PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

(ข้อมูล)การเมืองเชิงสัญลักษณ์

การเมืองเชิง "สัญลักษณ์"

เมื่อ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ไม่เชื่อ "อานันท์ ปันยารชุน" ประธานคณะปฏิรูปประเทศไทย ที่เสนอวิธีการแก้ปัญหาด้วยประโยคสั้นๆ

"การเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง"

ปรากฏการณ์ที่ตามมาหลังเหตุการณ์ "พฤษภามหาโหด" จึงเป็น "เสียงระเบิด" และการชุมนุมของ "คนเสื้อแดง" เป็นระยะๆ

ข้อเสนอให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน "โดยเร็ว" ของ "อานันท์" ถูกปฏิเสธแบบ "นักภาษาไทยดีเด่น" จาก "อภิสิทธิ์"

"โดยเร็ว" ไม่ใช่ "ทันที"

การคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไว้จนถึงวันนี้สะท้อนให้เห็นว่า "อภิสิทธิ์" เป็น "คนใจเย็น" อย่างยิ่ง เพราะผ่านไป 6 เดือนหรือครึ่งปีแล้ว พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็ยังคงอยู่

ถึงวันนี้คำว่า "โดยเร็ว" ใน "ความรู้สึก" ของ "อภิสิทธิ์" จะหมายถึง 1 ปี หรือ 10 ปีก็ได้ ไม่มีใครรู้

อย่าลืมว่า "อานันท์" นั้นเคยผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ในฐานะ "ผู้ถูกกระทำ" มาแล้ว

เขาถูกปลดจากตำแหน่ง "ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ" และถูกกล่าวหาว่าเป็น "คอมมิวนิสต์" นายอานันท์ย่อมรู้ซึ้งถึง "ความเจ็บปวด" ของ "ผู้ถูกกระทำ" ทางการเมือง

แต่ "อภิสิทธิ์" ไม่รู้

ไม่แปลกที่ผลพวงหลังเหตุการณ์ "พฤษภามหาโหด" จะพัฒนาไปอย่างน่ากลัว เสียงระเบิดในเมืองกรุงทั้งที่รัฐบาลมี "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" ควบคุมอยู่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จนกระทั่งเกิดเหตุระเบิดครั้งใหญ่ที่ "สมานเมตตาแมนชั่น"

แม้เหตุระเบิดจะเกิดขึ้นเพราะความผิดพลาดในการประกอบระเบิดของ "สมัย วงศ์สุวรรณ์" คนเสื้อแดงจากจังหวัดเชียงใหม่

แต่ปรากฏการณ์ครั้งนี้เป็นหลักฐานที่ชัดเจนยิ่งว่า "คนเสื้อแดง" กลุ่มหนึ่งเลือกหนทาง "ความรุนแรง" ในการต่อสู้กับ "อำนาจรัฐ"

หากอ่านบทสัมภาษณ์ของ "บัวคำ เมืองมา" ภรรยาของ "สมัย" จะรู้เลยว่า "ความแค้น" หลังเหตุการณ์ความรุนแรงที่สี่แยกคอกวัวสามารถเปลี่ยนชาวบ้านคนหนึ่งที่เงียบๆ และมีน้ำใจเป็น "มือระเบิด" ได้ในพริบตา

เป็น "ความแค้น" ในลักษณะเดียวกันกับ "นักศึกษา" ที่เข้าป่าจับอาวุธสู้กับรัฐบาลหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

ครั้งนั้น บางคนอาจเข้าป่าเพราะความเชื่อมั่นในอุดมการณ์ "คอมมิวนิสต์" แต่ส่วนใหญ่เข้าป่าเพราะ "ไม่มีทางเลือก" และ "ความแค้น"

หลังเหตุการณ์ "พฤษภามหาโหด" อารมณ์ความรู้สึกของคนเสื้อแดงส่วนใหญ่เปี่ยมไปด้วย "ความแค้น"

ยิ่งรัฐเลือกวิธี "ดับไฟด้วยไฟ" ความรู้สึกนั้นก็รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ปฏิกิริยาใน "ม็อบเสื้อแดง" ที่แยกราชประสงค์และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยสะท้อนถึง "ความรู้สึก" ของ "คนเสื้อแดง" ได้เป็นอย่างดี

ในขณะที่คนเสื้อแดงส่วนใหญ่เก็บความแค้นอยู่ในใจ แต่อีกกลุ่มหนึ่งได้เลือกแนวทางการต่อสู้ทางการเมืองของตน

เป็นการต่อสู้เชิง "สัญลักษณ์"

สัญลักษณ์ของ "ความรุนแรง"

แบบ "สมัย วงศ์สุวรรณ์"



ในอีกทางหนึ่ง "คนเสื้อแดง" กลุ่มใหญ่ได้เลือกแนวทางการต่อสู้แบบ "สันติวิธี"

เสนอรูปแบบการเคลื่อนไหมใหม่จากเดิมที่เน้นการชุมนุมใหญ่ที่มี "แกนนำ" เป็นการชุมนุมกลุ่มเล็กๆ กระจายไปทั่วแบบ "แกนนอน"

"สมบัติ บุญงามอนงค์" หรือ "บ.ก.ลายจุด" นักกิจกรรมเพื่อสังคมเป็น "ผู้นำ" แนวคิดนี้

เขาเริ่มต้นด้วยการผูก "ผ้าแดง" ที่ป้ายแยกราชประสงค์

เมื่อตำรวจตั้งกำแพงไม่ให้เข้าไปผูก "ผ้าแดง" เขาก็ไม่ได้แข็งขืนกลับยอมผูก "ผ้าแดง" ที่รั้วเหล็กแทน

ใช้ความอ่อนสยบความแข็งกร้าว

ทำให้ "อำนาจรัฐ" เป็น "ตัวตลก" เพราะใช้กำลังตำรวจจำนวนมากมาเฝ้าป้ายแยกราชประสงค์ไม่ให้ผูกผ้าแดง

"สมบัติ" สามารถสร้างวาทกรรม "ที่นี่มีคนตาย" ให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการประท้วง เช่นเดียวกับกิจกรรมผูก "ผ้าแดง" จุดเทียนแดง ปล่อยลูกโป่งสีแดง ฯลฯ

รวมทั้งการเล่นละครให้คนนอนตายบนพื้นถนนเพื่อแสดงให้รู้ว่า "ที่นี่มีคนตาย"

ทำซ้ำๆ ทำบ่อยๆ จนคนรู้สึก

ในช่วงต้นหลังการสลายการชุมนุม "สมบัติ" ใช้วิธีการยั่ว พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ด้วยกิจกรรมทางการเมืองแบบ "พูดให้ชัด แต่เตะไม่ถึง" ไม่ว่าจะเป็นการเต้นแอโรบิกที่สวนลุมพินี ขี่จักรยานที่สวนรถไฟ หรือลงทะเลที่พัทยา ฯลฯ

สร้างกิจกรรมชุมนุม "คนเสื้อแดง" ทุกวันอาทิตย์อย่างตั้งใจ เหมือนไม่ใช่กิจกรรมทางการเมือง แต่เนื้อแท้คือเรื่องการเมือง

"วันอาทิตย์สีแดง" เริ่มมีเสียงตอบรับมากขึ้น เพราะเป็นกิจกรรมแบบ "สันติวิธี" ที่คนส่วนใหญ่ยอมรับได้

วันนี้ กิจกรรมที่ "สมบัติ" ทำเป็นประจำทุกวันอาทิตย์ก็คือ เดินทางไปต่างจังหวัดชวน "คนเสื้อแดง" ขี่จักรยานรอบเมือง

เหมือน "ไร้สาระ" แต่มีพลัง

ไม่แปลกที่ "คำนูณ สิทธิสมาน" วุฒิสมาชิก และ "มันสมอง" ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเคยเป็นผู้นำนักศึกษามาก่อน จะมองทะลุว่า "การต่อสู้ในเชิงสัญลักษณ์ของ สมบัติ บุญงามอนงค์ อันตรายกว่าการใช้ความรุนแรง"

เพราะ "การต่อสู้ด้วยความรุนแรงคือการทำผิดกฎหมาย หากรัฐบาลเป็นมวย ย่อมฉกฉวยเป็นประโยชน์ในการปราบปรามได้ แต่การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ของ สมบัติ บุญงามอนงค์ เอาผิดตามกฎหมายใดๆ ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือมาตราอื่นๆ อันนี้น่ากลัวหากรัฐบาลไม่เป็นมวย หรือยังคิดแต่จะซื้อเวลาไปเรื่อยๆ กลัวโน่นกลัวนี่"

เมื่อ "คำนูณ" และพลพรรคพันธมิตรออกโรง "บ.ก.ลายจุด" ก็โต้ตอบทันทีตามสไตล์ทีเล่นทีจริงในเฟซบุ๊กของเขา

"คำนูณ สำราญ สุริยะใส แหม...เดินหน้ามาเป็นชุดเลยนะตัวเอง กลัวการต่อสู้ทางสัญลักษณ์ยิ่งกว่าระเบิดอีกเหรอ โห...ทำไมขวัญเสียง่ายจัง"

และ "ด้วยตรรกะแห่งรัฐตอแหลแลนด์ ข้าพเจ้าขอประกาศว่า "รองเท้าแตะ" เป็นอันตรายกว่าระเบิด TNT โดย คำนึง สิทธิสยอง"

ใช้ "อารมณ์ขัน" เป็น "อาวุธ" เช่นเดิม



ในการชุมนุมใหญ่ที่แยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2553 และที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2553

"สมบัติ" เป็นผู้นำกิจกรรมเชิง "สัญลักษณ์" และมี "คนเสื้อแดง" มาร่วมงานอย่างล้นหลาม

ไม่มีใครเกรงกลัว พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เลย

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่าแม้จะมีการปราบปรามด้วยความรุนแรง แต่ไม่สามารถสลาย "คนเสื้อแดง" ได้

แค่ "สมบัติ" จัดกิจกรรม "จุดเทียน" รำลึกถึง "คนตาย" ที่สี่แยกคอกวัว พร้อมทั้งเขียนจดหมายถึง "คนเสื้อแดง" ที่อยู่ในเรือนจำ หรือกิจกรรม "red letter

ก็สามารถชิงพื้นที่สื่อ และขยายผลทางความรู้สึกได้แล้ว

แนวทางสันติ หรือการต่อสู้เชิง "สัญลักษณ์" ของ "บ.ก.หนูหริ่ง" จึงเริ่มเป็นที่ยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ

ไม่สู้ ไม่ปะทะ

แค่ "จุดเทียน" และ "ขี่จักรยาน"

แต่พลานุภาพกลับรุนแรงยิ่งกว่าระเบิด TNT

ไม่มีความคิดเห็น: