PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ลด ส.ส.เหลือจังหวัดละคน! "ชัยอนันต์ สมุทวณิช" ผุดไอเดีย เปิดทางคนนอก นั่ง นายกฯ

ลด ส.ส.เหลือจังหวัดละคน! "ชัยอนันต์ สมุทวณิช" ผุดไอเดีย เปิดทางคนนอก นั่ง นายกฯ

วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2557 เวลา 16:08:13 น.

ศาสตราจารย์ ชัยอนันต์ สมุทวณิช สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช.ด้านการการเมือง เสนอให้มีการลดจำนวน ส.ส.ลงเหลือเพียง 77 คน และให้คนนอก สามารถเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ เเต่ต้องผ่านการลงมติของสภา


นายชัยอนันต์ สมุทวณิช  ราชบัณฑิตและ อดีตอาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติด้านการเมือง กล่าวเสนอความคิดเห็นว่า  ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ถูกต้อง  ต้องการคนที่มีคุณภาพ แต่ระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบันใช้กับคนที่ไม่มีคุณภาพ ทำให้เกิดเป็นปัญหา ดังนั้นการแก้ปัญหาจึงต้องทำให้คนมีคุณภาพ ไม่ถูกหลอกง่าย ไม่เห็นแก่เงินมากกว่าสิทธิ ไม่เชื่อข่าวลือง่ายและสนับสนุนคนอย่างไม่ลืมหูลืมตา

ทั้งนี้นายชัยอนันต์ยังได้ เสนอ การแก้ปัญหาทางการเมือง  ว่าอยู่ที่การวางกรอบอำนาจให้การเมืองส่วนบนมากกว่าส่วนล่าง จึงจำเป็นต้องอุดช่องว่างของปัญหาการเมืองด้วยการ ลดอำนาจของ ส.ส.โดยลดจำนวน ส.ส.ให้เหลือเพียง 77 คน มาจากการเลือกตั้งภายในจังหวัดๆละ 1 คน ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง เนื่องจากเห็นว่าการทำหน้าที่ของ ส.ส.ส่วนใหญ่เป็นเรื่องทางเทคนิค เรื่องวิชาการ จึงไม่จำเป็นต้องมีจำนวนมาก และให้เน้นการกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น เพื่อให้ปัญหาในท้องถิ่นมีคนในพื้นที่ดูแลได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ โดยรูปแบบนี้ ส.ส.ก็ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรค และจะช่วยลดปัญหาการคอรัปชั่นลงอีกด้วย เพราะหากมีจำนวน ส.ส.เยอะ และมีการคอรัปชั่นเกิดขึ้น ก็จะควบคุมได้ยาก แต่หากเน้นงานท้องถิ่นมากขึ้น เมื่อมีการคอรัปชั่นเกิดขึ้น ประชาชนในท้องถิ่นจะเห็นได้ง่าย

ส่วนวิธีการเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น ตนไม่เห็นด้วยกับระบบการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง เพราะระบบเลือกตั้งในประเทศไทยยังไม่ครอบคลุมเช่น ยังไม่มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด  เป็นต้น จึงอาจก่อให้เกิดการเอื้อประโยชน์ได้ ดังนั้น นายกรัฐมนตรีจึงควรมาจากการโหวตในสภา โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็น ส.ส.  ทั้งนี้หากมีการร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องมีการลงประชามติ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ใช่ความขัดแย้งที่ต้องการขอความเห็น เชื่อว่าประชาชนจะยอมรับโดยปริยาย

ไม่มีความคิดเห็น: