PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2557

"ผู้ตรวจการแผ่นดินแสดงความกล้าหาญทางจริยธรรมในการตรวจสอบของภาครัฐ"

รสนา โตสิตระกูล

รายงานผลการตรวจสอบของผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อวันที่ 4กันยายน 2557สวนทางกับคำแก้ตัวของปตท.ในประเด็นเรื่องคืนท่อก๊าซธรรมชาติให้รัฐครบถ้วนแล้ว

ความตอนหนึ่ง ผู้ตรวจการแผ่นดินบรรยายว่า "แต่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กลับยื่นคำร้องรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษาโดยรายงานต่อศาลว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้ดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลแล้ว แต่ข้อเท็จจริงปรากฎว่าข้อมูลการแบ่งแยกทรัพย์สินที่ส่งคืนให้กระทรวงการคลังที่รายงานต่อศาลยังไม่ได้รับการตรวจสอบและรับรองจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอน และลัดขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญในการแบ่งแยกทรัพย์สิน อำนาจ และสิทธิดังกล่าวออกจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๐ จึงเป็นกรณีที่กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี"

และผู้ตรวจการแผ่นดินได้ระบุอีกตอนหนึ่งว่า "ดังนั้นการกล่าวอ้างของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในคำร้องที่ยื่นต่อศาลปกครองสูงสุดที่ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้ดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดครบถ้วนแล้ว จึงเป็นการรายงานที่เป็นเท็จต่อศาลปกครองสูงสุดที่ส่งผลต่อการพิจารณาการบังคับคดีของศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้"

ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ระบุอีกว่า "การไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีอาจมีผลเป็นความผิดวินัยตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๕๕๑ เป็นความรับผิดทางแพ่ง (ละเมิด) ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙ เป็นความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา หรือเป็นความรับผิดในคดีปกครองที่อาจถูกฟ้องต่อศาลปกครองให้มีคำพิพากษา หรือคำสั่งให้เพิกถอนการกระทำที่ไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีได้ ซึ่งการที่กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานไม่ดำเนินการทบทวนการแบ่งแยกทรัพย์สินดังกล่าวตามความเห็นและผลการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งคณะรัฐมนตรีมอบหมาย จึงเป็นการที่หน่วยงานดังกล่าวไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี"

สำหรับท่อส่งก๊าซในทะเลที่ปตท.อ้างว่าเป็นของตนเอง โดยยกข้ออ้างทางกฎหมายว่าอยู่นอกเขต12ไมล์ทะเลจึงไม่อยู่ภายใต้กฎหมายไทยบ้างล่ะ หรืออ้างว่า ท่อก๊าซไม่ได้ติดตรึงกับที่ดินจึงไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์บ้างล่ะ หรืออ้างไปว่าใช้เงินของปตท.สมัยที่ยังเป็นการปิโตรเลียมสร้างเองบ้างล่ะ ผู้ตรวจการแผ่นดินได้หักล้างด้วยข้อกฎหมายดังนี้

" สำหรับท่อส่งก๊าซในทะเลเพื่อใช้ในการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อเป็นการวางอยู่บนดินใต้ทะเลโดยที่ดินที่ใช้ในการวางท่อในทะเลถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามมาตรา ๑๓๐๔ (๒) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์การที่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยดำเนินการวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อในทะเลบนที่ดินดังกล่าวจึงเป็นการอาศัยอำนาจมหาชนเหนือเอกชนในการวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อในทะเลตามมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๕๒๑ และเป็นกรรมสิทธิ์ของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยตามมาตรา ๗ (๑) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงอนุมานได้ว่าระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อในทะเลเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน โดยเฉพาะตามมาตรา ๑๓๐๔ (๓) เเห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และการที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ไม่ส่งมอบระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อในทะเลให้กับกระทรวงการคลัง จึงขัดกับหลักการแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๓๐๕ที่บัญญัติว่าทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นจะโอนแก่กันมิได้"

ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ทำหนังสือถึงพล.อ.อ ประจิน จั่นตองรองฯคสช.ฝ่ายเศรษฐกิจขอให้

" 1) ทบทวนการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ด้วยการหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการตีความคำพิพากษา ตามความเห็นของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินในประเด็นทรัพย์สินที่ยังไม่ได้แบ่งแยกเนื่องจากการใช้อำนาจมหาชนตามพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๕๒๑ และประเด็นเรื่องความเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะของท่อก๊าซทั้งบนบกและในทะเล และให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินรับรองความถูกต้องในการแบ่งแยกทรัพย์สินให้เป็นไปตามขั้นตอนของมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๐ ต่อไป

2) ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินและโอนทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยให้กระทรวงการคลังตามมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ณ วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๔ จำนวน ๖๘,๕๖๙,๖๙๐,๕๖๙.๘๒ บาท ทั้งจำนวน รวมทั้งค่าตอบแทน ผลประโยชน์อื่นใดจากการใช้ทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ได้แก่ ที่ดิน อาคาร เครื่องจักร อุปกรณ์และทรัพย์สินอื่น และสิทธิหรือสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตนที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้อาศัยใช้ประโยชน์ในการประกอบกิจการ พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายให้ครบถ้วนต่อไป

3) พิจารณานำข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียน ความเห็นและข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดินดังกล่าวไปเป็นข้อมูลประกอบในการปฏิรูปพลังงานต่อไป "
ปัญหาการคืนทรัพย์สินท่อก๊าซธรรมชาติ และอุปกรณ์ที่รวมกันเป็นระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อที่ไม่ครบถ้วนนั้นเกิดจากการที่ข้าราชการในหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษา และตามมติคณะรัฐมนตรี ไปมีตำแหน่งเป็นกรรมการในบริษัทปตท.จึงเป็นปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวกับผลประโยชน์ส่วนรวมของข้าราชการเหล่านั้น

จึงฝากเป็นข้อสังเกตเรื่องที่จะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้ตีความคำพิพากษานั้น โปรดเลือกบุคคลที่ไม่เคยเป็นบอร์ดปตท.มาเป็นผู้พิจารณา เพื่อป้องกันความเอนเอียงที่เกิดจากผลประโยชน์ทับซ้อน ดังจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า การที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินและผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ได้มีผลประโยชน์ทับซ้อนในการเป็นกรรมการในบมจ.ปตท. จึงสามารถตัดสินเรื่องการคืนสาธารณสมบัติของชาติได้อย่างอิสระ และเที่ยงธรรม

ขอขอบคุณสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และ ผู้ตรวจการแผ่นดินที่ได้แสดงความกล้าหาญทางจริยธรรมในฐานะองค์กรภาครัฐในการตรวจสอบอย่างเที่ยงธรรม และคุ้มครองสาธารณสมบัติของแผ่นดินแทนประชาชนคนไทย

ไม่มีความคิดเห็น: