ในเงื่อนเวลา 20 วัน ตามรัฐธรรมนูญที่สามารถรอได้

          
ทั้งนี้ ฝ่ายค้านเตรียมทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อแจ้งเรื่องดังกล่าว หากนายกรัฐมนตรีและประธานรัฐสภาไม่ดำเนินการ ก็ถือว่าเข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญ และต้องรับผิดชอบด้วย
นายไพบูลย์ นิติตะวัน สว.สรรหาและแกนนำกลุ่ม 40 สว.กล่าวว่า ในวันที่ 3 ต.ค. จะเสนอให้คณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ให้ตรวจสอบนายกรัฐมนตรี นำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ในประเด็นที่ว่าเมื่อมีกระบวนการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญแล้ว และนายกรัฐมนตรีก็รับทราบแต่ กลับไม่ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 154
         
ดังนั้น จะเชิญนายกรัฐมนตรี เลขาธิการ ครม. และเลขาธิการกฤษฎีกา มาชี้แจง ทั้งนี้ ถ้าศาลสั่งระงับชั่วคราว ทางนายกรัฐมนตรี คงจะมีปัญหา และก็ต้องหยุดตามที่ศาลสั่ง

ไม่มีความคิดเห็น: