PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2557

งปปช ไม่ควรอ้างถึงงานวิชาการของทีดีอาร์ไอในฐานะที่เป็น "หลักฐาน" ในการตัดสินกล่าวโทษผู้ใด

ป ธ . ทีดีอาร์ไอสมเกียรติตั้งกิจวานิชย์ติงปปช ไม่ควรอ้างถึงงานวิชาการของทีดีอาร์ไอในฐานะที่เป็น "หลักฐาน" ในการตัดสินกล่าวโทษผู้ใด

ที่มา FB สมเกียรติตั้งกิจวานิชย์ 

มีการวิพากษ์วิจารณ์ และมีการสอบถามกันเข้ามาพอสมควรต่อเรื่องที่ ปปช อ้างงานวิจัยของทีดีอาร์ไอ ในการกล่าวโทษอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ในโครงการจำนำข้าว โดยเฉพาะล่าสุดเมื่อความเห็นที่แตกต่างระหว่างอัยการสูงสุด กับปปช ทำให้เรื่องดังกล่าวกลายเป็นข่าวใหญ่

อันที่จริงอาจารย์นิพนธ์พัวพงศกรเพื่อนร่วมงานของผมที่ทีดีอาร์ไอซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องข้าวและเป็นเจ้าของงานวิจัยดังกล่าว ก็กำลังเตรียมที่จะชี้แจงเรื่องดังกล่าวต่อสาธารณะอยู่ แต่ผมเห็นว่าการอภิปรายกันในสังคม โดยเฉพาะในโลกออนไลน์เริ่มจะสับสนมากขึ้น โดยเนื้อหาบางส่วนก็พาดพิงมาถึงทีดีอาร์ไอในแง่มุมต่างๆ ผมจึงอยากอธิบายสั้น ๆ กับเพื่อน ๆ ว่าทีดีอาร์ไอทำอะไรเพื่ออะไร และอธิบายว่างานวิชาการแตกต่างจากงานไต่สวนอย่างไร

ก่อนอื่นผมขอแจ้งให้ทราบก่อนว่าโดยส่วนตัว ผมเห็นด้วยกับอาจารย์นิพนธ์อย่างยิ่งว่า นโยบายจำนำข้าวเป็นนโยบายที่มีปัญหามาก เพราะไม่ได้ช่วยคนจนอย่างตรงจุด ทำลายกลไกตลาดค้าข้าวซึ่งทำงานได้ดีพอใช้จนแทบจะเสียหายไปหมด และทำให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่นในวงกว้าง ซึ่งปปช ควรต้องไต่สวนหาผู้กระทำผิดมาลงโทษ 

ประเด็นสำคัญที่ผมอยากสื่อสารก็คือ ทีดีอาร์ไอเป็นสถาบันวิจัยด้านนโยบาย หน้าที่ของเราคือ การวิจัยที่มุ่งให้เกิดการปรับปรุงแก้ไขนโยบายที่มีปัญหา เป้าหมายของทีดีอาร์ไอแตกต่างจากของ ปปช ที่ต้องไต่สวนเอาผิดกับผู้ทุจริตคอรัปชั่นหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่

ผมจึงคิดว่าปปช ไม่ควรอ้างถึงงานวิชาการของทีดีอาร์ไอในฐานะที่เป็น "หลักฐาน" ในการตัดสินกล่าวโทษผู้ใด เพราะพยานหลักฐานทางวิชาการย่อมมีลักษณะแตกต่างจากพยานหลักฐานในคดีอาญาหรือคดีการเมืองในความรับผิดชอบของ ปปช 
ในความเห็นของผม งานวิชาการอาจจะมีประโยชน์บ้างในการเป็นจุดเริ่มต้นหรือช่วยวางกรอบความคิดในเรื่องซับซ้อนที่ ปปช ต้องไต่สวน แต่หลักฐานที่จะใช้ได้ในคดีความนั้น ก็เป็นหลักฐานซึ่งมีมาตรฐานในการพิสูจน์คนละอย่างจากหลักฐานทางวิชาการ เช่น งานวิชาการอาจใช้หลักสถิติในการพิสูจน์ข้อสันนิษฐาน ในขณะที่การพิสูจน์การกระทำผิดทางกฎหมาย ก็มีมาตรฐานในกฎหมายกำหนดอยู่เช่นต้องมีเจตนาหรือประมาทเลินเล่อเป็นต้นซึ่งทางวิชาการมักจะไม่สนใจเพราะไม่ได้พุ่งเป้าที่จะเอาผิดใคร

ด้วยอำนาจตามกฎหมายและทรัพยากรที่มีอยู่ ผมเชื่อว่าปปช สามารถหาพยานหลักฐานต่างๆ หาตัวคนผิดในโครงการจำนำข้าวมาดำเนินคดีได้ ในขณะที่นักวิชาการไม่ว่าที่ทีดีอาร์ไอ หรือที่ไหน ๆ ก็ไม่มีอำนาจไปเรียกใครมาให้ปากคำ เพราะไม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะมุ่งดำเนินคดีกับใคร

ปปช เป็นหน่วยงานสำคัญของประเทศ และมีบทบาทหลักในการป้องปรามการทุจริตคอรัปชั่น ผมอยากจะเห็นปปช ทำงานอย่างรัดกุมและสื่อสารกับสาธารณะอย่างชัดเจน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือของหน่วยงาน ซึ่งผมเชื่อว่าไม่เกินความสามารถและทรัพยากรที่ปปช มีอยู่

ไม่มีความคิดเห็น: