PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ชูชาติ ศรีแสง:คดีสินบน30ล้านตุลาการยุบพรรคทรท.

...ข่าวเรื่องมีนายตำรวจคนหนึ่งเสนอให้สินบนต่อรองประธานศาลฎีกาท่านหนึ่งในคดียุบพรรคไทยรักไทย พรรคประชาธิปัตย์และพรรคอื่นๆ รวม ๕ พรรค เมื่อปี ๒๕๔๙ คงจะเลือนหายไปจากความทรงจำของประชาชนแล้ว
.....ขอทบทวนความจำว่า เมื่อ คมช.ทำการรัฐประหารในปี ๒๕๔๙ ได้มีประกาศให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ ศาลรัฐธรรมนูญจึงถูกยกเลิกไปด้วย
.....คมช.มีประกาศให้มีีตุลาการรัฐธรรมนูญ จำนวน ๙ ท่าน ทำหน้าที่แทนศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีประธานศาลฎีกาเป็นประธาน ประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นรองประธาน ผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จำนวน ๕ ท่าน และผู้พิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด จำนวน ๒ ท่าน
.....หม่อมหลวงไกรฤกษ์ เกษมสันต์ ซึ่งขณะนั้นดำรงแหน่งรองประธานศาลฎีกา ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ให้เป็นเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญด้วย
.....ตุลาการรัฐธรรมนูญ ได้ทำหน้าที่แทนศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณาคดีที่ กกต.ยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคไทยรักไทย กรณีถูกกล่าวหาว่า จ้างพรรคการเมืองอื่นให้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.และ พรรคประชาธิปัตย์ กรณีถูกกล่าวหาว่าใส่ร้ายป้ายสีพรรคไทยรักไทย กับพรรคการเมืองอื่นๆ อีก ๓ พรรค
.....ในระหว่างที่ตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาคดีดังกล่าว พันตำรวจเอกชาญชัย เนติรัฐการ ซึ่งเป็นเพื่อนนักศึกษารุ่นเดียวกับหม่อมหลวงไกรฤกษ์ ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ไปหาหม่อมหลวงไกรฤกษ์ ทั้งที่ทำงานและที่บ้านพูดขอให้ช่วยพิจารณาให้เป็นประโยชน์แก่พรรคและกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย โดยเสนอผลประโยชน์ให้เป็นเงิน ๓๐ ล้านบาท แต่หม่อมหลวงไกรฤกษ์ปฏิเสธ และได้ทำบันทึกเรื่องนี้รายงานให้ประธานศาลฎีกา ทราบ
.....ตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๐ ให้ยุบพรรคไทยรักไทยด้วยคะแนนเสียง ๙:๐ และตัดสิทธิทางเมืองคณะกรรมการบริหารไทยรักไทยรวมทั้งทักษิณ ชินวัตร เป็นเวลา ๕ ปี ด้วยคะแนนเสียง ๖:๓
.....หลังจากนั้นนายจรัญ ภักดีธนากุล ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้ออกมาเปิดเผยว่า คดีนี้ได้มีการวิ่งเต้นให้สินบนตุลาการรัฐธรรมนูญด้วย
.....ต่อมานายวีระ สมความคิด ได้ทราบเรื่องที่เกิดขึ้นจึงได้ไปกล่าวโทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจให้ดำเนินคดีแก่่พันตำรวจเอกชาญชัย เนติรัฐการ ในข้อหาให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน
.....พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนแล้วมีความเห็นให้สั่งฟ้องพันตำรวจเอกชาญชัย เนติรัฐการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๖๗ ที่บัญญัติว่า ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด แก่เจ้าพนักงานในตำแหน่งตุลาการ พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดีหรือพนักงานสอบสวน เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการหรือประวิงการกระทำใดอันมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท
.....เมื่อคดีไปถึงพนักงานอัยการ ๆ กลับมีคำสั่งไม่ฟ้อง แต่ ผบ.ตร มีความเห็นแย้งคือยืนยันให้ฟ้อง ในที่สุดอัยการสูงสุดในขณะนั้นคือนายชัยเกษม นิติศิริ มีคำสั่งชี้ขาดให้ฟ้อง
.....คดีค้างอยู่ที่สำนักงานอัยการสูงสุดประมาณ ๔ ปี โดยพนักงานอัยการได้ฟ้องพันตำรวจเอกชาญชัย เป็นจำเลย ต่อศาลอาญา เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๕๖
.....วันนี้ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาแล้ว โดยพิพากษาว่า พันตำรวจเอกชาญชัย เนติรัฐการ จำเลย มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๖๗ ให้ลงโทษจำคุก ๓ ปี ครับ

ไม่มีความคิดเห็น: