PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2557

สิริอัญญา :ระวัง! จุดไฟเผาบ้านตัวเอง

ระวัง! จุดไฟเผาบ้านตัวเอง
โดย สิริอัญญา
วันอังคารที่ 21 ตุลาคม 2557

สนช. ได้ลงมติเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2557 ให้ยกเว้นข้อบังคับการประชุม สนช. เกี่ยวกับการพิจารณาเรื่องถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่จะต้องดำเนินการภายใน 30 วัน นับแต่วันรับเรื่องจาก ป.ป.ช. และให้เลื่อนการพิจารณาเรื่องถอดถอนออกไปไม่มีกำหนด

จึงเป็นว่าโดยมติดังกล่าว เรื่องที่ ป.ป.ช. ส่งมายัง สนช. ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ปฏิบัติหน้าที่วุฒิสภาต้องถูกหมกเอาไว้โดยไม่มีกำหนด

ไม่รู้ว่าเป็นความคิดความเห็นของใคร? หรือว่าเป็นของคุณโม่งที่แนะนำให้ สนช. กลุ่มหนึ่งไปยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า สนช. ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินหรือไม่?

แต่ดูแล้วก็น่าห่วงใยว่าความคิดความเห็นแบบนั้นจะกลายเป็นการจุดไฟเผาบ้านตัวเอง และกำลังเดินตามรอยรัฐบาลทุนสามานย์ ที่คิดเห็นว่าอำนาจที่มีอยู่เหนือกฎหมาย และไม่ยำเกรงกฎหมาย จึงจำต้องสาธยายให้ฟังสักครั้งหนึ่ง

สนช. มีอำนาจและมีสิทธิ์ที่จะยกเว้นการใช้ข้อบังคับการประชุมข้อไหนก็ตามได้แต่ที่ประชุมจะเห็นสมควร ซึ่งถ้ามีการยกเว้นการใช้ข้อบังคับใดที่ประชุมก็สามารถกระทำการโดยไม่ต้องคำนึงถึงข้อบังคับนั้น แต่ต้องเข้าใจว่านั่นเป็นเรื่องภายในของ สนช.เท่านั้น มิได้ผลไปลบล้างกฎหมายอื่นใด และไม่ได้มีเอกสิทธิ์ที่จะไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายใด ๆ เลย

การที่ สนช. ลงมติว่าให้ยกเว้นข้อบังคับที่จะต้องดำเนินการพิจารณาเรื่องถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ ป.ป.ช. ส่งมา เพื่อจะได้ไม่ต้องดำเนินการภายใน 30 วัน มีผลเพียงทำให้การไม่พิจารณาดำเนินการไม่ขัดต่อข้อบังคับของ สนช. เท่านั้น ไม่มีผลไปยกเว้นหรือลบล้างกฎหมายอื่น โดยเฉพาะกฎหมาย ป.ป.ช. ซึ่งยังมีผลใช้บังคับและมีศักดิ์ชั้นของกฎหมายสูงกว่าข้อบังคับการประชุม สนช.

ตามกฎหมาย ป.ป.ช. นั้น เมื่อ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว จะดำเนินการต่อไปในสองทิศทางคือ

ทิศทางแรก ถ้าการชี้มูลความผิดนั้นเป็นความผิดทางอาญา ก็ต้องส่งเรื่องให้อัยการดำเนินการฟ้องคดีอาญาต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และถ้าศาลฎีการับเรื่อง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที

ทิศทางที่สอง เป็นทิศทางบังคับว่าเมื่อมีการชี้มูลความผิดของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว ป.ป.ช. จะต้องส่งเรื่องไปยังวุฒิสภาเพื่อพิจารณาถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ซึ่งเป็นอำนาจตามกฎหมาย ป.ป.ช. ไม่เกี่ยวกับการบัญญัติหรือไม่บัญญัติเรื่องการถอดถอนไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งบัดนี้ สนช. คือผู้ทำหน้าที่วุฒิสภาตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ จึงมีหน้าที่ตามกฎหมาย ต้องพิจารณาดำเนินการเรื่องถอดถอนภายใน 30 วัน จะไม่ทำหรือทำช้ากว่าเวลาที่กฎหมาย ป.ป.ช. กำหนด ย่อมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

ซึ่ง ป.ป.ช. มีอำนาจทำการไต่สวนและชี้มูลความผิดเพื่อส่งเรื่องไปดำเนินคดีอาญาต่อศาลฎีกาได้ และมีอำนาจส่งเรื่องไปให้วุฒิสภาถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่ง สนช. ได้ด้วย

ก็แลเมื่อ สนช. ไม่มีอำนาจที่จะลบล้างกฎหมาย ป.ป.ช. จึงมีหน้าที่ต้องพิจารณาดำเนินการเรื่องถอดถอนภายใน 30 วัน นับแต่วันรับเรื่องจาก ป.ป.ช. และจะครบกำหนดลงในต้นเดือนพฤศจิกายน ศกนี้ ส่วนจะเป็นวันไหนก็ไปดูกันเอาเอง

ดังนั้นถ้าเมื่อครบกำหนด 30 วัน ที่ ป.ป.ช. ส่งเรื่องไปยัง สนช. แล้ว หาก สนช. ยังหมกเรื่องไว้ต่อไปตามมติการประชุม สนช. เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2557 ก็อาจมีผู้ร้องต่อ ป.ป.ช. หรือ ป.ป.ช. อาจหยิบยกเรื่องขึ้นทำการพิจารณาไต่สวนเองว่า สนช. ที่มีส่วนลงมติไม่ให้ดำเนินการพิจารณาเรื่องถอดถอนว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

ก็ลองคิดกันดูว่าถ้ามีการไต่สวนดังกล่าวเกิดขึ้น ก็จะก่อเกิดวิกฤตทางการเมืองขึ้นทันที

ข้อแรก จะมีพวกฉวยโอกาสทางการเมืองกล่าวหา คสช. ว่าปล่อยให้มีการหมกเม็ดในรัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อปกป้องนักการเมืองที่กระทำความผิด และ สนช. ส่วนใหญ่ก็แต่งตั้งมาจาก คสช. มีหรือที่จะไม่ติเตียนมาถึง คสช. ด้วย

ข้อสอง ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย ป.ป.ช. นั้นก็คงได้เห็นกันมาแล้ว ว่ารัฐบาลทักษิณ รัฐบาลสมชาย รัฐบาลสมัคร รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ว่ามีอำนาจขนาดไหน ก็ล้มครืนลงด้วยความศักดิ์สิทธิ์แห่งกฎหมายทั้งสิ้น แล้วจะเดินตามรอยแบบนั้นอีกหรือ? เพราะแค่ ป.ป.ช. ตั้งเรื่องไต่สวนเท่านั้น เครดิต คสช. และรัฐบาลจะกระทบมากและน้อยประการใด ก็คาดคิดเห็นได้ไม่ยาก

ข้อสาม หากเหตุการณ์ล่วงไปถึงชั้นศาลฎีการับคดี และ สนช. ค่อนสภาต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือถูกจำคุก ตอนนั้นแหละอะไรจะเกิดขึ้น? ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ในบ้านเมืองก็จะเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะเพิ่มความบอบช้ำและทำให้การยึดอำนาจครั้งนี้เสียของโดยสิ้นเชิง

หรือถ้าจะมีการอาศัยเสียงข้างมากลงมติว่า สนช. ไม่มีอำนาจพิจารณาถอดถอนนักการเมือง ก็เป็นอันว่าการดำรงอยู่ของ ป.ป.ช. ต่อไปนี้มีแต่เปลืองข้าวสุด เสียข้าวสาร ผลาญภาษีอย่างเดียว เพราะถึงจะไต่สวนอะไรไปก็ไม่มีใครมีอำนาจถอดถอนได้!

พิจารณาตรองดูโดยแยบคายเถิดว่าเหตุการณ์แบบนี้จะเป็นประโยชน์ใด และเป็นประโยชน์กับใคร และจะมีผลทำให้การยึดอำนาจครั้งนี้เสียของหรือไม่?

ไม่มีความคิดเห็น: