PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2557

เปิดข้อสงสัย'โซลูชั่น'ขาดทุนอ่วมแต่คิดการใหญ่

กรุงเทพธุรกิจ
24ธ.ค.2557

ชำแหละ 6 ข้อสงสัย ดีลบริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) ซื้อหุ้น เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป 12.27% หลายฝ่ายสงสัย

เหตุใดธุรกิจที่ขาดทุนติดกัน 4 ปี จึง "ใจป้ำ" ยอมควักเงิน เพิ่มทุนทุ่มซื้อหุ้นสื่อไซส์ใหญ่

จากกรณีที่ บริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) หรือ SLC เข้าลงทุนในบริษัทเนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป หรือ NMG ด้วยการซื้อหุ้น NMG จำนวน 404.99 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 12.27% มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.53 บาท ในราคาเฉลี่ยหุ้นละ 2.02 บาท และใบสำคัญแสดงสิทธิ (NMG-W3) จำนวน 225.00 ล้านหน่วย ราคาเฉลี่ยหน่วยละ 0.99 บาท คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนรวม 1,042.32 ล้านบาท จะเข้าข่าย “ปลาเล็กกินปลาใหญ่” หรือไม่

การเข้าทำรายการในครั้งนี้ หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยให้ติดตามต่อไว้หลากหลายประการ เช่น

ประการแรก ศักยภาพในการลงทุนของบริษัทโซลูชั่น เพราะหากพิจารณาจากข้อมูลทางการเงินของ บริษัทโซลูชั่นกับ บริษัทเนชั่น จะพบว่า "สินทรัพย์รวม" มีขนาดแตกต่างกันอย่างมาก โดยบริษัทโซลูชั่นมีสินทรัพย์รวม 2,379 ล้านบาท น้อยกว่า บริษัทเนชั่นมีสินทรัพย์รวม 8,615 ล้านบาท (ตัวเลข ณ วันที่ 30 ก.ย. 2557)

นอกจากนั้น หากมองเข้าไปใน “ฐานะการเงิน” ก็จะเห็นแตกต่างเช่นกัน โดยช่วง 4 ปีก่อน (2553-2556) รวมถึงในช่วง 3 ไตรมาสของปี 2557 บริษัทโซลูชั่น มีผล "ขาดทุน" ติดต่อกัน เห็นได้จากในปี 2553 ขาดทุน 145 ล้านบาท ปี 2554 ขาดทุน 203 ล้านบาท ปี 2555 ขาดทุน 146 ล้านบาท ปี 2556 ขาดทุน 197 ล้านบาท และไตรมาส 3 ปี 2557 ขาดทุน 396 ล้านบาท

ล่าสุด สิ้นไตรมาส 3 ปี 2557 (วันที่ 30 ก.ย.2557) บริษัทโซลูชั่น ยังมีขาดทุนสะสมสูง 1,118 ล้านบาท โดยมี "กระแสเงินสด" อยู่ในมือเพียง 169 ล้านบาท

จากประเด็นดังกล่าว ทำให้หลายฝ่ายเกิดข้อสงสัยว่า ฐานะการเงินที่ย่ำแย่ของบริษัทโซลูชั่น เหตุใดจึงกล้าคิดการใหญ่นำเงิน "เพิ่มทุน" ที่เพิ่งได้จากเหล่านักลงทุนและผู้ถือหุ้นเดิม หลังจากเดินหน้าขายหุ้นเพิ่มทุนไปแล้ว 11 ครั้ง ในรอบ 1 ปี มาลงทุนในหุ้นบริษัทเนชั่น แทนที่จะนำเงินที่ได้ ไปลงทุนปรับปรุงธุรกิจเดิมให้มีความแข็งแกร่ง ตามเจตนารมณ์ที่ผู้บริหารเคยบอกไว้กับผู้ถือหุ้นรายย่อย

ประการที่สอง หากพิจารณาจากเงินเพิ่มทุนที่บริษัทโซลูชั่นทยอยได้รับจากนักลงทุนมาแล้วประมาณ 2,500 ล้านบาท หลายฝ่ายมองว่า อาจไม่เพียงพอต่อการลงทุนในหุ้นบริษัทเนชั่น และร่วมลงทุนในกลุ่มบริษัท ทีนิวส์ ของนายสนธิญาน ชื่นฤทัยในธรรม รวมถึงนำไปชำระคืนหนี้ในส่วนที่กู้มา เพื่อนำไปจ่ายค่าใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจทีวีดิจิทัลของบริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด

ประการที่สาม “กูรูหุ้นรายใหญ่” วิเคราะห์ให้ฟังว่า บริษัทโซลูชั่นคงไม่ใจป้ำพอที่จะควักเงิน เพิ่มทุนเกือบทั้งหมดมาลงทุนในหุ้นบริษัทเนชั่น แต่มีความเป็นไปได้ว่า อาจมี “นักลงทุนรุ่นลายคราม” ที่ร่ำรวยหุ้นมาเมื่อครั้งบริษัทเงินทุนเอกธนกิจ หรือ ฟินวัน ยังเฟื่องฟู เข้ามาร่วมวงลงทุนให้การสนับสนุนบริษัทโซลูชั่น ซึ่งนักลงทุนกลุ่มดังกล่าว อาจเป็น “คอนเนคชั่น” มาจากทาง “โฉมพิศ บุนนาค” มารดาของ “ฉาย บุนนาค”

ซึ่ง “โฉมพิศ” คือ อดีตผู้บริหาร บริษัทเงินทุนเอกธนกิจ

ขณะเดียวกัน “ฉาย” อาจได้คอนเนคชั่นจากคนในเครื่องแบบที่ชื่นชอบการลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งกลุ่มคนดังกล่าวมีสไตล์การลงทุนเช่นเดียวกับ “ฉาย” แตกต่างกันตรงที่ “ฉาย” เป็นเด็กหนุ่มไฟแรง พร้อมลุยทุกสถานการณ์ ในขณะที่กลุ่มดังกล่าวส่วนใหญ่ไฟมอดแล้ว เพราะหลายคนมีอายุล่วงเลยวัยกลางคน

แม้วันนี้ “ฉาย บุนนาค” จะไม่ปรากฏชื่อในการเข้าลงทุนหุ้นตัวใดเลย แต่หากดูจากในอดีต เขามักลงทุนผ่านคนสนิท ฉะนั้นก็มีความเป็นไปได้ว่า วันนี้ “ฉาย” ยังคงวนเวียนเข้าออกหุ้นเหมือนเคย

ประการที่สี่ บริษัทโซลูชั่นแจ้งผ่านสื่อมวลหลายฉบับว่า ได้ซื้อหุ้นบริษัทเนชั่น และลูกหุ้น ในกระดานหุ้นตามปกติ โดยไม่ได้รับซื้อต่อจากกลุ่มใด แต่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่บริษัทโซลูชั่น จะรับซื้อหุ้นเนชั่น บางส่วนต่อจากบริษัท เอ็ม บี เค (MBK) ที่ได้เข้าไปลงทุนในหุ้นเนชั่น สัดส่วน 10.67% เมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา

เนื่องจากหากพิจารณาจากการดำเนินการของบล.ธนชาต ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า จะใช่หนึ่งในโบรกเกอร์ที่เป็นผู้ดำเนินการซื้อหุ้นเนชั่นให้กับบริษัทโซลูชั่นหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้บล.ธนชาตได้ซื้อขายหุ้นเนชั่นให้กับบริษัทเอ็มบีเค ขณะเดียวกันยังเป็นผู้ปล่อยเงินกู้ยืม 200 ล้านบาท ให้ “สิริวัฒน์ โตวชิรกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วธน แคปปิตัล หรือ WAT มาซื้อหุ้นเนชั่น จำนวน 250 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 1.60 บาท เมื่อวันที่ 26 ส.ค.2557

ย้อนอดีต “สิริวัฒน์” เคยซื้อหุ้นเพิ่มทุน หุ้น แมกซ์ เมทัล คอร์ปอเรชั่น หรือ MAX ในเวลาเดียวกันกับ “ฉาย บุนนาค” เข้ามาลงทุน

ประการที่ห้า ก่อนหน้านี้บริษัทโซลูชั่น แจกแจงว่า ได้พูดคุยกับผู้บริหารของบริษัทเนชั่นก่อนตัดสินใจซื้อหุ้นเนชั่น ซึ่งในความเป็นจริง บริษัทโซลูชั่นซื้อหุ้นเนชั่นก่อนแล้วค่อยติดต่อขอพบ “สุทธิชัย หยุ่น”ประธานกรรมการเครือเนชั่น ประเด็นดังกล่าว “อารักษ์ ราษฏร์บริหาร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท โซลูชั่น ย้ำว่า ได้ติดต่อขอพบสุทธิชัย ก่อนสั่งซื้อหุ้นเนชั่น แต่สุทธิชัยติดงานต่างจังหวัด
เป็นเหตุให้ต้องซื้อก่อนแล้วค่อยไปพบ

ประการสุดท้าย ก่อนบริษัทโซลูชั่นจะเข้าลงทุนในบริษัทเนชั่นย่อมรู้ดีว่า อาจข่ายผิดเงื่อนไขของกสท.ที่ห้ามบริษัทเดียวกันประมูลหมวดหมู่เดียวกันมากกว่า 1 ช่อง เนื่องจากโซลูชั่นเป็นเจ้าของ 
เจ้าของ “สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น” แต่เหตุใดยังคงทุ่มเงินกว่าพันล้านซื้อหุ้นเนชั่น ซึ่งเรื่องดังกล่าวบอร์ดกสท.เตรียมจะพิจารณาในวันที่ 5 ม.ค.2558

ขณะที่ "ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร" นักลงทุนแนววีไอ วิเคราะห์กรณีบริษัทโซลูชั่น ซื้อหุ้นบริษัทเนชั่น ว่า หุ้นเนชั่น (NMG) ถือเป็นหุ้นกลุ่มสื่อที่มีศักยภาพที่สุดเมื่อเทียบกับสื่ออื่นๆ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ขณะเดียวกันหุ้น NMG ยังมีสภาพคล่องสูง ฉะนั้นไม่แปลกหากจะมีนักลงทุนบางรายมองเห็นศักยภาพจนยอมควักเงินลงทุน การเข้ามาของบริษัทโซลูชั่น หากดูจากรูปทรงคงไม่เข้ามาเทคโอเวอร์ NMG แต่อาจเข้ามาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ เพราะโซลูชั่น คือ เจ้าของ “สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น” ซึ่งวันนี้ยังเป็นสำนักข่าวขนาดเล็ก

ดังนั้นหากมีสำนักข่าวขนาดใหญ่อย่างเนชั่นคอยช่วยเรื่องเนื้อหา บ้างคงทำให้อะไรๆ ดีขึ้น แต่การที่คนข่าวของเนชั่น ส่วนใหญ่เป็นมืออาชีพคงไม่ง่ายหากใครจะเข้ามาครอบงำความคิด

ในต่างประเทศสื่อถือเป็นผู้มีอิทธิพลอย่างมาก และมีความเป็นตัวเองสูง ฉะนั้นต่อให้นักลงทุนรายใหญ่มาขอให้ช่วยลงข่าวที่เอื้อประโยชน์กับเจ้าของใหม่ย่อมทำได้ยาก ดังนั้นนักลงทุนที่เข้าไปซื้อหุ้นสื่อต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะมาแล้วก็ไป ซึ่งอาจตรงข้ามกับนักลงทุนที่เข้ามาซื้อสื่อในเมืองไทยที่เข้ามาแล้วมักหาประโยชน์บางอย่าง

ในกรณีของบริษัทโซลูชั่น คงไม่สามารถวิเคราะห์ได้ว่าจะใช้ NMG ทำอะไร เพราะในหมู่นักลงทุนวีไอไม่มีใครพูดถึงกรณีดังกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น: