PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ผู้บริโภคจี้อาร์เอสคืนเงินค่ากล่องเพราะดูบอลโลกผ่านทีวีปกติได้


ผู้บริโภคจี้อาร์เอสคืนเงินค่ากล่องเพราะดูบอลโลกผ่านทีวีปกติได้

เลขาธิการผู้บริโภคเสนอให้ใช้เงินค่าโฆษณาจ่ายสมทบค่าลิขสิทธิ์ให้กับอาร์เอส พร้อมขอให้ คืนเงินค่ากล่องให้กับผู้บริโภค เพราะถึงไม่มีกล่องก็ดูถ่ายทอดสดได้ ด้าน 'สุภิญญา' ชี้ ใช้เงินกองทุนฯ ไม่ถูกวัตถุประสงค์ ยังดูไม่รอบคอบพอ...

เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.2557 นางสาวสารี อ่องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงกรณีถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 ว่า มีทั้งคนดีใจและเสียใจ เมื่อศาลปกครองสูงสุดยืนยันตามศาลปกครองกลางให้อาร์เอสชนะคดีนี้ ซึ่งหมายความว่าคนไทยจะได้ชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกผ่านทางฟรีทีวี 22 แมตช์ ตามแผนการตลาดเดิมของบริษัท อาร์เอส ส่วนผู้ที่ต้องการชมครบทั้ง 64 แมตช์ คงจะต้องไปชมผ่านทางกล่องรับสัญญาณต่างๆ ที่ถูกเข้ารหัสไว้

เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวต่อว่า มีข้อเสนอให้ใช้เงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. จ่ายสมทบค่าใช้จ่ายให้กับอาร์เอส ให้ถ่ายทอดฟุตบอลโลกในสถานีโทรทัศน์ ช่อง 5 และช่อง 7 แต่มีคนคัดค้านกันมากว่า สมควรที่จะใช้เงินกองทุนฯ ในการจ่ายตอบแทนค่าลิขสิทธิ์ให้อาร์เอสหรือไม่ ผลที่เกิดขึ้นก็มีพอควร นอกเหนือจากต้องตัดสินว่า เงินกองทุนฯ สามารถใช้เพื่อจ่ายสมทบค่าลิขสิทธิ์ในครั้งนี้ได้หรือไม่ และหากบังคับให้ถ่ายทอดทั้งหมดในช่อง 5 และ 7 จะเกิดปัญหากับผู้บริโภคที่ซื้อกล่องอาร์เอสไปว่า จะขอเงินคืนได้จากใคร เพราะถึงไม่มีกล่องก็สามารถดูได้อยู่แล้ว


ข้อเสนอทางออกเรื่องนี้ที่พอจะเป็นธรรมกับทุกฝ่ายในสายตาผู้บริโภค

1. ใช้งบโฆษณาที่ได้รับจากทั้งช่อง 5 และช่อง 7 จ่ายสมทบค่าลิขสิทธิให้กับอาร์เอสเพราะการถ่ายทอดสดที่เกิดขึ้น ย่อมมีผลประโยชน์เกิดขึ้น สัดส่วนของผลประโยชน์จะจัดสรรสมทบให้กับอาร์เอสอย่างไร โดยไม่ต้องใช้เงินกองทุนฯ
2.อาร์เอสรับผิดชอบคืนเงินค่ากล่องให้กับผู้บริโภคที่ต้องการเอาเงินคืน
3. การหามาตรการป้องกันการทำสัญญาที่เกินเลยกฎหมายภายในประเทศ หรือการจัดซื้อลิขสิทธิ์ร่วมกัน เหมือนอย่างที่เคยดำเนินการ
4. การปรับแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ให้เกิดสมดุล ระหว่างการคุ้มครองเจ้าของสิทธิและการคุ้มครองผู้บริโภค ตลอดจนกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาทั้งของไทยและต่างประเทศในปัจจุบัน ต่างกำหนดข้อยืดหยุ่นเพื่อไม่ให้การคุ้มครองสิทธิมารุกล้ำสิทธิในการเข้าถึง ข้อมูลข่าวสารการศึกษาและประโยชน์ของสาธารณะ
5. พึงระวังในการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ไม่ว่ากับทั้งยุโรป สหรัฐฯ และ TPP ที่ต้องไม่เกินเลย WTO โดยเฉพาะ ไม่ให้การคุ้มครองความตกลงใหม่ ACTA (Anti Counterfeit Trade Agreement) เพราะละเมิดสิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารความรู้ของประชาชนผู้บริโภค

ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของกองทุนวิจัยและพัฒนาฯ ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุ กระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ประกอบด้วย

1. ดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม อย่างทั่วถึง ตลอดจนส่งเสริมชุมชนและสนับสนุนผู้ประกอบกิจการบริการชุมชน ตามมาตรา 51

2. ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรสื่อสาร การวิจัยและพัฒนาด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม รวมทั้งความสามารถในการรู้เท่าทันสื่อเทคโนโลยีด้านการใช้คลื่นความถี่ เทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ ผู้สูงอายุ หรือผู้ด้อยโอกาส ตลอดจนอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

3. ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ ตลอดจนการดำเนินการขององค์กรซึ่งทำหน้าที่จัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมของการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์

4. สนับสนุน ส่งเสริม และคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม

5. สนับสนุนการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยจัดสรรเงินให้แก่กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ด้าน นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. กล่าวว่า สาเหตุที่ไม่เห็นชอบครั้งนี้ เนื่องจากกังวลว่าไม่สอดคล้องต่อวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ รวมทั้งการพิจารณาครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ในระยะเวลาที่กระชั้นชิด โดยยังไม่ได้ผ่านการประเมินผลกระทบอย่างรอบคอบรอบด้าน โดยเงินกองทุนเป็นเงินสาธารณะ ไม่ใช่เงินส่วนตัวเหมือนเงินในตู้เอทีเอ็มที่เราจะกดใช้เมื่อไรก็ได้ ซึ่งจะต้องมีธรรมาภิบาล ความโปร่งใส ยิ่งในยุคนี้ที่ คสช.เข้ามาบริหารประเทศ และอยากให้หน่วยงานรัฐบริหารงบอย่างมีเหตุผล ซึ่งการนำเงินไปให้อาร์เอสไม่ถือว่าใช้เงินกองทุนฯ เพื่อผลประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ มติที่ประชุมบอร์ด กสทช. 6 ต่อ 1 เห็นชอบใช้เงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. วงเงิน 427 ล้านบาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม แก่บริษัทอาร์เอส อินเตอร์ เนชั่นแนล บรอดคาสติ้งแอนด์สปอร์ต เมแนจเม้น จำกัด เพื่อให้มีการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2014 ทั้ง 64 นัด โดยประชาชนจะได้รับชมฟรีผ่านทางช่อง 5 ช่อง 7 ช่อง 8 ในระบบความคมชัดสูง หรือไฮเดฟิเนชั่น และเตรียมจะขอทางฟีฟ่าเพื่อให้ถ่ายได้เพิ่มทางช่อง 11 ด้วยนั้น

สำหรับมติ 1 เสียงที่ไม่เห็นด้วย คือ นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียง ซึ่งได้ลงคะแนนแล้ววอล์กเอาต์ ขณะที่นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม เข้าร้วมประชุมแต่ไม่ได้ลงคะแนน ส่วนคณะกรรมการที่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ มี 8 คน จากคณะกรรมการทั้งหมด 11 คน ส่วนที่ไม่ได้เข้าร่วม 3 คน คือ พันเอกนที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. และประธาน กสท. เนื่องจากเป็นผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึง นายธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ และพันตำรวจเอกทวีศักดิ์ งามสง่า กรรมการ กสทช.

ไม่มีความคิดเห็น: