PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2557

สถานการณ์ข่าว12ธ.ค.57

สปช.-กมธ.ยกร่าง

"มานิจ" มองนายกฯ ไม่มีเสียงสนับสนุนจากสภา มีปัญหาแน่ ขณะนิรโทษทำได้ แต่ต้องไม่เกี่ยวคดีอาญา ทุจริตคอร์รัปชั่น

นายมานิจ สุขสมจิตร สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยกับ สำนักข่าว INN  ว่า ในการยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ จะต้องมีการบัญญัติรายละเอียดถึงการทำหน้าที่ของพลเมือง ทั้งในเรื่องของสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งจะกำหนดให้รัฐ โดยกระทรวงต่าง ๆ ฝึกอบรม หรือบรรจุในหลักสูตรการศึกษาให้ประชาชน พลเมือง มีคุณภาพ มีความรู้เรื่องสิทธิเสรีภาพ หน้าที่ และรู้เท่าทันสื่อ รวมถึงการเคารพสิทธิของผู้อื่นด้วย

ขณะเดียวกัน นายมานิจ ยังกล่าวถึงเรื่องการเลือกตั้ง นายกฯและคณะรัฐมนตรีโดยตรงว่า เป็นข้อเสนอของคณะกรรมาธิการปฏิรูปด้านการเมือง ที่จะนำเสนอต่อสภาปฏิรูป ซึ่งหากสภาเห็นชอบก็จะส่งต่อมาให้ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนจะเห็นชอบด้วยหรือไม่นั้น ยังไม่สามารถตอบได้ แต่ในความเห็นส่วนตัว เรื่องนี้เคยเสนอกันมาหลายครั้ง และมีประเด็นปัญหาในเรื่องรูปแบบการปกครองมาโดยตลอด และมองว่า การที่มี นายกฯ โดยไม่มีเสียงสนับสนุนจากสภา จะทำให้รัฐบาลทำงานลำบาก จะเกิดปัญหายุ่งยากมากกว่าเดิม ดังนั้น นายกฯ ควรต้องมีเสียงสนับสนุนจากสภา

ส่วนเรื่องนิรโทษกรรมนั้น เห็นด้วยที่จะให้นิรโทษกรรมกับประชาชนที่มีส่วนร่วมในการชุมนุมทางการเมือง แต่ต้องไม่มีการนิรโทษคดีอาญา ทุจริตคอร์รัปชั่นต่าง ๆ อย่างเด็ดขาด
------
"โภคิน" พบกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แนะยึดปี 40 เป็นหลัก ค้านนิรโทษกรรมคณะปฏิวัติ ย้ำเคารพเสียงประชาชน

นายโภคิน พลกุล ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย เข้าให้ความเห็นและข้อเสนอแนะประกอบการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ตามคำเชิญของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดย นายโภคิน กล่าวว่า ในวันนี้จะเสนอรายงานการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงแนวทางการปฏิรูปที่พรรคเพื่อไทย ตั้งคณะทำงานก่อนที่จะมีการยึดอำนาจ ซึ่งการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควรยึดรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เป็นหลัก ทั้งนี้ คณะทำงานยกร่างรัฐธรรมนูญและรัฐบาล ได้แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนที่อยากเห็นการปรองดอง ประเทศมีความก้าวหน้า และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ดังนั้น การเขียนรัฐธรรมนูญ ไม่จำเป็นต้องลงรายละเอียดเยอะ แต่ควรเน้นที่ตัวบุคคล หรือปัญหามากกว่า นอกจากนี้ เรื่องการเขียนนิรโทษกรรม ให้กับคณะยึดอำนาจ ไม่ควรเขียนลงในรัฐธรรมนูญ เพราะที่ผ่านมา เมื่อเกิดปัญหา ก็ดำเนินการยึดอำนาจแทนการแก้ไขปัญหา จึงอยากให้เคารพในการตัดสินใจของประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจ
----------
นิด้า จัดเสวนา เรื่อง กรอบรัฐธรรมนูญและแนวคิดการปฏิรูปกับอนาคตประเทศไทย มี สปช. เข้าร่วมแสดงความเห็น

วันนี้ ที่คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จัดการเสวนาวิชาการ เรื่อง กรอบรัฐธรรมนูญและแนวคิดการปฏิรูปกับอนาคตประเทศไทย โดยมี นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง นายปกรณ์ ปรียากร โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.) และ นายอุดม ทุมโฆษิต สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ร่วมเสวนาพร้อมกันนี้ ยังมีการแถลงข่าว "60 ปีรัฐประศาสนศาสตร์" ยึดมั่นคุณธรรม สร้างผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลง โดยการเสวนาจะเริ่มตั้งแต่เวลา 13.30 น. เป็นต้นไป
--------------
พล.อ.เลิศรัตน์ เผย "โภคิน" เสนอ ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ ห้ามนิรโทษกรรมผู้ล้มล้าง รธน. ขณะ "ปรีชาพล" เสนอให้ทำประชามติ

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยภายหลังจากที่ นายโภคิน พลกุล ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย ได้เข้ามาเสนอแนะข้อคิดเห็นต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ต้องการให้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยห้ามนิรโทษกรรมผู้ที่ล้มล้างรัฐธรรมนูญ และให้ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ แต่ให้ตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญแทน ทั้งนี้ ต้องการให้ออกกฎหมายเพื่อให้ประชาชนวิจารณ์คำพิพากษาของศาลได้

นอกจากนี้ นายโภคิน ยังระบุว่า ให้ยกเลิกมาตรา 237 เรื่องการตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค เจ้าหน้าที่รัฐ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน ขณะที่ ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย เสนอให้มีการทำประชามติเพื่อให้มีรัฐธรรมนูญ มีความสมบูรณ์ของรัฐธรรม

อย่างไรก็ตาม ทางคณะกรรมาธิการฯ ยังคงประสานงานเพื่อให้ กลุ่ม นปช. และ กลุ่มพันธมิตรฯ เข้ามาให้ความคิดเห็นกับการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญต่อไป
-----------------
"ปกรณ์" แจง ยกร่าง รธน.ใหม่ แบ่ง 4 ภาค หวังจะยืนยงกว่าที่ผ่านมา และเป็นอนาคตของลูกหลานไทย

นายปกรณ์ ปรียากร โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวในการเสวนาวิชาการ เรื่อง กรอบรัฐธรรมนูญและแนวคิดการปฏิรูปกับอนาคตประเทศไทย ว่า จากปัญหาที่ผ่านมา ทำให้คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ได้แบ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็น 4 ภาค โดยมีภาคพระมหากษัตริย์และประชาชน ซึ่งหมวดของประชาชนกล่าวถึงความเป็นพลเมือง สิทธิและหน้าที่ การมีส่วนร่วมทางการเมือง การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งขณะนี้ยังเป็นที่ถกเถียงในคณะกรรมาธิการยกร่างฯ นอกจากนี้ ในภาคผู้นำการเมืองที่ดี และสถาบันการเมือง จะกล่าวถึงผู้นำการเมืองที่ดี รัฐสภา คณะรัฐมนตรี การเงินการคลังและการงบประมาณ การกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่น ซึ่งเป็นภาคที่แก้ไขยากที่สุด

อย่างไรก็ตาม นายปกรณ์ กล่าวว่า ในการร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้แตกต่างไปจากที่ผ่านมา โดยคาดหวังว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะยืนยงกว่าที่ผ่านมา และเป็นอนาคตของลูกหลานไทย
------------------
พล.อ.เลิศรัตน์ เผย อนุฯ ชุดที่ 3 เสนอ คงรูปแบบสภาเหมือนเดิม นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง มีอำนาจยุบสภา

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมาธิการคณะที่ 3 ที่มี นายสุจิต บุญบงการ เป็นประธาน โดยมีกรอบที่นำเสนอต่อกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ คือ ให้มีระบอบประชาธิปไตยที่ยังคงระบบรัฐสภา มีการถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ให้ ส.ส. สามารถลงมติไม่ไว้วางใจหรือตั้งกระทู้ถาม เพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจโดยยังคงอำนาจการยุบสภาไว้ที่นายกรัฐมนตรี พร้อมเสนอให้สมาชิกของกรรมาธิการงบประมาณมาจากฝ่ายค้าน เพื่อถ่วงดุลในการจัดสรรงบประมาณ

นอกจากนี้ การเลือกนายกรัฐมนตรีให้แบ่งเป็น 2 ช่วง โดยในช่วงเปลี่ยนผ่านนายกรัฐมนตรี ไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส. และ เมื่อเข้าสู่ภาวะปกติต้องลาออกจากตำแหน่ง
-----------------
อนุฯ ชุดที่ 3 เสนอ แนวคิดการจัดสรรจำนวน ส.ส. 1 คน ต่อประชากร 2 แสนคน ขณะ ส.ว. วาระละ 6 ปี มีจำนวนครึ่งหนึ่งของ ส.ส. 

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สรุปผลดำเนินงานที่คณะกรรมาธิการคณะที่ 3 เสนอมา ในเรื่องอำนาจในการถอดถอน ว่า ประชาชนสามารถลงชื่อเข้าถอดถอนได้โดยตรง ทั้งนี้ ให้มีกฎหมายว่าด้วยคณะรัฐมนตรี เพื่อที่คณะรัฐมนตรีจะไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ หากเกิดการบริหารที่ผิดพลาด

นอกจากนี้ แนวคิดการจัดสรรจำนวน ส.ส. และ ส.ว. เห็นว่าควรมี ส.ส. 1 คน ต่อประชากร 2 แสนคน โดยคำนวณแล้วจะได้ ส.ส. ประมาณ 350-400 คน โดยให้มี ส.ส. 2 แบบ คือ แบบแบ่งเขต และ บัญชีรายชื่อ และไม่จำเป็นต้องเป็นสังกัดพรรคการเมือง

ขณะที่ ส.ว. ให้มีจำนวนครึ่งหนึ่งของ ส.ส. โดยต้องดูตามสัดส่วนของ ส.ส. เป็นหลัก มีวาระดำรงตำแหน่ง 6 ปี อยู่ได้เพียงวาระเดียว ส่วนที่มาให้เป็นสองแบบ คือมาจากการสรรหาโดยให้ประชาชน
รับรองและมาจากการเลือกตั้ง
------------------
"สมบัติ" แจง เสนอให้เลือกตั้ง นายกฯ-ครม.โดยตรง หวังให้มีการตรวจสอบของฝ่ายนิติบัญญัติแบบเข้มข้น ไม่กังวล นายกฯ เหลิงอำนาจ

นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง กล่าวในการเสวนาวิชาการ เรื่อง กรอบรัฐธรรมนูญและแนวคิดการปฏิรูปกับอนาคตประเทศไทย ว่า คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองได้กระบวนของรัฐสภาไทยที่ผ่านมามีปัญหา ซึ่งที่เสนอให้มีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีโดยตรง เพราะจะทำให้มีการตรวจสอบโดยฝ่ายนิติบัญญัติมากขึ้น โดยจะให้อำนาจสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สามารถบัญญัติกฎหมายได้ โดยไม่ต้องให้คณะรัฐมนตรีเสนอ รวมถึงตรวจสอบและส่งฟ้องให้ศาลตัดสินได้ ซึ่งจะทำให้มีความเข้มข้นมากขึ้น และระบบการเมืองมีโอกาสโปร่งใสมากขึ้น

ส่วนความกังวลว่าหาหากเลือกนายกฯ โดยตรงจะทำให้เหลิงในอำนาจหรือไม่ นายสมบัติ กล่าวว่า การใช้อำนาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับรูปแบบการเลือกตั้ง แต่ขึ้นอยู่ที่ตัวบุคคลที่เข้ามาใช้อำนาจ ดังนั้น ถ้านักการเมืองเป็นผู้ที่จงรักภักดีไม่ว่าเลือกตั้งแบบใดก็จะเป็นผู้จงรักภักดี แต่หากเหลิงในอำนาจจริงประชาชนก็มีอำนาจในการตรวจสอบได้ตามระบอบประชาธิปไตย
---------------------
สนช. พิจารณารายงานจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ขณะ กมธ.การเมือง เสนอนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง

การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณารายงานการรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 34 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 โดย นายกล้านรงค์ จันทิก ประธาน กมธ.การเมือง เสนอให้ผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี รวมตัวตั้งคณะบุคคลแล้วทำบัญชีรายชื่อ มีจำนวนไม่เกิน 2 เท่าของคณะรัฐมนตรี โดยคณะบุคคลดังกล่าวจะสมัครในนามพรรคการเมืองหรือไม่ก็ได้ กำหนดให้คณะใดได้คะแนนเกินกว่า ร้อยละ 35 ของผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง ถือว่าได้รับเลือกตั้งเข้าไปบริหารประเทศ หากไม่มีคณะใดได้ถึง ร้อยละ 35 ให้นำคณะที่ได้คะแนนลำดับสูงสุดและรองลงมาให้ประชาชนเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง แล้วหากคณะใดได้คะแนนสูงสุดชนะเลือกตั้ง และให้จัดตั้ง ครม. หรือ ปรับ ครม. จากบุคคลที่อยู่ในบัญชีรายชื่อ โดยกำหนดดำรงตำแหน่งได้วาระละ 4 ปี ไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน
-----------------
เลขา สมช. เผย พลเอกประวิตร กำชับจัดทำแผนงบประมาณบูรณาการ ปัดมาเลเซียตั้งสำนักงานคุยสันติสุขชายแดนใต้

นายอนุสิษฐ คุณากร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายก
รัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน ว่า พล.อ.ประวิตร ได้สั่งการและกำชับเรื่องการจัดทำแผนงบประมาณแบบบูรณาการของจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจัดลำดับความสำคัญของแผนงานและโครงการที่จะใช้งบฯของแต่ละพื้นที่ให้ชัดเจน และตอบสนองความต้องการของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มากที่สุด

ส่วนความคืบหน้าของกรอบการพูดคุยสันติสุข ที่มี พล.อ.อักษรา เกิดผล ประธานที่ปรึกษากองทัพบก เป็นหัวหน้าทีมพูดคุยสันติสุข ต้องให้พล.อ.อักษรา ได้ทำหน้าที่ ส่วนสมช.เป็นเพียงผู้ประสานงานให้ขับเคลื่อนการพูดคุยเท่านั้น ส่วนจะพูดคุยเมื่อไหร่นั้นทางหัวหน้าทีมพูดคุยคงชี้แจงต่อไป

ทั้งนี้ ที่มีรายงานข่าวว่าทางมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุย ประสานให้มีการตั้งสำนักงานพูดคุยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นายอนุสิษฐ กล่าวว่า ตนไม่ทราบและไม่เคยได้ยินเรื่องนี้มาก่อน คาดว่าจากนี้หัวหน้าทีมพูดคุยฝ่ายไทย จะออกแบบการหารือและทำทุกอย่างเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศและผู้เห็นต่างที่จะเข้ามาสู่กระบวนการการสร้างความสงบและสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้
-----------------
สนช. พิจารณารายงานจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ขณะ กมธ.การเมือง เสนอนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง

การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณารายงานการรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 34 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 โดย นายกล้านรงค์ จันทิก ประธาน กมธ.การเมือง เสนอให้ผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี รวมตัวตั้งคณะบุคคลแล้วทำบัญชีรายชื่อ มีจำนวนไม่เกิน 2 เท่าของคณะรัฐมนตรี โดยคณะบุคคลดังกล่าวจะสมัครในนามพรรคการเมืองหรือไม่ก็ได้ กำหนดให้คณะใดได้คะแนนเกินกว่า ร้อยละ 35 ของผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง ถือว่าได้รับเลือกตั้งเข้าไปบริหารประเทศ หากไม่มีคณะใดได้ถึง ร้อยละ 35 ให้นำคณะที่ได้คะแนนลำดับสูงสุดและรองลงมาให้ประชาชนเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง แล้วหากคณะใดได้คะแนนสูงสุดชนะเลือกตั้ง และให้จัดตั้งครม. หรือ ปรับ ครม. จากบุคคลที่อยู่ในบัญชีรายชื่อ โดยกำหนดดำรงตำแหน่งได้วาระละ 4 ปี ไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน
///////////////

คุกลับไทย

พล.อ.ประวิตร ยัน ไทยไม่มีคุกลับสหรัฐฯ ไม่จำเป็นต้องชี้แจง ปัดข่าว พล.อ.อักษรา ไปมาเลย์คุยสันติสุข คุมเข้มช่วงปีใหม่ 

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกระแสข่าวมีการเจรจาสันติสุขระหว่าง พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทย กับ ดาโต๊ะ สรี อาหมัด ซัมซามิม ฮาชิม อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองมาเลเซีย นั้น รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีการพูดคุยและยังไม่มีความคืบหน้า

สำหรับกรณีสำนักข่าวกรองสหรัฐฯ หรือ ซีไอเอ ที่มีการเปิดเผยว่ามีการทรมานนักโทษและมีคุกลับในประเทศไทย รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ยืนยันว่าในประเทศไทยไม่เคยมีคุกลับอย่างแน่นอน และไม่จำเป็นต้องทำหนังสือชี้แจงส่งกลับไปยังซีไอเอ

ส่วนการประเมินสถานการณ์ด้านความมั่นคงในช่วงปีใหม่ เป็นหน้าที่ของฝ่ายความมั่นคงอยู่แล้วที่จะต้องดูแล โดยจะให้ตำรวจเป็นกำลังหลักในการดูแลประชาชนให้เกิดความเรียบร้อย

ส่วนข้อเสนอของคณะกรรมาธิการเสริมสร้างความปรองดอง ที่ให้ออกกฎหมายการนิรโทษกรรม พล.อ.ประวิตร ระบุว่า ยังไม่มีข้อสรุปเรื่องดังกล่าว เนื่องจากเป็นหน้าที่ของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. ที่ต้องรวบรวมความเห็นของแต่ละคนเพื่อให้ได้ข้อสรุปต่อไป

ทั้งนี้ ไม่รู้สึกกังวัลหากมีกฎหมายนิโทษกรรมเกิดขึ้นโดยยืนยันว่ารัฐบาลทำงานด้วยความบริสุทธิ์ใจ
-------------
"ปณิธาน" ยัน ไทยไม่มีคุกลับสหรัฐ พร้อมจัดประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขง มั่นใจ ใช้ตำรวจเป็นหลักดูแลด้านความปลอดภัย

นายปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีคุกลับในประเทศไทย ว่า ประเทศไทยเป็นทางผ่านของหลายประเทศ สหรัฐฯ จึงมีหน่วยงานข่าวกรองในประเทศไทย เพื่อตรวจสอบผู้ร้ายข้ามแดนโดยการกักตัวบุคคลเหล่านี้จะใช้เวลาไม่นาน และรัฐบาลในยุคที่ผ่านๆ มา ก็มีมาตรการต่อเนื่องในการปฏิเสธให้ประเทศไทย เป็นฐานลับ ซึ่งกรณีนี้ยืนยันได้ว่า ไม่มีคุกลับในประเทศไทย อย่างแน่นอน

ส่วนการเตรียมความพร้อมในการประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขง หรือ จีเอ็มเอส ทางรัฐบาลได้เตรียมความพร้อมในการรักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกแก่ผู้นำที่เข้าร่วมการประชุม โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นหน่วยงานหลัก และจะมีการเตรียมความพร้อมแผนในต้นสัปดาห์หน้า
////////////////
นายกฯ

นายกฯ หารือสุดยอดอาเซียน ย้ำร่วมพัฒนาเศรษฐกิจ เพิ่มมูลค่าการค้า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2020 เน้นพัฒนาความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ร่วมประชุมอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี สมัยพิเศษ ที่ศูนย์การประชุมและนิทรรศการนครปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี โดย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยินดีที่อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับ 2 และเป็นฐานการลงทุนอันดับ 3 ของเกาหลี โดยเชื่อว่า อาเซียนและเกาหลี สามารถทําได้มากกว่านี้ โดยใช้ประโยชน์จากการเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวของประชาคมอาเซียน เพื่อบรรลุเป้าหมายการค้า 150,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2015 และ 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2020

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า แต่ละประเทศต้องร่วมกันใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงและบูรณาการทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ในภูมิภาค โดยไทยจะสนับสนุนการลงทุนของเกาหลีในภูมิภาคในลักษณะบวกหนึ่ง ส่วนการพัฒนาความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ไทย มีนโยบายพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจชายแดนที่มีศักยภาพ ปรับปรุงกฎระเบียบด้านการค้าและการลงทุน เพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้ออํานวยต่อการลงทุนจากต่างชาติ เพื่อรองรับการเป็นประชาคมอาเซียนต่อไป

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงความยินดีที่การเจรจาและการปฏิสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี มีความคืบหน้า ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และหากสามารถดําเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ก็จะช่วยปูทางไปสู่การรื้อฟื้นการเจรจา 6 ฝ่าย รวมทั้งนําไปสู่การทําให้คาบสมุทรเกาหลี เกิดสันติภาพ ปลอดอาวุธนิวเคลียร์ ปฏิบัติตามข้อมติของสหประชาชาติ อย่างเคร่งครัด และปราศจากการข่มขู่คุกคามทุกรูปแบบ
-------------
นายกฯ เชิญชวนอาเซียน-เกาหลีใต้ ยกระดับความร่วมมือป้องกัน แก้ไขปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่ สภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี สมัยพิเศษ ช่วงที่ 2 ในหัวข้อ “Discussion on Non-Traditional Security Issues” โดยเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน และสาธารณรัฐเกาหลี เกี่ยวกับความร่วมมือด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ เน้นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการจัดการภัยพิบัติโดย นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงว่า อาเซียน และเกาหลีใต้ ควรยกระดับความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นผลพวงจากความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี และการขยายตัวของความเชื่อมโยงในภูมิภาค เช่น อาชญากรรมข้ามชาติ การค้ามนุษย์ การค้ายาเสพติด รวมถึงโรคติดต่อร้ายแรงและโรคอุบัติใหม่ การเผชิญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ

นายกรัฐมนตรี ยังระบุว่า ไทยให้ความสําคัญต่อการรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งการพัฒนาและการเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกของภาคส่วนต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการผลักดันใหัมีกฎหมายรองรับ ไทยและอาเซียน ต้องการร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับเกาหลี เรื่องการลดก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาคเอกชน อาเซียน-เกาหลีใต้ สามารถเป็นผู้นําร่องเพื่อผลักดันไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง
------------------
ดุสิตโพล ปชช.กังวล ร้อยละ 80.61 ไม่อยากให้บ้านเมืองวุ่นวายอีก หลังมีข่าวปฏิวัติซ้อน ร้อยละ 37.83 ไม่น่าเกิด

สวนดุสิตโพล ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,269 คน เกี่ยวกับการข่าวปฏิวัติซ้อน ในระหว่างวันที่ 7-11 ธ.ค. ที่ผ่านมา ดังนี้ พบว่า ร้อยละ 80.61 รู้สึกกังวล ไม่อยากให้บ้านเมืองวุ่นวายอีก, ร้อยละ 79.20 มองว่า ภาพลักษณ์ประเทศ เสียหาย เศรษฐกิจตกต่ำ ขณะที่ ร้อยละ 74.70 ระบุ ยังไม่รู้ข้อเท็จจริง ต้องตรวจสอบแหล่งข่าว

อย่างไรก็ตาม ประชาชน ร้อยละ 37.83 คิดว่า การปฏิวัติ ไม่น่าเกิดขึ้นได้ ร้อยละ 34.04 ไม่แน่ใจ ร้อยละ 28.13 น่าจะเกิดขึ้นได้ ร้อยละ 74.30 มองว่าปฏิวัติซ้อน ไม่เป็นผลดีต่อบ้านเมือง และประชาชน ร้อยละ 72.88 มองว่า หากกลุ่มปฏิวัติซ้อน มีความสามารถจริง น่าจะบริหารประเทศก้าวหน้าได้ ขณะที่ ประชาชน ร้อยละ 78.32 เห็นว่า ผลเสียการปฏิวัติซ้อน ทำให้ประเทศชาติเสียหาย ร้อยละ 74.54 บ้านเมืองไม่สงบ ร้อยละ 72.44 ประชาชนได้รับความเดือดร้อน

ไม่มีความคิดเห็น: