PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2558

อ่านเต็มๆ "พิชัย รัตตกุล" วิพากษ์ร่างรธน.จับฉ่าย สะท้อนแก้7ปมปูพรมนั่งยาว

วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2558 เวลา 06:00:00 น.

สัมภาษณ์พิเศษ โดย อนุชา ทองเติม

มติชนรายวัน 15 มิถุนายน 2558

http://www.matichon.co.th/online/2015/06/14343810751434381096l.jpg

หมายเหตุ - นายพิชัย รัตตกุล อดีตประธานรัฐสภาและอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้สัมภาษณ์ "มติชน" ถึงข้อเสนอแนะในการทำงานของรัฐบาล รวมทั้งสิ่งที่กังวลต่อร่างรัฐธรรมนูญ
ฉบับใหม่ หลังจากมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายๆ ฝ่าย

- มองการบริหารงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช.

ต้องบอกความจริงก่อนว่า ผมไม่เห็นด้วยกับวิธีการใช้กำลังหรือการทำรัฐประหารเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพราะผมเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย เชื่อมั่นในหีบหย่อนบัตร ดังนั้นจุดยืนของผมคือต่อต้านการเปลี่ยนแปลงโดยการใช้กำลัง อย่างไรก็ตามการปฏิวัติครั้งล่าสุดมีความจำเป็นมากกว่าครั้งที่ผ่านมา ต้องพูดความจริงจากหัวใจว่าเราจะโทษทหารเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะทหารก็รักบ้านเมืองเหมือนกับเรา เมื่อเห็นบ้านเมืองทะเลาะเบาะแว้งกัน ทำให้ประชาชนไม่มีความสุข จะเดินทางไปไหนมาไหนก็ไม่สะดวก การเมืองนำความทุกข์มาสู่ประชาชน เพราะฉะนั้นการที่ทหารตัดสินใจในครั้งนี้เขามีเหตุผล ถ้าไม่ทำเราไม่ทราบว่าเหตุการณ์จะบานปลายไปขนาดไหน หรืออาจถึงขั้นรบราฆ่ากันก็ได้ คนไทยฆ่ากันเองเป็นเรื่องทุเรศมาก

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่รัฐบาลได้ทำงานมาปีกว่าก็เห็นว่าพล.อ.ประยุทธ์มีความตั้งใจแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะปัญหายาเสพติดความขัดแย้งแม้กระทั่งปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ รวมถึงปัญหาด้านเศรษฐกิจ ผมรู้สึกว่าเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวขึ้นมา เคราะห์ร้ายตรงที่ขณะนี้เศรษฐกิจโลกมันไม่ดี แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็หาคนช่วยทำงานในด้านเศรษฐกิจ ผมอ่านข่าวก็พบว่ามีคนอยากให้มีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ด้านเศรษฐกิจ ตรงนี้เป็นเพราะคนมีความอิจฉากัน ผมได้แต่หวังว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ครม.และขอให้อย่าอิจฉากัน

- เนื้อหารัฐธรรมนูญที่ถือเป็นหัวใจของการรัฐประหารครั้งนี้เป็นอย่างไร

จะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่สำหรับผมนั้นรู้สึกผิดหวังในตัวนายบวรศักดิ์อุวรรณโณประธานกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ไม่นึกเลยว่านายบวรศักดิ์จะตั้งต้นร่างรัฐธรรมนูญอย่างที่เป็นอยู่ใน
ขณะนี้ ผมรู้สึกว่าการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้เริ่มต้นโดยไม่มีคอนเซ็ปต์ คือไม่ได้วางหลังการไว้เลย เพราะจากรัฐธรรมนูญบางฉบับจะเห็นว่ามีการสร้างให้พรรคการเมืองแข็ง ขณะเดียวกันบางฉบับสร้างขึ้นมาให้รัฐบาลแข็งแต่พรรคการเมืองอ่อน ซึ่งมีการดุลและคานอำนาจ แต่รัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นใหม่มันเหมือนการจับฉ่าย ปนกันไปหมด โดยสิ่งที่เป็นปัญหา 1.ไม่ได้เน้นเรื่องบทบาทของประชาชนมากพอ แม้จะบอกว่าพลเมืองเป็นใหญ่ก็ตาม แต่ในความเป็นจริงเกิดขึ้นตามนั้นหรือไม่ 2.ลดบทบาทของพรรคการเมืองลงทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ 3.รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้กว่าจะออกมาได้ก็ต้องผ่านเงื่อนไขมากมายสารพัด ถามว่าทำไมถึงต้องทำอย่างนั้น มีเบื้องหลังเจตนารมณ์อะไรหรือเปล่า ต้องการอะไรหรือไม่ก็ไม่ทราบ

อย่างเช่นการให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ต้องถูกยุบไปแล้วตั้งหน่วยงานใหม่เข้ามา อันนี้ต้องการให้รัฐบาลอยู่ยืดหรือเปล่า และเมื่อ กมธ.ยกร่างฯปรับแก้รัฐธรรมนูญเสร็จแล้วถ้า สปช.ไม่เห็นด้วย สปช. กมธ.ยกร่างฯ ก็หมดไป จากนั้นตั้งขึ้นใหม่ ร่างกันใหม่ แล้วจะร่างกันใหม่อีกนานไหม ผมบอกเลยว่าไม่มีความบริสุทธิ์ใจในการร่างรัฐธรรมนูญ อ่านแล้วทำให้โมโห ผมไม่ทราบจริงๆ ว่าการร่างรัฐธรรมนูญแบบนี้เพราะได้รับใบสั่งหรือเปล่า จะให้พูดว่าได้รับใบสั่งจากรัฐบาลก็ไม่สามารถพิสูจน์ทราบได้ แต่มีแนวโน้มอย่างนั้น อย่างที่มีคนมาเสนอขอให้อยู่ต่อ แม้วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์จะปฏิเสธชัดเจนว่าไม่ต้องการ แต่ก็เป็นคำพูดในตอนนี้ ทุกอย่างไม่แน่นอน ส่วนตัวผมยังเห็นว่าโรดแมปมีความสำคัญ แต่ถ้าทำไม่ทันจริงๆ ก็บอกมาตามตรง ว่าจะขอเวลาต่ออีกเท่าไหร่ 6 เดือน หรือ 1 ปี แต่ไม่ใช่ว่าจะอยู่โดยการร่างรัฐธรรมนูญแล้วให้มันตกไปเรื่อยๆ อย่างนี้

- คิดว่าอะไรคือเจตนาของกมธ.ยกร่างฯ

ผมมีความเชื่อมั่นและรักนายบวรศักดิ์ เพราะเคยทำงานร่วมกัน ผมเป็นประธานสถาบันพระปกเกล้าฯ ส่วนนายบวรศักดิ์เป็นเลขาฯ ผมเชื่อมั่นในความรู้ของคนคนนี้ แต่เมื่อมาเป็นประธาน กมธ.ยกร่างฯ ทำไมผมถึงผิดหวัง จึงอยากขอให้นายบวรศักดิ์อย่าไปรีบคิดฝัน แล้วทำให้รัฐธรรมนูญกลายเป็นจับฉ่าย เละเหมือนข้าวต้ม ขอให้ร่างตามที่ตัวเองเชื่อมั่น ผมยังรักเขาอยู่ ไม่ได้โกรธ เกลียด แต่เสียดายความรู้ความสามารถของเขา

- มองข้อเสนอให้รัฐบาลอยู่ต่อ 2 ปี แล้วค่อยเลือกตั้ง

อย่างที่บอกผมเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยและไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารแม้การทำรัฐประหารครั้งนี้จะมีความจำเป็นหากสามารถจัดการเลือกตั้งได้เร็วเท่าไหร่จะถือเป็นเรื่องดีถ้าหากมีความจำเป็นต้องเลื่อนออกไปโดยขอเวลาอีกประมาณ 6 เดือน หรือ 1 ปี พอรับได้ แต่ต้องมีความจำเป็นจริงๆ และยังยืนยันว่ายิ่งเลือกตั้งเร็วเท่าไหร่ จะถือเป็นเรื่องดี แน่นอนประชาชนในตอนนี้เมื่อเห็นว่าบ้านเมืองมีความสงบก็ดีใจ ผมก็ดีใจ เพราะก่อนหน้านี้ผมเห็นนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขา กปปส. ออกมาทะเลาะกับใครเขา ผมไม่มีความสุข ดังนั้นถ้าเราปรองดองได้ก็จะดี คิดว่าถ้ารัฐบาลอยู่ต่อคงไม่มีใครกล้าออกมาชุมนุม แน่นอนไม่มีใครกล้าออกมาหรอก และอาจเป็นเช่นนี้หรือเปล่าที่เขาคิดอยากอยู่ต่อ ผมว่าถ้าเขามีเจตนาบริสุทธิ์จริงก็ขอได้ไม่เกิน 1 ปี แต่อย่าหวังเพิ่มรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญไม่สามารถแก้ไขความปรองดองได้ วันนี้ดูจากโพลบอกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เห็นด้วยว่าให้ทำประชามติ ถามเรื่องอยู่ต่อ 2 ปี ผมไม่เห็นด้วย เพราะ 1.เสียเงิน 2.ไม่ได้ประโยชน์ การตั้งคำถามแบบนี้ไม่เหมาะ คนจะเบื่อแล้วไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง

- ล่าสุดรัฐบาลประกาศแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 7 ประเด็น และมีเสียงวิจารณ์ว่าปูทางเพื่ออยู่ต่อ

อันนี้ผมไม่รู้ เพียงแต่ว่าแนวโน้มมันไม่ค่อยดีเลย เราไม่รู้ว่ามีเบื้องหน้าเบื้องหลังเบื้องลึกมีมากน้อยแค่ไหน ผมไม่ทราบว่ารัฐบาลยกการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 7 ประเด็นขึ้นมาเพราะอะไร ในเมื่อตัวเองมีโรดแมปที่แน่นอนแล้วและทำงานมาระดับหนึ่งแล้ว ยิ่งถ้าทำสำเร็จนายกฯจะยิ่งเป็นคนที่น่านับถือ ปัญหาของบ้านเมืองที่จะต้องแก้ไขมีมาก แต่ปัญหาสำคัญคือเรื่องของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ การแก้ไขปัญหาไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะฉะนั้น พล.อ.ประยุทธ์ต้องลงมาเล่นเอง ที่สำคัญต้องไม่สร้างบรรยากาศของความขัดแย้ง คือทั้ง 2 ฝ่ายอย่าทะเลาะกัน อย่าพูดเหน็บแนมกัน

สำหรับประเด็นที่จะอยู่ต่อ ถ้ารัฐบาลให้สัญญาอย่างลูกผู้ชายว่าขอแก้ไขปัญหาเรื่องความปรองดองอีก 1 ปี ผมเอาด้วย และเชื่อว่าประชาชนก็เอา แต่ต้องมีความชัดเจนว่าจะทำอย่างไร เช่น นายกฯรับปากว่าจะจัดการด้วยตัวเอง จากนั้นก็มาทำบันทึกกันเลยว่าจะทำแล้วคืนอำนาจเมื่อไหร่ เอาแบบลูกผู้ชาย ผมเชื่อว่าคงไม่มีใครว่า แต่ปัญหาคือผมกลัวว่ารัฐบาลจะอยู่ต่อด้วยการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาแล้วทำให้มันตกไป แล้วก็ร่างขึ้นมาใหม่ ร่างแล้วล้ม ล้มแล้วร่าง เพื่อที่จะอยู่ยืดยาว

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในอดีตที่ผ่านมาบ้านเมืองมีความวุ่นวายอย่างนี้ผมว่าต้องโทษนักการเมืองทั้ง2ฝ่ายผมโทษพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โทษพรรคเพื่อไทย (พท.) ด้วย สมัยก่อนเราเถียงกันในสภาไม่รุนแรงเท่านี้ สมัยก่อนตอนจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกฯ เขาเสนอกฎหมายขึ้นภาษี 11 รายการ ผมอภิปรายว่าพฤติกรรมของรัฐบาลนั้นบัดซบ การกระทำของนายกฯบัดซบ และจากนั้นพอเลิกประชุม ผมก็เดินไปกราบท่าน ขออภัยที่ใช่วาจาอย่างนั้น แต่สมัยนี้ไม่มีแล้ว ผมอยากเห็นบรรยากาศอย่างนั้นกลับมา อย่างไรก็ตามหาก สปช.โหวตรัฐธรรมนูญใหม่ตกไป แล้วจะมีประชามติหรือไม่ก็ตาม แต่รัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ก็ไม่ควรตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาแล้ว ไม่ต้องมีการตั้งสภาขับเคลื่อนปฏิรูปขึ้นมาทดแทน สปช.แล้ว แต่ควรนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับเก่า แล้วเลือกเอาอันที่ดีที่สุดมาปรับปรุงแก้ไขให้อำนาจบทบาทของพรรคการเมือง นักการเมืองได้ดุลกัน แค่นั้นก็เพียงพอ

- ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล

รัฐบาลมีอำนาจอยู่ แต่ไม่ได้ใช้อย่างเต็มที่ อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์มีมาก แต่ไม่ได้ใช้หมดทุกอย่าง เขาจะใช้ต่อเมื่อมีความจำเป็น สิ่งที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ต้องใช้อำนาจเด็จขาด เพราะว่าใช้คนเป็น นอกจากงานด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ถือเป็นบุคคลที่เขาให้ความไว้วางใจ ผมไม่เคยเห็นการรัฐประหารครั้งใดมีความสงบเรียบร้อยเหมือนปัจจุบัน แต่อยากฝากถึง 1.ปัญหาเศรษฐกิจจะต้องเร่งแก้ไข โดยเฉพาะปัญหาความยากจน ความยากจนของเรายังไม่สามารถแก้ไขได้ พล.อ.ประยุทธ์พยายามเน้นเรื่องความพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ว่าเน้นคำนี้อย่างเดียวคงไม่พอ เพราะต้องทำเป็นตัวอย่างด้วย 2.พล.อ.ประยุทธ์ยังต้องปรับปรุงนิสัยของตัวเองในการพบปะสื่อมวลชนหรือการพูดจา รู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ตั้งใจ ทว่าหากลดลงมาจะดี 3.พูดคุยกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ปัญหาการเมืองจะจบ

ไม่มีความคิดเห็น: