PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

เปิดเบื้องหลัง นาทีต่อนาที จับตา"ประยุทธ จันทร์โอชา"

ที่มา : เวปแนวหน้า
วันพุธ ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2557, 06.00 น.
สถานการณ์การเมืองไทยเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้ลงนามในประกาศกองทัพบก ฉบับที่ 1/2557 เรื่องการประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก ประกาศใช้เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 เวลา 03.00น. เพื่อให้การรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และนำความสงบสุขกลับคืนสู่ประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายโดยเร็ว จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 2 และมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช 2457 ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร
การประกาศใช้พระราชบัญญัติกฏอัยการศึกในครั้งนี้ มีขึ้นในระหว่างที่ประเทศไทยอยู่ในสภาวะตึงเครียด ผู้คนแบ่งออกเป็นสองฝ่ายแสดงท่าทีแข็งกร้าวใส่กัน ซึ่งส่อเค้าว่าอาจเกิดการปะทะ ประกอบกับในช่วงเวลาที่ผ่านมาก็ได้มีมือมืดใช้อาวุธสงครามออกก่อเหตุหลายต่อหลายครั้ง และสถานการณ์ไม่มีทีท่าจะบรรเทาเบาบางลง มีแต่จะเขม็งเกลียวหนักขึ้นและนำไปสู่จุดแตกหัก
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่  15 พฤษภาคม ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์  ได้ออกแถลงการณ์ 7 ข้อ โดยระบุว่าพร้อมใช้กำลังทหาร เพื่อรักษาความสงบของบ้านเมือง ก่อนที่ในเวลาต่อมา คือช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 20 พฤษภาคม จะตัดสินใจลงนามในประกาศกฏอัยการศึก ซึ่งมีรายงานว่า ผบ.ทบ.ต้องคิดเรื่องนี้อย่างหนัก อดนอนมา 2  คืน และเก็บตัวใน ร.1 รอ. ริมถนนวิภาวดี รังสิต มาตลอด
ส่วนการเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ทหาร เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงเวลาประมาณ 23.30 น. คืนวันที่ 19 พฤษภาคม โดยทางกองทัพบกได้มีคำสั่งให้กำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่ตามจุดตรวจความมั่นคง และประจำจุดเฝ้าระวังในสถานที่สำคัญต่างๆถอนกำลัง และ รื้อถอนบังเกอร์ กลับที่ตั้งหน่วยทหาร     
จากนั้น เวลา 02.30 น. ได้มีกำลังทหาร ชุดละ 30 นาย เข้าไปยังสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ โดยแจ้งให้เจ้าหน้าที่เชื่อมต่อสัญญาณจากสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง5  จนกระทั่ง เวลา 06.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ ได้อ่านประกาศกฎอัยการศึกผ่านทางโทรทัศน์สถานีทุกช่อง พร้อมจัดห้องให้หัวหน้าส่วนราชการเข้ารายงานตัว ที่ สโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดีรังสิต
หลังจากนั้น ได้มีการออกประกาศคำสั่งหลายฉบับ เริ่มจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก และมีคำสั่งให้ศูนย์อำนวยการรักษาความเรียบร้อย (ศอ.รส.) ยุติหน้าที่ในทันที โดยมีการจัดตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย(กอ.รส.) ที่มี ผบ.ทบ.เป็นผู้อำนวยการ มีหน้าที่ป้องกันระงับยับยั้ง และแก้ไขสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความสงบและความมั่นคง มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายทุกมาตราใน พ.ร.บ.กฎอัยการศึก และมีอำนาจเชิญบุคคลมารายงานตัว
ต่อมา กอ.รส. ได้ออกประกาศเพิ่มเติม ประกอบไปด้วย ฉบับที่1 ควบคุมเรื่องการถ่ายทอดออกอากาศของสถานีวิทยุกระจายเสียง สถานีวิทยุโทรทัศน์ และสถานีวิทยุชุมชน ฉบับที่ 2 ควบคุมให้กลุ่มผู้ชุมนุมอยู่ในพื้นที่กำหนด  ฉบับที่3 ห้ามเสนอข่าวที่ส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ฉบับที่4 เชิญบุคคลสำคัญ ประกอบด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ผู้ว่าฯ เข้าพบ ฉบับที่5 แต่งตั้งคณะที่ปรึกษา กอ.รส. ประกอบไปด้วย ผบ.สส. ผบ.ทุกเหล่าทัพ ผบ.ตร. และฉบับที่6 ขอความร่วมมือระงับการถ่ายทอดออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม และสถานีวิทยุชุมชน
การประกาศบังคับใช้กฎอัยการศึก ทำให้ภาคส่วนต่างๆ ในวงจรการเมืองไทยต้องหารือปรับวิธีดำเนินการกันใหม่ โดยฝั่งรัฐบาลรีบนัดแนะประชุม ครม.ชุดเล็ก โดยด่วน ส่วนกลุ่มมวลชน กปปส.งดการเคลื่อนไหวในวันที่ 20 พฤษภาคม ที่มีแผนจะเคลื่อนมวลชนไป นางเลิ้ง  อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และย่านวรจักร เช่นเดียวกับ กลุ่ม นปช. คนเสื้อแดง ที่ถนนอักษะ  ก็อยู่ในสภาวะสงบนิ่งโดยแกนนำขอประเมินสถานการณ์ก่อนเคลื่อนไหวในขั้นต่อไป ซึ่งสิ่งที่เหมือนกันคือยังอยู่ในที่ตั้ง
ขณะที่คนที่เคยแสดงท่าทีขึงขังไม่หวั่นไม่เกรงใคร ก็ต้องหนาวๆ ร้อนๆ ไปตามๆ กัน โดยเฉพาะ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ที่โดน ผบ.ทบ.เฉ่งยับ แทบจะต้องหามออกจากที่ประชุมเพราะก่อเรื่องเอาไว้หลายเรื่อง
อย่างไรก็ตาม สำหรับกฎอัยการศึกของไทย มีศักดิ์เทียบเท่ากับพระราชบัญญัติ ตราขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 เรียกว่า "กฎอัยการศึก ร.ศ.126" ต่อมาใน พ.ศ. 2457 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยกเลิกกฎอัยการศึก ร.ศ. 126 และตรากฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 ขึ้นใช้แทน มีทั้งสิ้น 17 มาตรา และยังคงใช้อยู่จนถึงทุกวันนี้
ทั้งนี้ กฏอัยการศึก ที่เกี่ยวเนื่องกับการรัฐประหารนั้น ถูกประกาศใช้มาแล้ว 8 ครั้ง โดยครั้งนี้ พล.ประยุทธ์ ประกาศภายใต้เงื่อนไขต้องการเห็นความสงบ และลดความขัดแย้ง ซึ่งไม่ได้แจ้งให้ทางฝั่งรัฐบาลรู้ก่อน จึงเป็นการแสดงออกกลายๆ ว่าไม่เกรงใจกันแล้ว
แม้ ผบ.ทบ.จะยืนยันว่าการประกาศกฏอัยการศึก ไม่ใช่การทำรัฐประหาร ประชาชนไม่ต้องกังวล แต่หากสถานการณ์ยังบานปลาย จนไม่สามารถควบคุมได้ ก็อาจยกระดับมาเป็นการรัฐประหารอันเป็นไม้สุดท้าย
แน่นอนว่านับจากนาทีนี้ไป พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. จะต้องถูกจับจ้องในทุกย่างก้าวในฐานะผู้ที่ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อประเทศไทย และจะเป็นผู้กำหนดอนาคตของประเทศว่าจะมุ่งสู่ทิศทางใดต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: