PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2557

สนช.กับหน้าที่ถอดถอน นับหนึ่งปฏิรูปการเมือง

สนช.กับหน้าที่ถอดถอน นับหนึ่งปฏิรูปการเมือง
สารส้ม แนวหน้า 10ก.ย.57


          แค่เพียงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เดินหน้าจัดทำข้อบังคับการประชุมเรื่อง “การถอดถอนบุคคลและให้บุคคลพ้นจากตำแหน่ง” ก็ปรากฏว่า มีผีห่าซาตานออกมาร้องโหยหวน

          สงสัยกลัวจะถูกถ่วงหม้อลงไห ปิดผ้ายันต์ ฝังดิน ไม่ได้ผุดได้เกิด

          อ้างว่า รัฐธรรมนูญไม่มีบทบัญญัติรองรับเรื่องการถอดถอนนักการเมืองเอาไว้

          อ้างว่า จะทำให้เสียบรรยากาศการปรองดองสมานฉันท์

          ข่มขู่ว่า จะมีประชาชนออกมาต่อต้าน ฯลฯ

          สารพัดข้ออ้างที่นักการเมืองผู้มีชนักติดหลัง เหมือนวัวสันหลังหวะ ขุดสันดอนขึ้นมาอ้าง เพื่อหวังใช้เป็นโล่กำบัง มิให้ตนและพรรคพวกที่กระทำผิดถูกดำเนินการถอดถอนออกจากตำแหน่ง อันอาจจะมีผลต่อการกลับเข้ามาเล่นการเมืองในอนาคต

          1) รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 ฉบับที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันกำหนดให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

           มาตรา 6 บัญญัติให้ “สภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา”

           มาตรา 13 กำหนดให้สภานิติบัญญัติมีอำนาจตราข้อบังคับเกี่ยวกับการปฏิบัติต่างๆ เช่น วิธีการประชุม การเสนอญัตติ การอภิปราย การลงมติ ฯลฯ “...และกิจการอื่นเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่”

           เมื่อวุฒิสภาเดิมนั้น มีหน้าที่สำคัญในการพิจารณาถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่ด้วย สนช.ก็จึงต้องทำหน้าที่พิจารณาถอดถอนนักการเมืองด้วย เป็นเรื่องเข้าใจง่ายๆ ด้วยสามัญสำนึก

            2) ข้อบังคับในการถอดถอนของ สนช. ก็ล้อกันมากับที่ข้อบังคับการถอดถอนของวุฒิสภาเดิม ไม่ว่าจะเป็น บุคคลที่อยู่ในข่ายถูกถอดถอน ขั้นตอน ระยะเวลาดำเนินการถอดถอน ไม่ปรากฏเจตนาพิเศษอะไรเลย

           เหมือนเดิมเกือบทุกอย่าง

           ในเมื่อหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของวุฒิสภาคือการพิจารณาถอดถอน และรัฐธรรมนูญกำหนดให้ สนช.ทำหน้าที่วุฒิสภา แล้วจะให้ สนช.ละเว้น ไม่ทำหน้าที่ถอดถอน เพียงเพราะถูกขัดขวางอย่างไร้ยางอายโดยกลุ่มนักการเมืองที่กระทำผิดกฎหมาย ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดไปแล้ว แบบนี้มันจะไหวหรือ?

           3) ข้ออ้างของกลุ่มนักการเมืองที่ไม่ต้องการให้ สนช.ถอดถอนผู้กระทำผิด เช่น

           3.1 อ้างว่า ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 ไม่มีมาตราใดที่ว่าไว้ถึงกระบวนการถอดถอนโดยตรง เพราะฉะนั้น จึงตีความว่า สนช.ไม่มีอำนาจหน้าที่ดังกล่าว

           ถ้าคิดแบบนี้ สนช.ก็คงทำอะไรไม่ได้เลย

           หรืออย่างคำสั่งแต่งตั้งบุคคลให้ไปปฏิบัติหน้าที่ใดๆ ที่เขียนไว้แค่เพียงว่าให้ทำหน้าที่ในตำแหน่งนั้นๆ โดยไม่ได้ระบุรายละเอียดอำนาจหน้าที่และการใช้อำนาจเอาไว้ในคำสั่งด้วย ก็แสดงว่า
จะไปทำอะไรไม่ได้เลยอีกเหมือนกัน เพราะในคำสั่งไม่ระบุกระบวนการใช้อำนาจไว้ชัดๆ

           นี่เป็นตรรกวิบัติ ตะแบงจนไร้สติ

           แต่ในความเป็นจริง ลองกลับไปอ่าน ข้อ 1) จะเข้าใจชัดว่ารัฐธรรมนูญบัญญัติครอบคลุมไว้แล้วว่าให้ สนช.ทำหน้าที่ของวุฒิสภา อันหมายรวมครอบคลุมถึงหน้าที่ถอดถอนที่เป็นของวุฒิสภามาแต่เดิมด้วย

           3.2 อ้างว่า รัฐธรรมนูญ 2550 ถูกยกเลิกไปแล้ว พวกตนถูก ป.ป.ช.ชี้มูลตามรัฐธรรมนูญ ก็ต้องจบไปด้วย!!!

           อ้างแบบนี้เท่ากับจะตีความเพื่อนิรโทษกรรม ล้างผิด ล้างคดีให้กับตนเองไปโดยปริยาย

          เรียกว่า กะมั่วนิ่มไปเลย!!!

          เพียงเพราะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่ การกระทำผิดของพวกคนเหล่านี้เกิดขึ้นก่อนรัฐประหาร ถูกชี้มูลโดย ป.ป.ช.ตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร และพฤติกรรมความผิดนั้นอุกอาจ ชัดเจน ไร้ยางอาย

          ถ้าอ้างแบบนี้ได้ บรรดาผู้กระทำผิดกฎหมายบ้านเมืองตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร ไม่ว่าจะทุจริตโกงกิน ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติร้ายแรงอย่างไรก็สามารถจะอ้างกันได้หมดว่า ตนเองถูกดำเนินคดีภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 แต่บัดนี้ รัฐธรรมนูญ 2550 ถูกยกเลิกแล้ว การทำหน้าที่ของอัยการ ป.ป.ช. องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ฯลฯ ก็จะต้องล้มเลิกไปด้วย ซึ่งมิใช่เช่นนั้น

          4) สำหรับกรณีถอดผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามกฎหมาย ป.ป.ช. หาก ป.ป.ช.ชี้มูลบุคคลใด สังกัดพรรคการเมืองใดๆ ส่งมาให้ สนช.ดำเนินการถอดถอน สนช.ก็จะต้องดำเนินการ ไม่มีเลือกที่รักมักที่ชัง

         ขณะนี้ มีเรื่องที่ส่งไปถึงวุฒิสภาแล้ว ค้างอยู่ในการพิจารณาของวุฒิสภา ตั้งแต่ก่อนจะมีการรัฐประหาร

         หมายความว่า หากไม่มีรัฐประหาร คนพวกนี้ก็จะต้องถูกดำเนินการถอดถอนโดยวุฒิสภาอยู่แล้ว เช่น

         ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร จงใจใช้อำนาจขัดรัฐธรรมนูญ กรณีร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของ สว.

         ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา กรณีแก้รัฐธรรมนูญ

         ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด สว. 36 คน ร่วมเสนอร่างกฎหมาย แปรญัตติ ลงมติเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ

         เรื่องพวกนี้ เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร ป.ป.ช.ชี้มูลตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร และได้ส่งไปรอให้วุฒิสภาถอดถอนอยู่ก่อนแล้ว

          นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวที่มีการทุจริต ป.ป.ช.ก็ชี้มูลมาก่อนแล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้ส่งเรื่องไปที่วุฒิสภา เพราะรอความชัดเจนว่า สนช.จะดำเนินการกรณีถอดถอนอย่างไรเท่านั้นเอง

          ส่วนกรณีอื่นๆ ที่ยังอยู่ในการไต่สวนของ ป.ป.ช. หาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดแล้วว่าเข้าข่ายถอดถอน ก็จะต้องส่งเรื่องให้ สนช.ดำเนินการพิจารณาถอดถอนเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองหน้าไหน

          ประเทศชาติกำลังเดินหน้าจะปฏิรูป... เมื่อเห็นข่าวว่า บรรดานักการเมืองที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด มีเรื่องถอดถอนค้างที่วุฒิสภาอยู่แล้ว ดาหน้าออกมาคัดค้าน ไม่อยากให้ สนช.ทำหน้าที่เหมือนวุฒิสภาในการพิจารณาถอดถอน ก็ได้แต่รู้สึกสังเวช อิดหนาระอาใจ และแผ่เมตตาให้กับนักการเมืองสันหลังหวะที่ไร้ยางอายขนาดนั้น

          วัวควายที่ถูกลากไปขึ้นโรงเชือดแล้วดิ้นรนหนีตาย ยังน่าเห็นใจกว่า

          เพราะวัวควายพวกนั้นไม่ได้ทำผิดอะไร

          แต่นักการเมืองพวกนี้ กระทำผิดอุกอาจ ข่มขืนสภา ลักหลับออกกฎหมาย ทำเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพรรคพวก กระทั่งถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดไปแล้ว ยังหน้าด้านออกมาดิ้นหนีกรรมที่ตนเองได้กระทำไว้

          สนับสนุนให้ สนช.นับหนึ่งการปฏิรูปการเมือง ถอดถอนนักการเมืองน้ำเน่าให้สูญพันธุ์ไปเสียที!

ไม่มีความคิดเห็น: