PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2558

สมบัติ:การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

"การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง"

การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง( Impeachment )เป็นมาตรการลงโทษนักการเมืองที่ประยุกต์มาจากระบบแบ่งแยกอำนาจของสหรัฐอเมริกาและนำมาใช้กับรัฐธรรมนูญไทยตั้งแต่ฉบับปี2540และ2550 มาตรการนี้มีวัตถุประสงค์ในการถอดนักการเมืองออกจากตำแหน่งและตัดสิทธิ์ทางการเมืองเท่านั้นไม่มีโทษจำหรือโทษปรับแต่อย่างใด

ตั้งแต่นำมาตรการนี้มาใช้ปรากฎว่ายังไม่เคยถอดถอนนักการเมืองได้แม้แต่คนเดียว มีเพียงกรรมการองค์กรอิสระเพียงคนเดียวที่เคยถูกถอดออกจากตำแหน่ง แสดงว่ามาตรการนี้เมื่อนำมาใช้กับระบบการเมืองไทยที่เป็นระบบอุปถัมภ์โดยให้วุฒิสภาเป็นผู้ลงมติถอดถอนใช้ไม่ได้ผล บางท่านระบุว่าเป็นเพราะใช้มติ 3 ใน 5 ซึ่งมากเกินไป

กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่มีศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณเป็นประธานได้เสนอว่าให้วุฒิสภาร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้พิจารณาลงมติถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยให้ใช้มติเกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุม การลดสัดส่วนของมติการถอดถอนลงโดยคาดหวังว่าจะทำให้การถอดถอนมีโอกาสประสบความสำเร็จ

ตามข้อเสนอของกรรมาธิการยกร่างฯจะมีส.ส.จำนวน450คนและส.ว.จำนวน200คนโดยส.ว.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน จึงหวังว่าจะไม่อยู่ใต้อิทธิพลของนักการเมือง ถ้าใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสองสภารวมกันคือเกิน325คนขึ้นไป โอกาสการถอดถอนสำเร็จน่าจะเป็นไปได้มาก

แต่ถ้าพิจารณาจากพฤติกรรมของนักการเมืองไทยในปัจจุบัน จะพบว่ามาตรการนี้จะไม่สามารถถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ประพฤติมิชอบได้สำเร็จ ทั้งนี้เพราะนักการเมืองพรรครัฐบาลคงจะรวมหัวกันจัดตั้งรัฐบาลผสมให้มีเสียงเกิน330คนขึ้นไป ซึ่งเกินกึ่งหนึ่งของ650คนของที่ประชุมร่วมกันของทั้งสองสภา ถ้ารัฐบาลมีเสียงเกิน330คน ก็ไม่มีทางที่คนของรัฐบาลจะถูกถอดถอน ต่อให้ส.ว.ทั้ง200คนร่วมมือกับส.ส.ฝ่ายค้านอีก120คนรวมได้คะแนนถอดถอนสูงสุดคือ320คน ซึ่งไม่ถึงครึ่งหนึ่งของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา หมายความว่าจะไม่สามารถถอดถอนสำเร็จเลย

รัฐธรรมนูญปี2540กำหนดไว้ว่า ถ้าจะอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี จะต้องมีเสียงอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่น้อยกว่า200เสียง จากจำนวนส.ส.ทั้งหมด500คน เพื่อให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีกระทำได้ยาก หลังการเลือกตั้งปี2544ซึ่งเป็นการเลือกตั้งส.ส.ครั้งแรก ปรากฎว่าไม่มีพรรคใดได้เสียงเกินครึ่ง พรรคไทยรักไทยของพ.ต.ท.ทักษิน ชินวัตรมีเสียงส.ส.สูงสุดได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษินได้จัดตั้งรัฐบาลผสมโดยมีเสียงเกิน300เสียง ทำให้ตลอดวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯของพ.ต.ท.ทักษินไม่เคยถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจเลย กรณีนี้คงเป็นตัวอย่างได้ดีว่าถึงแม้จะใช้เสียงถอดถอนเพียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภาคือเกิน325คนขึ้นไปก็มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จน้อย หรือแทบไม่มีโอกาสเกิดขึ้นเลยถ้ามีรัฐบาลผสมเกิน330เสียงขึ้นไป มาตรการถอดถอนก็จะเป็นเสือกระดาษที่ไม่เป็นที่เกรงกลัวของนักการเมืองแต่อย่างใด ขอให้ติดตามต่อไปถ้ามีมาตรการนี้เชื่อว่ารัฐบาลผสมที่เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งจะมีเสียงไม่น้อยกว่า330เสียงแน่นอน

กรรมาธิการยกร่างฯยังได้เสนอต่อไปอีกว่าถ้ารัฐสภาไม่สามารถถอดถอนได้สำเร็จให้นำรายชื่อผู้ที่ถูกถอดถอนไม่สำเร็จมาจัดทำเป็นบัญชีให้ประชาชนลงมติถอดถอนโดยตรงในวันเลือกตั้งทั่วประเทศ ถ้าผู้ใดถูกประชาชนลงมติถอดถอนให้ตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิต ซึ่งจะรุนแรงกว่าถูกรัฐสภาถอดถอนที่จะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเพียง 5 ปี

ถ้าพิจารณาจากพื้นที่ฐานเสียงทางการเมืองของพรรคการเมืองจะพบว่าสภาพการเมืองไทยปัจจุบันมีการแบ่งกลุ่มการเมืองชัดเจน ดังนั้นพื้นที่ฐานเสียงของรัฐบาลย่อมมีมากกว่าพื้นที่ฐานเสียงของฝ่ายค้าน เมื่อให้ประชาชนลงมติพรรคร่วมรัฐบาลย่อมรณรงค์ให้ประชาชนที่สนับสนุนลงมติไม่ถอดถอน การถอดถอนก็จะไม่สำเร็จอีกเช่นกัน วันนี้ประชาชนที่สังกัดกลุ่มเขาจะจงรักภักดีกับกลุ่มของเขามาก ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเขาก็จะสนับสนุนกลุ่มของเขาก่อนสิ่งใดอื่น

ดังนั้นเรื่องที่จะนำมาใช้แก้ปัญหาการเมืองของไทย ถ้าใช้แล้วไม่ได้ผลก็ไม่ควรจะดันทุรังใช้ต่อไป การถอดถอนและการตัดสิทธิ์ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ประพฤติมิชอบควรมอบให้เป็นหน้าที่ของตุลาการที่เป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตยตามระบอบประชาธิปไตย ตามที่เคยกำหนดไว้ในวรรคแรกของมาตรา275โดยกำหนดเพิ่มเติมให้ชัดเจนว่า"ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีความผิดตามที่ถูกกล่าวหาให้พ้นจากตำแหน่งทันทีหลังจากที่มีคำวินิจฉัยและให้ตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิต"ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี2557มาตรา35(4) แนวทางนี้จะมีความเป็นไปได้มากที่สุด

สมบัติ ธำรงธัญวงศ์
12 มกราคม 2558

ไม่มีความคิดเห็น: