PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2558

จีนในมุมมองของไทม์ โดย : ดร.ไสว บุญมา



28082558 จีนในมุมมองของไทม์ โดย : ดร.ไสว บุญมา
จีนเป็นข่าวพาดหัวต่อเนื่องมาหลายสัปดาห์ ขณะที่เขียนบทความนี้เมื่อค่ำวันอังคาร
เหตุการณ์ที่เป็นข่าวใหญ่ได้แก่ จีนลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 4.6 และดัชนีตลาดหุ้นนครเซี่ยงไฮ้ลดลงมาอีกร้อยละ 7.6 หลังจากเพิ่งลดเมื่อวันจันทร์ร้อยละ 8.5 ทันทีที่เปิดทำการ ตลาดหุ้นในยุโรปต่างพากันพุ่งขึ้นต้อนรับข่าว ผู้มีบทบาทในตลาดเหล่านั้นคงมองกันว่า การลดดอกเบี้ยของจีน จะมีผลดีเกินผลเสียอันเกิดจากปัจจัยที่ทำให้ตลาดหุ้นนครเซี่ยงไฮ้ ลดลงมากสองวันติดต่อกัน ทั้งที่การลดลงเมื่อวันจันทร์เพิ่งส่งผลให้ดัชนีของตลาดหุ้นใหญ่ๆ ติดลบกันอย่างทั่วถึง ส่วนตลาดหุ้นในนครนิวยอร์กเปิดเป็นบวกแต่ปิดติดลบ ท่ามกลางความผันผวนที่ทำให้โลกดูป่วนปั่นอย่างกว้างขวางนี้ นิตยสารไทม์ประจำวันที่ 31 สิงหาคม ซึ่งพิมพ์ออกมาล่วงหน้าหลายวัน เสนอบทวิเคราะห์จีนขนาดยาว หลังจากนั้น นิตยสารนำการอ่านเหตุการณ์รายวันมาเสนอเพิ่มเติมทางอินเทอร์เน็ต มุมมองของไทม์น่าพิจารณา จึงขอนำมาเล่าต่อ
ไทม์แยกมองจีนเป็นสองส่วน นั่นคือ ในระยะสั้นและในระยะยาว ในระยะสั้น นิตยสารสรุปว่า จีนจะไม่มีปัญหาร้ายแรงมากถึงขนาดควบคุมไม่ได้ ไทม์อ้าง 2 ปัจจัยหลักๆ ได้แก่ เงินสำรองกองมหึมา และกลไกที่รัฐบาลสามารถนำมาใช้ได้ทันทีหากมีความจำเป็น
ในขณะนี้จีนมีเงินสำรองในรูปของเงินตราต่างประเทศถึง 4 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่าของญี่ปุ่นเกิน 2 เท่า จีนสามารถใช้เงินสำรองกองมหึมานั้นกระตุ้นเศรษฐกิจภายในได้ หรือจะใช้ลงทุนในต่างประเทศก็ได้เช่นกัน จากมุมมองของการขยายตัว แม้อัตราจะลดลงมามาก แต่เศรษฐกิจจีนยังขยายตัวในอัตราราวร้อยละ 7 ซึ่งสูงกว่าของประเทศทั่วโลก การขยายตัวในอัตรานั้น ได้ทำให้ขนาดเศรษฐกิจจีนแซงหน้าเศรษฐกิจสหรัฐตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว หากวัดตามความเท่าเทียมกันของกำลังซื้อ (purchasing power parity) ขนาดที่ใหญ่ และอัตราการขยายตัวที่สูงกว่าของชาวโลก เศรษฐกิจจีนจะเป็นหัวจักรหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกให้เดินไปข้างหน้าต่อไป นั่นหมายความว่าจีนจะมีอิทธิพลมากขึ้น
มหาอำนาจต่างๆ ทั้งที่เป็นมิตรและปฏิปักษ์ของสหรัฐ มองเห็นภาพดังกล่าว จึงต่างแสดงความเป็นมิตรต่อจีน ทั้งที่สหรัฐมีท่าทีไม่เห็นด้วย อังกฤษซึ่งเป็นพันธมิตรสนิทของสหรัฐมานานและเยอรมนี จึงเข้าร่วมเป็นผู้ก่อตั้งธนาคารเอเชียเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Asia Infrastructure Development Bank) ที่จีนเป็นหัวจักรใหญ่ในการก่อตั้ง ส่วนรัสเซียซึ่งกำลังมีปัญหาสาหัสกับประเทศยุโรปตะวันตก ก็หันมาพึ่งตลาดจีนมากขึ้น ในขณะที่อินเดียซึ่งมีประชากรขนาดใหญ่ไล่เลี่ยกับจีน ยังขยายตัวได้ไม่เร็วนัก ส่งผลให้ขนาดเศรษฐกิจของอินเดียเป็นเพียงราว 1 ใน 3 ของจีนเท่านั้น
สำหรับในด้านกลไก ไทม์มองว่าประธานาธิบดีคนใหม่ของจีน สามารถรวบอำนาจไว้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแล้ว ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีความจำเป็น เขาจะสามารถใช้อำนาจนั้นสานต่อสิ่งต่างๆ ได้ รวมทั้งการขับเคลื่อนการค้ากับการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งจะเสริมบทบาทของจีนในสังคมโลกให้สูงขึ้นอีก
สหรัฐเข้าใจสภาวการณ์นี้ดี และพยายามที่จะคงไว้ซึ่งอิทธิพลของตนเอง แต่ก็ทำไม่ได้ถนัดนัก เนื่องจากปัญหาใหญ่ๆ ในภาคอื่นของโลกที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในย่านตะวันออกกลาง แม้ไทม์จะมิได้เขียนออกมา แต่บทความตอนนี้อาจตีความหมายได้ว่า สหรัฐกำลังตกอยู่ในสภาพหมาหัวเน่า
สำหรับในระยะยาว จีนจะต้องเผชิญกับปัจจัยในทางลบหลายอย่าง ฉะนั้น จีนจะสามารถขยายบทบาทต่อไปได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับนโยบายที่จะใช้กับปัจจัยเหล่านั้น ปัจจัยแรกได้แก่พฤติกรรมตอบสนองของชาวจีน ต่ออิสรภาพที่ตนได้รับเมื่อรัฐเปิดโอกาสให้มีบทบาทมากขึ้น ความผันผวนสูงของตลาดหลักทรัพย์ และค่าเงินพร้อมกับความกดดันในด้านอื่น อาจทำให้ชาวจีนตัดสินใจทำอะไรที่ก่อให้เกิดอุปสรรคใหญ่หลวง จนการพัฒนาเดินหน้าต่อไปไม่ได้
ประการที่สอง นโยบายที่จำกัดให้ครอบครัวจีนมีลูกได้คนเดียว กำลังส่งผลให้อัตราชาวจีนสูงวัยเพิ่มขึ้นไปอย่างรวดเร็ว ญี่ปุ่นและหลายประเทศในยุโรป กำลังเผชิญกับปัญหานี้ แต่พวกเขามีข้อได้เปรียบจีน ตรงที่ตอนนี้เศรษฐกิจของพวกเขาก้าวหน้า และพวกเขาร่ำรวยกว่าจีน เมื่อจีนเริ่มมีประชากรสูงวัยในอัตราสูง จนสูญความได้เปรียบในด้านขีดความสามารถในการแข่งขัน จีนจะยังไม่ร่ำรวยในระดับเดียวกับประเทศเหล่านั้น ในขณะเดียวกัน สหรัฐร่ำรวยกว่า แต่ไม่เผชิญปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้างของประชากรเช่นเดียวกับจีน ฉะนั้น ในระยะยาว สหรัฐจะได้เปรียบจีนในด้านขีดความสามารถในการแข่งขัน
ปัจจัยที่สาม เท่าที่ผ่านมา การพัฒนาเศรษฐกิจของจีนก่อให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงต่อสิ่งแวดล้อม ในบรรดาเมืองขนาดใหญ่ของจีน 500 เมือง ไม่กี่เมืองมีสภาพอากาศดีพอ ที่จะใช้หายใจได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แหล่งน้ำบนดินราวหนึ่งในสาม และแหล่งใต้ดินราวร้อยละ 60 สกปรกจนใช้อาบกินไม่ได้ แม้รัฐบาลจะพยายามแก้ไข แต่ก็ยังไร้ผล การระเบิดของคลังสินค้าที่นครเทียนจิน แสดงให้เห็นถึงความบกพร่องของการควบคุมสารอันตราย
โดยรวม ไทม์มองว่า ในช่วงนี้จีนมีบทบาทสูงจนเรียกได้ว่าเป็น “ทศวรรษของจีน” (The China Decade) แต่มิได้ฟันธงลงไปว่า ทศวรรษของจีนจะจบลงอย่างไร ทั้งนี้ เพราะส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับปฏิกิริยาตอบสนองของสหรัฐต่อบทบาทของจีน ไทม์มองว่า ถ้าสหรัฐแสดงความเป็นปฏิปักษ์ออกมา จนจีนไม่สามารถพัฒนาต่อไปตามความปรารถนาอย่างราบราบรื่นได้ โลกจะตกอยู่ในภาวะอันตราย สูงกว่าในกรณีที่จีนพัฒนาได้อย่างราบรื่น แม้จีนจะเป็นคู่แข่งที่แข็งแกร่งเพิ่มขึ้นของสหรัฐก็ตาม
มุมมองของไทม์ชวนให้เกิดคำถาม ผู้นำสหรัฐคนต่อๆ ไปจะฉลาดแค่ไหนหนอ?

ผบทบ. เตือน อย่าตกใจ ตั้ง คปป. เชื่อเป็นเจตนาดีของกมธ.ยกร่างฯ

ผบทบ. เตือน อย่าตกใจ ตั้ง คปป. เชื่อเป็นเจตนาดีของกมธ.ยกร่างฯ แจง 2 พรรคใหญ่ต้าน ร่าง รธน. ให้เป็นหน้าที่ของ สปช.ที่จะพิจารณา ขอบคุณ สปช.ผ่านงบฯ 59 ระบุงบฯกองทัพบก ส่วนใหญ่เป็นเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง ส่วนการปรับเปลี่ยนยุทธโธปกรณ์ เพื่อให้มีศักยภาพทัดเทียบนานาประเทศในประชาคมอาเซียน น่าเกรงขาม
พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมว.กลาโหม และ ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวถึง กรณี 2 พรรคการเมืองใหญ่ออกมาคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ ที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)นั้น ว่า เป็นเรื่องของสปช.ที่จะต้องใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาเรื่องนี้ว่าจะเหมาะสมอย่างไร ส่วนตนเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพที่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล ไม่สามารถชี้นำก้าวล่วงได้ แต่คิดว่าคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพยายามที่จะนำปัญหาเดิมที่มีอยู่ว่าจะทำอย่างไรต่อไปให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติมากที่สุด แต่แนวความคิดและเหตุผลอาจจะต้องดูรายละเอียดกันอีกครั้ง ขอให้สปช.และส่วนที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป ส่วนตนก็จะติดตามดูเช่นกัน
ส่วนที่นักการเมืองพยายามเรียกร้องให้ คสช.เปิดกว้างในการแสดงความคิดเห็นนั้น พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า ก็คงพยายามที่จะให้โอกาสอยู่แล้ว และจะดูต่อไปว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะให้ประชาชนรับรู้มากยิ่งขึ้น แต่วิธีการจะดำเนินการอย่างไร ถ้าดูแล้วไม่มีปัญหาเรื่องการก่อความไม่เรียบร้อย ก็คงจะพิจารณาและให้ดำเนินการต่อไป ตนอยากจะสนับสนุนแต่ก็คงต้องดูรายละเอียดอีกครั้ง ทั้งนี้ในหลักการการสร้างความรับรู้เป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ได้เน้นย้ำเสมอ และปัจจุบันอยากให้ประชาชนส่วนต่างๆ รับรู้และความเข้าใจในเรื่องต่างๆ รวมถึงเรื่องนี้ด้วย
ต่อข้อถามว่ามีหลายฝ่ายเห็นว่าการมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปรองดองและการปฎิรูปแห่งชาติ (คปป.) เป็นอำนาจที่ซ้ำซ้อน พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า คณะกรรมาธิการยกร่างฯได้ให้ความเห็นแล้วว่าร่างตรงนี้ทำมาเพื่ออะไร บางทีอาจตกใจกันเกินไป แต่ก็เป็นเรื่องความคิดเห็น ซึ่งเราก็ต้องพยายามฟัง ตนเห็นว่าบางครั้งก็ไม่ฟังเหตุผลกัน เมื่อมีการคิดก็พูดออกมา ที่ผ่านมาเราเปิดโอกาสให้หลายส่วนเข้ามาชี้แจงในรายการต่างๆ ของคสช. ขอให้รับฟังกันตรงกัน ถ้ารับไม่ได้ก็เป็นเรื่องการพิจารณาของสปช.ต่อไป
เมื่อถามว่า การลตั้ง คปป.ถือว่าเป็นเจตนาดีของผู้ร่างใช่หรือไม่ พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า ตนคิดว่าเป็นเช่นนั้น อย่าไปมองว่าจะแฝงอำนาจเพียงอย่างเดียว เพราะบางครั้งเป็นเรื่องที่จะทำอย่างไรให้ประเทศเดินหน้าพัฒนาทุกด้าน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับ สปช.จะพิจารณากันอีกครั้ง ซึ่งก็ต้องทำความเข้าใจกันต่อไป
รมช.กลาโหม กล่าวถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์ผ่านวาระ 3 ร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2559 วงเงิน 2.72 ล้านล้านบาทว่า ในส่วนของกองทัพบกไม่น่าจะมีอะไร ทาง สนช.มีการปรับบ้างเล็กน้อย แต่เป็นที่น่ายินดีว่าโดยภาพรวมก็ได้รับงบประมาณเพิ่มเติมมาเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้งบประมาณส่วนใหญ่ของกองทัพบกเป็นงบประมาณด้านกำลังพล เพราะจะต้องดูแลค่าใช้จ่ายให้กำลังพล ทั้งเรื่องเงินเดือน และเบี้ยเลี้ยงต่างๆ ประมาณเกือบ 60% ส่วนเรื่องภารกิจและงานพัฒนาอื่นๆ ทางกองทัพบกจะต้องจัดสรรงบประมาณโดยการปรับเปลี่ยนยุทโธปกรณ์ต่างๆ อาจมีบ้าง แต่ไม่มากนัก เราพยายามคงสภาพเพื่อให้ศักยภาพกองทัพบกไม่ลดน้อยลงในสายตาของมิตรประเทศ บางครั้งประชาชนอาจะไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเสริมสร้างยุทโธปกรณ์บางอย่าง ขอชี้แจงว่าทุกอย่างล้วนมีความจำเป็นในศักยภาพ ซึ่งไม่จำเป็นต้องไปทำการรบ แต่เรากำลังก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ดังนั้นศักยภาพและสิ่งต่างๆ ต้องเกื้อกูลการดำรงอยู่ด้วยกัน มีความทัดเทียมกัน
“ขณะนี้มิตรประเทศหลายประเทศ มีความก้าวหน้าในส่วนนี้มาก แต่ของไทยถือว่ายังอยู่ในระดับที่ดี ไม่ว่าจะกองทัพใดก็ต้องพยายาม ขอให้ประชาชนสบายใจว่าทุกอย่างเป็นไปตามความเหมาะสมและความจำเป็น ไม่มีใครอยากนำงบประมาณไปใช้สุรุ่ยสุร่ายหรือจับจ่ายใช้สอยในทางที่ไม่เหมาะสม ทุกคนมีความระมัดระวังและระลึกเสมอว่าจะต้องทำให้ประเทศอยู่ในภาพลักษณ์ที่ดีมีความน่าเกรงขามในระดับที่เป็นที่ยอมรับ มีการพัฒนาด้านต่างๆ เป็นสากลทุกเรื่องตามนโยบายนายกรัฐมนตรี แม้ว่าอาจจะถูกปรับลดบางหมวด แต่ก็ต้องขอบคุณสนช. และคณะกรรมาธิการที่พิจารณาเรื่องนี้ด้วยความรอบคอบ กองทัพบกสามารถดำเนินการได้ตามงบประมาณที่ได้รับ”

กมธ.ร่างรธน. ตั้ง4คำถามให้นักการเมืองค้านร่างรธน.ตอบ

Chaiwat Suravichai

28082558 กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ออกมาอธิบายความ มีหมอชูชัย คุณคำนูญ พลเอกเลิศรัตน์ ดร.จรัส และดร.เอนก ฯ โปรดอ่าน
กมธ.ร่างรธน. ตั้ง4คำถามให้นักการเมืองค้านร่างรธน.ตอบ
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
กมธ.ร่างรธน. ตั้ง4คำถามให้นักการเมืองค้านร่างรธน.ตอบ
ปมสานต่อปฏิรูป-การแก้ปัญหา-ยอมรับผลประชามติหรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการเปิดเวทีของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ พบสื่อมวลชน เพื่อชี้แจงและตอบข้อซักถามต่อประเด็นเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญและประเด็นที่เกี่ยวข้อง เป็นวันสาม
@ นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ รองประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ คนที่หก
ได้ตั้งคำถามไปยังนักการเมืองและพรรคการเมืองที่มีความเคลื่อนไหวโจมตีร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญนำเสนอให้กับสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบว่า
ตนขอตั้งคำถามกลับไปยังนักการเมืองและขอให้ชี้แจงหรือตอบคำถามด้วย
1. หากประชาชนเห็นชอบกับร่างรัฐธรมนูญฉบับปฏิรูป ซึ่งมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ทำหน้าที่ติดตามงานปฏิรูปและแก้วิกฤตความขัดแย้งในบ้านเมือง จะถือว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปเป็นประชาธิปไตยหรือไม่,
2.ก่อนการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ยอมรับหรือไม่ว่าวิกฤตบ้านเมืองที่เกิดขึ้นเพราะคนกลุ่มหนึ่งพยายามผ่านร่างพระราชบัญญัติฉบับหนึ่งในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นถือเป็นประชาธิปไตยหรือไม่,
3.รัฐบาลที่ปฏิบัติหน้าที่ก่อนวันที่ 22 พ.ค. 2557 ได้ปฏิรูปในเรื่องที่ประชาชนเรียกร้องใดบ้าง ขอให้ยกตัวอย่างเพียงเรื่องเดียว
อย่างไรก็ตามในประเด็นดังกล่าวตนในฐานะคณะกรรมการติดตามการปฏิรูปตามมติของสมัชชาการปฏิรูปที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน และนพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน
ได้ติดตามงานปฏิรูปที่ส่งไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งแบบทางการและไม่เป็นทางการ ไม่ปรากฎว่าครม.จะนำประเด็นปฏิรูปเข้าที่ประชุมครม. แม้เพียงวาระรับทราบ
ดังนั้นกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญมีกลไกพิเศษเพื่อทำหน้าที่กำกับการปฏิรูป เพื่อเป็นหลักประกันว่าการปฏิรูปจะได้รับการปฏิบัติ ถือว่ามีความเป็นประชาธิปไตยกว่าที่ผ่านมา และ
4.ร่างรัฐธรมนูญฉบับปฏิรูปมีกลไกที่กำกับการใช้จ่ายเงินแผ่นดินของรัฐไปในทางที่ไม่รับผิดชอบ ด้วยการกำหนดให้การแปรญัตติปรับลดงบประมาณห้ามไปใช้เพื่อเป็นงบของส.ส.ถือเป็นประชาธิปไตยมากกว่าที่เคยเป็นหรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในเวทีซักถามมีประเด็นเกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ
ต่อประเด็นกลไกการเสริมสร้างความปรองดองและสมานฉันท์ระหว่างคู่ขัดแย้ง และให้อำนาจสั่งการในการดำเนินการระงับความขัดแย้งหรือรุนแรงที่เป็นการขัดขวางการปฏิรูป ซึ่งเป็นบทบัญญัติในมาตรา 261 (4) และ (5)จะมีหลักประกันว่าจะไม่เลือกปฏิบัติหรือแบ่งขั้นทางการเมือง
@ โดยกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้ช่วยตอบคำถามดังกล่าว ได้แก่
นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ.ร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า
เป็นความพยายามของกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ต้องการตอบโจทย์ดังกล่าว
ด้วยการกำหนดกลไกหรือเครื่องมือที่ควบคู่กับระบอบการเมืองปกติ
ส่วนหลักประกันของกลไกจะสร้างความปรองดองได้จริง
ต้องขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาชนทุกฝ่ายที่เป็นตัวละครของความขัดแย้ง
ทั้งนี้ยอมรับว่าการปฏิรูปที่มีผลเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง
และพรรคการเมืองไม่ทำ
เนื่องจากกระทบต่อฐานคะแนนเสียง
การปรองดองยากจะทำ
เพราะพรรคการเมืองมีจุดยืนของตนเอง
รวมถึงมีมวลชนของตนเองที่ต้องรักษาไว้
ดังนั้นกลไกของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ เสมือนเป็นผู้ช่วยรัฐบาล
ในการดำเนินการปฏิรูปเรื่องยาก ๆ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องบริหารของรัฐบาล

@ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษา และโฆษกกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า
อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ที่มีวาระทำงาน 5 ปี
โดยเริ่มนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ดังนั้นจะมีระยะปฏิบัติงานคือช่วง 1 รัฐบาลเท่านั้น อย่าลืมว่าองค์ประกอบของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ มีภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
อาทิ ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของรัฐมนตรีกลาโหม
หากนายกฯ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมก็จะเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรง
ดังนั้นคาดหวังว่ากรรมการยุทธศาสตร์ฯ จะทำงานเพื่อบ้านเมือง
"ผมไม่อยากให้มองในแง่เลวร้าย หรือแง่ลบว่าจะห้ำหั่นหรือควบคุมกัน
เพราะจะไม่ทำให้บ้านเมืองขับเคลื่อนหรือเดินหน้าไปได้
ผมขอให้มองในแง่ดี ในกรณีที่จะมีกลไกช่วยรัฐบาลในการปฏิรูป
ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีเคยบทบัญญัติใดกำหนดไว้
ซึ่งการปฏิรูปเป็นเจตจำนงของคนส่วนใหญ่ที่ผ่านมาและอนาคต
ดังนั้นอย่าไปมองเรื่องการทะเลาะ หรือแย่งกันทำงาน
ควรมองในสิ่งที่ดี ผมเชื่อว่าผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่บริหารบ้านเมืองทุกวันนี้
เขาหวังให้ประเทศเดินไปด้วยดี หากคนเหล่านี้จะมีส่วนในการดูแลการปฏิรูปประเทศต่อไป จ
ะไปทำให้ประเทศเสียหาย หรือจะรบราฆ่าฟันกับรัฐบาลใหม่ทำไม
ซึ่งคณะทหารที่เข้ามากี่ครั้งต่อกี่ครั้งก็กลับไปบ้านทั้งนั้น" พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าว
@ นายจรัส สุวรรณมาลา กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ชี้แจงด้วยว่า
อำนาจในมาตรา 261 (4) และ (5) เป็นอำนาจในการขับเคลื่อนการปฏิรูประเทศ
เนื่องจากเป็นวาระที่เสี่ยงที่รัฐบาลหรือใครที่เข้ามาจากการเลือกตั้งรับไปทำทั้งหมด
อย่างน้อยในช่วง 5 ปีแรก จึงต้องมีกลไกในการกำกับไว้
แต่หากช่วงเวลาดังกล่าวคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ใช้อำนาจเกินความจำเป็น
หรือใช้อำนาจที่ไม่เกี่ยวกับการผลักดันปฏิรูป ต้องถูกตรวจสอบผ่านทางศาลและรัฐสภา
ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่ากรณีที่กลุ่มที่มีความคิดตรงข้ามรัฐบาลหรือคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ และดำเนินการเคลื่อนไหว เช่น ตั้งหมู่บ้านเสื้อแดง หรือโรงเรียนประชาธิปไตย อำนาจที่กำหนดไว้ตาม มาตรา 261 จะใช้ดำเนินการได้หรือไม่
/@ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า
รัฐธรรมนูญไม่ใช่Hand Book ที่จะตอบอะไรได้ทั้งหมด
หน้าที่และความรับผิดชอบของนักการเมืองยังมีและต้องทำงานให้ดี ไม่ใช่ปล่อยให้รัฐธรรมนูญจัดการทั้งหมด
กรณีที่ถูกตั้งคำถามนั้นต้องสอบถามนักการเมืองด้วยเช่นกัน ว่ากรณีที่กลัวถูกคณะใดข่มเหง หากนักการเมืองทำดี จะเป็นพลังสนับสนุน และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ไม่กล้าทำอะไร
ดังนั้นอย่าคิดประเด็นในทางขวา หรือ ดำ
ทั้งนี้การร่างรัฐธรรมนูญไม่ใช่ยกร่างด้วยการคิดประเด็นใดล่วงหน้า
หรือจัดการได้ทั้งหมด หรือทุกเรื่อง ขณะที่เนื้อหาในร่างรัฐธรมนูญไม่ได้ปิดกั้นพรรคการเมืองใด

ร่างรธน.! ..ตอบโจทย์10เงื่อนไขรธน.(ชั่วคราว)มาตรา35


28082558 ดอนบวรศักดิ์ ค่อนข้างจะโมเม อ้างว่า ร่างรธน.ตอบโจทย์ ตามรธน.ชั่วคราว ม.35
ร่างรธน.! ..ตอบโจทย์10เงื่อนไขรธน.(ชั่วคราว)มาตรา35
ความเห็นฉันท์สหาย
1. รายการเหมาเข่งพูดคนเดียวของกมธ.ยกร่างและดอนบวรศักดิ์ ที่พูดเป็นวันที่ 3
นอกจากจะค่อนข้างโมเม ว่า ได้ตอบโจทย์ การปฏิรูปแล้ว
ประชาชนไทยและชาวบ้านสบายแล้ว ต่อไปนี้
จะได้มีสิทธิเสรีภาพ ได้รับความเป็นธรรม
และมีความเสมอภาคกันเต็มที่แล้ว
จริงฤา สหาย
ถามง่ายๆ หากรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ได้ตอบโจทย์ การแก้วิกฤตของสังคมไทยได้จริง
แล้ว ทำไมต้องมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ อยู่ต่อ อีก 5 ปี
2. ความเป็นสุภาพบุรุษนักวิชาการที่ดีที่ถูกที่ควร
ควรจะให้สปช. คณะอื่นๆอีกกว่า 200 คน ได้แสดงความเห็นบ้าง
โดยคณะปฏิรูปการเมือง ที่ถือหัวรถจักรในการขับเคลื่อนการปฏิรูป
แต่กลับเล่นบท " ช่างขอโทษ " เพียงรูปแบบ แต่ขาดความจริงใจ
แสดงว่า "รักสาว " ไม่จริง หรือ ไม่ชอบสาว
และต้องหัดใจกว้างบ้าง รับฟังข้อทักท้วงจากดร.สมบัติ และ อ.ธีรยุทธ บ้าง
เขามีเจตนาดีต่อบ้านเมือง และเคยต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยโดยเอาชีวิตเข้าแลกมาแล้ว
ขณะที่อาจารย์ไม่เคย จ้ะ
3. ควรอย่างยิ่งที่จะต้องพูดข้อท้วงติงของสปช. และต้องหาทางแก้ไข
๑. การที่รัฐธรรมนูญ ที่อ้างว่าสมบูรณ์ แก้ไม่ได้แล้ว แต่ขาด " คำปรารภ " ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ
๒. การใช้สิทธ ไปลงคะแนน รับไม่รับร่างรธน.6 กันยายน 2558 นี้ เป็นผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่
เอาแค่นี้ก่อน ที่รัก,
..........................
โดย : ขนิษฐา เทพจร สำนักข่าวเนชั่น
ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 35 กำหนดโจทย์ให้การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ “คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ”
ต้องดำเนินการครอบคลุม 10 เรื่อง และประเด็นพิเศษอีก 1 เรื่อง คือ การประเมินการมีอยู่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ และมาตรการตรวจวัดประสิทธิภาพ-ประสิทธิผลขององค์กร ล่าสุดเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ ที่เสนอให้ “สภาปฏิรูปแห่งชาติ” ได้เผยแพร่สู่สาธารณะแล้ว ซึ่งได้เขียนบทบัญญัติใหม่ที่ไม่เคยมีในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ครอบคลุมใน 10 โจทย์ คือ
1.การรับรองความเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้
จากบทบัญญัติในมาตรา 1 กำหนดให้ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกไม่ได้ มีส่วนที่เชื่อมโยงการที่เป็นกลไกเพื่อเป็นหลักไม่ให้ราชอาณาจักรหนึ่งเดียวถูกแบ่งแยก ในมาตรา 268 ในบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ กำหนดว่า “การขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ จะกระทำมิได้”
2.การให้มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทย
คำว่า การปกครองฯ ที่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทย “กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ” ให้นิยามไว้ว่า เป็นลักษณะการปกครองไทยที่ได้สถาปนามาตั้งแต่ พ.ศ.2475 คือรากฐานของประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจอธิปไตยผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล และการปกครองนั้นต้องดำรงไว้ซึ่งประเพณีการปกครอง ซึ่งการปกครองที่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทยไม่มีสิ่งใดที่ตายตัว ทั้งนี้ “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ" ประธานกรรมาธิการยกร่างฯ ได้ขยายความไว้ว่า สิ่งที่เหมาะสม คือการไม่มีความขัดแย้ง การชุมนุมที่ทำให้คนต้องเสียชีวิต หรือการรัฐประหาร รวมถึงการบริหารโดยรัฐบาลต้องได้รับการยอมรับจากสากล
ทั้งนี้ ในร่างรัฐธรรมนูญมีมาตราที่เกี่ยวโยง อาทิ มาตรา 7 วรรคสอง ที่ให้อำนาจ สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลฎีีกา ศาลปกครองสูงสุด หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงาน เมื่อเกิดการกระทำที่ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญรับรองไว้ โดยเป็นบทบัญญัติใหม่เพื่อแก้ไขประเด็นทางการเมืองที่เป็นปัญหา เช่น การขอนายกฯพระราชทาน เป็นต้น
มาตรา 165 ว่าด้วยให้มีบุคคลที่ไม่เป็น ส.ส.ได้รับเลือกจากสภาเป็นนายกฯ เพื่อแก้ปัญหากรณีการไม่ยอมรับในตัวนักการเมือง และมาตรา 138 วรรคสอง กำหนดให้ ส.ส.ฝ่ายค้านเป็นประธานกรรมาธิการสามัญคณะสำคัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลได้
3.กลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกัน ตรวจสอบ และขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งกลไกในการกำกับและควบคุมให้การใช้อำนาจรัฐเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและประชาชน
มาตรา 28 ว่าด้วยหน้าที่ของประชาชนชาวไทย ใน (5) กำหนดให้ประชาชนมีหน้าที่ป้องกัน ปฏิเสธ และต่อต้านการทุจริตประพฤติมิชอบ พร้อมกำหนดรายละเอียดที่เป็นส่วนขยายความไว้ในบทบัญญัติส่วนของการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบของชนชาวไทย มาตรา 69-72 ที่มีสาระสำคัญกำหนดให้บุคคลและกลุ่มบุคคลมีสิทธิเฝ้าระวังติดตามและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเพื่อประโยชน์ของการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ ในด้านการดำเนินงาน การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หน่วยงานรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ
รวมทั้งโยงหลักประกันของการตรวจสอบการใช้งบประมาณของหน่วยงานรัฐ ในมาตรา 48 วรรคท้าย ที่กำหนดให้รัฐเปิดเผยการจัดสรรงบประมาณที่ซื้อโฆษณาหรือบริหารอื่นจากสื่อมวลชน และมีขอบเขตของการดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้ ทั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหากรณีที่นักการเมืองใช้งบประมาณของรัฐเพื่อทำโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ตนเองเพื่อสร้างคะแนนนิยมให้ตนเองหรือพรรคการเมืองอย่างไม่เกิดประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริง
4.กลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันละตรวจสอบมิให้ผู้เคยต้องคำพิพากษา หรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเคยกระทำการอันทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต หรือเที่ยงธรรม เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด
มาตรา 108 ว่าด้วยลักษณะต้องห้ามบุคคลที่ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ใน (4) ซึ่งมีบทบัญญัติใหม่ที่ว่า “หลบหนีคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาหรือหลบหนีคดีที่มีโทษตามคำพิพากษา หรือกระทำการดังกล่าวจนขาดอายุความดำเนินคดีหรืออายุความลงโทษ” และ (14) ซึ่งมีบทบัญญัติใหม่ที่ว่า “ห้ามบุคคลที่ถูกถอดถอนเพราะส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายหรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง” ทั้งนี้ บทบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับแก่ ส.ส. ส.ว. และรัฐมนตรี
5.กลไกที่มีประสิทธิภาพที่ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและพรรคการเมืองสามารถปฏิบัติหน้าที่หรือดำเนินกิจกรรมได้โดยอิสระ ปราศจากการครอบงำหรือชี้นำโดยบุคคลหรือคณะบุคคลใด โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
มาตรา 76 มีบทกำหนดที่ให้พรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคต้องปฏิบัติ ในสาระสำคัญ คือ การดำเนินกิจการของพรรคให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายและข้อบังคับของพรรคการเมือง มีการส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยในพรรค โดยไม่ยอมให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดครอบงำหรือชี้นำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือขัดต่อประมวลจริยธรรมในการปฏิบัติหน้าที่หรือดำเนินกิจกรรม สำหรับการรับบริจาคการใช้จ่ายเงินเพื่อทำกิจกรรมทางการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ส.ส.ต้องอยู่ในความควบคุมและรับผิดชอบโดยกรรมการบริหารพรรคการเมืองและตามกฎหมาย ส่วนการมีมติพรรคในเรื่องใดๆ ทำได้โดยที่ประชุม ส.ส.ที่สังกัดพรรคการเมืองนั้น
ทั้งนี้ ยังมีบทบัญญัติว่าด้วยการวางระบบการเมืองให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทุกระดับ ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรฐานทางจริยธรรม ในมาตรา 73-75 พร้อมกำหนดบทลงโทษผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญใช้อำนาจซึ่งเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง มีสิทธิถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งได้
มาตรา 197 ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ให้การคุ้มครองข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่ดำเนินการตามคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย
มาตรา 233 ว่าด้วยข้อกำหนดห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการที่ขัดต่อบทบาทและตำแหน่ง รวมถึงห้ามกำหนดนโยบายหรือเสนอกฎหมายหรือกฎซึ่งเอื้อต่อประโยชน์กิจการของตน คู่สมรส บุตร หรือบิดามารดามีส่วนได้เสีย ขณะที่ข้อกำหนดที่ห้ามนายกฯ หรือรัฐมนตรีเข้าไปแทรกแซงหรือก้าวกาย ได้เขียนเงื่อนไขที่ชัดเจนยิ่งขึ้น คือการแทรกแซงการปฏิบัติราชการหรือการดำเนินงานในหน้าที่ประจำของข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐ, การแต่งตั้ง ย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง, การให้ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่พ้นจากตำแหน่งและการแต่งตั้งและการให้กรรมการในรัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรมหาชนหรือหน่วยงานอื่นของรัฐพ้นจากตำแหน่ง เว้นแต่เป็นการทำหน้าที่ตามนโยบาย ทั้งนี้ต้องกำกับไม่ให้คู่สมรสหรือบุตรหรือบุคคลในพรรคการเมืองของนายกฯ หรือรัฐมนตรีดำเนินการด้วย
6.กลไกที่มีประสิทธิภาพในการสร้างเสริมความเข้มแข็งของหลักนิติธรรมและการสร้างเสริมคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลในทุกภาคส่วนและทุกระดับ
ในส่วนการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ส.ว. ที่เกี่ยวเนื่องกัน กำหนดให้ไว้ในบทว่าด้วยการสิ้นสมาชิกภาพ ที่กำหนดว่า ขาดประชุมเกินจำนวน 1 ใน 4 ของจำนวนวันประชุมในสมัยประชุม โดยไม่มีข้อยกเว้นเรื่องการได้รับอนุญาตจากประธานแห่งสภา, การไม่ลงมติในที่ประชุมสภาเกินที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมของแต่ละสภา เพื่อเป็นมาตรการกำกับการทำงานของ ส.ส ส.ว. ในหน้าที่หลักคือการเข้าประชุม
กำหนดบทว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการ นักการเมืองและประชาชน ให้มีระบบแต่งตั้งข้าราชการพลเมืองด้วยระบบคุณธรรมและใช้ความเป็นกลางทางการเมือง ภายใต้คณะกรรมการดำเนินงานแต่งตั้ง
ในบทว่าด้วยกระจายอำนาจและการบริหารท้องถิ่น มาตรา 200 กำหนดให้องค์การบริหารท้องถิ่นบริหารงานเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลและคำนึงถึงดุลยภาพระหว่างความเป็นอิสระและมีมาตรฐาน เพื่อประโยชน์ของประชาชน และบทที่เกี่ยวข้องนั้นให้สิทธิประชาชนหรือชุมชนร่วมตรวจสอบการดำเนินงาน ถอดถอนผู้บริหารหรือสมาชิกสภาท้องถิ่น และให้ข้อกำหนดเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร รายงานผลการดำเนินงาน และรายงานงบการเงินมาบังคับใช้กับองค์กรบริหารท้องถิ่นด้วย ส่วนการแต่งตั้งบุคคลในองค์กรบริหารท้องถิ่น ให้ยึดหลักระบบคุณธรรมภายใต้คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมในการบริหารท้องถิ่นและคณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการส่วนท้องถิ่น
มาตรา 206 วรรคสาม กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐในกระบวนการยุติธรรม คู่ความ คู่กรณี และทนายความต้องให้ความร่วมมือกับศาลในการพิจารณาพิพากษาคดีโดยไม่ล่าช้า หากพบการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตกำหนดให้ต้องรับผิดตามกฎหมาย พร้อมวางหลักให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐในกระบวนการยุติธรรมต้องเที่ยงธรรม ไม่มีอคติ ไม่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ และต้องทำตามกฎหมาย รวมถึงรัฐธรรมนูญ
7.กลไกที่มีประสิทธิภาพในการปรับโครงสร้างและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคมเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมอย่างยั่งยืน และป้องกันการบริหารราชการแผ่นดินที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว
มาตรา 189 ในหมวดการคลังและการงบประมาณ วรรคสอง กำหนดให้มาตรการป้องกันนโยบายที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว โครงการ นโยบาย มาตรการที่จะอนุมัติต้องจัดทำการวิเคราะห์ภาระงบประมาณและภาระทางการคลัง ทั้งระยะสั้น ระยะยาว รวมถึงผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม โดยต้องระบุปริมาณและแหล่งที่มาของเงินในการสนับสนุนดำเนินโยบายดังกล่าว ซึ่งบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกันในมาตรา 195 ให้อำนาจผู้ตรวจการแผ่นดินโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีที่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก่อให้เกิดการใช้จ่ายเงินแผ่นดินอันวิญญูชน คือบุคคลผู้รู้ผิดรู้ชอบ พึงเห็นได้ว่าก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐอย่างร้ายแรง และส่งสำนวนยื่นฟ้องศาลปกครองแผนกคดีวินัยการคลังและงบประมาณพิจารณาวินิจฉัยให้ยุติการกระทำได้ เพื่อเป็นมาตรการป้องกันไม่ให้มีการทำนโยบายของพรรคการเมืองที่เข้ามาเป็นฝ่ายบริหาร มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ
8.กลไกที่มีประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงินของรัฐให้เป็นไปอย่างคุ้มค่าและตอบสนองต่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนโดยสอดคล้องกับสถานะทางการเงินการคลังของประเทศ และกลไกการตรวจสอบและเปิดเผยการใช้จ่ายเงินของรัฐที่มีประสิทธิภาพ
กำหนดไว้ในมาตรา 70–71 ในบทว่าด้วยการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบของชนชาวไทย กำหนดให้หน่วยงานของรัฐ องค์การภาคเอกชน อาค์การภาคประชาสังคม หรือองค์กรใด ที่ใช้เงินแผ่นดิน เปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานต่อสาธารณะเพื่อให้บุคคลติดตามตรวจสอบ ยกเว้นข้อมูลเรื่องความมั่นคงของรัฐหรือข้อมูลตามที่กฎหมายบัญญัติห้ามเปิดเผย และกำหนดให้บุคคลมีสิทธิติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน การจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐ การรับบริจาคและการใช้จ่ายเงินของพรรคการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกระดับ และในกรณีที่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการใช้จ่ายเงินของบุคคลที่มีธุรกรรมกับหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นมีส่วนร่วมในการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ
9.กลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันมิให้มีการทำลายหลักการสำคัญที่รัฐจะได้วางไว้
มาตรา 77 ว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ กำหนดให้รัฐต้องดำเนินการตรากฎหมาย กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ และจัดทำนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 2 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ซึ่งมีบทบัญญัติกำหนดให้รัฐต้องส่งเสริมหรือสนับสนุน, จัดระบบ, ดำเนินนโยบายที่ยึดหลักการของการเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน และจัดบริการสาธารณะ สร้างความมั่นคง รวมถึงพัฒนาในประเด็นสำคัญต่างๆ
บทบัญญัติที่ว่าด้วยการทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รวมถึงกฎหมายอื่นที่จำเป็น มาตรา 276 ในบทเฉพาะกาล กำหนดให้ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ยกร่าง และเสนอให้ สภานิติบัญญัติ โดยเขียนให้นำเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปประกอบการจัดทำและวินิจฉัยกฎหมายฉบับนั้นๆด้วย ทั้งนี้เพื่อให้มาตรการปฏิรูปหรือปรับปรุงระบบโครงสร้างและบริหารซึ่งเป็นหลักการสำคัญถูกสานต่อโดยอาศัยบทบังคับจากรัฐธรรมนูญ ขณะที่การทำกฎหมายโดยรัฐสภา ได้กำหนดบทควบคุมการตรากฎหมาย ที่ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายฉบับนั้นๆ มีข้อความที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่
10.กลไกที่จะผลักดันให้มีการปฏิรูปเรื่องสำคัญต่างๆ ให้สมบูรณ์ต่อไป
มาตรา 259 กำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ทำหน้าที่ดำเนินการปฏิรูปต่อเนื่องจากหน่วยงานที่ดำเนินการ หรือทำแผนมาแล้ว เช่น สภาปฏิรูปแห่งชาติ หน่วยงาน อื่นๆ ของรัฐ เพื่อพัฒนาประเทศ และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม
มีบทว่าด้วยการปฏิรูปด้านต่างๆ ในประเด็นสำคัญ เช่น กฎหมาย, กระบวนการยุติธรรม, การบริหารราชการแผ่นดิน การศึกษา, การสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม
ขณะที่ประเด็นพิเศษที่ให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พิจารณาถึงความคุ้มค่าที่ต้องมีองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และมาตรการที่ให้การดำเนินงานขององค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
มาตรา 75 กำหนดให้มีคณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติเพื่อประเมินผลองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และองค์กรอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ

วันพฤหัสบดีที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ยูเครนและสหรัฐฯลืมเรื่องแซงชั่นรัสเซีย ขอร่วมงาน MAKS-2015 air show ที่กรุงมอสโคว์ด้วย

ยูเครนและสหรัฐฯลืมเรื่องแซงชั่นรัสเซีย ขอร่วมงาน MAKS-2015 air show ที่กรุงมอสโคว์ด้วย
------------
โอกาสทำมาหากิน โอกาสที่จะขายสินค้าได้แบบนี้ใครจะยอมพลาดหละครับท่าน แม้ปากจะบอกว่าไม่ชอบรัสเซีย ต้องต่อต้านรัสเซีย แต่พอรัสเซียจัดงาน MAKS-2015 เพื่อแสดงเครื่องบินนานาชาติขึ้น ยูเครนกับสหรัฐฯรวมถึงอียูด้วยดันไม่พลาดงานนี้ซะงั้น ฮิ้วววว
เมื่อวานนี้ สำนักข่าว Sputnik news ของรัสเซีย พาดหัวข่าวว่า "Despite Tensions, Ukrainian Aerospace Chiefs Come to Moscow Airshow" (แม้จะมีความตึงเครียด, เหล่าหัวหน้าการบินและอวกาศของยูเครนก็เดินทางไปร่วมงานแอร์โชว์ที่กรุงมอสโคว์ด้วย) (ฮ่าๆๆ อย่างนี้แล้วจักรวรรดิเฮเกจะเอาหน้าไปไว้ที่ไหนหละนี่?)
Sputnik อ้างรายงานข่าวจากสำนักข่าว Vedomosti หนังสือพิมพ์ด้านธุรกิจในรัสเซียว่า "หัวหน้าผู้ผลิตเครื่องยนต์เฮลิค็อปเตอร์ Motor Sich ของยูเครน ได้เดินทางเข้าร่วมงาน Moscow Air Show (MAKS-2015) รวมทั้งบรรดาผู้บริหารระดับสูงจากบริษัท Antonov ซึ่งเป็นผู้ผลิตด้านการบินและอวกาศอีกรายของยูเครนด้วย"
รายงานข่าวบอกว่า "แม้ว่าความตึงเครียดทางทางการเมือง และยูเครนจะสั่งห้ามส่งออกเทคโนโลยีต่างๆไปยังรัสเซีย แต่อุตสาหกรรมด้านการบินและอวกาศของยูเครนก็ยังคงเข้าร่วมงาน MARKS-2015 อย่างไม่เป็นทางการ" (ใจก็อยากจะทำใ้หเป็นทางการอยู่หรอก แต่ยูเครนบางส่วนก็ถูกจักรวรรดิเฮเกบีบไข่จนหน้าเขียวเพื่อไม่ให้หวนกลับไปดีกันกับรัสเซียอีกครั้ง ก็ต้องแอบคบกันแบบนี้แหละ ช่างหน้าเห็นใจในความรักที่วงการการบินและอวกาศของยูเครนมีต่อรัสเซียจริงๆ ที่ถูกจักรวรรดิเฮเกกีดกันแบบนี้อ่ะ คริๆ)
กองทัพของรัสเซียคาดว่าจะเครื่องบินและเฮลิค็อปเตอร์มากกว่า 250 ลำเข้าประจำการในปี 2015 นี้ แม้ว่าจะมีข้อจำกัดในการนำเข้าเครื่องยนต์เฮลิค็อปเตอร์ก็ตาม ตามคำพูดของ Viktor Bondarev ผู้บัญชาการกองทัพอากาศรัสเซียบอกว่าการขส่งบางอาจจะมีการจัดส่งมาก่อนกำหนด
Bondarev ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว RIA Novosti ว่า "พวกเราจะได้รับทั้งเครื่องบินและเฮลิค็อปเตอร์ 250 กว่าลำภายในปีนี้ และไม่มีข้อกังขาใดๆที่ว่าเราจะได้รับอุปกรณ์นี้จากอุตสาหกรรม (หรือไม่)"
แหล่งข่าวจากบริษัท Rostec ของรัสเซียกล่าวกับสำนักข่าว Vedomosti ว่า บริษัทผู้ผลิตเฮลิค็อปเตอร์ของรัสเซียคาดว่าจะเซ็นสัญญาอีกสัญญาหนึ่งซึ่งมีมูลค่า $100 million (ประมาณ 3.55 พันล้านบาท) เพื่อสั่งซื้อเครื่องยนต์เฮลิค็อปเตอร์จากบริษัท Motor Sich ของยูเครนในปี 2016 ในขณะที่สัญญาก่อนหน้านี้ซึ่งมีค่าถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 3.55 หมื่นล้านบาท) กำลังจะหมดอายุลงในปี 2015 นี้ การผลิตเครื่องยนต์ TV3-117 แบบเต็มรูปแบบซึ่งมีความจำเป็นต่อเฮลิค็อปเตอร์ของรัสเซียจะเริ่มขึ้นในปี 2017 (ก็ขนาดมีความขัดแย้งกันในทางการเมือง แต่ในบางมิตินั้นทั้งสองประเทศก็ยังคงค้าขายระหว่างกันอยู่ ปัญหามันมาจากมือที่สามนี่แหละที่ไปทำให้เขาทะเลาะกันหนะ)
เมื่อวันที่ 25 ส.ค.58 ที่ผ่านมา สำนักข่าว Sputnik news พาดหัวข่าวว่า "25 Countries Defy Sanctions to Attend MAKS-2015 Air Show" (25 ประเทศขัดขืนการแซงชั่น เข้าร่วมงานแสงอากาศยาน MAKS-2015) รายงานข่าวบอกว่า "ไม่สน (Ignoring) การแซงชั่นในปัจจุบันที่ตะวันตกกระทำต่อรัสเซีย บริษัทผู้ผลิตอากาศยานในยุโรปหลายบริษัท พร้อมรับคำเชิญให้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในงานแอร์โชว์ MAKS-2015 นานาชาติซึ่งจัดขึ้นนอกกรุงมอสโคว์ระหว่างวันอังคารถึงวันเสาร์นี้" รายงานข่าวยังบอกอีกว่า มีบริษัทต่างๆมากกว่า 150 บริษัทจาก 25 ประเทศซึ่งรวมทั้ง ออสเตรีย อังกฤษ เยอรมันนี และฝรั่งเศสเข้าร่วมในงานนี้ด้วย (อ้าว…บริษัทสัญชาติตะวันตกเหล่านี้ลืมไปแล้วว่าตอนนี้จักรวรรดิเฮเกกับอียูกำลังแซงชั่นรัสเซียอยู่นะ ฮ่าๆๆ งานนี้รัสเซียถือโอกาสนำเครื่องบินรบล่องหนรุ่นที่ 5 (G5) อย่าง Sukhoi T-50 PAK FA ออกมาบินผาดโผนโชว์ด้วยซะเลย)
แต่ที่มันเจ็บสุดๆก็คือข่าวนี้ครับท่าน... เมื่อวานนี้สำนักข่าว Sputnik news ของรัสเซียพาดหัวข่าวว่า "Number of US Firms at MAKS Air Show Unchanged Despite Sanctions" แปลว่า "บริษัทของสหรัฐฯจำนวนมาก (ยืนยัน) ไปปรากฎตัวที่งาน MAKS Air Show ไม่เปลี่ยนแปลง แม้จะมีการแซงชั่นต่างๆ" อัยย๊ะ! จักรวรรดิเฮเกคุณแซงชั่นเขาไม่ใช่รึ แล้วคุณจะหน้าด้านเอาสินค้าของตัวเองไปโชว์ในรัสเซียทำไมหละครับท่าน? นี่แหละที่เขาเรียกว่า พวกเกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง
รายงานข่าวบอกว่า นาย Thomas Kallman ประธานและ CEO ของ Kallman Worldwide ซึ่งเป็นออร์แกไนเซอร์จัดงานนี้กล่าวว่า "บริษัทของสหรัฐฯจำนวนมากไม่ยอมพลาดที่่จะมาแสดงตัวในงานแอร์โชว์ MAKS-2015 ของรัสเซีย แม้ว่าจะมีความยุ่งยากต่างๆในปัจจุบันเกี่ยวกับกรณีสหรัฐฯแซงชั่นรัสเซียก็ตาม"
Thomas Kallman กล่าวต่ออีกว่า "นี่เป็นปีที่ 10 ของพวกเราที่จัดซุ้มแสดงงานไว้ให้สหรัฐฯในงาน MAKS ขนาดซุ้มแสดงยังคงสวยงานมากเช่นเดิม สิ่งที่ผมสามารถกระทำได้ก็คือหาบริษัทต่างๆที่กำลังมองหาโอกาสให้กับธุรกิจใหม่ (ในรัสเซีย) บริษัทต่างที่เข้าร่วมงาน MAKS แสดงสินค้าในครั้งนี้ส่วนมากมีการก่อตั้งธุรกิจอยู่ในรัสเซีย" รายงานข่าวบอกว่าขณะนี้มีบริษัทด้านการบินและอวกาศของสหรัฐฯมากกว่า 10 บริษัทเข้าร่วมงานนี้
CEO ของ Kallman Worldwide กล่าวตอนหนึ่งว่า "การทำงานร่วมกันระหว่างผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในรัสเซียและผลิตในอเมริกา เป็นความท้าทายที่จะต้องฝ่าฟันไปให้ได้ ชาวอเมริกันได้พิสูจน์แล้วว่าพวกเขาพร้อมที่จะข้ามมหาสมุทรไปทำธุรกิจ (และแทรกแซงก่อสงครามและยึดครองประเทศอื่น - อันนี้แอ็ดมินเพิ่มให้) การร่วมทุน และแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการ แต่พวกเขา (จักรวรรดิเฮเก) ไม่ได้ไปไกลว่ารัสเซีย สิ่งที่นักธุรกิจชาวอเมริกันไม่เข้าใจก็คือความเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับสูงที่อยู่ที่นี้ ในรัสเซีย และโอกาสที่สร้างผลิตภัณฑ์ในรัสเซียภายใต้ใบอนุญาตหรือผ่านการเป็นหุ้นส่วนในรูปแบบอื่นๆ"

มาตราการด่วนและระยะยาวด้านศก.ของ"สมคิด"



บรรยายพิเศษ รองนายก ดร.สมคิด วันที่ 27 ส.ค. 58 จัดโดย กกร. ที่ รร.ดุสิตธานี
พร้อม รมว.เศรษฐกิจ คือ รมว.อุตสาหกรรม (คุณอรรชกา) รมช.พาณิชย์ (คุณสุวิทย์)

1. ตอนนี้ แตกต่างจากวิกฤติปี 40 เพราะตอนนี้ ไม่ใช่วิกฤติ แต่เป็นเรื่องเศรษฐกิจ ขาดพลัง ขาดความมั่นใจ
2. ปัญหาที่ใหญ่กว่าในตอนนี้ ไม่ใช่เศรษฐกิจซบเซา แต่เป็นเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง
ดังน้น นโยบายเศรษฐกิจตอนนี จะมีทั้งระยะสั้น คือ กระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างประเทศระยะยาว
การพึ่งพาการส่งออก เป็น engine หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และทุ่มเม็ดเงินเพื่อภาคส่งออก ไม่ถูกต้อง เพราะเศรษฐกิจจะไม่สมดุล มีความเสี่ยง
3. เรื่องเร่งด่วน เพื่อประคองเศรษฐกิจ ตอนนี้รอเข้า ครม. คือ
1) กอบกู้ผู้มีรายได้น้อย และ sme จะมีมาตรการกระจายเงินจากภาครัฐ ไปสู่รากหญ้า โดยตรง ให้เร็วที่สุด และจะออกมาตรการช่วยเหลือ sme โดยด่วน
2) แก้ปัญหาอุปสรรคการทำธุรกิจ จะทำทันที ไม่รอข้อเสนอทั้ง package จาก สนช. แต่จะดึงเรื่องเร่งด่วนมาทำทันที
4. เรื่องระยะยาว เพื่อสร้างประเทศในอนาคต คือ
1) สร้างสมดุลประเทศ โดยกระตุ้นภายในประเทศ ไม่ใช่เน้นหนักเรื่อง export led growth จะสร้างความเข้มแข็งของชุมชน จะทำเรื่อง otop, social enterprise, การท่องเที่ยวท้องถิ่น ดังน้น นโยบายการคลัง หลังจากนี้ จะเพิ่มไปที่เศรษฐกิจในประเทศ และการลงทุนเพื่ออนาคต
2) เพิ่ม competitiveness และ value added , innovation ให้ไปสู่ local business และสร้าง cluster ซึ่งต้อง support ในเรื่องที่เกี่ยวข้องเช่น สถาบันการศึกษา เทคโนโลยี incentives 
Cluster เป้าหมาย เช่น เกษตรแปรรูป ยานยนต์, clean chemical , digital business
3) พัฒนานักรบเศรษฐกิจใหม่ โดยยกระดับเทคโนโลยี สร้าง start up technology based enterpreneur 
4) การลงทุน mega projects โครงการที่ประกาศสู่ public ไปแล้ว ให้เร่งดำเนินการ เน้นการลงทุนแบบ PPP เช่น รถไฟรางคู่ , east west economic corridor จะเกิด economic activities ในท้องถิ่น
return จากการลงทุน ให้ดูทั้ง economic and social concerns และการเกิดธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง
5. ภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ต้องเพิ่มประสิทธิภาพ และจะมีการปฏิรูปตลาดทุน เพื่อเอื้อต่อการพัฒนาประเทศ

การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ยังคงส่งผลกระทบต่อทุกสกุลเงินหลัก



 27 ส.ค. 2558 เวลา 18:09:00 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 27 สิงหาคม 2558 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ที่ระดับ 35.61/63 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (26/8) ที่ระดับ 35.64/64 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากแรงซื้อกลับ ค่าเงินระยะสั้นหลังจากปรับตัวอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับนายวิลเลียม ดัดลีย์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์กออกมาให้ความเห็นว่า แนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐในเดือนกันยายนนี้มีความเป็นไปได้ลดลง สะท้อนให้ความกังวลของการชะลอตัวจากเศรษฐกิจจีนที่อาจส่งผลกระทบต่อนโยบายการเงินของสหรัฐ แม้ว่ากระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐได้มีการเปิดเผยตัวเลขยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนที่ปรับตัวขึ้น 2% ในเดือนกรกฎาคม จากการคาดการณ์ว่าจะปรับตัวลดลง 2.0% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.61-35.68 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 35.63/65 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับค่ายูโรวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 1.1492/93 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดในวันพุธ (26/8) ที่ระดับ 1.1579/80 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยนายปีเตอร์ พราเอท สมาชิกบอร์ดธนาคารกลางยุโรปกล่าวรายงานในเวทีประชุมที่เยอรมนีว่า การลดตัวลงของราคาน้ำมัน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจของจีน อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อของสหภาพยุโรปนั้นยังอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 2% ทั้งนี้ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 0.2% ทำให้ธนาคารกลางยุโรปอาจจะต้องเริ่มโครงการซื้อขายสินทรัพย์ที่มีมูลค่า 60 ล้านยูโรต่อเดือน เพื่อแก้ไขปัญหาเงินฝืดนี้ เป็นผลให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงอย่างมาก แม้ว่าตัวเลขความเชื่อมั่นผู้บริโภคของฝรั่งเศสปรับตัวสูงขึ้นสู่ 103 ในเดือนสิงหาคม จากระดับ 102 ในเดือนกรกฎาคมโดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในระหว่าง 1.1293-1.1334 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.1294/97 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนวันนี้เปิดตลาดวันที่ระดับ 119.98/120.02 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (26/8) ที่ระดับ 119.92/93 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ จากความกังวลของนักลงทุนต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นคู่ค้าอย่างญี่ปุ่น แม้ว่านายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ได้กล่าวในเชิงบวกว่าการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีนนั้น ไม่น่าจะสร้างความเสียหายให้แก่การส่งออกของญี่ปุ่น รวมถึงราคาน้ำมันที่ต่ำลงก็ไม่มีผลต่ออัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่น ซึ่งตั้งเป้าไว้ที่ 2% จึงไม่จำเป็นต้องดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม และธนาคารกลางญี่ปุ่นยังมีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายทางการเงินลงไปอีก ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวระหว่าง 119.23-120.27 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 120.23/25 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจสำคัญที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ประมาณการครั้งที่ 2 จีดีพีช่วงไตรมาส 2/2558 ของสหรัฐ (27/8), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ (27/8), ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เดือนกรกฎาคมของสหรัฐฯ (27/8), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนกรกฎาคมของญี่ปุ่น (28/8), ข้อมูลว่างงานญี่ปุ่นเดือนกรกฎาคมของญี่ปุ่น (28/8), ยอดค้าปลีกเบื้องต้นเดือนกรกฎาคมของญี่ปุ่น (28/8) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคช่วงท้ายเดือนสิงหาคมจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนของสหรัฐฯ (28/8)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 14 เดือนในปรเทศอยู่ที่ +4.90/5.20 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +10.00/15.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

“ยิ่งลักษณ์” ดิ้นยื่นศาลคัดค้าน อสส.เพิ่มพยาน คดีจำนำข้าว อ้างอยู่นอกสำนวน ป.ป.ช.

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

“ยิ่งลักษณ์” ทำเอกสาร 2 ภาษาแจ้งส่งทนายความยื่นศาลฎีกาฯ คัดค้านอัยการคดีจำนำข้าว อ้างพยานบุคคลและพยานเอกสารของอัยการสูงสุดเพิ่มเติมมากกว่า 60,000 หน้า อยู่นอกสำนวน ป.ป.ช. ยก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ อ้างต้องใช้สำนวน ป.ป.ช.เท่านั้น หลังอัยการโจทก์เตรียมพยานบุคคลไว้รวมจำนวน 13 ปาก
      
       วันนี้ (27 ส.ค.58) เพจเฟซบุ๊ก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี “Yingluck Shinawatra” เผยแพร่ภาพและข้อความ ระบุว่าไปมอบหมายนายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความส่วนตัว Norrawit Larlaeng เดินทางมาที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อเช้านี้เวลา 10.00 น. โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มอบหมายให้ทีมทนายไปยื่นหนังสือต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ เพื่อคัดค้านพยานบุคคลและพยานเอกสารที่อัยการเพิ่มเข้ามานอกสำนวน
      
       โดยมีใจความว่า “ยิ่งลักษณ์” ยื่นศาลฎีกาฯ คัดค้านอัยการ ระบุเอกสารหลายหมื่นหน้าอยู่นอกสำนวน ป.ป.ช.
      
       น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ (27 สิงหาคม 2558) ได้ยื่นคำร้องโต้แย้งคัดค้านการยื่นบัญชีระบุพยานของฝ่ายอัยการโจทก์ในคดีรับจำนำข้าว เพื่อคัดค้านพยานบุคคลและพยานเอกสารของอัยการสูงสุดที่ได้มีการเพิ่มเติมมากกว่า 60,000 หน้า ซึ่งอยู่นอกสำนวนและไม่ได้ไต่สวนมาก่อนในคดีนี้ และจำเลยไม่มีโอกาสตรวจสอบและคัดค้านมาก่อน
      
       น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2552 มาตรา 5 ก็ระบุอย่างชัดเจนว่า “ในการพิจารณาคดีให้ศาลยึดรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นหลักในการพิจารณา”
      
       “ตามกฎหมายและหลักของความเป็นธรรมโจทก์ไม่มีสิทธิเพิ่มพยานเอกสารและพยานบุคคลนอกเหนือจากสำนวนของ ป.ป.ช.ในชั้นนี้ได้ ถือเป็นการเอาเปรียบทางคดีอย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อตัวดิฉันเป็นอย่างยิ่ง จึงยื่นคำร้องโต้แย้งไม่ให้ศาลรับพยานหลักฐานดังกล่าว” น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าว
      
       ทั้งนี้ ยังมีใจความเป็นภาษาอังกฤษ ระบุว่า Miss Yingluck Shinawatra, former Prime Minister said today that, the legal representatives has submitted a complaint to the court to reject additional witness and documents that was submitted to the court by the attorney general in the rice pledging scheme case. The witness and documents of over 60,000 pages has never been a part of the investigation in this case and the defendant was never given the opportunity to examine both the documents and the witness.
      
       Miss Yingluck also said that section 5 of the Act related to the criminal case for holders of political position stipulates that throughout the proceedings by the court, the court must only use the documents submitted by the NACC.
      
       In accordance to the law and principle of justice, at this stage, the plaintiff has no right to submit additional witnesses and documents that was not previously examined and submitted by the NACC. I must submit the complaints to court to request that the court rejects these evidence and witness because accepting the additional evidence at this stage would be unlawful and will lead to a trial that is biased and unfair towards me.
      
       มีรายงานว่า คดีนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 19 มี.ค.ที่ผ่านมา นัดฟังคำสั่ง ในคดีหมายเลขดำ อม.22/2558 ที่นายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยในความผิดฐานละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฎิบัติหรือละเว้นการปฎิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว
      
       โดยทางอัยการโจทก์ได้เตรียมพยานบุคคลไว้รวมจำนวน 13 ปาก ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่รัฐและเจ้าหน้าที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รวมทั้งพยานเอกสาร พยานวัตถุต่างๆ แผ่นซีดี โดยระบุไว้ในการจัดทำบัญชีพยาน เพื่อให้ข้อเท็จจริงส่วนใหญ่รับฟังได้เป็นที่ยุติว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องอย่างไรบ้าง และเพื่อยืนยันการได้มาซึ่งเอกสารราชการต่างๆ รวมทั้งประเด็นในข้อกฎหมายว่าจำเลยมีการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่ ซึ่งขณะนี้พยานหลักฐานฝ่ายโจทก์น่าจะเพียงพอแล้ว
      
       “ทางอัยการมั่นใจว่าหลักฐานครบถ้วนทุกประเด็นตามที่ทางอัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องเพื่อให้ศาลรับฟังเป็นที่ยุติได้ ส่วนจะสามารถเอาผิดให้ศาลลงโทษจำเลยได้หรือไม่นั้น สุดท้ายแล้วก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล ส่วนพยานหลักฐานของฝ่ายจำเลยจะยื่นบัญชีพยานเท่าไหร่บ้างนั้น จะต้องรอดูในวันนัดตรวจพยานหลักฐานอีกครั้ง” รายงานข่าวระบุ

อดีตรองผอ.สำนักข่าวกรอง เตือนสื่ออย่าตกเป็นเหยื่อการก่อการร้าย

วันพฤหัสบดี ที่ 27 สิงหาคม 2558 เวลา 14:42 น.อิศรา
อดีตประธานสภาการฯ  ชี้สื่อต้องรู้จักรอข้อมูลเพื่อเป็นสารตั้งต้นที่ถูกต้อง พร้อมทำหน้าที่ควบคู่ความเป็นพลเมืองของประเทศ ด้านผอ.สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสย้ำต้องถอดบทเรียนแนะผู้ปฏิบัติงานด้านข่าวศึกษาองค์ความรู้สถานการณ์รุนแรงป้องกันการนำเสนอที่สร้างผลกระทบต่อสังคม
11896191 1485516758433976 4849212073093758505 n
วันที่ 27 สิงหาคม2558 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับหลักสูตรนิเทศศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต และหลักสูตรนิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดงานราชดำเนินเสวนาในหัวข้อ “ทำข่าววิกฤตไม่ให้วิกฤต...บทเรียนจากแยกราชประสงค์” ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวถึงเหตุการณ์การทำข่าวของสื่อมวลชนบริเวณแยกราชประสงค์นั้นถือเป็นการรายงานข่าวในสถานการณ์ความอ่อนไหวและเป็นการนำเสนอข้อเท็จจริงที่มีความรุนแรงเกิดขึ้น ดังนั้นการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน นอกเหนือจากการรายงานข้อเท็จจริงแล้วก็อาจจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงหน้าที่ของความเป็นพลเมืองควบคู่ไปด้วยว่า สิ่งที่กำลังจะนำเสนอนั้นส่งผลกระทบต่อสังคมและทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง หรือสร้างความสับสนในสังคมหรือไม่อย่างไร
ทั้งนี้องค์ประกอบสำคัญของการก่อเหตุการณ์ก่อการร้ายนั้น นายจักร์กฤษ กล่าวว่า  ยิ่งมีการแสดงรายละเอียดของผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตมากเท่าไหร่ยิ่งเป็นการสร้างความชอบธรรมให้เกิดขึ้น
นายจักร์กฤษ กล่าวอีกว่า สิ่งที่สื่อควรทำในการนำเสนอข่าวภายใต้เหตุการณ์ความรุนแรงและความอ่อนไหว คงเป็นเรื่องที่สื่อไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ในการทำจะทำหน้าที่ในการนำเสนอข่าว ด้วยการปฏิบัติโดยคำนึงถึงความถูกต้อง ครบถ้วน และรอบด้าน นำเสนอสิ่งที่เห็นด้วยตา ได้ยินด้วยหูมากกว่าการที่จะวิเคราะห์หรือวิจารณ์ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ส่วนภาพข่าวที่ตอกย้ำความขัดแย้งและความรุนแรง เช่น ชายเสื้อเหลืองเดินไปที่เกิดเหตุ นาทีถัดมาควรจะเห็นภาพระเบิด แต่สื่อก็ใช้คำอธิบายแทนการฉายภาพระเบิด และถัดมาเป็นเรื่องการตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้องว่าแหล่งข่าวมีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตามการนำเสนอจะต้องเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งยังเชื่อว่าคนทำสื่อน่าจะพอเข้าใจได้ว่าอะไรที่ควรทำหรือไม่ควรทำ
อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับสิ่งที่สื่อไม่ควรทำนั้น คือการเสนอข่าวอย่างไม่ระมัดระวัง หรือการทำซ้ำภาพความรุนแรงเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นการทำซ้ำโดยสื่ออาชีพ ไม่ว่าจะเป็นภาพศพ ภาพชิ้นเนื้อที่ถูกระเบิดทำลาย หรือการรายงานรายชื่อผู้ได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิต ว่ามีสัญชาติอะไรบ้าง หลังจากนั้นก็ตามอีกว่าเขาเป็นใครซึ่งการกระทำดังกล่าวถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
“วันนี้การรายงานข่าวเป็นการรายงานข่าวที่มากกว่าข้อเท็จจริง เพราะหากย้อนไปดูวันแรกของการเกิดเหตุที่แยกราชประสงค์ มีการระบุว่าเป็นการกระทำของแขกขาว โยงมาที่อุยกูร์ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากการที่สื่อมวลชนโหยหาประเด็นใหม่แล้วหยิบฉวยมาใช้โดยไม่ได้คำนึงถึงข้อเท็จจริง”
ทั้งนี้นายจักร์กฤษ กล่าวด้วยว่า สื่อมวลชนต้องระมัดระวังและไม่นำเสนอภาพข่าวที่ไปละเมิดสิทธิมนุษยชนเพื่อไม่ให้เกิดประเด็นดราม่าในสังคม รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่จะต้องไม่ไปขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เกิดเหตุ และต้องไม่นำเสนอเหตุการณ์ที่จะส่งผลกระทบต่อความรู้สึกหรือล้อเล่นกับความเจ็บปวดกับคนในสังคมในเหตุการณ์ครั้งนี้ ที่สำคัญการไปตามสัมภาษณ์พยานบุคคล ทั้งการถ่ายภาพ เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะนอกจากจะผิดกฎหมายเรื่องการคุ้มครองพยานแล้วยังแสดงให้เห็นว่าสื่อขาดความละเอียดอ่อนในการคิดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
“ทุกคนรู้ว่าข้อควรปฏิบัติคืออะไร หากจะช้าสักนิดแต่ได้มาซึ่งข้อมูลที่ถูกต้อง และหากอยู่ในพื้นที่ก็ต้องหลีกเลี่ยงที่จะไม่นำเสนอในสิ่งที่ไม่แน่ใจเพื่อที่จะได้ไม่เป็นสารตั้งต้นที่ผิด”
ด้านนายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวว่า การรายงานข่าวในเหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก สิ่งที่เป็นแรงผลักดันสำคัญคือความอยากรู้อยากเห็น ดังนั้นความอยากรู้อยากเห็นจึงถูกส่งผลมายังสื่อมวลชนที่จะต้องทำหน้าที่แบบปกติบนสถานการณ์ที่ไม่ปกติ และเหตุการณ์ระเบิดไม่ว่าจะสื่อในในโลกนี้ก็ต้องนำเสนอว่าเกิดอะไรขึ้นและเกิดขึ้นได้อย่างไร และเมื่อมีเหตุการณ์ใหญ่เกิดขึ้นเป็นปกติที่สื่อจะต้องรายงานอย่างเกาะติด ซึ่งก็ต้องมีข้อมูลและวัตถุดิบมารายงาน แม้ข้อมูลจะมีความสับสนแต่สื่อก็จำเป็นรายงาน
"จะอีกกี่ปีปัญหาก็จะยังคงเป็นแบบนี้ หากสื่อไม่รู้ว่าจะรับมือกับข้อมูลและวัตถุดิบของข้อมูลอย่างไรเพื่อให้เกิดผลกระทบตามมาน้อยที่สุด" นายก่อเขต กล่าว และว่า สื่อมวลชนจะต้องตระหนักและเห็นพ้องต้องกันว่าตกลงแล้วการรายงานข่าวมุ่งรายงานเพื่ออะไร เพื่อข้อเท็จจริงที่รอบด้านที่ส่งผลกระทบน้อยที่สุด เพราะแม้จะมีจรรยาบรรณมาควบคุม แต่หากไม่ถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ครั้งนี้เพื่อสะท้อนบทบาทหน้าที่ของตัวเอง การรายงานข่าวที่ส่งผลกระทบบนสถานการณ์ที่ไม่ปกติย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
ผู้อำนวยการสำนักข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวด้วยว่า การทำข่าวแบบเจาะลึกสื่อมีเสรีภาพในการที่จะทำและนำเสนอ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจากตัวนักข่าวเพียงคนเดียว ยังมีการอาศัยข้อมูลจากบุคคลที่เกี่ยวข้องซึ่งบุคคลเหล่านั้นอาจจะตีความการให้ข้อมูลเพื่อหวังผลอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนั้นสื่อจำเป็นต้องรู้เท่าทันในทุกด้าน และต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้สังคมเกิดความสงบ ที่สำคัญวันนี้ถึงเวลาแล้วที่คนในสังคมรวมทั้งสื่อเองจะต้องรู้จักคำว่ารอ เพราะการสืบสวนสอบสวนจำเป็นต้องใช้ระยะเวลา หากจะนำเสนอประเด็นเพื่อมารายงานต่อก็ต้องไม่สร้างปัญหาให้กับการทำงานของเจ้าหน้าที่
“ผู้ปฏิบัติงานด้านข่าวจำเป็นต้องศึกษาและพยายามหาองค์ความรู้จากสถานการณ์ข่าวที่มีความขัดแย้งและรุนแรงเพื่อลดความเสี่ยงที่จะสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นนั้นน้อยลง”
ขณะที่นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ กล่าวถึงเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นที่ราชประสงค์ นักข่าวที่เข้าถึงพื้นที่ได้เป็นอันดับแรกจะเป็นนักข่าวสายอาชญากรรม ซึ่งในต่างประเทศเหตุการณ์ในลักษณะนี้จะเป็นนักข่าวสงคราม หรือนักข่าวที่ทำงานในพื้นที่ความรุนแรง ซึ่งเขาจะรู้หลักในการปฏิบัติงานในพื้นที่ลักษณะนี้
ทั้งนี้ได้ติดตามข่าวในวันที่ 17 สิงหาคม 2558 พบว่าการรายงานข่าวของสื่อมวลชนไทยมั่วแบบไปไหนกันคนละที่ มีการระบุถึงแขกข่าว วันต่อมาโยงมาที่อุยกูร์ บอกว่าระเบิดครั้งนี้อุยกูร์มาแก้แค้น จึงอยากจะถามว่า เอาฐานข้อมูลมาจากไหน แล้วเอาข้อมูลอะไรมารายงาน ได้วิเคราะห์หรือยังว่าน่าเชื่อถือหรือไม่เพียงใด
อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ยอมรับว่า เหตุการณ์ระเบิดที่แยกราชประสงค์นั้นมีความรุนแรงกว่าอาชญากรรมปกติ ถามว่าเหตุการณ์ครั้งคือเรียกกว่าก่อการร้ายหรือไม่นั่นก็ยังระบุชัดไม่ได้ แต่อย่างน้อยเหตุการณ์ครั้งนี้คือการก่อร้ายต่อมนุษยชาติเพราะผู้กระทำประสงค์ให้มีคนตาย มุ่งหวังให้เกิดเสียงดังและต้องการให้เป็นข่าว และเมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นทุกสื่อก็รายงานอย่างรวดเร็วและทำให้ข่าวไปไกลกว่าความเป็นจริง
“ผมไม่โทษสื่อที่ลงไปทำงานในพื้นที่ แต่โทษบรรณาธิการข่าวที่ไม่กลั่นกรองอะไร ไม่ประเมินข้อมูล ไม่ประเมินค่าของแหล่งข่าว เมื่อสื่อแข่งขันกันมากก็เกิดเหตุการณ์ไม่คัดกรองความจริงว่าคืออะไร เป็นเพียงข้อเท็จจริงที่ได้ยินมาแต่อาจจะไม่ใช่ความจริง”
นายนันทิวัฒน์ กล่าวด้วยว่า การก่อการร้ายแพร่กระจายไปทั่วโลกและมีการต่อสู้ในหลายประเทศ ซึ่งนี่เป็นเครื่องมือในการสร้างความกลัวให้กับผู้คน เมื่อประชาชนเกิดความหวาดกลัวก็จะมีการต่อรองเพื่อให้รัฐบาลยอมทำตามข้อเรียกร้อง ยิ่งประชาชนกลัวเท่าไหร่นั่นหมายถึงชัยชนะของผู้ก่อการร้าย ดังนั้นสื่อมวลชนไม่ควรนำเสนอข่าวอย่างหวือหวา แต่ให้คำนึงถึงความมั่นคงของประเทศ เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และอย่าตกเป็นเหยื่อของการก่อการร้าย
“และอยากจะฝากสื่อมวลชนอีกเรื่อง รวมถึงมหาวิทยาลัยที่สอนหลักสูตรนิเทศศาสตร์ว่าอาจจะต้องมีการอบรมสื่อมวลชนในภาคสนามที่มีความรุนแรง หรือการสงครามว่าอะไรที่สามารถทำได้ทำไม่ได้ และสิ่งใดต้องระมัดระวัง เนื่องจากเข้าใจได้ว่าสื่อมวลชนในปัจจุบันไม่ได้เรียนเรื่องความปลอดภัยของผู้สื่อข่าว”

'ธีระยุทธ'ชี้สมานฉันท์เกิดไม่ได้ หากเขียนกม.จากคำสั่ง



27082558 'ธีระยุทธ'ชี้สมานฉันท์เกิดไม่ได้ หากเขียนกม.จากคำสั่ง
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
"ธีระยุทธ"ชี้สมานฉันท์เกิดไม่ได้ หากเขียนกฎหมายจากคำสั่ง ระบุกลุ่มทุนหวังจ่ายเงินให้นักการเมืองแลกกับโปรเจ็ค จึงไม่ได้ยินเสียงเรียกร้อง

ห้องประชุมบุญชู โรจนเสถียร ชั้น 3 ตึกอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานมอบรางวัลผลงานวิชาการที่สร้างสรรค์ และสร้างผลสะเทือนทางสังคมและการเมืองดีเด่นเกียรติยศ โดยผู้ได้รับรางวัลประกอบด้วย ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศาสตราจารย์ ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
จากนั้นเวลา 13.50 น. นายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์คณะสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยายหัวข้อ "สิทธิและอำนาจของประชาชน"ว่า จากการศึกษาประวัติศาสตร์ของสังคมไทยมองว่า ความคิดที่มีบทบาทต่อการปฏิบัติของสังคมไม่ใช่ความคิดที่มาจากนักคิดภาคสังคมเท่าไหร่ แต่นักคิดที่มีบทบาทมากกว่าก็คือนักคิดในสังคมภาครัฐ ซึ่งนักคิดในรุ่นเก่าก่อนปี 2500 อาทิ กุหลาบ สายประดิษฐ์ นายป๋วย อึ้งภากรณ์ นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งงานของบุคคลเหล่านี้ก็มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม แต่ผลงานจากนักคิดรุ่นหลังไม่แน่ใจว่ามีผลสะเทือนมาจากนักคิดรุ่นหลังแค่ไหน แต่ก็ส่งผลกระทบตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 คือเรื่องความคิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ศักดิ์ศรีความเป็นคนไทย ซึ่งขาดหายไปในช่วงเผด็จการทหารตั้งแต่อดีต ทำให้คนไม่พอใจต่อเผด็จการทหาร ไม่พอใจเรื่องคอร์รัปชั่น ซึ่งทั้งเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และศักดิ์ศรีความเป็นคนไทยเป็นปัจจัยใหม่ที่มีผลกระทบเกิดขึ้น ซึ่งมาจากผลสะเทือนจากปัญญาชนก่อนปี 2500 ทั้งหมดก็เป็นคุณูปการจากการปัญญาชนในสังคมไทยในอดีต

นายธีรยุทธ กล่าวต่อว่า แต่ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ปัญญาชนไทยโดยส่วนรวม ก็มีคุณูประการในประเด็นย่อยๆ ในการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ อาทิ การเคารพในความแตกต่างทางสังคมไทยโดยเฉพาะการเคารพ วิถีชีวิตวัฒนธรรมท้องถิ่นจากชาวบ้าน หรือการส่งเสริมให้คนหนุ่มสาวสนใจในสิทธิการดูแลศิลปะวัฒนะธรรม และสิ่งแวดล้อมในขณะนั้น และหากมองโดยกว้างในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ขณะนี้เป็นผลผลิตจากสังคมสมัยนั้นเป็นหลัก ซึ่งภาพแวดล้อมในประเทศไทยขณะนี้จะยังไม่เปลี่ยนแปลงง่ายๆ แต่สิ่งที่จะตามมาคือในสิทธิด้านต่าง ๆทั้งเรื่องการจัดการป่าไม้ แหล่งน้ำจะมีการขยายตัวมากขึ้น ส่วนเรื่องการเมืองจะยังแยกไม่ออกจากปัญญาชนในมหาวิทยาลัย ซึ่งตลอด 50 ปี ที่ผ่านมา สังคมไทยไม่เคยหยุดนิ่ง มีดีขึ้นและแย่ลงในหลายมิติ ซึ่งเสรีภาพทางวิชาการ ยังเป็นสิ่งจำเป็นในภาวะของประเทศและไม่ควรถูกหยุดยั้ง แต่สังคมยังไม่สามารถแยกแยะได้ว่าเป็นวิชาการเพื่อความคิด หรือเป็นวิชาการเพื่อฝักฝ่าย ทั้งนี้ ไม่กังวลว่าจะพูดอะไรออกไป เพราะเชื่อว่าในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม ซึ่งมหาวิทยาลัยและนักวิชาการจะต้องตระหนักในประเด็นสิทธิเสรีภาพความคิดตรงนี้ด้วย

นายธีรยุทธ กล่าวอีกว่า ตั้งแต่การชุมนุมของกลุ่มกกปส. ตนมีปัญหาทางความคิดอย่างมาก ต้องทบทวนความคิดตัวเองอย่างสูง ทั้งที่อยู่ในการต่อสู้ประชาธิปไตยมากว่า 40 ปี เพราะถ้าจะพูดในการต่อสู้แนวทางประชาธิปไตย ความคิดของเราต้องมั่นคง แต่อาจพอสรุปได้ว่ามองเป็นปัญหาว่า คนไทยจำนวนมากมองประชาธิไตยเป็นแค่เครื่องมือ เพื่อบรรลุอะไรบางอย่างมากกว่า การมองประชาธิปไตยเป็นวิถีชีวิตที่ควรจะเป็นหรือที่ตัวเองเป็น เมื่อมองแบบนี้ก็ได้คำตอบมากมาย ทำให้เรามองประชาธิปไตยด้อยลงไปกว่าประชาธิปไตยในต่างประเทศ ซึ่งพูดได้เต็มปากว่าต่างประเทศเป็นสังคมประชาธิปไตย ซึ่งที่ผ่านมาการตื่นตัวของปัญญาชนเริ่มตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

โดยการโอบรัดประชาธิปไตยที่ได้มาเพราะรู้สึกว่า มีเสรีภาพสิทธิความเท่าเทียมกับคนในอาชีพทหารหรือข้าราชการ แต่แปลกใจว่าในปัจจุบันมีคนมองว่าเราปกครองแบบให้ทหารดูก็ดี เพราะยังมีเสรีภาพที่ยังสามารถพูดได้ ไม่มีความกระทบกระเทือน บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อย ทำให้ที่มีของชนชั้นกลางจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก็มีคนคิดว่า สามารถหยุดประชาธิปไตยได้ หรือจะให้ประชาธิปไตยเป็นครึ่งหนึ่งก็ได้

"ขณะที่นักการเมืองก็สมาทานประชาธิไตยแค่ตำแหน่งในสภา ส่วนชาวบ้านทั่วไปซึ่งผมไม่ได้สื่อความหมายว่าโง่หรือฉลาดก็สมาทานประชาธิไตย เฉพาะการเลือกตั้ง หรือการมีส.ส.เป็นตัวแทน หรือเป็นผลประโยชน์ของชุมชน ทำให้มิติหนึ่งได้ขาดหายไป ส่วนกลุ่มทุนถือว่าเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยมากที่สุด ในเรื่องประชาธิปไตยกลุ่มทุนคิดเพียงว่าจะจ่ายเงินให้นักการเมืองเท่าไหร่เพื่อแลกกับโปรเจ็ค ที่ผ่านจึงแทบไม่ได้ยินเสียงเรียกร้องประชาธิไตยจากคนกลุ่มนี้"นายธีรยุทธ กล่าว

นายธีรยุทธ กล่าวด้วยว่า ถ้าพูดเรื่องชาวบ้านโดยเฉพาะเรื่องประชาธิปไตยต้องเข้าถึงชาวบ้าน เข้าถึงชุมชนจริงๆ พูดง่ายๆ ปัญหาที่ง่ายถึงยากมากที่สุดจะไม่ได้รับการแก้ไขจนกว่าจะเป็นดินพอกหางหมู จนทำให้ต้องแก้ไขปัญหาโดยการเดินขบวนนำไปสู่ความรุนแรงและเกิดรัฐประหารตามมา ซึ่งจากการแก้ปัญหา หลังการชุมนุมของกลุ่มกกปส. จนถึงการมีรัฐประหารนั้น ก็มีความคิดในการแก้ปัญหาโดยเชื่อว่า วิกฤตการณ์ทางการเมืองจะแก้ได้ต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญ ต้องเขียนรัฐธรรมนูญให้ดีเท่านั้น โดยให้ คณะกรรมการชุดหนึ่งไปร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา ซึ่งแนวคิดนี้พิสูจน์มาตั้งแต่ปี 2540 ปี 2549 จนถึงปี 2558 ซึ่งกำลังทำในลักษณะนี้อยู่ ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ตนยังไม่สามารถวิจารณ์รัฐธรรมนูญได้

ทั้งนี้ เต็มใจจะคุยกับใครก็ได้ ทั้งทหาร นักการเมือง กลุ่มเสื้อเหลือง กลุ่มเสื้อแดงว่าจะแก้ปัญหาบ้านเมืองให้มามองปัญหาแบบเปิดๆ สู่การแก้ปัญหาว่าต้องเป็นอย่างไร แต่ยอมรับว่าเป็นโอกาสที่ทำได้ยาก เพราะคนที่ยึดติดยังมีจำนวนมาก แต่ถ้าถึงจังหวะหนึ่งในการขอความคิดให้บ้านเมืองก็คิดว่าน่าจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งเรียกว่าความสมานฉันท์ แต่ความสมานฉันท์จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากการเขียนกฎหมาย หรือเกิดจากคำสั่งหรือเกิดจากการร้องเพลง เพราะการสมานฉันท์ต้องเกิดจากความเต็มใจ เกิดจากความถูกต้องและเกิดจากความจริงทางการเมือง อยากฝากไว้ว่าการสร้างความสมานฉันท์ ไม่ใช่เรื่องง่ายเราต้องมองปัญหาให้ถูกจุด เพื่อให้หาวิธีแก้ปัญหาให้ถูกจุดตามมา

นายธีรยุทธ กล่าวว่า ประเทศไทยไทยมีความคิดต่างกันคณะรักษาความสงบแห่งชาติก็คิดแบบทหารคิดเรื่องชาติ คิดเรื่องความมั่นคง จึงเป็นที่มาของการเข้าควบคุมอำนาจเพราะไม่ให้เกิดสงครามกลางเมือง แต่ตนให้ความสำคัญกับประเทศมากกว่า เมื่อมองเป็นคำว่าประเทศก็จะนึกถึงสังคม นึกถึงประชาชน นึกถึงชาวบ้าน ก็จะทำให้สายตากว้างขึ้น แต่พอพูดถึงเรื่องชาติก็มีความรู้สึกว่าต้องเชียร์ลูกเดียว ซึ่งทหารติดกับความคิดเรื่องชาติและความมั่นคง แต่ปัญหาเรื่องการปฏิรูปทหารยังไม่มีการพิจารณามากเท่าที่ควร

นอกจากนี้ในความคิดเรื่องพลเมืองก็คล้ายกับมุมมองความคิดเรื่องการมองคำว่าประเทศ เพื่อให้ประชาชนมีความรับผิดชอบและกระตือรือร้นมากขึ้น เมื่อมองความคิดที่ต่างกันทำให้การแก้ปัญหาต่างัน แต่จะทำอย่างไรให้พลังชาวบ้านมาเป็นฐานให้ประเทศ ที่ผ่านมาก่อนปี 2500 ชาวบ้านมองตัวเองเป็นเชิงลบ เพราะถูกกดจากอำนาจส่วนกลางทำให้เป็นผู้น้อย แต่หลังจากปี 2500 สถานะชาวบ้านได้รับความสนใจมากขึ้น จากอัตลักษณ์ท้องถิ่นมาเป็นตัวประกอบในวัฒนธรรมส่วนกลางซึ่งได้รับการยอมรับมากขึ้น

"ชาวบ้านยังไม่รู้สึกในสิทธิอำนาจของตัวเองว่าจะไม่หายไปหลังการเลือกตั้ง จึงเป็นเรื่องที่ต้องผลักดันกันต่อไป ผมไม่อยากใช้คำว่าเป็นการกระจายอำนาจ แต่อยากใช้คำว่าการกระจายสิทธิตัวเองของท้องถิ่น หากทำได้ชาวบ้านจะมีประชาธิปไตยที่เป็นวิถีชีวิต หากทำไม่ได้ ชาวบ้านก็ต้องอยู่ในระบบอุปถัมภ์ในช่วงการเลือกตั้งอยู่ดี โดยสรุปมองว่าต้องผลักดันให้เกิดอัตลักษณ์ตัวตน ให้สิทธิของชาวบ้านเป็นหลักในการปฏิรูปสู่การแก้วิกฤติของประเทศชาติได้"นายธีรยุทธ กล่าว

นายธีรยุทธ ให้สัมภาษณ์กรณีแนวคิดของการบัญญัติให้มีคณะกรรมการยุทธศาสร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ(คปป.)ให้มีอำนาจคล้ายกับคณะกรรมการโบริตบูโรหรือไม่ ว่า ไม่ขอตอบ เพราะเป็นคำถามที่ชี้นำแต่กังวลใจว่าสังคมไทยเวลานี้มีความเหนื่อยล้าและเบื่อการชุมนุม ทำให้มีแนวโน้มที่จะยอมรับระบบโบริตบูโรมากขึ้น เพื่อแลกกับความสงบของบ้านเมือง แต่คิดว่าระบบนี้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของประเทศได้ เพราะเป็นการแก้ที่ปลายเหตุซึ่งจะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน เหมือนเราย้อนกลับไปในอดีต

ทั้งนี้ เป็นห่วงบทเฉพาะกาลแนบท้ายรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับคปป. ซึ่งกำหนดวาระยาวนานถึง 5 ปี เพราะยาวนานเกินไป ทั้งถูกหลายฝ่ายมองว่าอาจเป็นการสืบทอดอำนาจ และยังไม่รู้ว่าจะมีคสช.ไปทำหน้าที่นี้ในคปป.ด้วยหรือไม่ จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะที่ผ่านมาความนิยมของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเกิดขึ้นจากการเข้ามาควบคุมสถานการณ์บ้านเมืองไม่ให้เกิดความรุนแรง ประกอบกับบุคลิกส่วนตัวที่ดูตรงไปตรงมาและสังคมเชื่อว่าไม่ใช่คนทุจริต แต่เมื่อเวลาผ่านไปจะเริ่มมีคำถามมากขึ้น เพราะที่ผ่านมายังไม่มีการปฏิรูปที่เป็นรูปธรรมแม้แต่เรื่องเดียว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หมายความว่ากระแสความนิยมในตัวพล.อ.ประยุทธ์ กำลังจะตีกลับ หรือลดลงใช่หรือไม่ นายธียุทธ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ถึงจุดนั้น แต่หากทิ้งเวลาผ่านไปอีกและยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง จะมีคำถามจากสังคมจะมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ อย่าคิดว่ารัฐบาลจะมีเสถียรภาพเช่นนี้ตลอดไป และเชื่อว่าปัญหาของชาติจะแก้ไขโดยการใช้ร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้ แต่ไม่ขอให้ความเห็นว่าควรหรือไม่ควรที่จะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นอำนาจของสปช.

คุก'วิโรจน์'18ปีปล่อยกู้แบงก์ พ่วงหมายจับ'ทักษิณ'จำเลย1



คุก'วิโรจน์'18ปีปล่อยกู้แบงก์ พ่วงหมายจับ'ทักษิณ'จำเลย1
Cr:เดลินิวส์
ที่ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถนนแจ้งวัฒนะ เมื่อวันที่ 26 ส.ค. นายศิริชัย วัฒนโยธิน รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวน พร้อมองค์คณะ รวม 9 คน ได้นั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หมายเลขดำ อม.3/2555 ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี,กรรมการบริหาร,กรรมการสินเชื่อ, เจ้าหน้าที่สินเชื่อของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และกลุ่มบริษัทเอกชน รวม 27 ราย เป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, ความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงาน ในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502, ความผิด พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505, ความผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และ ความผิด พ.ร.บ.บริษัท มหาชน จำกัด พ.ศ. 2535
โดยคำฟ้องสรุปพฤติการณ์ของจำเลยว่า ผู้บริหารธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้สินเชื่อกลุ่ม บมจ.กฤษดามหานคร ที่มีสถานะอยู่ในกลุ่มลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคาร เนื่องจาก ผอ.ฝ่ายกลั่นกรองสินเชื่อธุรกิจนครหลวง เคยจัดอันดับความเสี่ยงของกลุ่มกฤษดามหานครในอันดับ 5 คือไม่สามารถอนุมัติสินเชื่อให้ได้ แต่ได้มีการอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทในกลุ่มกฤษดามหานคร 3 กรณี คือ
1.การอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทอาร์เค โปรเฟสชั่นนัล จำกัด จำนวนเงิน 500 ล้านบาท
2.การอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทโกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด วงเงิน 9,900 ล้านบาท (วงเงินไฟแนนซ์ 8,000 ล้านบาท วงเงินซื้อที่ดินเพิ่ม 500 ล้านบาท และวงเงินพัฒนาโครงการ 1,400 ล้านบาท) และ
3.การอนุมัติขายหุ้นบุริมสิทธิแปลงสภาพของ บมจ.กฤษดามหานคร ให้กับบริษัท แกรนด์ คอมพิวเตอร์คอมมูนิเคชั่น จำกัด จำนวนเงิน 1,185,735,380 บาท ถือว่าผู้เกี่ยวข้องมีพฤติการณ์ ร่วมกันหรือสนับสนุนการกระทำความผิดกรณีธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐ เป็นการกระทำโดยทุจริต เพื่อฟื้นฟูกิจการของ บมจ.กฤษดามหานคร ประโยชน์ส่วนตนกับพวก ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ปรากฎว่าไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยที่ 6-7 ซึ่งจำเลยที่ 18-20 รวมทั้งบริษัทในกลุ่มต่างอยู่ในสภาพมีหนี้สินจำนวนมาก ไม่มีรายได้ต่อเนื่องกันหลายปี ทำให้มีดอกเบี้ยค้างชำระเพิ่มพูนขึ้น เกินการขาดทุนสะสมทำให้ฐานะการเงินไม่มั่นคง และเกินความน่าเชื่อว่าจะชำระหนี้ได้ ซึ่งต้องห้ามมิให้สินเชื่อตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของธนาคารกรุงไทย การที่จำเลยที่ 5-17 อนุมัติสินเชื่อให้แก่บริษัทจำเลยที่ 18 และจำเลยที่ 2-5 และจำเลยที่ 8-17 ซึ่งเป็นกรรมการพิจารณาสินเชื่อของธนาคารกรุงไทยได้ร่วมกันอนุมัติสินเชื่อให้แก่บริษัทจำเลยที่ 19 จึงเป็นการไม่ชอบ
นอกจากนี้การที่จำเลยที่ 2-4 อนุมัติขายหุ้นบุริมสิทธิ โดยไม่วิเคราะห์สินเชื่อของบริษัทจำเลยที่ 22 ทำให้ธนาคารกรุงไทยไม่ได้รับเงินค่าชำระหุ้น จนทำให้เกิดความเสียหาย จำเลยที่ 2-4 จึงมีความผิดตามฟ้อง พิพากษาว่านายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย จำเลย 3 กับพวกจำเลยที่ 2,4 และ 12 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ม.4 ให้จำคุกจำเลยทั้งสี่ไว้คนละ 18 ปี ส่วนจำเลยที่ 5,8-11,13-17 ซึ่งเป็นพนักงานของธนาคารกรุงไทย ผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ม.4 จำคุกจำเลยทั้ง 10 คนในส่วนนี้ คนละ 12 ปี
สำหรับนายวิชัย กฤษดาธานนท์ เจ้าของโครงการหมู่บ้านกฤษดามหานคร จำเลยที่ 25 และจำเลยที่ 18-27 ซึ่งนิติบุคคล และผู้บริหารบริษัทในเครือกฤษดานคร มีความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4 โดยให้ปรับจำเลยที่ 18-22 ซึ่งเป็นนิติบุคคล รายละ 26,000 บาท และให้จำเลยที่ 23-27 คนละ 12 ปี และให้จำเลยที่ 20,25 และ 26 รวมกันคืนเงิน 10,004,467,480 บาท แก่ธนาคารกรุงไทย ผู้เสียหาย นอกจากนี้ให้นายวิโรจน์ จำเลยที่ 3, 22 และจำเลยที่ 27 ร่วมรับผิด 9,554,467,480 บาท และให้จำเลยที่ 12-17, 21, 23 และ 24 ร่วมรับผิดจำนวน 8,818,732,100 บาท ส่วนจำเลยที่ 18 รวมรับผิด 450 ล้านบาท และจำเลยที่ 2, 4, 5 และ 8-11 และ 19 ร่วมรับผิดจำนวน 8,368,732,100 บาทหากจำเลยที่ 18-22 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29 และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 6-7
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังฟังคำพิพากษาญาติจำเลยมีอาการโศกเศร้า บางรายถึงกับร้องไห้ออกมา ขณะที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้นำรถเรือนจำมารับจำเลยเพื่อไปควบคุมตัวต่อที่เรือนจำพิเศษกรุเทพต่อไป สำหรับ พ.ต.ท.ทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 1 หลบหนีคดี ศาลฎีกาฯ จึงให้ออกหมายจับ ติดตามตัว พ.ต.ท.ทักษิณ มาดำเนินคดี โดยให้จำหน่ายคดีเฉพาะส่วนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ไว้เป็นการชั่วคราวก่อนจนกว่าจะได้ตัวมา