PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2559

แนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี2559

แนวโน้มเศรษฐกิจโลก 2559

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ว่าปีนี้เศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 3.6% จากเมื่อปีที่แล้วที่ 3.1% แอนดรูว์ วอล์คเกอร์ ผู้สื่อข่าวสายเศรษฐกิจของบีบีซีภาคบริการโลก รายงานว่าหากการคาดการณ์ของไอเอ็มเอฟและหน่วยงานกระแสหลักอื่น ๆ ถูกต้อง เศรษฐกิจในปีนี้จะแข็งแกร่งกว่าปีที่ผ่านมาเล็กน้อย โดยมีจีนกับสหรัฐฯเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดทิศทางสถานการณ์เศรษฐกิจโลก 

อย่างไรก็ตาม นางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟ ได้เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ในเยอรมนี เตือนว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้จะทำให้หลายฝ่ายผิดหวัง โดยระบุว่าการฟื้นตัวจากการถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่หลังวิกฤตการเงินระหว่างประเทศ จะยังคงดำเนินต่อไป แต่แนวโน้มการฟื้นตัวจะไม่สดใส 

ผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ 
การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่ได้ เพราะทำให้การกู้ยืมเงินมีต้นทุนสูงขึ้นและค่าเงินอ่อนลง เพราะว่าเงินจะไหลเข้าไปยังสหรัฐฯ จากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น และจะส่งผลให้การจ่ายคืนเงินกู้ด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แพงขึ้นด้วย โดยสถานการณ์ดังกล่าวได้เกิดขึ้น ก่อนหน้าที่เฟดจะประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยด้วยซ้ำ เนื่องจากตลาดคาดการณ์ล่วงหน้าแล้วว่า เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยจริง 

ถึงขณะนี้ยังไม่มีวิกฤตด้านการคลังในตลาดเกิดใหม่ และเป็นไปได้ว่าจะไม่เกิดขึ้น แต่มีความเสี่ยงว่าอาจจะเกิดความผันผวนด้านการเงินการคลังในประเทศตลาดเกิดใหม่ได้ 

สถานการณ์น่าเป็นห่วงแค่ไหน ?
ศ. คาร์เมน ไรน์ฮาร์ท แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด แสดงความเป็นห่วงถึงเรื่องภาระหนี้ของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งหากเทียบกับปริมาณหนี้ในประวัติศาสตร์ถือว่าอยู่ในระดับกลาง แต่อาจมองได้ว่าเป็นการประเมินที่ต่ำไป ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นจริง ภาระหนี้ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการหมุนเวียนของกระแสเงินมากกว่าที่ประเมินไว้ และอาจรุนแรงถึงขั้นก่อให้เกิดวิกฤตได้ 

อย่างไรก็ตาม ด้านนายนูเรียล รูบินี นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันที่เคยเตือนถึงวิกฤตการเงินโลกก่อนที่จะเกิดวิกฤตขึ้นจริง กลับเห็นว่าปัญหาด้านเศรษฐกิจจะไม่แพร่ลามไปทั่วโลก โดยก่อนหน้านี้นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักต่างเห็นพ้องว่า ในช่วงที่ผ่านมานโยบายและกลไกต่าง ๆ ของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ได้พัฒนาขึ้นมาก และมีความแข็งแกร่งมากพอที่จะต้านทานความผันผวนในตลาดการเงินโลกได้ 

อย่างไรก็ตาม อาจมีบางประเทศที่จะประสบปัญหาร้ายแรงจากความผันผวนในตลาดโลก เช่น รัสเซีย เนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่ร่วงลง บราซิลจากวิกฤตทางการเมืองในประเทศ ขณะที่เวเนซุเอลามีปัญหาทั้งการเมืองและราคาน้ำมัน 

การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน 
เศรษฐกิจจีนไม่สามารถขยายตัวโดยเฉลี่ย 10% ต่อปีได้ตลอดไป แบบที่เป็นมาตลอด 30 ปีจนถึงปี 2553 ตามที่ทางการจีนระบุ โดยหลังจากนั้น เศรษฐกิจจีนเริ่มลดความร้อนแรงลง ซึ่งก่อให้เกิดคำถามว่า ช่วงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของจีนจะเป็นไปอย่างราบรื่นหรือไม่

จนถึงขณะนี้ยังไม่มีวิกฤตเกิดขึ้น มีเพียงตลาดหุ้นที่ร่วงลงอย่างหนัก และเกิดความผันผวนในตลาดหลักทรัพย์หลายครั้งเมื่อช่วงกลางปีที่แล้ว ขณะที่เริ่มต้นปีนี้ก็ส่อแววไม่สดใส ดัชนีหุ้นเซี่ยงไฮ้ปรับตัวลดลง 7% และต้องระงับการซื้อขายโดยอัตโนมัติ เหตุผลหนึ่งที่ตลาดหุ้นจีนร่วงหนักครั้งล่าสุดนี้มาจากความกังวลเรื่องผลผลิตในภาคอุตสาหกรรมเมื่อเดือนธันวาคมที่ตกลง ซึ่งเป็นหลักฐานเพิ่มเติมอีกชิ้นที่บ่งว่าเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลง การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนยังเป็นตัวแปรหลักที่ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกร่วงลง เช่น น้ำมัน โลหะและอาหาร 

ผลลัพธ์ของราคาน้ำมันที่ร่วงลงยังไม่เด่นชัด
ราคาน้ำมันที่ร่วงลงเป็นข่าวดีสำหรับบางประเทศ แต่ก็ถือว่าเป็นข่าวร้ายสำหรับประเทศที่ส่งออกน้ำมันอย่างซาอุดีอาระเบีย รวมทั้งอาร์เจนตินาที่ส่งออกถั่วเหลือง และแซมเบียที่ส่งออกทองแดง ทั้งนี้ราคาน้ำมันไม่ได้ปรับตัวขึ้นเลยในช่วงปีที่ผ่านมา แบบที่นักวิเคราะห์บางคนคาดการณ์เอาไว้ โดยตอนนี้ราคาน้ำมันถูกกว่าเมื่อปีก่อน และร่วงลงราว 2 ใน 3 จากราคาเมื่อเดือน มิ.ย. 2557 

ศ. เคนเนธ โรกอฟฟ์ จากมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด และอดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟ บอกว่าผลของราคาน้ำมันที่ถูกลงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้ค่อนข้างเงียบ เพราะบางประเทศใช้โอกาสจากสถานการณ์ดังกล่าวตัดลดการอุดหนุนจากภาครัฐ แทนที่จะให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์โดยตรง  

ภาพประกอบ (แฟ้มภาพ) - นักลงทุนจีนที่ตลาดหุ้นแห่งหนึ่งในมณฑลอานฮุุย

ไม่มีความคิดเห็น: