วันนี้ (7 ตุลาคม) ผศ.ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และอดีตรองผู้อำนวยการ สถาบันการขนส่ง จุฬาฯ แสดงความคิดเห็นต่อคำสั่ง หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 62/2559 “การปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ” ระบุว่า
เมื่อมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 62/2559 “การปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ” ในวันที่ 6 ตุลาคม 2559 นี้ มีองค์ประกอบของ “สภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ” 36 ตำแหน่ง นัยว่าเพื่อการบูรณาการงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ลดความซ้ำซ้อน
โดยส่วนตัว ผมสนับสนุนแนวคิดในคำสั่งนี้นะครับ แต่ห่วงเรื่อง
แนวปฏิบัติที่จะทำให้กิจกรรมต่างๆ เดินหน้าไปอย่างมีรูปธรรม อยากฝากตามลมไปถึงสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติที่กำลังจะเกิดขึ้น ให้ท่านพิจารณาการผลักดันอะไรๆ ก็แล้วแต่ที่ท่านอาจจะดำริให้มีขึ้นในอนาคต โดยเน้นทำความเข้าใจเรื่อง “demand ของประเทศ” และ “supply”
ขอย้ำว่า เราต้องใช้ความต้องการของประเทศเป็นตัวผลักดันให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยี อุตสาหกรรม ตลอดจนบุคลากร
อย่าโยนงบประมาณลงไปเพื่อพัฒนา supply ก่อน demand ตามวิสัยไทยๆ ที่เป็นมาช้านาน เช่น สร้างตึก สร้างอาคาร สร้างสถาบัน ซื้อเครื่องมือ ตั้งงบวิจัย (ซึ่งเป็น supply ล้วนๆ) แล้วค่อยมาคิดว่าจะเอากายภาพ (และงบประมาณ) พวกนี้ไปทำอะไร (ซึ่งมักจบลงด้วยอาการเบี้ยหัวแตก คุม Theme ไม่ได้ และประกอบร่างเข้าด้วยกันไม่ได้ เพราะ แต่ละสถาบัน แต่ละมหาวิทยาลัย แต่ละกลุ่มก๊วนนักวิชาการ ต่างล้วนอยากทำในสิ่งที่ตนเองอยากทำ (แต่อาจไม่ใช่สิ่งที่ประเทศควรทำ)
การพุ่งเป้าไปที่การวิเคราะห์ demand ของประเทศเป็นเรื่องสำคัญ และยากกว่าการทำ supply เยอะ เรื่องเศร้าของไทยที่ผ่านมาจึงมักเฮละโลไปพัฒนา supply ในแบบตัดช่องน้อยแต่พอตัว ทุกคนได้ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ
ตัวอย่าง demand สำคัญ ที่ผมพูดมานาน คือ การใช้โอกาสในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศ เป็นตัวผลักดันให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร อาทิ อุตสาหกรรมขนส่งระบบราง อุตสาหกรรมต่อและซ่อมเรือ อุตสาหกรรมสนับสนุนโลจิสติกส์ เป็นต้น และใช้อุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาบุคคลากร
เรียกว่า ใช้ demand ของประเทศสร้างเผ่าพันธุ์มังกร เพื่อให้บรรดามหาวิทยาลัย วิทยาลัย โรงเรียนอาชีวศึกษาต่างๆ ร่วมกันสร้างยอดฝีมือออกไปปราบมังกร
อย่าได้ทำให้โมเดลเดิมๆ ที่ล้มเหลวมาตลอดหลายสิบปี คือ มุ่งแต่พัฒนา supply สร้างศูนย์วิจัย สร้างงานวิจัย สร้างคน ส่งคนไปเรียนต่อต่างประเทศ เหมือนส่งคนไปเรียนวิชาปราบมังกรในต่างประเทศ (ซึ่งมีมังกรมากมาย) แต่ลืมไปว่าการไม่พัฒนา demand ในประเทศ ก็คือทำให้ประเทศไทยไม่เคยมีมังกร
การมุ่งเน้นเป็นฐานการผลิต แต่ไม่เคยพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเอง ก็คือการไม่สร้างเผ่าพันธุ์มังกร
ดุษฎีบัณฑิตที่ไปร่ำเรียนวิชาปราบมังกรในต่างแดน กลับมาถึงเมืองไทยแล้วพบว่าประเทศนี้ไม่มีมังกร ไม่ช้านานเพลงดาบปราบมังกรก็จะล้าหลัง ดาบขึ้นสนิม และยอดฝีมือเหล่านั้นไม่ช้านานก็จะวนเข้าสู่วังวน “ด๊อกเตอร์ผักดอง” สอนวนๆ แต่เรื่องที่อยู่ในตำรา อยู่ในต่างประเทศ ที่มีคนปรามาสมาช้านาน
ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่านี่จะเป็นโอกาสใหม่ๆ ที่ “สภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ” จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับประเทศครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น