PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2560

กางพิมพ์เขียว ไทยแลนด์4.0 ในมือ”สุวิทย์ เมษินทรีย์”

หมายเหตุ – พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดนโยบายและเป้าหมายขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน จึงเป็นที่มาของการจัดทำแผนปฏิบัติการ ทั้งนี้ การปรับคณะรัฐมนตรีล่าสุดได้ให้นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อรับงานขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 เต็มตัว ?มติชน? จึงนำรายละเอียดของแผนดังกล่าวมาเผยแพร่
ปัจจุบันแม้ประเทศไทยอยู่ภายใต้ “Thailand 3.0” แล้ว แต่เศรษฐกิจที่เติบโตต้องเผชิญกับกับดักประเทศรายได้ปานกลาง กับดักความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่ง และกับดักความไม่สมดุลในการพัฒนา ซึ่งเป็นประเด็นที่นำประเทศไทยไปสู่การปฏิรูปโครงสร้างเพื่อก้าวข้ามจากไทยแลนด์ 3.0 สู่ไทยแลนด์ 4.0 นำไปสู่ “ประเทศในโลกที่หนึ่ง” ที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ซึ่งจะมีปฏิวัติอุตสาหกรรมอย่างเป็นรูปธรรม สอดรับแนวทางแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ได้กำหนดสร้างความเข้มแข็งจากภายในคู่ไปกับการเชื่อมโยงกับประชาคมโลก ตามแนวคิด “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”
ทั้งนี้ กับดักที่ประเทศไทยกำลังเผชิญในปัจจุบัน การพัฒนาทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ 70-80% ยังอยู่ในไทยแลนด์ 1.0 และ 2.0 บางส่วนพัฒนาสู่ไทยแลนด์ 3.0 ตามแรงกดดันของกระแสโลกาภิวัตน์ เปิดกว้าง มีการหลั่งไหลของทุนและเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ทำให้อุตสาหกรรมไทยมีความซับซ้อนมากขึ้น มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต จากการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าเป็นการส่งเสริมการผลิตเพื่อส่งออก คํานิยมชุดใหม่ว่าจะเป็นวัตถุนิยม แทนที่คํานิยมดั้งเดิม ที่เน้นการเอื้อเฟื้อ แบ่งปัน ความเป็นอยู่อย่างพอเพียง ช่วงต้นของการขับเคลื่อนไทยแลนด์ 3.0 อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยปีละ 7-8% และในความเป็นจริง ไทยแลนด์ 3.0 เป็นโมเดลการพัฒนาที่ค่อนข้าง “เปราะบาง” เป็นการเร่งการเจริญเติบโต การพัฒนาแบบปักชำ ไม่มีกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างจริงจัง เมื่อต้องเผชิญกับวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 การเติบโตขยายตัวเหลือ 3-4% มาเกือบ 20 ปี เกิดความเหลื่อมล้ำ คือ ช่องว่างของรายได้และโอกาสของคนจนกับคนรวยที่ถ่างออกมากขึ้น 10% ของคนรวยสุด
มีส่วนแบ่งรายได้คิดเป็น 36.81% ของรายได้ทั้งหมด 10% ของคนจนสุด มีส่วนแบ่งรายได้ 1.06% ของรายได้ทั้งหมด, 10% ของคนรวยสุด ถือครองที่ดินจำนวน 58.33 ล้านไร่ 10% ของคนจนสุด ถือครองที่ดินจำนวน 0.07 ล้านไร่, 10% ของคนรวยสุด มีหนี้สินต่อรายได้ครัวเรือน คิดเป็น 13.14 เท่า 10% ของคนจนสุด มีหนี้สินต่อรายได้ครัวเรือน คิดเป็น 40.52 เท่า ทั้ง 3 กับดักในไทยแลนด์ 3.0 จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ไทยไม่สามารถสร้างความมั่งคั่งแบบยั่งยืน
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนจะผ่านกลไก “ประชารัฐ” ไทยแลนด์ 4.0 ที่มีเป้าหมายครอบคลุม 4 มิติ ประกอบด้วย
1.ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ เป็น “ระบบเศรษฐกิจที่เน้นการสร้างมูลค่า” ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์
2.ความอยู่ดีมีสุขทางสังคม เป็น “สังคมที่เดินหน้าไปด้วยกันไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ด้วยการเติมเต็มศักยภาพของผู้คนในสังคม เพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคงทางเศรษฐกิจสังคม และฟื้นความสมานฉันท์และความเป็นปึกแผ่นของคนในสังคมให้กลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง
3.การยกระดับคุณค่ามนุษย์ ด้วยการพัฒนาคนไทยให้เป็น “มนุษย์ที่สมบูรณ์ในศตวรรษที่ 21” ควบคู่ไปกับการเป็น “คนไทย 4.0 ในโลกที่หนึ่ง”
4.การรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็น “สังคมที่น่าอยู่” มี “ระบบเศรษฐกิจที่สามารถปรับสภาพตามภูมิอากาศ” ควบคู่ไปกับการเป็น “สังคมคาร์บอนต่ำ” อย่างเต็มรูปแบบ
โดย มิติที่ 1.ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ เป็นระบบเศรษฐกิจที่เน้นการสร้างมูลค่าที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ เป้าหมายให้พ้นจากการเป็นประเทศรายได้ปานกลาง โดยมีรายได้ต่อหัวประชากรทีเพิ่มขึ้นจาก 5,410 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2557 เป็น 15,000 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2575 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจาก 3-4% เป็น 5-6% ภายใน 5 ปี การเติบโตของจีดีพีจาก 1.3%
ในปี 2556 เป็นมากกว่า 5% ต่อปี ต่อเนื่องภายใน 10 ปี ผลักดันไทยเป็นชาติการค้าและศูนย์กลางธุรกิจของภูมิภาคภายใน 10 ปี ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางตลาดทุนของอาเซียนภายใน 10 ปี มี 5 บรรษัทข้ามชาติระดับโลกสัญชาติไทย ภายใน 10 ปี มีความง่ายในการประกอบธุรกิจอยู่ใน 10 ลำดับแรกของโลก ภายใน 10 ปี เพิ่มระดับการวิจัยและพัฒนา จาก 0.25% ของจีดีพี ปี 2553 เป็น 4.0% ของจีดีพีเทียบจีดีพีเกาหลีใต้ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาให้แข็งแกร่ง เพื่อปรับเปลี่ยนสัดส่วนการพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองต่อการพึ่งพาเทคโนโลยีจากภายนอก จาก 10 ต่อ 90 ในปัจจุบัน เป็น 30 ต่อ 70 ภายใน 10 ปี และปรับขึ้นเป็น 60 ต่อ 40 ภายใน 20 ปี
มิติที่ 2.ความอยู่ดีมีสุขทางสังคม เป็น “สังคมที่เดินหน้าไปด้วยกัน ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ด้วยการเติมเต็มศักยภาพของผู้คนในสังคม เพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคงทางเศรษฐกิจสังคม และฟื้นความสมานฉันท์และความเป็นปึกแผ่นของคนในสังคมให้กลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง ระดับความเหลื่อมล้ำในสังคม (วัดผลจาก Gini Coefficient) จาก 0.465 ในปี 2556 เป็น 0.36 ภายในปี 2575 สัดส่วนประชากรที่อยู่ใต้เส้นความยากจนลดลงเหลือ 7.4% ภายใน 5 ปี และเหลือ 5% ภายใน 10 ปี ปรับเปลี่ยนสู่ระบบสวัสดิการสังคมอย่างสมบูรณ์ ภายใน 20 ปี เปลี่ยนเกษตรกรให้เป็น Smart Farmers จำนวน 20,000 ครัวเรือน ภายใน 5 ปี และ 100,000 ครัวเรือน ภายใน 10 ปี เกษตรกรมีรายได้เงินสดสุทธิทางการเกษตรเพิ่มขึ้น เป็น 60,000 บาทต่อครัวเรือน ภายใน 5 ปี และเป็น 100,000 บาทต่อครัวเรือน ภายใน 10 ปี ยกระดับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ให้เป็นสมาร์ทเอสเอ็มอี จำนวน 100,000 สถานประกอบการ ภายใน 5 ปี และเพิ่มเป็น 500,000 ราย ภายใน 10 ปี พัฒนาวิสาหกิจชุมชนและต่อยอดด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม และสามารถเข้าสู่ตลาดได้ตามแนวทางประชารัฐจำนวน 20,000 ราย ภายใน 5 ปี และเพิ่มเป็น 100,000 ราย ภายใน 10 ปี
มิติที่ 3.การยกระดับคุณค่ามนุษย์ ด้วยการพัฒนาคนไทยให้เป็น “มนุษย์ที่สมบูรณ์ในศตวรรษที่ 21” ควบคู่ไปกับการเป็น “คนไทย 4.0 ในโลกที่หนึ่ง” ไอคิวเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 100 ภายใน 5 ปี ร้อยละ 70 ของเด็กไทยมีคะแนน EQ ไม่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ภายใน 5 ปี ทั้งระบบ PISA Score จากลำดับที่ 47 จาก 76 ประเทศ เป็น 1 ใน 20 ประเทศแรก ภายใน 20 ปี ดัชนีการพัฒนามนุษย์ (HDI) จาก 0.722 (ในปี 2556) หรืออันดับที่ 89 เป็น 0.80 (กลุ่ม Very High Human Development) หรือ 50 อันดับแรก ภายใน 10 ปี ยกระดับคุณภาพฝีมือแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการและทิศทางการพัฒนาของประเทศ จำนวน 500,000 คน ภายใน 5 ปี มหาวิทยาลัยไทยติด 100 อันดับแรกของโลก จำนวน 5 สถาบัน ภายใน 20 ปี และนักวิทยาศาสตร์ไทยได้รับรางวัล Nobel Prize อย่างน้อย 1 ท่าน ภายใน 20 ปี
มิติที่ 4.การรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็น “สังคมที่น่าอยู่” มี “ระบบเศรษฐกิจที่สามารถปรับสภาพตามภูมิอากาศ” ควบคู่ไปกับการเป็น “สังคมคาร์บอนต่ำ” อย่างเต็มรูปแบบ มี 10 เมืองที่น่าอยู่ของโลก ภายใน 5 ปี มี 5 เมืองอัจฉริยะอย่างเต็มรูปแบบ ภายใน 10 ปี อันดับความเสี่ยงจากการโจมตีทางไซเบอร์ต่ำกว่าอันดับ 10 ของโลก ภายใน 5 ปี และต่ำกว่าอันดับ 5 ภายใน 10 ปี อันดับความเสี่ยงจากการ
ก่อการร้ายต่ำกว่าอันดับที่ 20 ของโลก ภายใน 5 ปี และต่ำกว่าอันดับ 10 ของโลก ภายใน 10 ปี มีการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ สัดส่วนพื้นที่อนุรักษ์ต่อพื้นที่ประเทศเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 20.44 ในปี 2558 เป็นร้อยละ 30 ภายใน 5 ปี และเพิ่มเป็นร้อยละ 40 ภายใน 10 ปี มีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ พื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้นจาก 30.48 ล้านไร่ ในปี 2558 เป็น 40 ล้านไร่ ภายใน 5 ปี และเป็น 60 ล้านไร่ ภายใน 10 ปี พื้นที่เกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเพิ่มขึ้น เป็น 500,000 ไร่ ภายใน 5 ปี และเป็น 2,000,000 ไร่ ภายใน 10 ปี มีการจัดการขยะ ทั้งขยะชุมชนและขยะอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบและยั่งยืน มีอัตราการจัดการขยะชุมชนถูกหลักสุขาภิบาลเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 31 ในปี 2558 เป็นร้อยละ 50 ภายใน 5 ปี และเป็นร้อยละ 80 ภายใน 10 ปี

ส่วนแนวทางปฏิบัติการขับเคลื่อนในไทยแลนด์ 4.0 ประกอบด้วย

1.การเตรียมคนไทย 4.0 เพื่อก้าวสู่โลกที่หนึ่ง 2.การพัฒนาคลัสเตอร์เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต 3.การบ่มเพาะผู้ประกอบการและพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม 4.การเสริมความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศ ผ่านกลไกของ 18 กลุ่มจังหวัด และ 76 จังหวัด และ 5.บูรณาการอาเซียน เชื่อมประเทศไทยสู่ประชาคมโลก
เพื่อให้สามารถเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 อย่างเต็มประสิทธิภาพ ต้องมีการปฏิรูปปรับเปลี่ยนกลไกภาครัฐใน 7 มิติ ประกอบไปด้วย 1.การสร้างรัฐที่นําเชื่อถือ 2.แหล่งที่มาของนโยบายสาธารณะ 3.การปรับเปลี่ยนบทบาทภารกิจ อำนาจหน้าที่ และรูปแบบการปฏิบัติราชการ 4.การสร้างภาคีความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคส่วนต่างๆ 5.การยกระดับขีดความสามารถในการตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลง 6.การบริหารจัดการการเงินและทรัพยากร 7.การสร้างระบบราชการแบบไร้รอยต่อ
โดย แนวทางปฏิบัติที่ 1 : การเตรียมคนไทย 4.0 เพื่อก้าวสู่โลกที่หนึ่ง จะครอบคลุมการปรับเปลี่ยนใน 4 มิติดังนี้ 1.โลกกำลังปรับเปลี่ยนจาก “One Country, One Destiny” เป็น “One World, One Destiny” ดังนั้นต้องปรับเปลี่ยนคนไทยจากแบบ Thai-Thai เป็นคนไทยแบบ Global Thai 2.โลกกำลังปรับเปลี่ยนจาก “Analog Society” เป็น “Digital Society” ต้องปรับเปลี่ยนคนไทยจาก Analog Thai เป็นคนไทยที่เป็น Digital Thai เพื่อให้สามารถดำรงชีวิต เรียนรู้การทำงาน และประกอบธุรกิจ ได้ทั้งในโลกจริงและโลกเสมือนจริง 3.เพื่อให้สามารถอยู่ใน Global/Digital Platform ที่มีชุดของโอกาส ภัยคุกคาม เงื่อนไข และข้อจำกัดชุดใหม่ 4.เพื่อให้สามารถอยู่ในโลกศตวรรษที่ 21 อย่างเป็นปกติสุข จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนคนไทย จากคนไทยที่มองเป็นประโยชน์ส่วนตน เป็นคนไทยที่มีจิตสาธารณะมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม มีความเกื้อกูลและแบ่งปัน
แนวทางที่ 2 : การพัฒนาคลัสเตอร์เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งรัฐบาลนำร่องด้วย 10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยการต่อยอด 5 อุตสาหกรรมเดิม (The First S-Curves) เป็นอุตสาหกรรมซึ่งมีฐานที่แข็งแรงอยู่แล้วในระดับหนึ่ง แต่จำเป็นต้องต่อยอดให้มีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และรังสรรค์นวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก ประกอบไปด้วย อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-Generation Automotive) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Affluent, Medical and Wellness Tourism) การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Agriculture & Biotechnology) อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต (Food for the Future)
การสร้าง 5 อุตสาหกรรมใหม่ (The New S-Curves) เพื่อพัฒนาขีดความสามารถให้มีศักยภาพรองรับการแข่งขันในอนาคต ประกอบไปด้วย อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม (Robotics) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation & Logistics) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels & Biochemicals) อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital) อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีการกำหนดเป้าหมายและแผนงานที่ชัดเจน ซึ่งกำลังร่างกฎหมาย 2 ฉบับนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 มีการเพิ่มเครื่องมือใหม่ๆ ที่จะทำให้การส่งเสริมการลงทุนมีประสิทธิภาพสูงขึ้น และร่างพระราชบัญญัติการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็น พ.ร.บ.ที่ให้สิทธิประโยชน์ด้วยวิธีเจรจาต่อรองระหว่างรัฐกับบริษัท เพื่อแข่งขันกับประเทศต่างๆ ในการดึงดูดโครงการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยมีคณะอนุกรรมการสรรหาและเจรจา โดยรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เป็นผู้เจรจา และมีคณะกรรมการนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ ประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เป็นผู้พิจารณาอนุมัติ และจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ
แนวทางที่ 3 : การบ่มเพาะผู้ประกอบการและพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม หลักคิดของการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน คือการเปลี่ยนการเจริญเติบโตแบบ “รากฝอย” เป็นการเจริญเติบโตแบบ “รากแก้ว” เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเอง ยืนอยู่บนขาของตนเอง รวมกันเป็นกลุ่มอย่างมีพลัง ทั้ง 5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต จะเป็นรากแก้วที่ค้ำลำต้นของผู้ประกอบการและเครือข่ายวิสาหกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม อันประกอบด้วย 1.เปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิม (Traditional Farmers) ในปัจจุบัน ไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ที่เน้นการบริหารจัดการและเทคโนโลยี (Smart Farmers) 2.เปลี่ยนจากวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแบบดั้งเดิม (Traditional SMEs) ไปสู่การเป็นวิสาหกิจสมัยใหม่ (Smart Enterprises) 3.เปลี่ยนจากบริการแบบดั้งเดิม (Traditional Services) ซึ่งมีการสร้างมูลค่าค่อนข้างต่ำ ไปสู่บริการมูลค่าสูง (High Value Services) 4.ส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจเกิดใหม่ที่มีศักยภาพสูง (High Potential Startups)
แนวทางที่ 4 : การเสริมความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศ ผ่านกลไกของ 18 กลุ่มจังหวัด และ 76 จังหวัด ซึ่งการเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจและระบบตลาดภายในประเทศให้แข็งแกร่ง พบว่ากรุงเทพฯมีสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมถึงร้อยละ 30.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ในขณะที่กลุ่มจังหวัด 18 กลุ่ม มีสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมร้อยละ 69.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ โดยกลุ่มจังหวัดแถบภาคกลางของประเทศและภาคตะวันออกเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมสูงสุด ในขณะที่กลุ่มจังหวัดตามภูมิภาคต่างๆ ยังมีสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมค่อนข้างน้อย
ทั้งนี้ หนึ่งในเป้าหมายของไทยแลนด์ 4.0 คือการกระจายโอกาสและความมั่งคั่งลงสู่ระดับภูมิภาค ดังนั้นการวิจัยเชิงบูรณการสามารถพัฒนาเป็น Innovation Hub กระจายออกไปตามภูมิภาคต่างๆ ประกอบด้วย 1.Innovation Hub ด้านเกษตรและอาหาร 2.Innovation Hub ด้านสังคมสูงอายุ 3.เมืองอัจฉริยะ 4.Innovation Hub ด้าน Smart Energy 5.Creative Hub ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์
รัฐบาลได้มีนโยบายพัฒนาพื้นที่บริเวณชายแดนที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อกำหนด “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ” 2 ระยะ ในพื้นที่ 90 ตำบล ใน 23 อำเภอ 10 จังหวัด ได้แก่ ตาก มุกดาหาร สระแก้ว สงขลา ตราด หนองคาย นราธิวาส เชียงราย นครพนม และกาญจนบุรี
แนวทางที่ 5 : บูรณาการอาเซียน เชื่อมประเทศไทยสู่ประชาคมโลก โดยการวางตำแหน่งเชิงยุทธศาสตร์เป็นชาติการค้าและเป็นหนึ่งในศูนย์กลางธุรกิจของภูมิภาคเอเชีย ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกัน 1) การส่งเสริมให้บรรษัทข้ามชาติจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ และบริบทการค้าระหว่างประเทศในประเทศไทย 2) การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก 3) การพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรม 4) การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดน โดยแต่ละยุทธศาสตร์มีการลงในรายละเอียดและเริ่มมีการปฏิบัติมาแล้ว
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “โมเดลการขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 จะสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมา ครม.ได้เน้นในการวางรากหญ้าและการปฏิรูป แต่ในปีที่เหลือของรัฐบาลชุดนี้ แผนยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 จะถูกผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรม ทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การใช้งบประมาณสู่ 18 กลุ่มจังหวัด กองทุนหมู่บ้าน หรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่จะผลักดันผู้ประกอบการ ทั้งเอสเอ็มอี กลุ่มสตาร์ตอัพ และการยกระดับความสามารถ การเชื่อมโยงไทยสู่เพื่อนบ้าน บูรณาการทำงานของหน่วยงานระหว่างรัฐต่อรัฐ หรือรัฐต่อเอกชน โดยในอีก 3 ปีจะเน้นความชัดเจนของแผนที่ได้ทำในปีหน้า คาดว่าจะบรรลุตามแผนและเป้าหมาย 70-80% ภายใน 5 ปี โดยเฉพาะเรื่องการเตรียมบุคลากร ทั้งการศึกษา เอสเอ็มอีหน้าใหม่ๆ ที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยมีศักยภาพเต็มที่ที่จะผลักดันให้ขยายตัวได้ 5-6% ปี ไม่แค่ขยายตัว 3-4% ต่อปีอย่างปัจจุบัน”

หลังปีใหม่นี้จะมีการประชุมนัดแรก โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ที่จะเห็นความคืบหน้าหลัก 2 ส่วนคือ เห็นชอบตามพิมพ์เขียว ที่จะนำไปสู่การลงรายละเอียดและการจัดสรรงบประมาณ และการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมากำกับดูแลโดยตรง

ไม่มีความคิดเห็น: