PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2557

'ผู้ตรวจ' ย้ำชัดปตท.แจ้งเท็จต่อศาล ส่งคืนท่อก๊าซครบ จี้ 'บิ๊กจิน' สั่งทบทวน

'ผู้ตรวจ' ย้ำชัดปตท.แจ้งเท็จต่อศาล ส่งคืนท่อก๊าซครบ จี้ 'บิ๊กจิน' สั่งทบทวน

"ผู้ตรวจแผ่นดิน" ทำหนังสือด่วนสุด ถึง "บิ๊กจิน" ให้สั่งทบทวนแยกท่อก๊าซของ ปตท.ชี้ส่งคืนแผ่นดินไม่ครบ รายงานข้อมูลเท็จให้ศาล ผิดทั้งแพ่งและอาญา คลัง-พลังงานโดนด้วย ฐานละเลยปฏิบัติหน้าที่...

เมื่อวันที่ 10 ก.ย.มีรายงานว่า สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ ผผ 07.9/09 ลงวันที่ 4 กันยายน 2557 เรื่อง "ความเห็นและข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดิน" โดยมีข้อเสนอต่อ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้า คสช. ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ เสนอความเห็นให้ กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ให้ทบทวนการแบ่งแยกทรัพย์สิน ในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินใหม่ เนื่องจากเห็นว่ากระบวนการแบ่งแยกทรัพย์สินของ ปตท.(ระบบท่อก๊าซธรรมชาติในทะเลและบนบก มูลค่า 32,613.45 ล้านบาท) ให้กระทรวงการคลัง ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2550 ยังไม่ครบถ้วน

อีกทั้ง พฤติการณ์ของกระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และ ปตท.เข้าข่ายผิดกฎหมายหลายฉบับ ไม่ปฏิบัติตามมติ ครม. ที่ให้ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีหน้าที่ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง แต่กลับมีการรายงานข้อมูลเท็จต่อศาลปกครองสูงสุด ว่ามีการแบ่งแยกครบถ้วนแล้ว จึงถือว่าเป็นพฤติการณ์ที่ไม่รักษาผลประโยชน์ของแผ่นดิน และอาจมีผลเป็นความผิดวินัยตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 เป็นความรับผิดทางแพ่ง (ละเมิด) ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เป็นความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา หรือเป็นความผิดในคดีปกครองที่อาจถูกฟ้องต่อศาลปกครองให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนการกระทำที่ไม่ปฏิบัติตามมติ ครม.ได้

ทั้งยังมีการตีความว่าระบบท่อก๊าซที่ไม่ได้คืนให้กระทรวงการคลัง เป็นเพราะ ปตท.เป็น ผู้จ่ายเงินค่าก่อสร้าง ทำให้ทรัพย์สินดังกล่าวไม่ใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ประเภททรัพย์สินใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะตามมาตรา 1304 (3) นั้น ไม่สอดคล้องกับกฎหมายเพราะทรัพย์สินดังกล่าว ได้มาและใช้ประโยชน์ในการประกอบกิจการก่อนที่จะมีการเปลี่ยนสภาพไปเป็น ปตท. จึงถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ประเภททรัพย์สินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ

ดังนั้น มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 30 ธ.ค. 2544 มีมูลค่าสุทธิ 68,569.69 ล้านบาท ที่ต้องแบ่งแยกและคืนให้กับกระทรวงการคลัง ก่อนที่จะมีการแปรสภาพไปเป็นบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในปี 2550 แต่ไม่ปรากฏว่ากระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงาน ได้ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินของ ปตท. ให้กลับมาเป็นของแผ่นดิน หรือกระทรวงการคลังอย่างครบถ้วนแต่อย่างใด

ทั้งนี้ จึงถือว่าพฤติการณ์ของกระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย อันเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามมาตรา 9 (2) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 จึงถือเป็นกรณีที่กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และ ปตท.ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ปฏิบัติหรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ก่อให้เกิดความเสียหายโดยไม่เป็นธรรมตาม มาตรา 13 (1) (ก) (ข) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552

ดังนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงมีความเห็นและข้อเสนอแนะต่อ รองหัวหน้า คสช. ในฐานะหัวหน้าเศรษฐกิจ ให้กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงานและปตท.ดำเนินการดังต่อไปนี้

1.ทบทวนการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ด้วยการหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการตีความคำ พิพากษา และให้ สตง.รับรองความถูกต้อง

2.ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินและโอนทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศ จำนวน 68,569,690,569.82 บาท รวมทั้งค่าตอบแทน ผลประโยชน์อื่นใดจากการใช้ทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศ และสิทธิหรือสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตนที่ ปตท.ได้อาศัยใช้ประโยชน์ในการประกอบกิจการ พร้อมดอกเบี้ย

3.พิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียน ความเห็นและข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดินดังกล่าว ไปเป็นข้อมูลประกอบการปฏิรูปพลังงานต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: