PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ปปช.ชี้มูลบอร์ดกทค. ประมูล 3 จีส่อ "ฮั้ว"


อนุ ปปช.ชี้มูลความผิดบอร์ดกทค. 4 คน จัดประมูล 3จี 2.1 กิกะเฮิรตซ์ปลายปี 2555 ส่อเค้าเอื้อประโยชน์เอกชนฮั้วราคากันเอง เหตุไม่เสนอราคาแข่งกันทำรัฐเสียหาย จัดประมูลให้ไลเซ่น 3 ใบเท่าจำนวนค่ายมือถือร่วมประมูล

รายงานข่าวจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แจ้งว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการป.ป.ช. สรุปผลสอบสวนกรณีจัดประมูลอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ หรือการประมูล 3จีของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2555 ว่า การประมูลครั้งดังกล่าวมีเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชน จนทำให้รัฐเสียหาย โดยหลังจากนี้จะนำผลชี้มูลความผิดดังกล่าวเข้าที่ประชุม ป.ป.ช.ชุดใหญ่ เพื่อรับทราบต่อไป

ผลชี้มูลความผิดดังกล่าวมีผลตั้งแต่เดือนมี.ค.2557 โดยคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.)ทราบผลนี้ แต่ไม่เปิดเผยต่อที่ประชุมบอร์ด กทค. ขณะเดียวกัน บอร์ดกทค.ยังพยายามเร่งเปิดประมูลโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 4จีและเร่งประชาพิจารณ์ในต้นเดือน มิ.ย. 2557

โดยบอร์ด กทค.ที่อนุป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดคือ พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร นายสุทธิพล ทวีชัยการ และนายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ ส่วนนายประวิทย์ ลีสถาพรวงศา ไม่ถูกชี้มูลความผิดเพราะไม่ได้ลงนามในมติจัดการประมูล 3จีดังกล่าว

สำหรับประเด็นการตรวจสอบการทุจริตการประมูล 3จี ตั้งแต่ปลายปี 2555 หลายฝ่ายได้สอบสวนเพราะราคาการประมูลที่ได้สูงกว่าราคาตั้งเพียงเล็กน้อย โดยกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา เคยเรียกประชุมกรรมาธิการนัดพิเศษ เพื่อพิจารณาแนวทางการตรวจสอบ และชะลอการออกใบอนุญาตประมูลคลื่นความถี่ 3จี หลังหลายฝ่ายท้วงติงการประมูลอาจเข้าข่ายการฮั้วประมูล

นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตส.ว.สรรหา ประธานอนุกรรมาธิการกฎหมายป้องกันการทุจริตและเสริมสร้างความเป็นธรรมในสังคม ได้ทำหนังสือสรุปผลการศึกษาถึงการประมูล 3จี ของสำนักงานคณะกรรมการกสทช. สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ผู้วิจัยของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าการประมูล 3 จีของกสทช. ซึ่งมีผู้ให้บริการรายใหญ่เพียง 3 รายเข้าร่วมการแข่งขัน อาจเป็นสิ่งที่ตั้งข้อสังเกตได้ว่า ผู้บริการทั้ง 3 ราย จะได้รับใบอนุญาตตั้งแต่ยังไม่ประมูล

เมื่อศึกษารายละเอียดในรายงาน ยังพบว่า ผู้วิจัยได้ยกตัวอย่างไว้ว่า หากมีบริษัทเข้าร่วมประมูลเพียงแค่ 3 ราย กสทช. ต้องตั้งราคาไม่ต่ำกว่า 82% ของมูลค่าความถี่คลื่น 1 สล็อต แต่ กสทช. กลับตั้งราคาเริ่มต้นไว้เพียง 70% เท่านั้น

การนำเสนอข้อมูลของกรรมาธิการหลายคนที่เห็นตรงกันในเรื่องการประมูล 3 จีของ กสทช. ว่า อาจส่อเค้าฮั้วประมูลเกิดขึ้น ทำให้ที่ประชุมมีมติจะส่งข้อมูลของกรรมาธิการให้ป.ป.ช. ประกอบการพิจารณาในการดำเนินการกับคณะกรรมการกสทช. ซึ่ง ป.ป.ช.ได้พิจารณามาตั้งแต่วันที่ 25 ต.ค.2555

การประมูลคลื่นความถี่ 3จี เมื่อปี 2555 นั้น มีการจัดสรรคลื่นความถี่ 9 สล็อตๆ ละ 5 เมกะเฮิรตซ์ รวม 45 เมกะเฮิรตซ์ มีผู้ร่วมประมูล 3 ราย คือ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) และบมจ.ทรูคอร์ปอเรชั่น ผลสรุปประมูลทั้ง 3 รายได้ใบอนุญาตเท่ากันที่ 3 ใบ รายละ 15 เมกะเฮิรตซ์ วงเงินรวมการประมูลอยู่ที่ 41,625 ล้านบาท มีผู้เคาะราคาใบอนุญาตราคาที่ 4,500 ล้านบาท จำนวน 6 สล็อต 4,725 ล้านบาท 1 สล็อต และ 4,950 ล้านบาท 2 สล็อต ถือเป็นวงเงินสูงสุด เท่ากับว่าการเคาะราคาแข่งกันเพิ่มขึ้นจากราคาตั้งต้นการประมูลที่ 4,500 ล้านบาท เพียง 3 สล็อตเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น: