PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2558

นักวิชาการรัฐศาสตร์ วิเคราะห์ ยิ่งโลกล้อมไทย การใช้ ม.44 จะเข้มข้นหนักขึ้น



วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2558 เวลา 14:35:28 น.


ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นในเฟสบุ๊กส่วนตัว วิเคราะห์ถึงการใช้อำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ตามมาตรา 44  ที่ให้อำนาจหัวหน้า คสช.ออกคำสั่งเรื่องต่างๆ โดย ดร.พิชญ์ เห็นว่า การใช้อำนาจตามาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 เป็นข้ออ้างในการเดินเกมกับนานาชาติ หากถูกกดดัน ก็จะยิ่งเพิ่มความเข้มข้นของการใช้อำนาจให้ขยายลงไปในเรื่องต่างๆ เช่นเรื่องการโยกย้ายข้าราชการ โดยไม่ต้องมีขั้นตอนใดๆ  นอกจากนี้ยังเห็นว่า มาตรา 44 ต่างกับการใช้อำนาจตามมาตรา 17 ในสมัยจอมพลสฤษฏิ์  เพราะจอมพลสฤษฏิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และ หัวหน้าคณะปฏิวัติ ขณะที่ในปัจจุบัน แม้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กับนายกรัฐมนตรีจะเป็นคนเดียวกัน แต่ก็เป็นนายทหารที่เกษียณอายุราชการไปเเล้ว ไม่ได้เป็นผู้บัญชาการทางทหาร  จึงต้องจับตาความสัมพันธ์กับกองทัพ และในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ร่างอยู่นั้นจะมีการระบุถึงการสิ้นสุดลงของคสช. หรือไม่


"...แม้ว่าผมจะไม่เห็นด้วยกับมาตรา 44 แต่ผมคิดว่ารัฐบาลนี้กำลังใช้มาตรา 44 อย่างเมามันส์ และผมคิดว่าใครที่เป็นกองเชียร์มาตรา 44 อย่างจริงใจ (ไม่ใช่พวกที่บอกว่า ถ้าต้องเลือกก็ต้องยอม) นี่คงจะรู้สึกสะใจพวกฝรั่งตาน้ำข้าว ถ้าเชื่อในทฤษฎีที่ว่ามาตรา 44 เกิดจากการที่ถูกต่างประเทศกดดัน (ซึ่งผมไม่เคยเชื่อตั้งแต่แรก และผมกลายเป็นเสียงข้างน้อยในเรื่องนี้) ..."

ตัวอย่างล่าสุดก็คือ มาตรา 44 นั้นถูกใช้ในการแก้ปัญหาการบิน และ กำลังจะถูกใช้ในการแก้ปัญหาเรื่องของแรงงานประมง ซึ่งกลายเป็นว่าในที่สุดแล้ว มาตรา 44 จะเป็นข้ออ้างในการเดินเกมส์กับฝรั่งมากขึ้นไปอีกว่า ก็ถ้ายูกดดันไอ ไอก็จะใช้มาตรา 44 ในทุกๆเรื่อง เพื่อแก้ปัญหา ซึ่งตอนนี้ลามไปถึงการโยกย้ายข้าราชการโดยไม่ต้องมีขั้นตอนอื่นๆ - ถ้ายังนึกถึงชัยชนะของคุณถวิล เปลี่ยนสี จากการโยกย้ายในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้

สรุปง่ายๆก็คือ ยิ่งมีแรงกดดันจากต่างชาติ และแรงกดดันภายในประเทศมากเท่าไหร่ แรงกดดันเหล่านั้นก็ยิ่งทำให้ต้องใช้มาตรา 44 ในการแก้ไขในทุกๆเรื่องมากขึ้น หรือพูดง่ายๆว่า ยิ่งโลกล้อมไทย ไทยก็จะเป็นเผด็จการด้วยมาตรา 44 มากขึ้น ‪ (ผมนึกถึงภาพคนเมายาบ้าที่มีคนยืนมุงดูอย่างไรไม่รู้‬)

ในส่วนต่อมาที่ควรพิจารณาก็คือ มาตรา 44 นั้นไม่เหมือนกับมาตรา 17 สมัยจอมพลสฤษดิ์ อยากน้อยในแง่ของมิติในทางกฏหมาย (ไม่ใช่มิติของผลในการกระทำ) เพราะว่า ในมาตรา 17 ของจอมพลสฤษดิ์ นั้น คนที่ใช้คำสั่งคือ นายกรัฐมนตรี ภายใต้การเห็นชอบของ ครม. (ซึ่งก็คงจะพอตีความได้ว่ามีฐานเหมือนกับพระราชกำหนด ที่ใช้ในยามเร่งด่วน) แต่ในการใช้จริงนั้น นายกรัฐมนตรีนั้นเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ และยังเป็นผู้บัญชาการทางทหารในตำแหน่ง

แต่ในกรณีของมาตรา 44 คนที่ใช้คือ หัวหน้า คสช. ภายใต้ความเห็นชอบของคณะ คสช. ซึ่งหมายถึงคณะรัฐประหารเอง ซึ่งมีอำนาจสูงกว่านายกรัฐมนตรี และจะว่าไปแล้ว คำสั่ง คสช. เองก็ยังสามารถออกได้ และยังออกอยู่ ดังนั้นคนที่เป็นคนตัดสินใจก็คือคณะทหารที่ยังทำหน้าที่ในการกำหนดสภาวะยกเว้นอยู่ และชี้ให้เห็นว่าคณะรัฐประหารมีอำนาจเหนือรัฐบาล นอกจากนั้นเผอิญว่า หัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ได้เป็นผู้บัญชาการทหาร เพราะเกษียณอายุไปแล้ว สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อไปก็คือ ขณะนี้ความสัมพันธ์ของคสช. ในฐานะคณะทหารที่เกษียณอายุจากราชการไปแล้ว (บ้างหรือบางส่วน) นั้นมีสายการบังคับบัญชากับกองทัพอย่างไร และในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ร่างอยู่นั้นจะมีการระบุถึงการสิ้นสุดลงของคสช. หรือไม่ หรือการประกาศใช้รัฐธรรมนูญนั้นถือเป็นการสิ้นสุดลงอย่างปริยายของการมีคณะคสช.ซึ่งมีการแต่งตั้งในเอกสารราชการตรงนี้จะต้องระบุให้ชัดไหมหรือเหมาๆเอาว่าเราเข้าใจตรงกัน?

"...ป.ล.ผมได้รับข้อมูลที่เป็นแรงบันดาลใจในการคิดเรื่องที่ความแตกต่างระหว่างมาตรา 17 ของจอมพลสฤษดิ์ และ มาตรา 44 ของ คสช. จากการชมรายการเจาะข่าวตื้นของจอห์น วิญญู และพ่อหมอครับ กระจ่างกว่าการแถลงของเนติบริกรมากมาย..."

ไม่มีความคิดเห็น: