PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2559

สถานะ 11 คดี‘ยิ่งลักษณ์’ในชั้น ป.ป.ช. วิบากกรรมหลังสู้คดีข้าว-ชดใช้ 3.5 หมื่นล.

เปิดสถานะ 11 คดี ‘ยิ่งลักษณ์’ ในชั้นการไต่สวน ป.ป.ช. สารพัดข้อกล่าวหา ไม่ปฏิบัติตามมติ ป.ป.ช. เปิดเผยราคากลาง-พิรุธโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน-ปล่อย ‘ทักษิณ’ จ้อสด ‘มวยมาเก๊า’-ไม่สอบข้อเท็จจริง ‘จารุพงศ์’ ปราศรัยแยกประเทศ ตีตก 2 คดี ย้าย 'พล.อ.เสถียร' พ้นปลัด กห.-ใช้งบกลางประกันผู้ชุมนุมทางการเมือง ก่อนล่าสุดระบายน้ำทำท่วมใหญ่ปี’54
PIC yingluck 23 9 59 1
ยังคงเหลือวิบากกรรมอีกเยอะ !
สำหรับ ‘นารีขี่ม้าขาว’ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ส่งทนายความมายื่นขอคัดค้านการแต่งตั้ง น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และนายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. ที่เข้าไปนั่งเป็นคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง ในคดีต่าง ๆ ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ หลายคดี โดยเห็นว่า ทั้งสองรายเป็นคู่ขัดแย้ง
ซึ่งการมายื่นคราวนี้นับเป็นครั้งที่ 8 แล้ว เพราะ 7 ครั้งแรก คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติตีตกคำคัดค้านดังกล่าวทั้งหมด
ขณะเดียวกันทนายความผู้รับมอบอำนาจจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังเปิดเผยด้วยว่า ปัจจุบันคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ น.ส.ยิ่งลักษณ์ รวมแล้วถึง 15 คดี 
คำถามสำคัญคือ มีคดีอะไรบ้างที่ถือเป็น ‘ชนัก’ ติดหลัง ‘นารีขี่ม้าขาว’ อยู่ นอกเหนือจากคดีละเว้นไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด ปัจจุบันอยู่ระหว่างการไต่สวนของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบฐานข้อมูลจากสำนักงาน ป.ป.ช. พบว่ามีอย่างน้อย 11 คดี (เท่าที่ตรวจสอบพบ) ปรากฏชื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นผู้ถูกกล่าวหา ดังนี้
หนึ่ง คดีละเลยเพิกเฉยไม่สั่งการหน่วยงานรัฐให้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. ที่ให้เปิดเผยรายละเอียดการจัดซื้อจัดจ้าง
ข้อกล่าวหา มีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติ ของกฎหมาย คือ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 103/7 โดยเมื่อคณะรัฐมนตรี ได้มีมติให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียด ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างฯ มีผลในวันที่ 11 ส.ค. 2556 ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงาน ละเลยเพิกเฉยยังไม่ดำเนินการ โดยผู้ถูกกล่าวหาทราบ ข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว แต่ละเว้นไม่ดำเนินการให้ถูกต้อง ตามกฎหมาย
ขั้นตอนการดำเนินการปัจจุบัน คณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ได้สรุปข้อเท็จจริง และเตรียมส่งที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาลงมติ
สอง คดี พ.ร.ก.บริหารจัดการน้ำฯ ที่ให้กระทรวงการคลังกู้เงิน 3.2 แสนล้านบาท ทั้งที่ใกล้หมดเวลากู้เงิน
ข้อกล่าวหา ขอให้วุฒิสภามีมติตามมาตรา 274 ของรัฐธรรมนูญฯ ถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาออกจากตำแหน่ง เนื่องจาก มีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติ แห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 178 ขัดต่อพระราชกำหนดให้อำนาจ กระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำ และสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 มาตรา 3 โดยเมื่อ วันที่ 27 มิ.ย. 56 กระทรวงการคลัง โดยอนุมัติของ คณะรัฐมนตรี ได้ลงนามในสัญญาเงินกู้กับธนาคารออมสิน, ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) วงเงินรวม 324,606 ล้านบาท หรือจำนวนวงเงินกว่าร้อยละเก้าสิบ ของวงเงินทั้งหมดภายในวันเดียวกัน และเป็นการดำเนินการ ในห้วงเวลาที่ใกล้สิ้นกำหนดระยะเวลากู้เงินตามพระราชกำหนดฯ เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายและเลี่ยงกำหนดระยะเวลากู้เงินที่ พระราชกำหนดฯ บังคับไว้ อีกทั้งปรากฏว่ามีการกู้เงิน หลังจากวันที่ 30 มิ.ย. 2556 จนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2556 อีก 2 ครั้ง วงเงินรวม 4,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการจงใจ ใช้อำนาจฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดฯ
ขั้นตอนการดำเนินการปัจจุบัน แจ้งเรื่องเกี่ยวกับปรับเปลี่ยนคณะอนุกรรมการไต่สวนฯชุดใหม่
สาม คดีไม่ยอมรับข้อเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ให้หน่วยงานรัฐเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง ขัด พ.ร.บ.ป.ป.ช.
ข้อกล่าวหา ขอให้วุฒิสภามีมติตามมาตรา 274 ของรัฐธรรมนูญฯ ถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากมีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมาย โดยในวันที่ 1 ส.ค. 2554 ประธานกรรมการ ป.ป.ช.ได้ทำหนังสือ ถึง นายกรัฐมนตรี เรื่อง การให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลาง และการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้ และการกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม พร้อมแนบรายงานซึ่งเป็นรูปแบบดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดฯ ไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ประชาชน สามารถเข้าตรวจดูได้ และการกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เพื่อสั่งการให้หน่วยงานของรัฐจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง ตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2)พ.ศ.2554 มาตรา 103/7 วรรคหนึ่ง 
โดยผู้ถูกกล่าวหารวมทั้งคณะรัฐมนตรี มีมติไม่รับข้อเสนอของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และไม่สั่งการให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง ตามมาตรา 103/7 วรรคหนึ่ง แต่ประการใด จนเป็นมูลเหตุให้มีการทุจริตกันหลายโครงการ และเป็นผลทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐและประชาชนเป็นอย่างมาก
ขั้นตอนการดำเนินการปัจจุบัน อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน และสอบปากคำพยานบุคคล
สี่ คดีละเว้นไม่ลงโทษผู้ใต้บังคับบัญชา กรณี รมว.มหาดไทย กับพวกปราศรัยรุนแรง-แบ่งแยกประเทศ
ข้อกล่าวหา นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย (ขณะนั้น) กับแกนนำ นปช. ได้ร่วมกันจัดเวทีปราศรัยที่อาคารลิปตพัลลภฮอลล์ ในสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา โดยใช้ชื่อว่า “นปช. ลั่นกลองรบ” ได้กล่าวปราศรัยในลักษณะยุยงให้ใช้ความรุนแรง ให้จัดตั้งกองกำลังของกลุ่มคนเสื้อแดง ข่มขู่องค์กรอิสระ ศาล ยุยงให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ให้มีการแบ่งแยกราชอาณาจักรไทยออกเป็นสองส่วน จึงเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้เกิดความเสียหายกับประเทศชาติ ประชาชน และเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
ส่วนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ในฐานะเป็นผู้บังคับบัญชา มีอำนาจสั่งยับยั้งและสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการได้ แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามสื่อมวลชนว่ามีการกระทำการดังกล่าวอันเป็นความผิดต่อกฎหมายเกิดขึ้น นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี กลับไม่ดำเนินการตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงใด ๆ
ขั้นตอนการดำเนินการปัจจุบัน คณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ได้สรุปข้อเท็จจริง และเตรียมส่งที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาลงมติ
ห้า คดีประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ช่วงม็อบ กปปส. โดยมิชอบ
ข้อกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ร่วมกับคณะรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยออกประกาศ เรื่อง พื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายใน ราชอาณาจักร ฉบับ ลว. 31 ก.ค. 2556 ในพื้นที่เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และเขตดุสิต กรุงเทพฯ (ช่วงม็อบ กปปส.) โดยอาศัย อำนาจตาม พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 มาตรา 15 โดยมีพฤติการณ์การกระทำที่ น่าเชื่อว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่สอดคล้องกับเหตุผล ท้ายพระราชบัญญัติ รวมทั้งยังเป็นประกาศที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 63 และผลของการประกาศดังกล่าวยังทำให้รัฐ เสียหายจากงบประมาณแผ่นดิน จำนวน 175 ล้านบาท 
และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยออกประกาศ เรื่อง พื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายใน ราชอาณาจักร ฉบับ ลว. 9 ต.ค. 2556 และฉบับ ลว. 18 ต.ค. 2556 โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคง ภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 มาตรา 15 โดยไม่ชอบ ด้วยกฎหมาย โดยมีพฤติการณ์ส่อว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อ รัฐธรรมนูญและกฎหมาย เป็นการใช้อำนาจหรือดุลพินิจ ในลักษณะบิดเบือนและไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ ของกฎหมาย กระทำการเกินกว่าเหตุ เกินความจำเป็น และความสมควรแก่กรณี ทั้งยังเป็นการโต้แย้งสิทธิ และละเมิดสิทธิและเสรีภาพฯ ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 63
ขั้นตอนการดำเนินการปัจจุบัน อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน
หก คดีไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ กรณีออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท
ข้อกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ กับพวกรวม 4 ราย ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะ การไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 57 วรรคสอง และมาตรา 67 วรรคสอง ในโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้าง ระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนฯ ภายใต้ พรก. ให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงินเพื่อการวางระบบ บริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท โดยได้ให้กลุ่มบริษัทเอกชนต่าง ๆ มายื่นข้อเสนอฯ ตามแผนงาน จำนวน 10 โมดูล (Module) และได้ประกาศผลผู้ชนะในวันที่ 10 มิ.ย. 56 และได้นำเรื่องเข้าสู่ความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 56 ปรากฏตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ 940/2556 คดีหมายเลขแดงที่ 1025/2556 ลว. 27 มิ.ย. 56
ขั้นตอนการดำเนินการปัจจุบัน แจ้งคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ
เจ็ด คดีลงมติเห็นชอบ พ.ร.ก.บริหารจัดการน้ำฯ 3.5 แสนล้านบาท ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ
ข้อกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี และ ส.ส. ที่ลงมติเห็นชอบ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในการตราพระราชกำหนด เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 55 และลงมติเห็นชอบพระราชกำหนด ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 จำนวน 350,000 ล้านบาท โดยไม่มีการชี้แจงรายละเอียดการใช้จ่ายเงิน และบทบัญญัติมาตรา 3 และมาตรา 4 ของ พ.ร.บ. ดังกล่าว บัญญัติให้กระทรวงการคลังมีอำนาจกู้ยืมเงิน จำนวน 350,000 ล้านบาท และสามารถนำไป ใช้จ่ายได้โดยไม่ต้องนำส่งคลัง ตามกฎหมายวิธีการงบประมาณและกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง อันเป็นการฝ่าฝืน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 169
ขั้นตอนการดำเนินการปัจจุบัน แจ้งคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ
แปด คดีไม่ได้ศึกษารายละเอียดการก่อสร้างตามแผนบริหารจัดการน้ำ เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง
ข้อกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ กับพวกรวม 14 ราย ขอให้วุฒิสภามีมติตามมาตรา 274 ของรัฐธรรมนูญฯ ถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 - 15 ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากมีพฤติการณ์กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กระทำการโดยทุจริต และใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติ แห่งกฎหมาย
โดย 1. ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยยุทธศาสตร์ เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2554 ลว. 10 พ.ย. 54 และกำหนดให้มีแผนปฏิบัติการบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำแบบบูรณาการฯ โดยมิได้มีการศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับความสัมพันธ์สอดคล้องระหว่าง โครงการลงทุนต่าง ๆ และความเป็นไปได้ ทางเทคนิค ทางเศรษฐกิจ ทางสังคม และทางสิ่งแวดล้อมอย่างครบถ้วนเพียงพอ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนในเขต พื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา อย่างรุนแรง ซึ่งขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 57 และมาตรา 67 และ พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 40 มาตรา 47 และมาตรา 48 ปรากฏตาม คำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ 940/2556 ลว. 27 มิ.ย. 56 
2. ไม่ได้กระทำการเปิดเผยราคากลางและรายละเอียดการคำนวณราคากลางงานก่อสร้าง ตามพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 103/7 ในการดำเนินโครงการ จ้างออกแบบและก่อสร้างระบบบริหารทรัพยากรน้ำฯ 3. ดำเนินการต่าง ๆ เพื่อมิให้มีการแข่งขันราคากัน อย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับผู้เสนอราคารายใด รายหนึ่งให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ ขัดต่อ พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาฯ พ.ศ.2542 มาตรา 12
ขั้นตอนการดำเนินการปัจจุบัน แจ้งคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ
เก้า คดีปล่อยให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดงาน ‘มวยมาเก๊า’ โดยมิชอบ
ข้อกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ กับพวกรวม 3 ราย ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อนุญาตให้สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยแพร่ภาพและเสียง รายการ "œมวยไทยวอริเออร์ส" ซึ่งจัดที่เขตปกครองพิเศษมาเก๊า โดยมีเจตนาแพร่ภาพการกล่าวเปิดงานของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีเนื้อหาบางส่วนที่มีลักษณะที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ขั้นตอนการดำเนินการปัจจุบัน อยู่ระหว่างสอบปากคำพยานบุคคล
สิบ คดีจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบทางการเมืองโดยมิชอบ
ข้อกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี กับพวก ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในการจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง (ตั้งแต่ปลายปี 48 - เดือน พ.ค.53) รอบแรก จำนวน 524 ราย วงเงินรวม 577 ล้านบาท เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 55 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 55 และวันที่ 6 มี.ค. 55 อันเป็นการออกระเบียบและกฎเกณฑ์ ขึ้นใหม่ เพื่อที่จะใช้บังคับกับกรณีนี้เป็นการเฉพาะ อีกทั้งการออกมติดังกล่าวยังไม่มีกฎหมาย กฎกระทรวง หรือหลักเกณฑ์มาตรฐานรองรับ ทั้งนี้เพื่อเป็นการตอบแทนผลประโยชน์แก่พวกพ้อง เป็นหลัก
ขั้นตอนการดำเนินการปัจจุบัน แจ้งข้อกล่าวหา และผู้ถูกกล่าวหามาให้ถ้อยคำเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างพิจารณาสรุปคดีของคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ
สิบเอ็ด คดีรับผิดชอบการระบายน้ำเป็นเหตุให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 2554
ข้อกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ กับพวก มีพฤติการณ์ร่วมกันกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น กรณีมีหน้าที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบในการเก็บกัก ควบคุม ระบาย หรือบริหารจัดการน้ำ เป็นเหตุให้เกิดมหาอุถกภัยในปี 2554 
ขั้นตอนการดำเนินการปัจจุบัน แจ้งคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ
นี่ยังไม่นับอีก 2 คดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติตีตกข้อกล่าวหาของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ได้แก่
หนึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี กรณีปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติต่อหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตกรณีจ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องขังคดีอาญา โดยใช้งบกลาง 120 ล้านบาท มีลักษณะเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง ระหว่าง เพื่อใช้เป็นหลักประกันการปล่อยตัวชั่วคราว
สอง น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี เพิกไม่ดำเนินการไต่สวน กรณีมีหนังสือร้องทุกข์ของปลัดกระทรวงกลาโหมและนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ขณะนั้น) ให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ทั้งที่ทราบดีว่า พล.อ.อ.สุกำพล เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการแต่งตั้งปลัดกระทรวงกลาโหม 
ทั้งหมดคือคดีความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เท่าที่สืบค้นเจอในชั้นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. รวมทั้งหมด 13 คดี อยู่ระหว่างการไต่สวน 11 คดี ตีตกไปแล้ว 2 คดี 
หากพิจารณาถึงขั้นตอนการดำเนินการของ ป.ป.ช. จะเห็นได้ว่า มีหลายคดีที่ ‘งวด’ ใกล้เสร็จสิ้น หรือบางคดีได้สรุปสำนวนรอส่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาลงมติแล้ว ดังนั้นต้องรอดูว่าจะมีมติออกมาในรูปแบบใด
นี่ยังไม่นับคดีละเว้นไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ที่ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการไต่สวนพยานฝ่ายจำเลย และกรณีต้องชดใช้ความเสียหาย ตามความรับผิดทางละเมิด ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง กระทรวงการคลัง พิจารณา โดยมีการเปิดเผยตัวเลขเบื้องต้นกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท
นับว่ายังเหลืออีกหลาย ‘วิบากกรรม’ ของ ‘นารีขี่ม้าขาว’ ที่ต้องเผชิญ ไม่แพ้ช่วงที่ ‘พี่ชาย’ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี !

ไม่มีความคิดเห็น: