PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ถ้าจีน ‘ฮัดเช้ย’ ไทยร้อง ‘ไอ้หยา’ โดย : กาแฟดำ

04082558 ถ้าจีน ‘ฮัดเช้ย’ ไทยร้อง ‘ไอ้หยา’ โดย : กาแฟดำ
แต่ก่อน คนไทยบอกว่าถ้ายักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐจาม เราก็จะติดหวัด
วันนี้ มีคนเปลี่ยนไปบอกว่าเราต้องพึ่งพาจีนมากขึ้นตามลำดับ เผลอ ๆ ทางด้านเศรษฐกิจ จีนจะกลายเป็นตัวกำหนดความเป็นไปของเรามากขึ้น
แปลว่าต่อไปนี้ถ้าจีน “ฮัดเช้ย” ไทยก็ต้องร้อง “ไอ้หยา” กันทีเดียว
ทุกสำนักเศรษฐกิจของไทยยอมรับว่า ที่การส่งออกของเราลดต่ำลง จนอาจจะติดลบได้ในช่วงไตรมาสที่สามและสี่ของปีนี้นั้น สาเหตุสำคัญประการหนึ่งของคือการที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัว ที่เคยมีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจ 8-10% ก็หดตัวลงต่ำกว่า 7%
แม้ว่าไตรมาสแรกของจีนจะรายงานอัตราโตอยู่ที่ 7% แต่ก็มีการคาดกันว่าตัวเลขเฉลี่ยทั้งปีอาจจะได้เห็นตัวเลข 6% เศษ ๆ เท่านั้น
เมื่อตลาดหุ้นจีนแสดงอาการผันผวนรุนแรง ไม่เพียงแต่นักเล่นหุ้นที่จะต้องอกสั่นขวัญแขวน แต่ทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจก็จะต้องจับตาทุกความเคลื่อนไหวของจีน เพราะหาก “ฟองสบู่” ตลาดหุ้นจีนแตกจริงอย่างที่นักวิเคราะห์บางส่วนกลัวกัน ส่วนอื่น ๆ ของเศรษฐกิจมังกรก็จะพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย
และหากตลาดหุ้นกับตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีนเกิดอาการ “ผิดปกติ” ไม่ว่าจะเป็นไปในทางขึ้นหรือลงก็ตาม ผลกระทบก็จะไม่จำกัดอยู่เฉพาะในจีนเท่านั้น แต่ไทยและอาเซียนอื่น ๆ ก็จะพลอยได้รับผลทางลบเช่นกัน
เพราะหากดูสถิติการส่งออกของอาเซียนไปจีนในระยะห้าปีที่ผ่านมาจะเห็นการก้าวกระโดดที่รวดเร็วและรุนแรง
นักวิเคราะห์บางคนประเมินว่าในภาพที่เลวร้ายที่สุด หากจีดีพีของจีนปีนี้เฉลี่ยขึ้นเพียง 6.5% ก็จะมีผลทำให้การโตของผลผลิตมวลรวมของไทยลดลงเหลือ 2.5% โดยที่การส่งออกไปจีนลดลง 3-4%
เพราะจีนคือที่มาของรายได้การส่งออกและการลงทุนของไทย ที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลัง
แต่ถ้ามองภาพกลาง ๆ อย่างที่ไอเอ็มเอฟประเมินเอาไว้ นั่นคือจีนจะมีอัตราโตเฉลี่ยปีนี้ทั้งปีที่ 6.8% ก็จะส่งผลให้จีดีพีของไทยอยู่ที่ 3.3% โดยที่การส่งออกของไทยจะลดลง 2-3%
แน่นอนว่าปัจจัยทางลบอื่น ๆ สำหรับเศรษฐกิจไทยในหกเดือนหลังของปีนี้ยังมีอีกหลายประเด็นเช่นภัยแล้ง ใบเหลืองจากสหภาพยุโรปเกี่ยวกับ IUU หรือการประมงผิดกฎหมาย นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯหรือ Fed และหนี้ครัวเรือนที่พุ่งขึ้นอย่างน่ากังวล
และแน่นอนว่าเรื่องการเมือง รัฐธรรมนูญและความสามารถของรัฐบาล ในการบริหารความคาดหวังของประชาชน ก็เป็นปัจจัยที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าหัวข้อต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว
แต่ภาพที่เราต้องพึ่งพาเศรษฐกิจของจีนมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเช่นนี้ ทำให้เราต้องทบทวนถึงแนวทางการเมืองระหว่างประเทศ ที่กำลังจะมีความพัวพันกับเศรษฐกิจในประเทศอย่างแยกออกจากกันไม่ได้เลย
การคบหากับจีนเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น แต่นโยบายต่างประเทศและความมั่นคงกับเศรษฐกิจจะต้องเดินไปพร้อมกันเพื่อให้เราสร้างอำนาจต่อรองที่แข็งแกร่ง และไม่ติดอยู่ใน “กับดัก” ของนโยบายต่างประเทศที่ขาดมิติรอบด้าน
การรักษา “ดุลถ่วง” และ “ระยะห่างอันเหมาะสม” ในการคบหาจีน สหรัฐ ญี่ปุ่น อินเดีย สหภาพยุโรปและแม้แอฟริกากับตะวันออกกลาง เป็นเรื่องสำคัญยิ่งยวดที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจ และอนาคตของประเทศอย่างใหญ่หลวง
นั่นเป็นทางเดียวที่เราจะสร้าง “ภูมิต้านทาน” ให้กับตัวเองเพียงพอ เพื่อว่าหากยักษ์ประเทศใดจามเสียงดัง เราก็ไม่จำเป็นต้องติดโรคหรือล้มป่วยไปอย่างที่กำลังเห็นอาการอยู่ขณะนี้
- See more at:
แต่ก่อน คนไทยบอกว่าถ้ายักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐจาม เราก็จะติดหวัด
BANGKOKBIZNEWS.COM

ไม่มีความคิดเห็น: