PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

WTO เผยไทยถูกสหรัฐ-EU ยื่นขอตรวจสอบนโยบายแจกไร่ละ 1,000 บาท

WTO เผยไทยถูกสหรัฐ-EU ยื่นขอตรวจสอบนโยบายแจกไร่ละ 1,000 บาท

Prev
1 of 1
Next
คลิกภาพเพื่อขยาย
updated: 24 ก.พ. 2558 เวลา 12:14:09 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
ประชุมใหญ่ทูตเกษตร ปัญหาหลัก 2558 แก้ IUU-แรงงานประมง ข้าว-ยางแลกรถไฟจีทูจีกับจีนยังไม่คืบ เจรจาอีกครั้งมี.ค.58 ทูตประจำ WTO เผยไทยถูกสหรัฐ-EU ยื่นขอตรวจสอบนโยบายแจกไร่ละ 1,000 บาท ด้านทูตเกษตรญี่ปุ่นเตือนรัฐบาลอาเบะอาจปรับโครงสร้างสหกรณ์กระทบส่งออกกล้วยหอม
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการขับเคลื่อนภารกิจด้านการเกษตรต่างประเทศ ปี 2558 ว่า ได้มีการหารือกับทูตเกษตรของไทย พบว่า ปัญหาเฉพาะหน้าที่ไทยต้องเร่งแก้ไขในขณะนี้ ได้แก่ ปัญหาการทำประมงโดยผิดกฎหมาย (IUU Fishing) และการค้ามนุษย์ในภาคประมง ซึ่งทำให้ไทยถูกสหรัฐอเมริกาประเมินและปรับลดระดับการแก้ปัญหาไปอยู่ในกลุ่ม Tier3 เมื่อปีที่ผ่านมา

นายปีติพงศ์ กล่าวว่า ขณะนี้ไทยได้แปลและส่งกฎหมายประมงฉบับใหม่ ให้ทนายต่างประเทศแปลความและส่งต่อให้แก่หน่วยงานในสหภาพยุโรป (EU) เพื่อประกอบการประเมินการแก้ปัญหา IUU Fishing แล้ว รวมถึงให้นางตริตาภรณ์ โขมพัตร อัครราชทูต (ฝ่ายการเกษตร) ประจำสหภาพยุโรป สื่อสารอย่างต่อเนื่องว่าไทยมีการดำเนินการที่ตรงความต้องการของ EU และเป็นลำดับขั้นตั้งแต่การขึ้นทะเบียนเรือจนถึงการสร้างระบบตรวจสอบย้อนกลับ นอกจากนี้ EU ยังมีการตอบรับว่าไทยยังไม่มีการดำเนินคดีเกี่ยวกับ IUU Fishing มากพอ ซึ่งไทยจะต้องเร่งสื่อสารในเรื่องนี้ด้วย

นายปีติพงศ์ เปิดเผยว่า ด้านการเจรจาแลกเปลี่ยนข้าวและยางไทยกับรถไฟของจีนนั้น ยังไม่ได้มีการตกลงกัน และจีนจะเข้ามาเจรจากับไทยอีกครั้งในเดือนมี.ค.นี้

"สามเรื่องที่มีการผูกพันกันอยู่คือเรื่องยาง ข้าว และรถไฟ ซึ่งจะตกลงกันอีกครั้งในเดือนมี.ค. โดยแนวความคิดของทางไทยเห็นว่า ถ้าเป็นการตกลงกันแบบจีทูจี จะต้องมีเงื่อนไขพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ให้เป็นไปตามกลไกตามตลาด เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นก็ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องจีทูจี"
 นายปีติพงศ์กล่าว

ด้านนายธวัชชัย เดชาเชษฐ์ อัครราชทูตที่ปรึกษาคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก (WTO) เปิดเผยว่า สมาคมการค้าธัญพืชของสหรัฐฯ และภาคเอกชนใน EU ได้ยื่นหนังสือต่อ WTO ให้เข้าตรวจสอบนโยบายชดเชยรายได้แก่ชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ และโครงการจำนำยุ้งฉางช่วยชาวนาภาคเหลือ-ตะวันออกเฉียงเหนือ ปริมาณ 2 ล้านตัน วงเงินรวม 3.5 หมื่นล้านบาท เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นการช่วยอุดหนุนภายในซึ่งผิดเงื่อนไขข้อตกลง

โดยทางคณะผู้แทนถาวรไทยฯจะเข้าชี้แจงในสัปดาห์หน้าว่า โครงการชดเชยรายได้ชาวนาไร่ละ 1,000 บาทนั้นเป็นการจ่ายเงินโดยตรงเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต ไม่ได้รับซื้อสินค้าเพื่อบิดเบือนกลไกตลาด เช่นเดียวกับโครงการรับจำนำในยุ้งฉางที่แม้จะเป็นการรับซื้อข้าว แต่เป็นราคาตลาด ไม่ใช่ราคานำตลาด

"นอกจากนี้ รัฐบาลไทยต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจในครัวเรือนเกษตรกร โดยเร็วๆ นี้จะมีการอัดงบประมาณลักษณะคล้ายๆ กันคือจ่ายให้กับเกษตรกรโดยตรง ถือว่าไม่ผิดต่อข้อตกลง เพราะทุกอย่างไม่ได้บิดเบือนราคาในตลาด ทุกโครงการสามารถทำได้ แต่อาจจะมีประเทศสมาชิกอื่นที่จับตามอง ถือเป็นเรื่องปกติ"
 นายธวัชชัยกล่าว

นายธวัชชัย กล่าวว่า สหรัฐฯ EU และไทย ยังจับตามองนโยบายเก็บสต็อกข้าวปีละ 3 ล้านตันเพื่อช่วยคนจนของอินเดียด้วย เพราะนโยบายขายข้าวให้คนจนราคา 3 รูปี/กก. หรือคิดเป็น 1.5 บาท/กก. ครัวเรือนละ 5 กก.นั้น ถือว่าถูกมาก และเป็นไปได้ว่าคนจนเหล่านี้จะนำข้าวไปขายต่อ ทำให้มีการสวมสิทธิ์ข้าวไปส่งออกด้วยราคาบิดเบือนกลไกตลาด กระทบกับราคาข้าวโลก และทำให้อินเดียเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลกในปีที่ผ่านมา

นายชลธิศักดิ์ ชาวปากน้ำ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการเกษตร) ประจำกรุงโตเกียว เปิดเผยว่า รัฐบาลนายชินโซ อาเบะ แห่งประเทศญี่ปุ่น มีแนวคิดที่จะให้แต่ละสหกรณ์ในญี่ปุ่นสามารถดำเนินงานได้อย่างอิสระ จากเดิมที่ขึ้นกับสหภาพสหกรณ์การเกษตรกลาง (เซนจู) ซึ่งจะส่งผลให้การเจรจาธุรกิจกับสหกรณ์ญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากการปรับนโยบายได้ โดยเฉพาะกล้วยหอมไทยที่เป็นการติดต่อระหว่างสหกรณ์ต่อสหกรณ์อยู่ขณะนี้ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีเสียงคัดค้านอยู่ ทำให้นโยบายดังกล่าวยังไม่มีมติอนุมัติ 

ไม่มีความคิดเห็น: