PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2557

สถานการณ์ข่าว

-เคลือนไหวนายกฯ
-ถอดถอน
-สปช.
-เกาะเต่า
-อินชอน
---
"พล.อ.ประยุทธ์" เตรียมอำลาราชการทหารที่ ร.ร.นายร้อย จปร. ขณะบรรยากาศล่าสุด สถานที่พร้อมทำพิธีแล้ว

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก มีกำหนดการเดินทางมาร่วมงาน พิธีเทิดเกียรติและอำลาชีวิตราชการทหารของนายทหารชั้นนายพล ที่จะครบเกษียณอายุ

ราชการและลาออกก่อนครบเกษียณอายุราชการ ประจำปี 2557 ของกองทัพบก ที่ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จ.นครนายก ซึ่งบรรยากาศที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ขณะนี้มีการจัด

เตรียมสถานที่ต่าง ๆ เพื่อเตรียมพร้อมในการกระทำพิธีแล้ว อย่างไรก็ตามปีนี้มีนายทหารชั้นนายพลที่ครบเกษียณอายุราชการใน 1 ต.ค. 2557 จำนวน 204 นาย และลาออกก่อนครบเกษียณอายุราชการ

จำนวน58 นาย รวม 262 นาย ซึ่งมีตำแหน่งที่สำคัญ อาทิ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.ธนะศักดิ์ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้

บัญชาการทหารบก ซึ่งจะเกษียรอายุราชการในวันที่1 ตุลาคม นี้
------
"พล.อ.ประยุทธ์" ถึง ร.ร.นายร้อย จปร. แล้ว อำลาชีวิตราชการทหาร ขณะกำลังพล 10 กองพัน ร่วมสวนสนามทั้งบกและอากาศ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บัญชาการทหารบก พร้อมด้วยคณะผู้บังคับบัญชาระดับสูง ได้เดินทางมาถึงโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก แล้ว เพื่อร่วมพิธีเทิดเกียรติและอำลาชีวิตราชการทหารของนายทหารชั้นนายพล ที่จะครบเกษียณอายุราชการ และลาออกก่อนครบเกษียณอายุราชการ ประจำปี 2557

ทั้งนี้ กำหนดการในพิธีเทิดเกียรติและอำลาชีวิตราชการทหารวันนี้ประกอบด้วย การถวายสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การเทิดเกียรติและมอบกระบี่ และการสวนสนามเทิดเกียรติ โดยกำลังพลและยุทโธปกรณ์จากหน่วยต่าง ๆ และการสวนสนามทางอากาศ โดยใช้อากาศยาน รวมจำนวนทั้งสิ้น 10 กองพัน

โดยสำหรับพิธีอำลาชีวิตราชการทหารของกำลังพลที่เกษียณอายุราชการนั้นเพื่อเป็นการให้เกียรติกับข้าราชการทหารที่ได้ทุ่มเทปฏิบัติงาน และเป็นการเชิดชูเกียรติในความดีที่ปฏิบัติหน้าที่จนครบ
กำหนดเกษียณอายุราชการ
----
"พล.อ.ประยุทธ์" ภูมิใจเป็นทหาร 38 ปี ยัน ไม่เคยทำเพื่อส่วนตัว ขอช่วยกันเดินหน้าประเทศ ย้ำ แก้ไฟใต้ ต้องใช้เวลา 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก มอบของที่ระลึกแก่นายทหารชั้นนายพลที่อำลาชีวิตราชการทหาร เนื่องในพิธีเทิดเกียรติและอำลาชีวิตราชการทหารชั้นนายพล ของกองทัพบก ประจำปี 2557 ภายในหอประชุมโรงเรียนนายร้อย จปร. พร้อมรับมอบของที่ระลึกจากรองผู้บัญชาการทหารบก ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นตัวแทนนายทหารชั้นนายพล กล่าวคำอำลาในพิธีว่า วันนี้เป็นวันแห่งเกียรติยศและภาคภูมิใจของนายทหารชั้นนายพลที่เกษียณอายุทุกคน ซึ่งส่วนตัวภูมิใจที่รับราชการทหาร 38 ปี เพราะที่ผ่านมา ไม่เคยทำเพื่อส่วนตัว และยังมีกำลังใจที่เข้มแข็งและไม่ท้อแท้ ทั้งนี้ อยากฝากให้ช่วยกันพัฒนาชาติและกองทัพให้เข้มแข็งและร่วมกันเดินหน้าประเทศไปให้ได้

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องใช้เวลาพอสมควร ในการแก้ไขปัญหาโดยสร้างความเข้าใจ และต้องหยุดสถานการณ์ให้ได้โดยเร็ว เพื่อเข้าสู่
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
-----
พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้เดินทางเข้า บก.ทบ. ขณะเจ้าหน้าที่จัดเตรียมสถานที่ส่งมอบตำแหน่งวันพรุ่งนี้ 

บรรยากาศความเคลื่อนไหวที่กองบัญชาการกองทัพบก ถนนราชดำเนิน ซึ่งเป็นสถานที่ปฏิบัติงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้บัญชาการทหารบกและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ล่าสุด ยังคงเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่ได้เดินทางเข้ามาปฏิบัติภารกิจภายในกองบัญชาการกองทัพบก แต่ได้เดินทางกลับมาจากการร่วมพิธีเทิดพระเกียรติและอำลาชีวิตราชการทหารของนายทหารชั้นนายพล ประจำปี 2557 ณ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก แล้ว

ทั้งนี้ ภายในกองบัญชาการกองทัพบก ได้มีการจัดเตรียมสถานที่เพื่อใช้ในการส่งมอบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกจาก พล.อ.ประยุทธ์ ให้กับ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รองผู้บัญชาการทหารบก ซึ่ง
พิธีการจะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้
-----
การรักษาความปลอดภัยทำเนียบ เข้มงวด ขณะ นายกฯ อำลาตำแหน่งทหารที่ ร.ร.นายร้อย จปร. ก่อนเข้าปฏิบัติภารกิจช่วงบ่าย

บรรยากาศที่ทำเนียบรัฐบาล เช้านี้ การรักษาความปลอดภัยเป็นไปอย่างเข้มงวด บุคคลที่เข้า-ออก ต้องติดบัตรแสดงตนชัดเจน โดยในเว็บไซต์วาระงานทำเนียบรัฐบาล ไม่มีการลงกำหนดการหรือภารกิจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. รวมถึง รองนายกรัฐมนตรีแต่ละฝ่าย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แต่อย่างใด แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก เตรียมเดินทางไปโรงเรียนนายร้อย จปร. จังหวัดนครนายก เพื่ออำลาชีวิตราชการทหาร ก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่ที่ทำเนียบรัฐบาลในช่วงบ่าย สำหรับการประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันพรุ่งนี้ ต้องเลื่อนไปประชุม วันพุธที่ 1 ตุลาคม 2557 เนื่องจาก นายกรัฐมนตรี ติดพิธีเกษียณอายุราชการ พร้อบส่งมอบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ให้กับ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ที่กองบัญชาการกองทัพบก
--
นายกรัฐมนตรี ยังไม่เข้าปฏิบัติภารกิจทำเนียบรัฐบาล หลังกลับจากนครนายก ขณะยังไม่ชัดทูลเกล้าฯ รายชื่อ สปช.

ความเคลื่อนไหวที่ทำเนียบรัฐบาล ล่าสุด ยังเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ยังไม่พบรองนายกรัฐมนตรีเข้าปฏิบัติหน้าที่ที่ตึกบัญชาการ 1 เนื่องจากติดภารกิจอื่น โดย พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. แต่งตั้งโยกย้ายระดับผู้บัญชาการถึงผู้บังคับการ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ล่าสุด แม้ว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. จะเดินทางกลับจากจังหวัดนครนายกแล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่เข้าปฏิบัติหน้าที่ที่ทำเนียบรัฐบาลแต่อย่างใด ขณะเดียวกัน ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการทูลเกล้าทูลกระหม่อมรายชื่อสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. จำนวน 250 คน

--
นายกฯสิงคโปร์เชิญประยุทธ์เยือน ยันเข้าใจสถานการณ์ไทย

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลัง นางชวา ซิว ซาน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสิงคโปร์ ประจำเป็นประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะและปรึกษาข้อราชการว่า มาแสดงความขอบคุณทางการไทยที่มีไมตรีจิตด้านวิชาการ วิทยาศาสตร์ แลกเปลี่ยนนักศึกษา และแสดงความดีใจที่คนทั้ง 2 ประเทศรักใคร่กัน แสดงความปรารถนาดีมายังประชาชนชาวไทย โดยบอกว่าเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในไทย และขอเป็นกำลังใจในฐานะประเทศในกลุ่มอาเซียน

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ยังฝากแสดงความยินดี มายังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมถือโอกาสเชิญเยือนสิงคโปร์อย่างเป็นทางการ อีกทั้งเป็นกำลังใจให้พล.อ.ประยุทธ์ฟันฝ่าอุปสรรคไปให้ได้ ประเทศมีความสงบ
------
รมว.กต. ยัน หัวใจหลักของการพัฒนา คือการสร้างความมั่นคงของมนุษย์ ย้ำ ยึดประชาธิปไตย มุ่งสู่ปรองดอง

พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 69 ถึงวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015 ซึ่งเป็นหัวข้อหลักของการประชุมในปีนี้ ว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืนต้องดำเนินควบคู่กับการยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน สันติภาพและความมั่นคง ทั้งนี้ ยังยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพราะเกี่ยวข้องกับการสร้างค่านิยมที่ถูกต้อง และการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของคนในชาติ โดยย้ำว่า หัวใจหลักของการพัฒนาที่ยั่งยืน คือ การสร้างความมั่นคงของมนุษย์

นอกจากนี้ ประชาธิปไตยของไทย มีความหมายมากกว่าการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเรื่องของการเคารพหลักนิติธรรม ธรรมาภิบาล ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียม รวมถึง ชี้แจงสถานการณ์การเมืองของไทย ทำความเข้าใจถึงสาเหตุของการเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินของกองทัพ ซึ่งมีจุดมุ่งหมาย ในการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยที่เข้มแข็งและยั่งยืน ตามแผน road map ตอบสนองความต้องการของประชาชน ยืนยันว่า ไทยยึดมั่นในหลักประชาธิปไตย ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านมุ่งการสร้างความปรองดองของคนในชาติ การปฏิรูปการเมือง และการเสริมสร้างความแข็งแกร่งแก่สถาบันประชาธิปไตย
////
"ป.ป.ช."ถกปมถอดถอน"ยิ่งลักษณ์"คดีจำนำข้าว 30 ก.ย.

ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการส่งเรื่องถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า เรื่องที่ยังค้างอยู่ที่ สนช. มีอยู่ 2 เรื่อง คือ คดีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ซึ่งสนช.สามารถพิจารณาได้ทันที และยังเหลืออีก 2 เรื่องที่ยังไม่ได้ส่งให้กับ สนช. คือ เรื่องคดีถอดถอนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีไม่ระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว และคดี ส.ส.-ส.ว. ร่วมกันลงชื่อแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ กรณีที่มาของ ส.ว. เนื่องจากภายหลังการชี้มูลความผิดไปแล้ว เกิดเหตุการรัฐประหารเสียก่อน โดยที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เตรียมหารือเรื่องดังกล่าวในวันที่ 30 กันยายน 2557 หากพิจารณาแล้วเสร็จก็จะส่งเรื่องให้กับสนช.
----
"วิชา"เผยถอดถอน"ปู -36ส.ว." 30ก.ย.รู้ผล ส่ง สนช. หรือไม่

เมื่อวันที่ 29 กันยายน ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึง กรณีที่ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ยื่นฟ้องศาลปกครองเพื่อให้ ป.ป.ช.เพิกถอนมติที่ต้องเปิดเผยรายการแสดงบัญชีทรัพย์สิน - หนี้สินต่อสาธารณะชน ว่า ถือเป็นสิทธิของสมาชิก สนช.ที่จะยื่นศาลปกครอง

เพราะมีหลายท่านคิดว่าไม่ใช่ แต่ก็ถือเป็นเรื่องดีเพื่อให้เกิดเป็นบรรทัดฐานต่อไป ส่วนข้อโต้แย้งที่สนช.ไปฟ้องศาลเพราะมองว่าตนไม่ใช่นักการเมือง ตรงนี้เขาอาจคิดว่าไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่
ทางเราทำตามหน้าที่และพิจารณาจนมีมติออกไปแล้ว ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 35 ส่วนเรื่องอื่นอย่าให้พูดเลยฟังศาลปกครองวันที่ 30 กันยายนดีกว่า อย่าให้ตนล่วงอำนาจศาลเพราะเรื่องนี้อยู่ในการพิจารณาของศาล

นายวิชา กล่าวว่า ส่วนกรณีคดีถอดถอน คงต้องรอความชัดเจนในการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่จะเกิดขึ้นวันที่ 30 กันยายน ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป จะส่ง สนช.เลยหรือไม่ เราเพียงแต่ทราบว่า สนช.มีข้อบังคับในเรื่องถอดถอน ดังนั้น ป.ป.ช.ต้องกลับมาดูรายละเอียดอีกครั้งว่าเข้า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทั้งนี้คดีถอดถอน 2 เรื่องที่จะพิจารณาในวันที่ 30 กันยายน คือ เรื่องคดีถอดถอนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีไม่ระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว และคดี 36 ส.ว. ร่วมกันลงชื่อแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ กรณีที่มาของ ส.ว.
------
"พรเพชร" ยืนยัน สนช. มีอำนาจถอดถอนได้  ต้องรอ ป.ป.ช. ส่งเรื่องมาใหม่ให้ถูกต้อง 

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยถึงผลการหารือถึงเรื่องการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองร่วมกับรองประธาน สนช. ทั้ง 2 คน ว่า ขณะนี้มี 2 คำร้องถอดถอนที่ค้างอยู่ในสภาจากที่คณะกรรมการป้องกันและปราบรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งมายังวุฒิสภาคือการถอดถอน นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร

ดังนั้น จึงต้องพิจารณาว่า หาก สนช. จะใช้อำนาจในการถอดถอน ป.ป.ช. จะต้องยื่นเรื่องการถอดถอนเข้ามาใหม่หรือไม่ เพื่อให้สอดคล้องกับการบังคับใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557ทั้งนี้ หากมีการยื่นเรื่องถูกต้องตามกฎหมาย สนช. ก็มีอำนาจในการถอดถอนได้ เพราะ สนช. ทำหน้าที่เช่นเดียวกับสมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
/////////
เปิดรายชื่อ สปช. 11 ด้าน คนเด่น-ดัง มาตามคาด

รายงานข่าวเปิดเผยถึงรายชื่อบุคคลที่คาดว่าได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาปฏิรูป (สปช.) ในส่วนที่มาจากคณะกรรมการสรรหา 11 ด้าน จำนวน 173 คน นั้น ปรากฏว่าบุคคลเด่นดังได้เข้ามาตามคาด

เริ่มตั้งแต่ 1.ด้านการเมือง ได้แก่ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า, นายชัยอนันต์ สมุทวณิช, พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคาร, นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์, นายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีต ส.ว.กลุ่ม 40 ส.ว., พล.อ.วิชิต ยาทิพย์, นายชัย ชิดชอบ, นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีต ส.ว.กลุ่ม 40 ส.ว, นพ.ชูชัย ศุภวงศ์, นางตรึงใจ บูรณสมภพ, นายดำรงค์ พิเดช, พล.ร.อ.สุรินทร์ เริงอารมณ์


2.ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ นายอุดม เฟื่องฟุ้ง อดีตรองประธานศาลฎีกาและอดีตกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.), พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป อดีตหัวหน้าสำนักงาน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์, นายคำนูณ สิทธิสมาน, นายวันชัย สอนศิริ, นายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีต ส.ว.ปี 43 และอดีตรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 50 ,นายเข็มชัย ชุติวงศ์ ผู้ตรวจสำนักงานอัยการสูงสุด, นายประสิทธิ์ ปทุมารักษ์

3.ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ได้แก่ นายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์, นายขจัดภัย บุรุษพัฒน์, นายประมนต์ สุธีวงศ์, นางสาวถวิลวดี บุรีกุล, นายพลเดช ปิ่นประทีป, นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาส,
พล.อ.วัฒนา สรรพานิช, พล.ต.อ.ชาญชิต เพียรเลิศ, น.ส.อรพินท์ สพโชคชัย, นายชัยวัฒน์ ลิมป์วรรณธะ

4.ด้านการศึกษา ได้แก่ นายอมรวิชช์ นาครทรรพ, นายสุวิทย์ เมษินทรีย์, นายมีชัย วีระไวทยะ, นางทิชา ณ นคร, นายกมล รอดคล้าย, พล.ท.พอพล มณีรินทร์, พล.อ.วุฒินันท์ ลีลายุทธ, นายสมเกียรติ

ชอบผล, นายเขมทัต สุคนธสิงห์

5.ด้านการปกครองท้องถิ่น ได้แก่ นายพงศ์โพยม วาศภูติ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย, นายจรัส สุวรรณมาลา อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ, นายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า, นายวัลลภ พริ้งพงษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, พ.ต.อาณันย์ วัชโรทัย, พล.ต.อดุลย์ศักดิ์ บุญวัฒนะกุล

6.ด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ นายเกริกไกร จีระแพทย์ อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์, นายธวัชชัย ยงกิตติกุล, นายพิสิฐ ลี้อาธรรม อดีต รมช.คลัง, นายมนู เลียวไพโรจน์ อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, นายสมชัย ฤชุพันธุ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง น้องชายนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งเข้าไปเป็นคณะ คสช., นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล

7. ด้านพลังงาน ได้แก่ นายทองฉัตร หงศ์ลดารมย์, นายคุรุจิต นาครทรรพ, นายมนูญ ศิริธรรม, นายดุสิต เครืองาม น้องชาย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ, น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว. กลุ่ม 40
ส.ว., นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล อดีตผู้บริหารบางจาก, พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช, นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล และ นายพรายพล คุ้มทรัพย์

8.ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ นายประเสริฐ ศัลย์วิวรรธน์, นางสาวทัศนา บุญทอง, นายปราโมทย์ ไม้กลัด, นายบัณฑูร เศรษศิโรจน์, นายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์, นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ,
นาวาอากาศเอกไพศาล จันทรพิทักษ์, นางพรพันธุ์ บุณยรัตนพันธุ์, พล.ร.อ.ชาญชัย เจริญสุวรรณ

9.ด้านสังคม ได้แก่ นายกิตติภณ ทุ่งกลาง, นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง, นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, นายวิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์, นายสังศิต พิริยะรังสรรค์, นางสาวสารี อ๋องสมหวัง, นายวินัย ดะลันห์, พล.ต.เดชา ปุญญบาล, นางกูไซหม๊ะวันซาฟีหน๊ะ มนูญทวี อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคชาติพัฒนา จ.ยะลา, นายอำพล จินดาวัฒนะ

10.ด้านสื่อสารมวลชน ได้แก่ พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร, นายมานิจ สุขสมจิตร, นายวสันต์ ภัยหลีกลี้, นายบุญเลิศ คชายุทธเดช, นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์, นายจุมพล รอดคำดี, นายพนา ทองมีอาคม,
นางประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด, นางเตือนใจ สินธุวณิก

11. ด้านอื่นๆ ได้แก่ นายเทียนฉาย กีระนันท์ อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา, พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ, พล.ร.อ.อภิวัฒน์ ศรีวรรธนะ, พล.ร.อ.ศุภกร บูรณดิลก, พล.อ.
ภูดิศ ทัตติยโชติ, นายเกษมสันต์ จิณณวาโส, นางพรรณี จารุสมบัติ น้องสาว นายพินิจ จารุสมบัติ อดีต ส.ส.และรัฐมนตรีหลายกระทรวง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคนเด่นดังที่ไม่มีรายชื่อ อยู่ใน 173 คน ที่ คสช.คัดเลือก เช่น นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีสอบสวนคดีพิเศษ ที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่สโมสรพนักงานการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เสนอชื่อเข้ารับการสรรหา ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม, คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์, นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รักษาการปลัดกระทรวงยุติธรรมรวมทั้งที่ถูกเสนอชื่อมาในส่วนขององค์กรอิสระ ก็ไม่ได้รับคัดเลือกเข้ามาด้วย เช่น นายวิชา มหาคุณ จากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร จากคณะกรรมการการเลือกตั้ง
----
พท.ผิดหวังหน้าตา"สปช." จวกคู่ขัดแย้งมีชื่อติดพรึ่บ

วันที่ 29 ก.ย.2557 นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกรัฐมนตร และอดีตรมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงรายชื่อผู้ที่คาดว่าจะได้เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติที่ปรากฎเป็นข่าวว่า รู้สึกผิดหวัง เพราะคาดหวังไว้มากตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.บอก แต่สุดท้ายก็เป็นคนหน้าเดิม และเป็นทีมงานเดียวกับคสช. ไม่มีอะไรแปลกใหม่ ดังนั้น แนวทางการปฏิรูปที่จะออกมาคงไม่ดี เพราะยังคงยึดติดกับความคิดแบบเดิม ปฏิรูปในมุมที่อีกฝ่ายต้องการ ประเทศชาติและประชาชนคงไม่ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง ถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย การปฏิรูปอาจล้าสมัย ปัญหาไม่ได้รับการคลี่คลาย เหมือนอยู่ในวังวนเดิมๆ ท้ายที่สุดรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ต้องไปแก้ พอแก้กลับมาเดี๋ยวก็มีการปฏิวัติอีก อย่างไรก็ตาม จะขอดูการทำงานว่าจะออกมารูปแบบใด เป็นไปตามที่ตนเข้าใจหรือไม่ ขอให้สปช.เดินตามโรดแมปที่วางไว้ อย่าประวิงเวลาให้ยาวออกไป เพราะประเทศชาติต้องเดินหน้า ขณะเดียวกันต้องเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นของคนที่เห็นต่างด้วย ไม่ใช่เอาความเห็นของตัวเองเป็นที่ตั้ง

ด้านนายอำนวย คลังผา อดีตประธานวิปรัฐบาล และอดีตส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า คสช.แต่งตั้งสปช.จากคนหน้าเดิม ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งกับพรรคเพื่อไทย จะเห็นว่ากลุ่ม 40 ส.ว.เข้ามาเป็นเยอะมาก ไม่เข้าใจว่าคสช.ต้องการให้บ้านเมืองสงบหรือเกิดวิกฤติอีกครั้งกันแน่ ตนเกรงว่าการปฏิรูปจะล้มเหลว สูญเปล่า ในอดีตที่ผ่านมาเราก็รู้อยู่แล้วอะไรคืออะไร ไม่อยากให้เกิดปัญหาซ้ำอีกในอนาคต ฝากสปช.ให้เขียนกติกาสำคัญไว้สักข้อด้วย ระบุให้ชัดเลยว่าต่อไปถ้าพรรคการเมืองไหนไม่ส่งคนลงสมัครเลือกตั้งให้ตัดสิทธิทางการเมืองไปเลย 10 ปี

///////////
สภาพร้อมรับสปช. โยนปปช.พิจารณาปมแสดงทรัพย์สิน

เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2557 เวลา 10.00 น. นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า ขณะนี้สภาได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการทำงานของ สปช.แล้ว และเมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง สปช.ทั้ง 250 คน จะกำหนดให้เข้ารายงานตัวในวันรุ่งขึ้นทันที ขณะเดียวกันได้เตรียมบุคลากรไว้พร้อมสำหรับการสนับสนุนงานของสปช. ทั้งเรื่องการตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และเรื่องการเตรียมการตั้งกรรมาธิการ 11 คณะ พร้อมทั้งเตรียมงบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบของสภาผู้แทนราษฎรในปี 2557 มาใช้ในการดำเนินการ

นายจเร กล่าวต่อว่า สำหรับการประชุมนัดแรกของ สปช. จะเป็นการหารือเพื่อเลือก ประธาน และรองประธาน สปช. โดยจะใช้ข้อบังคับการประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปก่อน จากนั้นค่อยยกร่างข้อบังคับการประชุม สปช.อีกครั้ง ซึ่งเนื้อหาน่าจะใกล้เคียงกับข้อบังคับการประชุม สนช. ส่วนการกำหนดวันประชุมสปช.จะเป็นวันใดนั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของที่ประชุมเมื่อถามว่า สปช.ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินหรือไม่ นายจเร กล่าวว่า สถานะของ สปช.ไม่ได้เป็นทั้งส.ส. และส.ว. จึงขึ้นอยู่กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
//////////////
"แถมสิน"อดีตสนช.49เข้ารายงานตัวสนช.ใหม่คนแรก

เมื่อวันที่ 29 ก.ย.2557 เวลา 08.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภา ว่า ทางสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้เปิดให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ที่เพิ่งได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเพิ่มเติมอีกจำนวน 28 คน เข้ารายงาน ณ ห้องโถง ชั้น 1 อาคารรัฐสภา 2 ปรากฏว่ามีสนช.ทยอยเดินทางเข้ามารายงานตัว โดย นายแถมสิน รัตนพันธ์ อดีตสนช.ปี 2549 ได้เข้ารายงานตัวเป็นคนแรก จากนั้นมี พล.อ.สุนทร ขำคมกุล , นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ , พล.อ.ศุภวุฒิ อุตมะ และ พล.อ.โปฎก บุนนาค
-----
"พรเพชร" มั่นใจ ตั้ง สนช. เพิ่ม ช่วยให้การทำงานด้านกฎหมาย มีทิศทางดีขึ้น ไม่ซ้ำซ้อนในการทำงาน 

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยถึงกรณีการแต่งตั้ง สนช. เพิ่มเติมจำนวน 28 คน จะทำให้การทำงานของ สนช. เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นต่อการพิจารณากฎหมาย และไม่ทำให้เกิดปัญหาที่ซับซ้อนต่อการทำงานของ สนช. ในคณะกรรมาธิการต่าง ๆ เพราะมีจำนวนสมาชิกครบจำนวน 220 คน ตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญ 2557 ฉบับชั่วคราว

นอกจากนี้ หากสมาชิกทั้งหมดมารายงานตัวที่รัฐสภาแล้วเสร็จ ภายในวันที่ 1 ตุลาคม จะต้องทำพิธีปฏิญาณตน ก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม สำหรับการประชุม สนช. ครั้งถัดไป จะมีผลต่อการพ้นสภาพของ สนช. หากสมาชิกขาดการประชุมเกิน 1 ใน 3 ครั้ง ภายในระยะเวลา 90 วัน

//////////////
ป.ป.ช.ยันกำหนดเปิดบัญชีทรัพย์สินสนช. 3 ต.ค.แน่นอน

นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีสมาชิกสนช.28 คนยื่นศาลปกครองให้เพิกถอนมติป.ป.ช.ที่ให้สนช.ยื่นและเปิดเผยรายการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ว่า เท่าที่ทราบคือเป็นการยื่นฟ้องขอให้ศาลได้วางบรรทัดฐานในคำสั่งทางปกครอง โดยไม่ได้ขอทุเลาในเรื่องการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องปกติที่สนช.อาจเห็นว่าเป็นคำสั่งทางปกครองที่กระทบกระทั่งอยู่ จึงสามารถยื่นคำร้องต่อศาลปกครองได้ เพราะการที่วิจารณ์ว่ากฎหมายมีความชัดเจนหรือไม่นั้นก็อยู่ที่การตีความของใคร ถ้าป.ป.ช.ตีความก็บอกว่าชัดเจน แต่คนที่ได้รับผลกระทบจากการตีความตัวมติก็อาจจะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม ก็ไปยื่นได้เป็นเรื่องปกติ

"การยื่นดังกล่าวไม่กระทบต่อการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ป.ป.ช.กำหนดในวันที่ 3 ต.ค.นี้แต่อย่างใด เพราะในวันที่ 30 ก.ย.นี้เป็นวันที่ศาลปกครองพิจารณาว่าจะรับคำร้องดังกล่าวหรือไม่ หากรับคำร้องก็คงส่งมาให้ป.ป.ช.ทำคำให้การแก้คำฟ้อง ซึ่งเวลานี้ป.ป.ช.ยังไม่เห็นทั้งหนังสือดังกล่าวและยังไม่เห็นคำร้องที่ว่ามีขอทุเลาการให้เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินหรือไม่ดังนั้นป.ป.ช.ยังดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ตามปกติ เพราะยังไม่มีคำสั่งศาลปกครอง" นายสรรเสริญ กล่าว

นายสรรเสริญ กล่าวว่า เป็นหลักทั่วไปและสากลอยู่แล้วว่าการเข้ามารับตำแหน่งของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะต้องแสดงความโปร่งใสในเรื่องของการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินที่ป.ป.ช.ประกาศกำหนด ซึ่งประเด็นนี้จะเป็นข้อต่อสู้ของป.ป.ช. แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อการทำหน้าที่ของป.ป.ช. แต่หากศาลปกครองมีคำสั่งมาอย่างไรป.ป.ช.ก็ต้องปฏิบัติตาม
------
ป.ป.ช. พร้อมปฏิบัติตามคำสั่งศาล ปค. หากให้เพิกถอนแสดงบัญชีทรัพย์สิน สนช. ขณะ สปช. ต้องยื่นหรือไม่ ยังไม่ได้พิจารณา

นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. กล่าวถึงกรณีที่ พลเอกนพดล อินทปัญญา ประธานคณะที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำสมาชิกนิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. จำนวน 28 คน ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางให้เพิกถอนมติ ป.ป.ช. ในการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน สนช. ว่า หากในวันที่ 30 ก.ย. นี้ ทางศาลปกครองพิจารณาและรับเรื่องดังกล่าวไว้ ก็ถือว่าไม่กระทบกับ ป.ป.ช. เพราะเป็นการดำเนินการตามมติให้มีการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สิน แต่หากภายในวันที่ 3 ต.ค. นี้ ศาลปกครองพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้เพิกถอนการแสดงบัญชีทรัพย์สินของ สนช. ทาง ป.ป.ช. ก็ต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาล

ส่วนกรณีของสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. จำนวน 250 คน นั้น ขณะนี้ยังไม่ได้พิจารณาว่าจะต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินหรือไม่ เพราะต้องรอให้พระบรมราชโองการแต่งตั้งและมอบ
หมายอำนาจหน้าที่อย่างชัดเจนก่อน จึงจะนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการได้
////////////////

ไม่มีความคิดเห็น: