PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ร่องรอยในรายทาง"พยัคฆ์"

หนังสือพิมพ์รายวัน/ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์

10 ต.ค. 2558 06:18

พยัคฆ์ตัดพยัคฆ์ “บิ๊กหมู VS บิ๊กโด่ง”

โดย: ASTVผู้จัดการรายวัน

ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เรียกว่าร้อนฉ่าไปทั้ง “กองทัพบก” และเลยไปถึง “กระทรวงกลาโหม” ตามต่อด้วย “รัฐบาล” และ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)” กันเลยทีเดียว สำหรับ “ปฏิบัติการหมูเขี้ยวตัน” ของ “บิ๊กหมู-พล.อ.ธีรชัย นาควานิช” ผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่ ที่กระทำต่อ “บิ๊กโด่ง-พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร” เพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 14 ที่วันนี้พ้นจากเก้าอี้ผู้บัญชาการทหารบกไปเป็น “เจ้านาย” ตามสายการบังคับบัญชาในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม
เมื่อ พล.อ.ธีรชัยลงนามคำสั่งแต่งตั้งนายทหารระดับพันเอกพิเศษ รองนายพลและผู้การกรมจำนวน 271 นาย พร้อมกับการเด้ง “ผู้การโจ้-พ.อ.คชาชาต บุญดี (ตท.27) ผู้บังคับการกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์(ผบ.ป.1 รอ.)ลูกน้องมือขวาของบิ๊กโด่ง ซึ่งบิ๊กโด่งมีคำสั่งแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่ง “รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11(รอง ผบ.มทบ.11) ก่อนเกษียณอายุราชการในเก้าอี้ผู้บัญชาการทหารบกเพียงแค่ 1 วัน เข้ากรุไปเป็น “ฝ่ายประจำเสนาธิการกองทัพภาคที่ 3”
เรียกว่า ย้ายกันอย่างไม่ไว้หน้า พล.อ.อุดมเดช ไม่คำนึงถึงความสัมพันธ์ทั้งในฐานะที่เป็นเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 14 เป็นอดีตผู้บังคับบัญชาคือผู้บัญชาการทหารบก และเจ้านายในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมกันเลยทีเดียว
ยัง....ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น 
เพราะก่อนหน้าที่ พล.อ.ธีรชัยจะมีคำสั่งย้ายนายทหาร 271 นายซึ่งรวมถึง ผู้การโจ้-พ.อ.คชาชาตเพียงไม่กี่ชั่วโมง ในวันเดียวกันนั้นคือวันที่ 5 ตุลาคม 2558 ได้ พล.อ.ธีรชัยมีคำสั่งให้รื้อกำแพงหรือฉากหลังพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 หน้า บก.ทบ. รวมทั้งมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่จากกรมการทหารช่าง นำแผ่นโลหะมาปิดทับบ่อน้ำพุบริเวณ ลานด้านหน้าอาคารพิพิธภัณฑ์กองทัพบก และอนุญาตให้รถยนต์ของกำลังพล รวมถึงผู้ที่มาติดต่อราชการกองทัพบก ได้จอดรถบริเวณด้านหน้าอาคารได้อีกด้วย ซึ่งบ่อน้ำพุและลานจอดรถได้ทำการปรับปรุงใหม่ในสมัยที่ พล.อ.อุดมเดช เป็น ผบ.ทบ. 
โดยมีข่าวว่า งานนี้ถึงกับมีการทุบโต๊ะดังปังว่า “วันจันทร์อย่างให้เห็นอีกทั้งกำแพงและน้ำพุ”
ทั้งนี้ พล.อ.อุดมเดชสร้างกำแพงฉากหลังขึ้นมาด้วยเหตุผลในเรื่องของความสวยงามและกั้นไม่ให้เห็นชั้นล่างของหอประชุมกิตติขจรที่มักมีการนำข้าวของมาวางพักเวลาจัดงานต่างๆ หรือบางครั้งมีการนำสินค้าเกษตรของ ทบ.มาจำหน่ายให้กำลังพล จึงทำฉากกั้นเพื่อให้เห็นสิ่งที่ไม่เรียบร้อย
ขณะที่กระแสข่าวรายงานว่า เหตุที่ พล.อ.ธีรชัย สั่งให้รื้อก็เพราะต้องการให้พระบรมราชานุสาวรีย์กลับมาเป็นเหมือนเดิมสมัยที่เป็นโรงเรียนนายร้อย จปร. และเชื่อว่า พระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นสิ่งที่ทหารในกองทัพบกเคารพบูชาและถวายราชสักการะอยู่เป็นประจำ ดังนั้นไม่ควรมีอะไรมาบดบังความศักดิ์สิทธิ์ของ “เสด็จพ่อ ร.5” 
จนทำให้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า ปฏิบัติการหมูเขี้ยวตันดังกล่าวอาจจะลามไปถึงคำสั่งย้ายนายทหารระดับพันเอกพิเศษ รองนายพลและผู้การกรมที่จะคลอดออกมาในวันเดียวกันด้วย
และสุดท้ายก็เป็นไปอย่างที่มีการคาดการณ์ไว้จริงๆ 
แน่นนอน ไม่ต้องถามว่า ทำได้หรือไม่ได้ แต่ต้องถามว่า ทำไม พล.อ.ธีรชัยถึงได้ตัดสินใจแบบห้าวเป้งไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหมเช่นกัน ซึ่งถ้าหากย้อนหลังกลับไปพิจารณาต้นสายปลายเหตุของเรื่อง ก็จะสามารถเห็นข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี
พล.อ.อุดมเดชลงนามคำสั่ง ทบ.ที่ 579/2558 เรื่องให้นายทหารรับราชการ ลงวันที่ 29 กันยายน 2558 ก่อนเกษียณอายุราชการในเก้าอี้ผู้บัญชาการทหารบกเพียงวันเดียว โดยโยกย้าย “3 พันเอกพิเศษ” และมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558
คนแรกคือ ผู้การโจ้ พ.อ.คชาชาต บุญดี(ตท.27) ผู้บังคับการกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์(ผบ.ป.1 รอ.) ขึ้นรองนายพลเป็นรองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11(รองผบ.มทบ.11) 
ไม่เคยมีธรรมเนียมปฏิบัติของการบริหารราชการที่จะกระทำในลักษณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแต่งตั้งโยกย้าย ยิ่งเป็นทหารด้วยแล้ว ยิ่งไม่ปรากฏให้เห็น เนื่องจากตามธรรมเนียมหรือ “ขนบ” ของ ทบ.นั้น คำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายพันเอกพิเศษทั้งระดับรองนายพล หรือผู้การกรมจะต้องให้ ผบ.ทบ.คนใหม่เป็นคนจัดทำและลงนาม
คนที่สองคือ เสธ.ต่อ-พ.อ.นิติ ติณสูลานนท์(เตรียมทหาร 26) รองผบ.กรมนักเรียนนายร้อย จปร.หลานชาย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ กลับใต้ไปเป็นผู้บังคับการกรมทหารพัฒนาที่4
และเมื่อต้องย้ายเสธ.ต่อ ก็ต้องทำให้มีการย้ายนายทหารคนที่ 3 เพื่อเปิดทางคือย้าย พ.อ.กิตติศักดิ์ ถาวร ผบ.กรมทหารพัฒนาที่ 4 เพื่อนเตรียมทหาร 26 รุ่นเดียวกันขึ้นมาเป็นฝ่ายเสนาธิการผู้บังคับบัญชา
และถ้าจะว่าไปแล้ว การย้ายเสธ.ต่อไปพร้อมๆ กับผู้การโจ้นั้น ก็เป็นเพียงแค่การทำ “ไม่ให้น่าเกลียด” เท่านั้น เพราะในความเป็นจริงแล้ว การโยกย้ายเสธ.ต่อกลับใต้ก็ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนอะไร เนื่องจากเป็นเรื่องที่ชอบด้วยเหตุผลทั้งปวง เพราะถือเป็นธรรมเนียมปกติที่จะย้ายกลับไปหน่วยปกติเมื่อทำหน้าที่ในโรงเรียนนายร้อย จปร.มาเป็นเวลา 2 ปี ซึ่งก็เชื่อได้ว่า พล.อ.ธีรชัยจะไม่มีปัญหาอะไรกับเก้าอี้ของ เสธ.ต่อ
แต่ พล.อ.อุดมเดชจะลงนามย้ายผู้การโจ้ลูกน้องมือขวาเพียงคนเดียวก็จะน่าเกลียด จึงจำต้องพ่วง เสธ.ต่อเข้ามาด้วย
คำถามมีอยู่ว่า ทำไม พล.อ.อุดมเดชถึง “ต้องตัดสินใจ” ทำแบบนั้น ทั้งๆ ที่รู้อยู่แก่ใจว่า จะเกิดข้อครหาตามมามากมาย 
สมมติฐานที่เป็นไปได้มากที่สุด พล.อ.อุดมเดชรู้อยู่แก่ใจว่า ลูกน้องตนเองจะได้รับการโยกย้ายไปอยู่ในที่ในทางที่เหมาะสมตามที่ตนเองอยากให้เป็น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องจัดการในช่วงที่ตนเองยังคงมีอำนาจอยู่ในมือ
เรื่องนี้มีที่มาที่ไป และเกี่ยวพันเก้าอี้ผู้บัญชาการทหารบก รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่าง พล.อ.อุดมเดชกับพล.อ.ธีรชัย ซึ่งเป็นที่รับรู้กันดีว่า ไม่เป็นที่ลงรอยกันเท่าใดนัก
หากยังจำกันได้ก่อนหน้านี้มีเหตุการณ์การโยกย้ายซึ่งเกี่ยวโยงโดยตรงกับกรณีของ พ.อ.คชาชาต นั่นคือกรณีของ “ผู้การโต-พล.ต.สุชาติ พรหมใหม่” ผบ.ร.11 รอ.(เตรียมทหาร รุ่น 27) ซึ่งได้รับการโปรดเกล้าฯ ขึ้นเป็น “นายพล” ในการโยกย้ายนายทหารระดับนายพลที่ผ่านมา 
ผู้การโตคือน้องรักของ พล.อ.อุดมเดช และเป็นบุคคลสำคัญที่ช่วยนายโด่งสร้าง “อุทยานราชภักดิ์” อุทยานแห่งความจงรักภักดีที่วันนี้กลายเป็นศูนย์รวมใจของคนไทยทั้งประเทศ
เป็นที่รับรู้กันว่า ถ้าหากผู้การโตไม่ได้ถูกขยับขยายไปไหน ยังคงนั่งเป็น ผบ.ร.11 รอ. ก็คงไม่แคล้วถูกโยกย้ายพ้นจากเก้าอี้ พล.อ.อุดมเดชจึงโยกให้ไปดำรงตำแหน่งผู้ชำนาญการ ทบ.เพื่อไปทำหน้าที่นายทหารฝ่ายเสนาธิการของ ตนเองในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม
ขณะที่ ผู้การโจ้-พ.อ.คชาชาตคือเพื่อนรักของ พล.ต.สุชาติที่ถูกดึงเข้ามาช่วยงาน พล.อ.อุดมเดชในยามที่ต้องการมือไม้และคนรู้ใจช่วยทำงาน โดยก้าวขึ้นมาเป็นผู้บังคับการกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์(ผบ.ป.1 รอ.) จนกลายเป็นคำเรียกขานแบบหยิกแกมหยอกว่าเป็นคู่หูคนดัง “โต-โจ้” ซึ่งเก้าอี้ของผู้การโจ้ถือว่ามีความสำคัญเพราะ ป.1 รอ.รับผิดชอบพื้นที่สำคัญๆ ได้แก่ ทำเนียบรัฐบาล บก.ทบ.อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น
ทั้งนี้ คนที่มารั้งตำแหน่ง ผบ.ป.1 รอ.ซึ่ง พล.อ.ธีรชัยเซ็นคำสั่งย้ายพร้อมๆ กับเด้ง ผู้การโจ้-พ.อ.คชาชาตก็คือ “เสธ.มิตต์-พ.อ.นิมิตต์ สุวรรณรัฐ” รอง ผบ.ป.1 รอ. นายทหารฝ่ายเสนาธิการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งเสธ.มิตต์นั้นถือเป็นนายทหารที่มีบทบาทสำคัญและทำงานกับพล.อ.ประยุทธ์มาเป็นเวลานาน จนถูกตั้งฉายาเปรียบเทียบว่า “นายกฯ น้อย”
ส่วนเรื่องความสัมพันธ์ของ พล.อ.ธีรชัยกับ พล.อ.อุดมเดชนั้น ก็เป็นที่รับรู้ว่า มีปัญหาอันเนื่องมาจากเก้าอี้ผู้บัญชาการทหารบก
ว่ากันว่า พล.อ.อุดมเดชสนับสนุนให้ “บิ๊กติ๊ก-พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา” น้องชายคลานตามกันมาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก้าวขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่สืบต่อจากตนเอง ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ พล.อ.ธีรชัยเป็น “ตัวเต็ง” มาโดยตลอด เพราะผ่านเก้าอี้สำคัญๆ ที่ผู้บัญชาการทหารบกควรจะเป็นมาแล้ว โดยเฉพาะตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 
ขณะที่ผู้สนับสนุนคนสำคัญและประสบความสำเร็จในการผลักดันให้ พล.อ.ธีรชัยเป็น ผบ.ทบ.ก็คือ “บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จนทำให้โผทหารและเก้าอี้ ผบ.ทบ.พลิกไปพลิกมาหลายรอบก่อนที่จะมีการเจรจาต้าอ่วยจากฝีมือของพี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์จนจบลงที่ชื่อของ พล.อ.ธีรชัยในท้ายที่สุด ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประวิตรและพล.อ.ประยุทธ์มีการพูดคุยหรือตกลงกันเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่าเคาะชื่อ พล.อ.ธีรชัยเป็น ผบ.ท.บ.
ดังนั้น พล.อ.ธีรชัยจึงถือเป็นสายตรงของ พล.อ.ประวิตร และมิได้มีบุญคุณติดค้างอันใดกับ พล.อ.อุดมเดช ซึ่งแม้จะเป็นเพื่อนเตรียมทหาร 14 เหมือนกัน แต่ก็มิได้มีสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
ด้วยเหตุดังกล่าวจงอย่าแปลกใจที่ พล.อ.ธีรชัยจะกล้าหัก พล.อ.อุดมเดชในการเด้งผู้การโจ้-พ.อ.คชาชาตเช่นนี้
งานนี้ ผู้ที่เต้นเป็นเจ้าเข้าเห็นจะหนีไม่พ้นพี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ “บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่พยายามเป็น “กาวใจ” พา พล.อ.อุดมเดชและ พล.อ.ธีรชัยเดินโชว์ที่ทำเนียบรัฐบาล พร้อมออกปากแจงแทนทั้งคู่ว่า “ไม่มีอะไร เพื่อนกัน เขาคุยกันแล้ว”
เหตุที่ พล.อ.ประวิตรต้องออกโรงแจงก็เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ความขัดแย้งของ พล.อ.อุดมเดชและ พล.อ.ธีรชัยนั้นส่งผลสะเทือนมาถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของกองทัพ และเลยมาถึงภาพลักษณ์ของ คสช.ที่มีกองทัพบกยืนเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กให้ 
แต่ไม่ว่าจะพยายาม “สร้างภาพ” หรือ “เล่นมุก” ใดๆ ความจริงก็ยังคงเป็นความจริงวันยังค่ำว่า กำลังเกิดรอยร้าวครั้งใหญ่ในความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน เตรียมทหาร 14 จนยากที่จะเยียวยา 
5 ตุลาคม 2558
ขณะที่ พล.อ.อุดมเดช ยิ้มและบอกว่า “เมื่อกี้คุยกันแล้ว” 
ขณะที่พี่ป้อม พล.อ.ประวิตรลงทุนลดกระจกรถลงพร้อมกับพูดว่า “หมูใจเย็นๆ” พร้อมกับหัวเราะ
แต่ พล.อ.ธีรชัยไม่ขอแจงเหตุผลใดๆ ทั้งสิ้นทั้งโผโยกย้ายและการปรับภูมิทัศน์ใน บก.ทบ โดยตอบสั้นเพียงแต่ว่า “ฝนตก”
6 ตุลาคม 2558
พล.อ.ประวิตรออกมาให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า ไม่มีอะไร ผบ.ทบ.คนเก่า และผบ.ทบ.คนใหม่คุยกันเรียบร้อยตั้งแต่วันที่ 5 ต.ค.แล้ว อาจจะมีการเข้าใจอะไรผิดกัน ไปเขียนจนเหมือนทะเลาะกัน แต่เขาไม่ได้ทะเลาะกัน ส่วนที่ พล.อ.ธีรชัยสั่งปรับภูมิทัศน์ที่กองบัญชาการกองทัพบกนั้นเป็นเรื่องของบุคคล ไม่เป็นอะไร เพราะอาจจะมองกันคนละแบบคนละด้าน ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร ผู้สื่อข่าวถามว่า ในฐานะพี่ใหญ่ได้พูดคุยกับทั้งสองคนหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่มีอะไร ตนไม่ใช่พี่ใหญ่อะไร ตนเป็นผู้บัญชาเขาก็ต้องดูแลเขา ทั้งสองคนก็ไม่ได้คิดอะไรกัน ทั้งคู่ทำงานเพื่อกองทัพ เขาเป็นผู้ใหญ่กันแล้ว เป็นถึง ผบ.ทบ.จะไปให้ข้อคิดอะไรเขา ไม่ได้มีอะไรเลย เมื่อถามว่าเกรงว่าจะเกิดเรื่องกระเพื่อมหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่มีกระเพื่อมร้อยเปอร์เซ็นต์ เรื่องนี้ไม่มีอะไร จบไปแล้ว สบายใจได้
พล.อ.อุดมเดช.กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติ ไม่มีอะไร รอฟังผู้ใหญ่ก็แล้วกัน
ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2558 
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยน้ำเสียงอันดุดันว่า “มันคนละเรื่อง ไม่ได้แยกแตกคออะไร มันแยกกันไม่ได้อยู่แล้ว... เดี๋ยวเขาไปคุยกันเอง อย่าไปยุ่งกับเขา เป็นเรื่องคนละความคิด แต่ไม่ได้ทะเลาะกัน เป็นเพื่อนกันจะทะเลาะกันได้อย่างไร ผมอยู่ตรงนี้ ยังไงก็ทะเลาะกันไม่ได้อยู่แล้ว เว้นแต่สื่อไปเขียนให้ทะเลาะกัน มันจะแตกแยกกันตรงไหน มันจะสนิมในเนื้อบ้าบอคอแตกอย่างที่เขียนกันมาหรือ ตราบใดที่ผมอยู่สั่งได้หมด ทำไมจะมีการปฏิวัติ รัฐประหารหรืออย่างไร”
วันนี้ แม้ภาพความขัดแย้งระหว่าง พล.อ.ธีรชัยกับ พล.อ.อุดมเดชจะสร่างซาลงจากฝีมือของ พล.อ.ประวิตร และคำรับประกันของ พล.อ.ประยุทธ์ รวมทั้งรับประกันได้ว่า ความขัดแย้งดังกล่าวจะมิได้มีผลต่อการรัฐประหารเพราะต่างก็เป็นบูรพาพยัคฆ์ แต่เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า “รอยแผลเป็น” ที่เกิดขึ้นในใจคงจะไม่จางลงไปง่ายๆ 
และคงต้องติดตามกันต่อไปว่า หลังการเกษียณอายุราชการในเก้าอี้ ผบ.ทบ.ของ พล.อ.ธีรชัยในเดือนกันยายน 2559 บรรดานายทหารในไลน์ของ พล.อ.อุดมเดชจะกลับมาผงาดอีกครั้งได้หรือไม่ เพราะต้องไม่ลืมว่า แม้จะไม่ได้เป็น ผบ.ทบ.แต่ พล.อ.อุดมเดชยังคงเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมอยู่
รวมกระทั่งถึง “อนาคต” ของ พล.อ.อุดมเดชเองที่สามารถกล่าวได้ว่า ยังคงสดใสและยังมีเส้นทางชีวิตอีกยาวไกล เนื่องจากยังคงได้รับความไว้วางใจจากผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเป็นอย่างดี เพราะหากยังจำกันได้เคยมีข่าวถึงขนาดเป็น “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” แทน พล.อ.ประยุทธ์เลยทีเดียว
ล้อมกรอบ
ขุนพลคุมกำลังรบ “ยุคบิ๊กหมู”
พ.อ. ธิติพันธ์ ฐานะจาโร ลูกชาย พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร อดีตผบ.ทบ. เป็นรอง ผบ.พล.ร.11, พ.อ.มนัส จันดี เป็นรอง เสธ.ทภ.1, พ.อ.กัณฑ์ชัย ประจวบอารีย์ นายทหารคนสนิท พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์ ผู้ช่วย ผบ.ทบ. และยังมีผลงานกระชับพื้นที่ในการ ปราบเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ได้เป็นรอง ผบ.พล.1 รอ., พ.อ.สุขสรรค์ หนองบัวล่าง เป็นรอง ผบ.พล.ร.2 รอ., พ.อ.ศักดิ์วุฒิ วงศ์วานิช และ พ.อ.ชัยยา จุ้ยเจริญ เป็นรอง ผบ.มทบ.18, พ.อ.นิธิศ เปลี่ยนปาน, พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ เป็นรอง ผบ.มทบ.11, พ.อ.ดิฐพงษ์ เจริญวงศ์ เป็นรอง ผบ.มทบ.12, พ.อ.อิทธิพล สุวรรณรัฐ เป็นรอง ผบ.มทบ.13, พ.อ.ชาติชาย น้าวแสง เป็นรอง ผบ.มทบ.19, พ.อ.พิเชษฐ์ อาจฤทธิวงค์ เป็นรอง ผบ.มทบ.21, พ.อ.พิชิต วันทา และ พ.อ.พูลศักดิ์ สมบูรณ์ เป็นรอง ผบ.มทบ.22
พ.อ.อุกฤษฎ์ นุตคำแหง เป็นรอง ผบ.พล.ร.4, พ.อ.บรรณวัฒน์ พรหมจรรย์ เป็นรอง ผบ.พล.ร.7, พ.อ.กฤษดา พงษ์สามารถ เป็นรอง ผบ.พล.ร.5, พ.อ.สิทธิพร มุสิกะสิน เป็นรอง ผบ.พล.ร.15, พ.อ.สุวิทย์ เกตุศรี และ พ.อ.กันตพจน์ เศรษฐารัศมี เป็นรอง ผบ.พล.ม.2 รอ., พ.อ.วรวุฒิ วุฒิศิริ และ พ.อ.นพพร ดุลยา เป็นรอง ผบ.พล.ปตอ., พ.อ.ธราพงษ์ มะละคำ เป็น ผบ.ร.12 รอ., พ.อ.กิตติพงศ์ ชื่นใจชน เป็น ผบ.ร.14, พ.อ.นฤทธิ์ ถาวรวงษ์ เป็น ผบ.ม.3, พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ อดีตโฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เป็น ผบ.ป.5, พ.อ.ชาตรี กิตติขจร เป็นเสธ.พล.รพศ.1, พ.อ.สมบัติ ธัญญะวัน เป็น เสธ.พล.ม.2 รอ., พ.อ.ณัฏฐ์ ศรีอินทร์ เป็น ผบ.ร.16, พ.อ.วรเทพ บุญญะ เป็นรอง ผบ.ร.17, พ.อ.นพสิทธิ์ สิทธิพงศ์โสภณ หรือ "ผู้การอรัญ" หนึ่งในนายทหารที่อยู่ในเหตุการณ์ขอคืนพื้นที่บริเวณหน้า รร.สตรีวิทยาและบาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิดในเหตุการณ์ครั้งนั้น ขึ้นเป็น ผบ.ม.1 รอ.
พ.อ.เกรียงศักดิ์ เสนาะพิน เป็น ผบ.ปตอ.2, พ.อ.ธานี วาศภูติ เป็น เสธ.พล.ปตอ., พ.อ.บรรยง ทองน่วม เป็น ผบ.ร.9, พ.อ.ชิษณุพงศ์ รอดศิริ เป็น ผบ.ร.2 รอ., พ.อ.สราวุธ ไชยสิทธิ์ เป็น ผบ.ร.29, พ.อ.ทรงพล สาดเสาเงิน เป็น ผบ.ร.31 รอ., พ.อ.นิมิตต์ สุวรรณรัฐ นายทหารคนสนิท พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็น ผบ.ป.1 รอ.แทน

ไม่มีความคิดเห็น: