PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2558

รู้ัจัก"วิรไท สันติประภพ"แคนดิเดต ผู้ว่าแบงค์ชาติคนใหม่

ผู้สมัคร แบงก์ชาติ ธปท. คลัง
ดูเส้นทาง 'วิรไท สันติประภพ' แคนดิเดต 'ผู้ว่าการแบงก์ชาติ' โดย ฟองสนาน จามรจันทร์
ดูเส้นทาง 'วิรไท สันติประภพ' แคนดิเดต 'ผู้ว่าการแบงก์ชาติ'  โดย ฟองสนาน จามรจันทร์
Last updated: 18 June 2015 | 04:09
งวดเข้ามาทุกทีกับผู้สมัครผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะเสนอให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังไม่รู้รายชื่อเป็นใคร..แต่ขอขึ้นประวัติไว้ก่อน...เผื่อได้รับเลือกเป็นผู้ว่าธปท..ขึ้นมา

เริ่มต้นจากที่มาของชื่อ ‘วิรไท’ ซึ่งได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อันมีความหมายว่า ผู้มีเสรีแกล้วกล้า เกิดและโตในครอบครัวของ ‘ขุนนางตงฉิน’ พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ แวดล้อมไปด้วยการเอาใส่ดูแลจากคุณแม่และคุณยายที่ปลูกฝังความละเอียดอ่อนในหลายๆ ด้าน พร้อมๆ กับพี่ชาย คือ ดร.ประทิต และ พ.ญ.จีรันดา ผู้เป็นน้องสาว ซึ่งเรียนเก่งและประสบความสำเร็จไม่แพ้กัน
ด้วยวัย 18 ปีเศษ ขณะที่คนทั่วไปเพิ่งจะสอบเอ็นทรานซ์แต่เขาเป็นเศรษฐศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง พร้อมรางวัลทุนภูมิพลจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากนั้นได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดลเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นดุษฎีบัณฑิตที่มีคุณภาพด้วยอายุเพียง 24 ปีซึ่งทั้งธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ตอบรับเข้าทำงาน โดยตัดสินใจร่วมงานกับองค์กรหลัง ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านนโยบายเศรษฐกิจแก่ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะนโยบายด้านระบบการเงิน ให้แก่ประเทศเกิดใหม่หรือประเทศที่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ จนกระทั่งเมื่อประเทศไทยประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 กระทรวงการคลังต้องการก่อตั้งสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจ (Think Tank) จึงเป็นโอกาสให้เขาได้นำความรู้กลับมาสนองคุณแผ่นดินนับแต่นั้นมา คงไม่แปลกที่คำถามแรกซึ่งหลายคนอยากรู้และเราก็ได้ไขคำตอบมาให้ว่าที่บ้านเลี้ยงอย่างไรและให้กินอะไรถึงทำให้ลูกเก่งกาจทุกคน
“ที่สำคัญคือที่บ้านให้เรียนในสิ่งที่แต่ละคนสนใจและให้ทำในสิ่งที่แต่ละคนชอบ พี่น้องแต่ละคนจึงต่างกันโดยสิ้นเชิงและก็ต่างจากคุณคุณพ่อคุณแม่ คือเราเรียนกันไปคนละทิศละทาง และมีความสนใจที่ต่างกันมาก ผมเชื่อว่าทุกคนมีความเก่ง ความเด่นของตนเอง เพียงแต่ต้องค้นหาตัวเองให้พบ ถ้าได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ ได้ใช้ศักยภาพของตัวเองเต็มที่ความเก่งนั้นก็จะออกมาเอง ซึ่งโลกเดี๋ยวนี้ก็เปิดกว้างขึ้นเยอะ ความเก่งจะหลากหลายแตกต่างกันได้มากขึ้น”
“หลังจากกระทรวงการคลังขอยืมตัวผมจาก IMF มา 2 ปี สิ่งที่ทำให้ผมตัดสินใจกลับมาอยู่ที่เมืองไทยก็เพราะอยู่เมืองไทยสนุกกว่าและอยากอยู่กับบ้านกับเพื่อนมากกว่าที่จะกลับไปใช้ชีวิตที่วอชิงตันฯ อีกจุดหนึ่งคือผมเริ่มเบื่อการเดินทางที่ต้องใช้ชีวิตตะลอนๆ ไปทำงานตามเมืองต่างๆ
“การทำงานที่ IMF ช่วงแรกๆ สนุกมากเพราะได้เห็นโลกทั้งโลก เห็นปัญหาทางเศรษฐกิจจากทวีปต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแอฟริกา ตะวันออกกลาง เอเชียกลาง หรือยุโรปตะวันออก ซึ่งรวมทั้งประเทศเกิดใหม่ที่เพิ่งแตกตัวออกจากสหภาพโซเวียต หรือประเทศที่เพิ่งสงบจากสงครามกลางเมือง เห็นประเทศที่เริ่มจากศูนย์ และเห็นประเทศที่เคยมั่งคั่งแต่ตกต่ำจากการบริหารงานผิดพลาด งานของผมเกี่ยวกับระบบสถาบันการเงิน และระบบธนาคารกลาง ที่ไหนมีปัญหาก็ถูกส่งไปซึ่งทำให้ต้องเดินทางไปทั่วโลก แต่ละประเทศจะมีปัญหาความซับซ้อน ยากง่ายแตกต่างกันไป จนมาอยู่เมืองไทยช่วงวิกฤติ ได้มีส่วนแก้ปัญหาของประเทศตัวเอง และเห็นว่าคุณพ่อคุณแม่เริ่มมีอายุมากขึ้น เพื่อนฝูงก็อยู่เมืองไทยซะเป็นส่วนใหญ่ เมื่อครบกำหนดที่ลามาช่วยกระทรวงการคลังจึงลาออกจาก IMF แล้วมาทำงานที่ไทยพาณิชย์”
ประสบการณ์ที่สั่งสมมาบวกกับความรู้ระดับหัวกะทิ ได้มีส่วนให้ชีวิตการทำงานในสถาบันการเงินไทยมีสีสันที่แตกต่างออกไป ได้รับผิดชอบงานในหลายส่วนขององค์กรจนกระทั่งเมื่อสองปีที่แล้วได้รับตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ด้วยอายุเพียง 36 ปี นับว่าเป็นผู้บริหารระดับสูงที่อายุน้อยที่สุดคนหนึ่งของธนาคาร
“ผมเชื่อว่าการเรียนรู้มันไม่หยุดนิ่ง การทำงานบางอย่างจะรอให้มีความพร้อมก่อนไม่ได้ อาจต้องเรียนไป รู้ไป ปรับปรุงตัวเองไป สิ่งสำคัญที่สั่งสมมาคือผมเป็นคนชอบแก้ปัญหา ตั้งแต่อยู่ IMF งานหลักก็คือการแก้ปัญหา มาอยู่กระทรวงการคลังช่วงที่วิกฤตเศรษฐกิจรุนแรงมาก มีปัญหาใหม่มาให้ต้องคิดต้องแก้ทุกวัน ช่วงนั้นเป็นช่วงที่รัฐบาลต้องกระตุ้นเศรษฐกิจแต่ไม่มีเงิน การเมืองไม่นิ่งมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่รู้กี่ครั้ง ธนาคารกับบริษัทเงินทุนหลายแห่งต้องล้มลง ทำให้เป็นนิสัยว่าถ้าพบปัญหาจะต้องคิดและลงไปช่วยจัดการแก้ไข ทักษะนี้กลายเป็นนิสัยที่มีประโยชน์มากต่องานปัจจุบัน”
“ชีวิตการทำงานจะวุ่นวายหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับตัวเราเองว่าจัดตารางอย่างไร งานสมัยนี้ไม่ใช่ 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น สไตล์การทำงานของผมคือจะทำเต็มที่ แต่เมื่อถึงเวลาพักจะหยุดไปเที่ยวหลายวัน และหยุดเที่ยวปีละหลายครั้ง ลักษณะงานของผมคือเรื่องของกลยุทธ์ การวางแผน ไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะเสร็จตอนเย็นก่อนกลับบ้าน บางช่วงมีโปรเจคต์ซึ่งมีกำหนดเวลา วันหยุดก็ต้องทำให้เสร็จ”
“โลกปัจจุบันเต็มไปด้วยการแข่งขันและเป็นความจริงของชีวิตที่หยุดนิ่งไม่ได้ โลกจะ demanding มากขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้มีแรงก็ทำเต็มที่ ผมว่าคนไม่ได้เกษียณตอน 60 แล้ว คุณพ่อผม 74 ก็ยังทำงานมาก ปัญหาของผมอีกอย่างคือ เป็นคนชอบทำหลายๆ อย่าง ไม่ชอบทำอย่างเดียวที่จำเจ หลายคนรู้จักผมในฐานะที่ทำงานธนาคาร หลายคนรู้จักผมในฐานะนักเศรษฐศาสตร์บ้าง อาจารย์บ้าง และหลายคนรู้จักผมผ่านกิจกรรมสังคม สมาคมต่างๆ ผมคิดว่าการทำหลายอย่างเป็นสีสันของชีวิต เปิดโลกของเราให้กว้างขึ้น อาจจะตรงกับความหมายของชื่อ ‘วิรไท’ ที่ชอบความมีเสรี ผมจะเบื่อถ้าต้องทำงานเพียงอย่างเดียว”
“ผมชอบเดินทางและมีกลุ่มเพื่อน ‘บักก็ทัวร์’ ผมมักเป็นตัวตั้งตัวตีจัดทริปอยู่เรื่อย เมื่อทำงานช่วงหนึ่งก็จะลาไปเที่ยว ตัดตัวเองออกจากงานประจำวันที่มีเรื่องค่อนข้างมาก เวลาเดินทางก็มักจะไปในเมืองที่ถูกถามว่าไปทำไม เช่น โอมาน อินเดีย ศรีลังกา ผมชอบไปเที่ยวในสังคมอีกแบบหนึ่ง ชอบดูพิพิธภัณฑ์ ดูวิถีชีวิตที่ต่างออกไป และธรรมชาติ ที่ทำงานจะพบแต่ปัญหากับคน เมื่อพักก็มักจะไปในที่ที่ไม่ต้องพบคนมาก ผมชอบเมืองที่มีทั้งประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม และธรรมชาติ ในเมืองไทย เชียงใหม่เป็นเมืองโปรด เพราะสามารถเดินเข้าไปดูของเก่าในวัดไหนก็ได้ และเพียง 20 นาทีก็สามารถขึ้นไปอยู่บนดอยได้ เวลาที่ไปอยู่ในที่ที่ต่างออกไป จะช่วยให้เราจัดความคิดที่วุ่นวายเข้าลิ้นชัก เห็นวิถีชีวิตคนอื่น แล้วจะเห็นว่าปัญหาของเราไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ผมจึงหนีไปชาร์ตแบตเตอรี่ให้ตัวเองประจำ แต่วิธีพักของผมไม่ใช่ประเภทที่ไปนั่งๆ นอนๆ ชายหาด”
“ผมมักจะถูกถามว่าชีวิตประสบความสำเร็จตามแผนที่วางไว้หรือไม่ พ่อแม่ที่มีลูกเรียนหนังสือดี มักจะถามว่าควรวางแผนให้ลูกอย่างไร ชีวิตผมอาจจะไม่ใช่ชีวิตที่มีการวางแผน แต่เป็นชีวิตที่มีโอกาสดีในแต่ละช่วง และใช้โอกาสเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ ตอนม.4 จำได้ว่าไปเล่นดนตรีไทยเป็นเดือนๆ ไม่ชอบเรียนหนังสือ และไม่เคยเรียนพิเศษ แต่พอสอบเทียบได้ และสอบเข้าได้คณะที่ชอบ จึงรู้ตัวว่าไม่มีพื้นความรู้พอ ต้องตั้งใจเรียน จากที่เคยเล่นบ้างเรียนบ้าง ตอนสมัครเรียนต่อปริญญาเอกก็ไม่รู้ว่าจะได้ที่ไหน หลายมหาวิทยาลัยก็ปฏิเสธ ผมไม่ได้วางแผนระยะยาวแต่ผมถือว่าในแต่ละช่วงเวลาจะตั้งใจทำให้ดีที่สุด ให้คุ้มกับโอกาสที่มี”

First posted: 18 June 2015 | 02:55

ไม่มีความคิดเห็น: