PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

คดี "สลายม็อบ" กปปส. หลอน "ยิ่งลักษณ์-ศรส."

วันนี้ (26 พ.ค.57) ศาลอาญา นัดไต่สวนมูลฟ้องโจทก์คดีที่ญาติผู้เสียชีวิต จากเหตุสลายการชุมนุมของ กลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ที่บริเวณแยกสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2557 ที่ผ่านมา ยื่นฟ้องให้ดำเนินคดีเอาผิดกับ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กับบุคคลที่เกี่ยวข้อง
คดีการสลายชุมนุมดังกล่าว ญาติของผู้เสียชีวิต 4 ราย ได้ยื่นเรื่องฟ้องร้องต่อศาลอาญา โดยเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2557 นางจงจิต แซ่ด่าน ภรรยาของนายศรัทธา แซ่ด่าน ผู้ตาย และ น.ส.อุมาพร อ่างทอง มารดาของนายจีรพงษ์ ฉุยฉาย ผู้ตาย ได้มอบอำนาจให้ นายชัยวัฒน์ สิทธิสุขสกุล และ น.ส.รัตนา ผาแก้ว ทนายความ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์รักษาความสงบ (ผอ.ศรส.) พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พล.ต.ท.กวี สุภานันท์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 และ พล.ต.ต.คัชชา ธาตุศาสตร์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรี เป็นจำเลยที่ 1-6 ตามลำดับ ในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 83 และ 84 รวม 2 สำนวน
โดยคำฟ้องระบุว่า เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2557 จำเลยที่ 1-4 ร่วมกันสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธร ภาค 2 และตำรวจควบคุมฝูงชน หรือตำรวจปราบจลาจล ที่มีจำเลยที่ 5 และ 6 เป็นผู้บัญชาการกองกำลัง ผลักดันผู้ชุมนุมเพื่อจะสลายการชุมนุม หรือขอคืนพื้นที่
โดยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ปฏิบัติหน้าที่ มีอาวุธ ซึ่งเป็นอาวุธที่ใช้ในการสงคราม คือ แก๊สน้ำตา อาวุธปืนสั้น ปืนลูกซอง ระเบิด และปืนสงคราม มีกระสุนจริง และกระสุนซ้อม เป็นอาวุธประจำกาย ซึ่งการใช้อาวุธและยกกำลัง เข้าสลายการชุมนุม ไม่เป็นไปตามหลักสากล และแนวทางปฏิบัติ ในการควบคุมฝูงชนและปราบจลาจลที่ถูกต้อง
โดยจำเลยทั้งหกประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติตามหน้าที่ ซึ่งจำเลยทั้งหกสั่งการดังกล่าวจะใช้กระสุนปืนและอาวุธปืนยิงใส่ผู้ชุมนุมโดยเจตนาฆ่า เป็นการใช้เครื่องมือสลายการชุมนุมที่เกินกว่าความจำเป็น และไม่สุจริต เพราะมุ่งเพียงสลายหรือยุติการชุมนุมให้ได้เท่านั้น ไม่ได้เป็นการสั่งการในเชิงห้ามปรามเพื่อป้องกันผลร้ายนั้น
และการสั่งการและกำกับการโดยจำเลยทั้งหก อยู่ในระหว่างที่ศาลแพ่งมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวห้ามมิให้กระทำการรุนแรงดังกล่าวต่อผู้ชุมนุม และศาลรัฐธรรมนูญได้รับรองว่า การชุมนุมของกลุ่ม กปปส.เป็นการชุมนุมโดยสงบ
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ นายจีรพงษ์ ฉุยฉาย ถูกยิงบริเวณหน้าอก ทะลุปอด ตัดเส้นเลือดดำและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ส่วนนายศรัทธา แซ่ด่าน ผู้ตาย อีก 1 ราย ถูกยิงบริเวณหน้าอกใต้ราวนมด้านขวาและเสียชีวิตในเวลาต่อมา
สำหรับคดีนี้โจทก์ไม่ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน เนื่องจากโจทก์ไม่ไว้วางใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ จึงประสงค์จะดำเนินคดีด้วยตัวเอง
ต่อมาเมื่อวันที่ 3 มี.ค. ศาลอาญาได้รับฟ้องทั้งสองคดีดังกล่าว นัดไต่สวนมูลฟ้องโจทก์วันที่ 26 พ.ค. นี้
ขณะที่เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา นางขิ้ม รัตนคช มารดา นายธนูศักดิ์ รัตนคช ผู้ตาย และ นางอารียา บุญรุ่ง ภรรยา นายสุพจน์ บุญรุ่ง ผู้ตายจากเหตุเดียวกัน ก็ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นางสาวยิ่งลักษณ์ และบุคคลทั้ง 5 ในข้อหาเดียวกันต่อศาลอาญา
แต่ช่วงท้ายของคำฟ้อง ระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ นายสุพจน์ และ นายธนูศักดิ์ ถูกกระสุนปืนยิงมีบาดแผลฉกรรจ์เป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา
2 คดีหลังนี้ ศาลอาญารับคำฟ้องไว้เพื่อพิจารณากำหนดนัดไต่สวนมูลฟ้องต่อไป
นายชัยวัฒน์ สิทธิสุขสกุล ทนายความของญาติผู้เสียชีวิต บอกว่า เหตุการณ์ที่แยกผ่านฟ้าฯ ทำให้ประชาชนเสียชีวิตรวม 4 ราย โดยแต่ละคดีมีพฤติการณ์แตกต่างกัน จึงต้องแยกฟ้องเป็นรายคดี นอกจากนี้ยังมีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บอีก 60 คน ที่อยู่ระหว่างประสานงานว่าจะให้ตนเองเป็นทนายความดำเนินการฟ้องร้องให้หรือไม่
แม้ว่าขณะนี้ นางสางยิ่งลักษณ์ และ พวก จะได้พ้นอำนาจหน้าที่การบริหารราชการแผ่นดินไปแล้ว แต่ผลพวงจากการบริหารงานในช่วงเป็นรัฐบาลรักษาการ ยังเป็น "วิบากกรรม" ติดตัว ที่ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล แก้ตัวและต่อสู้ในคดีต่างๆ
ส่วนท้ายที่สุดแล้ว นางสาวยิ่งลักษณ์ และ พวก จะต้องรับโทษรับกรรมที่เกิดจากการกระทำบ้างหรือไม่ ต้องติดตามกันไปนานๆ
# กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 26-05-57

ไม่มีความคิดเห็น: