เกมลึก-ศึกใน!! ตัดสิทธิบ้านเลขที่ 111,109 (ตอนที่ 2)
สำนักข่าวออนไลน์ พีเพิล ยูนิตี้ – มีข้อมูลลึกที่สุดระบุว่า ประเด็นการตัดสิทธินักการเมืองบ้านเลขที่ 111 และ 109 ไม่เคยอยู่ในความคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรีมาก่อนเลย รวมทั้งบิ๊ก คสช.คนอื่น โดยเฉพาะ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม
เหตุผลประการสำคัญเพราะว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ต้องการสร้างเงื่อนไขใหม่ของความขัดแย้งเพิ่มขึ้น ดังนั้น อะไรก็แล้วแต่ที่จะทำให้เกิดความไม่ปรองดอง พล.อ.ประยุทธ์ จะหลีกเลี่ยง เว้นแต่เป็นเรื่องจำเป็นจริงๆ หรือเป็นเพราะอีกฝ่ายหนึ่งไม่ยอมหยุด
วิธีคิดแบบนี้เป็นวิธีคิดแบบเดียวกับ พล.อ.ประวิตร ที่ไม่ต้องการไล่ล่าหรือต้อนฝ่ายตรงข้ามจนไม่มีที่ยืน ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการปรองดอง นอกจากนี้ นักการเมืองในบ้านเลขที่ 111 และ 109 มากมายหลายคน ก็มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดหรือสนิทสนมกับ พล.อ.ประวิตร มานาน ตามประสาคนเยอะคอนเน็คชั่นอย่าง พล.อ.ประวิตร ซึ่งคนรักพวกรักพ้องอย่าง พล.อ.ประวิตร ไม่ใช่คนที่จะฆ่าเพื่อนฝูงได้
ประการที่สอง ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ไม่ให้ความสำคัญกับนักการเมืองบ้านเลขที่ 111 และ 109 ว่าจะเป็นอุปสรรคหรือขัดขวางการทำงานของ คสช. ทั้งนี้เพราะมั่นใจว่าด้วยอำนาจเต็มเปี่ยมที่มีอยู่ในมือ นั้นสามารถควบคุมนักการเมืองบ้านเลขที่ 111 และ 109 ไม่ให้สร้างความเสียหายต่อบ้านเมืองได้ นอกจากนี้ ยังเชื่อว่านักการเมืองบ้านเลขที่ 111 และ 109 ได้รับบทเรียนทางการเมืองมาแล้ว จึงน่าจะพูดคุยกันรู้เรื่องได้ไม่ยาก
สิ่งที่ยืนยันว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เคยมีความคิดที่จะตัดสิทธิทางการเมืองนักการเมืองบ้านเลขที่ 111 และ 109 แม้แต่น้อย คือ
ประการหนึ่งคือ ภายหลังการยึดอำนาจไม่กี่วัน พล.อ.ประยุทธ์ ได้ให้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น โทรศัพท์มาเชิญ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นหนึ่งในนักการเมืองบ้านเลขที่ 111 ให้มาช่วยงาน คสช. เมื่อนายสมคิดตอบกลับ พล.อ.ฉัตรชัยไปว่า มีความยินดีช่วยงาน หลังจากนั้นอีกไม่กี่นาที พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยกหูโทรศัพท์มาหานายสมคิดด้วยตนเอง เอ่ยปากเชิญร่วมงาน
นั่นแสดงว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เคยคิดที่จะกีดกันนักการเมืองบ้านเลขที่ 111 และ 109 แต่อย่างใด โดยดูคนที่ความสามารถและดีหรือไม่ดี
ประการที่สอง ถัดมาหลังนั้น ระหว่างที่กำลังมีการฟอร์มทีม ครม.ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ วันหนึ่งในระหว่างการพูดคุยกันระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับนายสมคิด (ตอนนั้นนายสมคิดได้รับแต่งตั้งเป็นหนึ่งในคณะที่ปรึกษา คสช. ที่มี พล.อ.ประวิตร เป็นประธานแล้ว) พล.อ.ประยุทธ์ ถามนายสมคิดตรงๆว่า “อาจารย์ต้องการเข้ามาช่วยงานตำแหน่งใดใน ครม.”
นายสมคิดตอบกลับไปว่า “ผมคงเข้าไปเป็น ครม.ไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญเขียนห้ามไว้” (รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2557 ที่ คสช.ร่างขึ้นเพื่อใช้ชั่วคราว)
ข่าวลึกบอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ ตกตะลึง ถึงกับพูดไม่ออก เพราะไม่เคยรู้มาก่อนว่ารัฐธรรมนูญของ คสช.เขียนห้ามนักการเมืองบ้านเลขที่ 111 ไว้
สิ่งนี้ยืนยันอีกครั้งว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้คิดที่จะกีดกันนักการเมืองบ้านเลขที่ 111 และ 109 แต่อย่างใด
ซึ่งผลจากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารถใช้งานนายสมคิดใน ครม.ได้ ทำให้หลังจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้แต่งตั้งนายสมคิดเข้าไปเป็นหนึ่งในสมาชิก คสช. 15 คน มีอำนาจคุมรัฐบาลอีกทีหนึ่ง นอกจากนั้น ยังเปิดช่องทางให้นายสมคิดเข้าไปมีส่วนร่วมในรัฐบาลได้โดยตรง โดยแต่งตั้งให้เป็นประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีอีกตำแหน่งหนึ่ง
ทำไปทำมา นายสมคิดใหญ่กว่าเป็น ครม. เพราะมีอำนาจเหนือ ครม. และเป็นผู้ป้อนข้อมูลและแนวความคิดการทำงานด้านต่างๆเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ โดยตรง ทั้งด้านเศรษฐกิจ การต่างประเทศ การศึกษา สาธารณสุข และแทบทุกเรื่องของรัฐบาล
กล่าวกันว่า นายสมคิดคือบุรุษหมายเลข 3 ของ คสช. และรัฐบาล รองจาก พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร เลยทีเดียว
เพราะนอกจากนายสมคิดจะมีสถานะเป็นโปลิตบูโร (คสช.) แล้ว นายสมคิดยังเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ สร้างอำนาจและบทบาทของ คสช.เข้ามาช่วยรัฐบาลทำงานอีกทางหนึ่ง ด้วยการตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆของ คสช.ขึ้นมา โดยคณะกรรมการทุกชุดมีนายสมคิดเป็นรองประธานหรือไม่ก็เป็นกรรมการ
แต่ยิ่งไปกว่านั้นคือ หลังจากนายสมคิดไม่สามารถเป็น ครม.ได้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้มอบสิทธิให้นายสมคิดเสนอบุคคลเป็น ครม.ในตำแหน่งต่างๆเป็นการตอบแทน ซึ่งนายสมคิดได้วางตัวบุคคลเป็นรัฐมนตรีในหลายกระทรวง เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยว เป็นต้น รวมทั้งให้นายสมคิดเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมเข้าไปดำรงตำแหน่งสำคัญ ทั้งใน สนช. สปช. บอร์ดรัฐวิสาหกิจ คณะกรรมการชุดต่างๆ ทั้งชุดเก่าและคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นใหม่
อำนาจของนายสมคิดตอนนี้ จึงมากกว่าเป็นรองนายกฯสมัยทักษิณหลายเท่า แต่ข้อจำกัดคือ ออกหน้าทำงานด้วยตัวเองไม่ได้
ถามว่า แล้วเหตุใดรัฐธรรมนูญปี 57 จึงมีข้อความห้ามนักการเมืองบ้านเลขที่ 111 และ 109 มิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทั้งๆที่ขัดกับแนวคิดของทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่รู้เรื่อง
คำตอบคือ ประการแรกสุด “เนติบริกร” บางคนที่ คสช.มอบหมายให้ร่างรัฐธรรมนูญปี 57 แอบสอดไส้ตัดสิทธิบ้านเลขที่ 111 และ 109 ไว้ในรัฐธรรมนูญ ด้วยการใช้ข้อความที่แยบยล จนแม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช. อ่านรัฐธรรมนูญกี่รอบ ก็ไม่พบประเด็นนี้ จึงปล่อยรัฐธรรมนูญออกไป จนเมื่อนายสมคิดบอก จึงรู้
ประการที่สอง เป้าหมายที่ใส่ข้อความดังกล่าวไว้ คือ ต้องการเตะสกัดนายสมคิดซึ่งกำลังย่างเท้าเข้าสู่ คสช. ไม่ให้เข้าไปเป็น ครม.(แต่ที่สุดการเตะสกัดก็ไม่ได้ผล เพราะกลายเป็นว่านายสมคิดใหญ่กว่า ครม.)
เนติบริกรบางคนที่ว่านั้น ก็ไม่ใช่คนอื่นไกล แต่เป็นคนรู้จักมักคุ้นและเคยร่วมงานกับนายสมคิดมาแล้ว
โดยเฉพาะเมื่อการเข้ามาสู่ คสช.ของนายสมคิด ทำให้ใครบางคนไม่มีความสุข ซึ่งหากนายสมคิดสามารถเข้าเป็น ครม.ได้ อาจตัดโอกาสใครหลายคน
ทว่า นั่นอาจไม่เกี่ยวข้องกับคนที่กลัวถูกตัดโอกาสก็ได้ เพราะอาจเป็นไปได้ว่าแรงต้านนายสมคิดอาจมาจาก “นายเก่า” ของนายสมคิดที่อาจไม่ต้องการให้นายสมคิดเข้าไปเป็นมือเศรษฐกิจของรัฐบาล คสช. เพราะด้วยชื่อชั้นและความสามารถของนายสมคิดอาจทำให้ประชาชนลืมความสำเร็จทางเศรษฐกิจของใครบางคนในอดีตไปได้ ใครบางคนที่ว่านั้น จึงใช้บริการเนติบริกรสกัดนายสมคิด
อย่างไรก็ดี ภายหลังการสอดไส้ครั้งนั้นแล้ว เนติบริกรได้เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่ออธิบายถึงเหตุผลการตัดสิทธินักการเมืองบ้านเลขที่ 111 และ 109 ว่า เพื่อไม่ให้นักการเมืองบ้านเลขที่ 111 และ 109 คนอื่นๆ (ที่ไม่ใช่นายสมคิด) เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของ คสช.
ซึ่งเหตุผลที่ว่านี้ ฟังเผินๆก็ดูดี แต่ที่จริงมันเป็นไปไม่ได้ เพราะภายใต้อำนาจพิเศษของ คสช. นักการเมืองบ้านเลขที่ 111 และ 109 ไม่มีใครกล้าออกมาเป็นปฏิปักษ์กับ คสช.อยู่แล้ว และไม่มีโอกาสจะเป็น ครม.ในรัฐบาล คสช. ยกเว้นนายสมคิด
มาถึงการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มีการตัดสิทธินักการเมืองบ้านเลขที่ 111 และ 109 ไว้อีกครั้ง คราวนี้ตัดสิทธิไว้ในมาตรา 111 (15) ของร่างรัฐธรรมนูญด้วยข้อความแยบยลแบบเดิม คือ เคยถูกตัดสิทธิในการดำรงตำแหน่งทางการเมือง ลงสมัคร ส.ส. ส.ว. และเป็นรัฐมนตรีไม่ได้
ไม่รู้ว่าจงใจหรือเป็นเหตุบังเอิญ เขียนไว้ในมาตรา 111 เสียด้วย แทงใจนักการเมืองบ้านเลขที่ 111 เต็มๆ
มีข่าวลึกระบุว่าในระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีข้อตกลงภายในกันว่า จะไม่เขียนตัดสิทธินักการเมืองบ้านเลขที่ 111 และ 109 เพื่อให้เป็นไปตามแนวคิดเดิมของ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ที่ไม่ต้องการให้สร้างเงื่อนไขของความขัดแย้งเพิ่ม แต่ที่สุดก็มีการ “หักหลัง” เกิดขึ้น โดยแอบเขียนมาตรา 111 (15) ไว้ แน่นอนว่า จุดประสงค์เพื่อเตะสกัดนายสมคิดรอบสอง และสกัดนักการเมืองบ้านเลขที่ 111 และ 109 ทุกคนไม่ให้กลับเข้ามามีบทบาททางการเมืองอีก
เหตุผลเดิมๆที่ใช้อ้างกับ คสช.คือ ไม่ต้องการให้นักการเมืองบ้านเลขที่ 111 และ 109 ออกมาเป็นอุปสรรคต่อ คสช. และรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง
ต้องจับตาดูว่า ที่สุดแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร จะเอายังไงกับนักการเมืองบ้านเลขที่ 111 และ 109 และนายสมคิด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น