PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2558

รายงานพิเศษ : ร้อนๆลึกๆ ใน′กกต.′ เมื่อ 5 เสือเด้ง′ภุชงค์′




http://www.matichon.co.th/online/2015/12/14500036541450003688l.jpg

กลายเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง เมื่อที่ประชุมของ 5 เสือ กกต. มีมติ 4 ต่อ 1 เสียง ให้เลิกจ้าง นายภุชงค์ นุตราวงศ์ จากตำแหน่งเลขาธิการ กกต.

มีผลตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2558 โดยอ้างเหตุจากที่ประชุม กกต.ได้พิจารณารายงานผลการประเมินการปฏิบัติงานของเลขาธิการ กกต.ประจำปี 2558 ตามที่คณะอนุกรรมการเพื่อประเมินผลการปฏิบัติงานของเลขาธิการ กกต.ได้รายงานผล เมื่อการประชุมวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา

ผลการประเมิน นายภุชงค์ไม่ผ่านการประเมินผลตามหลักเกณฑ์ 60% ในกรอบ 4 ด้านที่กำหนด ประกอบด้วย

1.การดำเนินการตามแผนปฏิบัติงานประจำปี 2.การดำเนินการงานมติ กกต. 3.การบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาล และ 4.งานที่ต้องทำในฐานะผู้บริหารสูงสุดขององค์กร ที่มีความท้าทายพัฒนาองค์กรให้ก้าวหน้าเป็นมาตรฐานสากล

ทว่าประเด็นการเลิกจ้างนายภุชงค์ ไม่ได้จบลงง่ายๆ เพียงแค่เหตุผลของการไม่ผ่านการประเมินผลงาน เพราะอดีตเลขาฯ กกต. นอกจากโต้แย้งการประเมินว่าไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในการทำงานของตนเองแล้ว

ยังมีข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่เปิดเผยออกมาผ่านสื่อมวลชนให้สังคมได้รับทราบ

ไล่เรียงมาตั้งแต่ข้อกล่าวหาจากอดีตเลขาฯว่ามีการล้วงลูกการทำงานของฝ่ายประจำสำนักงาน กกต. ขณะที่ กกต. บางคนออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวว่าเป็นแค่การกำกับนโยบายเท่านั้น

แต่ในทางปฏิบัติ มีปัญหาสารพัด อาทิ การส่งคนของตนเข้าไปดำเนินการ โดยจะให้ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญเข้าไปในงานแต่ละด้าน

อาทิ การกลั่นกรองบุคลากรเข้าสู่ตำแหน่ง จะมีการแต่งตั้งให้ที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญ เข้าไปทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการพิจารณา การแต่งตั้งโยกย้ายพนักงานหรือผู้บริหารระดับสูง กลายเป็นการวางคนใกล้ชิดให้ไปดำรงตำแหน่ง

ขณะที่มีการแต่งตั้งที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญ และทีมงาน เกินความจำเป็น ทำให้ต้องเสียงบประมาณถึงเดือนละ 2 ล้านบาท ปีละ 24 ล้านบาท

มีการผลักดันให้มีการกำหนดจำนวนตำแหน่งที่มากขึ้น และอัตราค่าตอบแทนที่สูงกว่าชุดก่อน โดยใน กกต.ชุดก่อนๆ จะกำหนด กกต.หนึ่งคน มีที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญ โดยที่ปรึกษาจะได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 3 หมื่นบาท ส่วนตำแหน่งอื่นให้ทางสำนักงานคัดสรรพนักงานที่ปฏิบัติงานดีขึ้นไปทำหน้าที่

แต่ กกต.ชุดปัจจุบัน กำหนดให้ กกต.หนึ่งคนมีที่ปรึกษา 1-2 คน รับค่าตอบแทนคนละ 60,000 บาท ผู้เชี่ยวชาญประจำ กกต. 3 คน ค่าตอบแทนคนละ 40,000 บาท เลขานุการ 1 คน ค่าตอบแทน 45,000 บาท ผู้ช่วยเลขานุการ 2 คน ค่าตอบแทน 23,000 บาท คนขับรถ 15,000 และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 25,000 บาท เงินเพิ่มและสวัสดิการประจำเดือนให้เลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการของแต่ละคนอีกคนละ 5,000 บาท เบี้ยประกันสุขภาพของทุกคนปีละไม่เกิน 20,000 บาท

เมื่อเปรียบเทียบกับระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการประจําประธานกรรมการการเลือกตั้งและกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2551 กำหนดให้มีการแต่งตั้งเฉพาะตำแหน่งที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญประจำประธาน กกต.และกรรมการ กกต.เท่านั้น โดยกำหนดให้มีที่ปรึกษาประจำตัวประธาน กกต.ไม่เกิน 3 คน กรรมการ กกต. ได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 35,000 บาท ผู้เชี่ยวชาญประจำประธาน กกต.และกรรมการ กกต.ไม่เกิน 2 คน ได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 30,000 บาท

ยังมีเรื่องการใช้งบประมาณในการเดินทางไปต่างประเทศ อดีตเลขาฯกกต.ระบุว่า โดยในช่วงปี 2557-2558 กรรมการ กกต.มีการเดินทางไปต่างประเทศถึง 15 ครั้ง ใช้เงินไม่น้อยกว่า 15-20 ล้านบาท โดยทั่วไปกรรมการ กกต.จะมีผู้ติดตามแค่ 1 คน แต่บางคณะมีผู้ติดตามมากถึง 5-10 คน ให้ที่ปรึกษา กกต.นั่งชั้นบิซิเนสคลาส

อย่างการไปดูงานที่ประเทศเม็กซิโก 3-4 คนใช้เงินกว่า 1 ล้านบาท เช่นเดียวกับที่ประเทศโปแลนด์แม้จะเป็นการได้รับเชิญมา แต่ต้องใช้งบกับผู้ติดตามกว่า 1 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดเป็นงบประมาณของ กกต. โดยอดีตเลขาฯกกต.ต้องเซ็นอนุมัติเพราะเป็นมติของบอร์ด กกต.สั่งลงมา

อีกประเด็นที่อดีตเลขาฯกกต. ได้เปิดเผยพร้อมกับให้สังคมร่วมกันตรวจสอบในประเด็นการจ้างโรงพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญ 20 ล้านฉบับ เพื่อเตรียมการทำประชามติ โดยเมื่อครั้งการเตรียมจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ผ่านการเห็นชอบของที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ไปแล้วนั้น ดูเหมือนมีความพยายามออกใบสั่งให้เอกชนบางแห่งเป็นผู้จัดพิมพ์ ขณะที่สำนักงาน กกต.อยากให้มีโรงพิมพ์ทั้งภาครัฐและเอกชนมาร่วมพิมพ์ไม่ใช่ให้โรงพิมพ์เดียวมารับงาน

ปิดท้ายที่ประเด็นการพัฒนาเครื่องลงคะแนนเลือกตั้งแบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่คณะกรรมการ กกต. ได้มีการศึกษาเพื่อจะมาใช้ดำเนินการเลือกตั้ง โดยมีเหตุผลว่าเป็นการประหยัดงบประมาณในการจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้ง ป้องกันบัตรเสีย

ขณะนี้สำนักงาน กกต.ได้ให้บริษัทวิทยุการบินฯ ผลิตเครื่องลงคะแนนฯต้นแบบจำนวน 200 ชุดในวงเงิน 40 ล้านบาท โดยเครื่อง 1 ชุด จะมีราคาประมาณ 2 แสนบาท

ทั้งนี้ กรรมการ กกต.มีนโยบายนำร่องแนวทางในการนำเครื่องลงคะแนนมาใช้ในการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่น่าจับตาคือการจัดซื้อเครื่องลงคะแนนดังกล่าว หากจะนำมาใช้เลือกทุกหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศ จะต้องใช้ถึง 95,000 หน่วย ซึ่งจะใช้งบประมาณจำนวนไม่น้อย

เหล่านี้เป็นประเด็นที่อดีต "คนใน" นำออกมาเสนอต่อสังคม และควรจะมีการทำความกระจ่างจากผู้เกี่ยวข้อง

น่าติดตามว่าประเด็นการเลิกจ้างเลขาฯกกต.ในครั้งนี้ ได้ทำให้เกิดข้อมูลและเงื่อนไข ที่จะนำไปสู่การปฏิรูปองค์กรอิสระ อย่าง "สำนักงาน กกต." หรือไม่ อย่างที่มีเสียงเรียกร้องหรือไม่



ที่มา : มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 13 ธันวาคม 2558

ไม่มีความคิดเห็น: