PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2558

เราต้องรับรู้อะไรบ้าง ถ้าจะทำประชามติ?

15062558 เราต้องรับรู้อะไรบ้าง ถ้าจะทำประชามติ?
โดย : กาแฟดำ

ใคร ๆ ก็สนใจ Roadmap เพราะท่านนายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา บอกว่า ไม่ต้องถามรายละเอียดอะไรอีก

เพราะทุกอย่างจะเป็นไปตามนั้น ส่วนโรดแมปจะปรับเปลี่ยนอะไรอย่างไร เป็นเรื่องที่ชาวบ้านอย่างเราต้องติดตามและวิเคราะห์เอง

คำถามที่ว่าจะเลือกตั้งเมื่อไหร่ยังไม่มีใครมีคำตอบ เพราะอยู่ที่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านสภาปฏิรูปแห่งชาติหรือ สปช. หรือไม่ ถ้าผ่านตารางเวลาเป็นอย่างหนึ่ง, ถ้าไม่ผ่านก็จะเป็นอีกอย่างหนึ่ง

อีกปัจจัยหนึ่งคือร่างรัฐธรรมนูญนี้แม้จะผ่านความเห็นชอบของ สปช. แต่หากไม่ผ่านประชามติ, ก็จะทำให้โรดแมปเป็นไปอีกอย่างหนึ่งเช่นกัน

ผมสงสัยว่าที่นายกฯหงุดหงิดกับคำถามเรื่องโรดแมพ ก็คงจะเป็นเพราะปัจจัยของความไม่แน่นอนต่างๆ เหล่านี้นี่เอง

แต่นั่นไม่ได้แปลว่าคนไทยทั่วไปจะไม่สนใจเรื่องของตารางเวลา ของแต่ละกรณีหรือที่ฝรั่งเรียกว่า scenario

วันนี้ เอากรณีที่ทำประชามติหากร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบของ สปช. อีกวันหนึ่งค่อยมาประเมินว่าหากไม่ผ่าน สปช. ตารางเวลาจะปรับเปลี่ยนไปอย่างไร

เป็นอันว่าจะมีการทำ “ประชามติ” แล้วแน่นอน และคณะกรรมการเลือกตั้งหรือ กกต. จะเป็นผู้รับผิดชอบไปทำประชามติ

ข่าวล่าสุดบอกว่า สปช. จะลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญวันที่ 4 กันยายนนี้

เมื่อมีมติแล้ว สปช. ก็จะแจ้งต่อคณะรัฐมนตรี “โดยเร็ว” หากเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญก็จะให้มีการทำประชามติ

กกต. ก็จะทำรายละเอียดกฏเกณฑ์เกี่ยวกับการทำประชามติ เสนอไปที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยจะกำหนดวันออกเสียงประชามติด้วย

หาก สนช. เห็นชอบ กกต. ก็จะประกาศกติกานั้นในราชกิจจานุเบกษา

ก่อนจะทำประชามติ จะต้องหาโรงพิมพ์พิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญนั้นทั้งหมด 19 ล้านฉบับภายในเวลา 45 วัน ซึ่งเป็นงานที่ค่อนข้างเร่งด่วนพอสมควร

ทำไมจึงเป็น 19 ล้านฉบับทั้งๆ ที่ผู้มีสิทธิออกเสียง 49 ล้านคน? คำตอบจาก กกต. คือจะแจกครัวเรือนละหนึ่งเล่ม ซึ่งก็อาจจะเกิดคำถามว่าสมาชิกในแต่ละครัวเรือนจะแย่งกันอ่าน หรือจะให้หัวหน้าครัวเรือนเป็นคนอ่าน แล้วอธิบายรายละเอียดของร่างรัฐธรรมนูญ ให้กับสมาชิกคนอื่นๆ ในบ้านหรืออย่างไร

เหตุผลหนึ่งที่นำมาอ้างว่าควรจะทำประชามติ ก็เพราะจะได้ให้ประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ได้มีโอกาสสังเคราะห์, วิเคราะห์และถกแถลงถึงประเด็นสำคัญๆ ในร่างรัฐธรรมนูญนี้

แต่การแจกหนังสืออย่างเดียว คงไม่อาจจะกระตุ้นความสนใจของคนไทยทั่วไปได้ เพราะคนไทยไม่นิยมอ่านหนังสือ และหากแต่ละบ้านมีเพียงเล่มเดียวก็อาจจะมีปัญหาในการกระจายการอ่านออกไปให้ครบถ้วน

ดังนั้น การจะกระตุ้นให้เกิดความสนใจเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ จึงจะต้องทำกันในทุกระดับทุกสื่อและทุกชุมชน อีกทั้งไม่ควรจะเน้นแต่เพียงการแจกหนังสือเท่านั้น ควรจะต้องสร้างกิจกรรมเผยแพร่และส่งเสริมการวิพากษ์วิจารณ์ ผ่านสื่อต่างๆ อย่างกว้างขวางอีกด้วย

คำถามก็คือ 45 วันจะพอสำหรับการสร้างความเข้าใจ และการถกแถลงกันอย่างกว้างขวางในหมู่คนไทย ที่ต้องการเห็นการปฏิรูปทางการเมืองอย่างจริงจังได้มากน้อยเพียงใด

กกต. บอกว่าจะทะยอยส่งหนังสือร่างรัฐธรรมนูญทันทีที่พิมพ์เสร็จ ไม่รอให้เสร็จหมดก่อนจึงจะแจกจ่าย ซึ่งก็แปลว่าคนไทยที่จะได้รับหนังสือนี้จะไม่ได้รับหนังสือในวันเดียวกัน บางคนได้เร็วบางคนได้ช้า คนที่ได้เร็วที่สุดมีเวลาอ่าน 45 วัน ส่วนคนได้ช้าสุดอาจจะมีเวลาอ่านเพียง 30 วัน ขึ้นอยู่กับการบริหารของ กกต. ในการจัดหาโรงพิมพ์ได้กี่แห่งเพื่อเร่งการพิมพ์ให้เสร็จทันกำหนดเวลา

เส้นตายของ กกต. คือจะต้องส่งหนังสือนี้ถึงเจ้าบ้านคนสุดท้ายภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน
เพราะ กกต. กำหนดไว้แล้วว่าวันออกเสียงประชามติคือ 10 มกราคม 2559

เหตุที่กำหนดวันนั้น คุณศุภชัย สมเจริญบอกว่าเพราะรองนายกฯวิษณุ เครืองามได้ประกาศว่าวันทำประชามติควรจะอยู่ระหว่าง 30-45 วันหลังจากหนังสือร่างรัฐธรรมนูญส่งถึงเจ้าบ้านคนสุดท้าย

ประธาน กกต. บอกว่าจะต้องประสานกับไปรษณีย์ไทย เพื่อจัดการส่งหนังสือถึงผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งให้หมดภายในเส้นตาย “หรืออย่างน้อยก็ต้องส่งให้ได้ 80%”

ซึ่งก็แปลว่าไม่ทุกคนจะได้หนังสือร่างรัฐธรรมนูญ แต่การไม่ได้หนังสือไม่ใช่ข้ออ้างว่าไม่รู้ว่าเขากำลังจะทำอะไรกัน เพียงแต่ “ความเป็นประชาธิปไตย” จะขาด ๆ วิ่น ๆ ตามประสาประเทศไทย

อีกทั้งยังไม่แน่ว่าการไปใช้สิทธิแสดงประชามติครั้งนี้จะถือว่าเป็น “หน้าที่” ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนหรือเป็นเรื่องของความสมัครใจ

งบประมาณที่ใช้อยู่ที่ใกล้ๆ 3,000 ล้านบาท น้อยกว่าค่าใช้จ่ายสำหรับจัดการเลือกตั้งประมาณ 400 ล้านเพราะจะไม่มีการลงคะแนนเสียงของคนไทยในต่างประเทศ

ที่ไล่เรียงมาให้ทราบก็เพื่อจะได้เริ่มทำความเข้าใจกับบางส่วนของ Roadmap ทางการเมืองสำหรับคนไทยทั่วไป

เฉพาะกรณีที่ สปช. ลงมติวันที่ 4 กันยายนให้ผ่านร่างรัฐธรรมนูญ
แต่หาก สปช. มีมติ “คว่ำ” ร่างรัฐธรรมนูญ, ก็ต้องเป็นตารางเวลาอีกอย่างหนึ่ง เพราะจะต้องมีการร่างใหม่ นับหนึ่งใหม่ และวันเลือกตั้งครั้งใหม่ก็จะต้องเลื่อนออกไปอีกนะครับ

กรณีนั้นก็ต้องมาไล่เรียงกันอีกทีในคอลัมน์นี้ครับ

ไม่มีความคิดเห็น: