PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

กระทรวงพลังงานเตรียมแผนรับซื้อไฟฟ้าปี2560 อีกจำนวน850-1,000เมกะวัตต์

กระทรวงพลังงานเตรียมแผนรับซื้อไฟฟ้าปี2560 อีกจำนวน850-1,000เมกะวัตต์

  • Date : 27/02/2017, 15:56.
  • hybrid
กระทรวงพลังงานเตรียมแผนปี2560รับซื้อไฟฟ้าเพิ่ม 850-1,000 เมกะวัตต์ โดยแบ่งเป็นนโยบายเดิมในส่วนของโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการและสหกรณ์  ขยะชุมชน  FiT Bidding ภาคใต้ และนโยบายใหม่ใน 3 โครงการสำคัญ คือ SPP Hybrid Firm  ,VSPP แบบSemi Firmและ โครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐ
 นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า แผนรับซื้อไฟฟ้าของกระทรวงพลังงานในปี2560 ที่จะมีทั้งนโยบายเดิมและนโยบายใหม่ รวมประมาณ 850-1,000 เมกะวัตต์นั้น ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) จะทะยอยออกประกาศรับซื้อทั้งหมดภายใน2-3เดือนหลังจากนี้
โดยในส่วนที่เป็นนโยบายเดิมที่จะมีการดำเนินการประกอบด้วย โครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนพื้นดิน(โซลาร์ฟาร์ม)ในส่วนราชการจำนวน400เมกะวัตต์ ที่จะมีการพิจารณาในระดับนโยบายว่าจะสามารถรับซื้อได้จำนวนเท่าไหร่ และในส่วนของโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ เฟสที่2 อีกจำนวน119 เมกะวัตต์ ที่จะใช้วิธีการคัดเลือกแบบจับสลาก  รวมทั้งการรับซื้อไฟฟ้าจากชีวมวลแบบประมูลแข่งขันในภาคใต้ที่ยังเหลือค้างอยู่12เมกะวัตต์  ,โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน78เมกะวัตต์
สำหรับส่วนที่เป็นนโยบายใหม่นั้น จะมีโครงการ รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in-Tariff (FiT)สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก แบบ SPP Hybrid Firm จำนวน300เมกะวัตต์ จากนโยบาย โรงไฟฟ้า- ประชารัฐ สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 53 เมกะวัตต์  และการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากหรือVSPP ในรูปแบบSemi Firm  จากชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และพืชพลังงาน อีก 289 เมกะวัตต์ ตามมติการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา  
นายทวารัฐ กล่าวในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 27ก.พ.2560  ถึงมติกพช.เรื่องของ SPP Hybrid Firm   ว่า  รัฐบาลต้องการที่จะส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้มีการใช้ทรัพยากรภายในประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงาน และเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงาน โดยการพิจารณาอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบFeed-in-Tariff (FiT)ที่ 3.66 บาทต่อหน่วยสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก แบบ SPP Hybrid Firm โดยกำหนดเงื่อนไขไว้ดังนี้ คือ ใช้สำหรับการเปิดรับซื้อรายใหม่เท่านั้น และขายเข้าระบบเป็น SPP ขนาดมากกว่า 10  เมกะวัตต์ แต่ไม่เกิน 50 เมกะวัตต์ โดยสามารถใช้เชื้อเพลิงได้มากกว่าหรือเท่ากับ 1 ประเภท โดยไม่กำหนดสัดส่วน
ทั้งนี้อาจพิจารณาใช้ระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ร่วมได้ และต้องเป็นสัญญาประเภท Firm กับ กฟผ. เท่านั้น (เดินเครื่องผลิตไฟฟ้า 100% ในช่วง Peak และ ในช่วง Off-peak ไม่เกิน 65 % โดยอาจต่ำกว่า 65% ได้ ทั้งนี้ให้เป็นไปตามที่ กกพ.กำหนด) นอกจากนี้ยังห้ามใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมาช่วยในการผลิตไฟฟ้า ยกเว้นช่วงการเริ่มต้นเดินเครื่องโรงไฟฟ้า (Start up)เท่านั้น และยังต้องมีแผนการจัดหาเชื้อเพลิง และต้องมีแผนการพัฒนาเชื้อเพลิงใหม่เพิ่มเติมใช้พื้นที่ร่วมด้วย เช่น การปลูกพืชพลังงาน เป็นต้น สำหรับการรับซื้อไฟฟ้าในลักษณะ Competitive Bidding ใช้อัตรา FiT เดียวแข่งกันทุกประเภทเชื้อเพลิง กำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ภายในปี 2563
 โดยกระทรวงพลังงานได้จัดทำอัตราการรับซื้อไฟฟ้า FiTสำหรับ SPP Hybrid Firm ซึ่งพิจารณาต้นทุนการผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานหลายประเภทเชื้อเพลิง บนพื้นฐานเชื้อเพลิงที่มีศักยภาพในการดำเนินการผลิตไฟฟ้าในรูปแบบ Firm และสรุปอัตรารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ FiT สำหรับ SPP Hybrid Firm ได้ดังนี้
 นายทวารัฐ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุม กพช. ยังได้เห็นชอบให้รับซื้อไฟฟ้าโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก แบบ SPP Hybrid ในปริมาณ 300 เมกะวัตต์ โดยมอบหมายให้ กกพ. และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กำหนดปริมาณการรับซื้อแบ่งเป็นรายภูมิภาคตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่ และนำเสนอให้ กบง. พิจารณาเห็นชอบ ก่อนออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก แบบ SPP Hybrid Firm ต่อไป
สำหรับ โครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐ สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อสนับสนุนรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาพื้นที่ชายแดนใต้อย่างยั่งยืน เพื่อรองรับการจัดตั้ง “โครงการพาคนกลับบ้าน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” และ โครงการรองรับมวลชน หมู่บ้านสันติสุข” แก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยการสร้างงาน เพิ่มรายได้  ที่กพช.ให้ความเห็นชอบนั้น ได้กำหนดแผนงานการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลขนาดเล็ก ไว้ 3 แห่ง ในพื้นที่ อ.เมือง จ.นราธิวาส อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี และ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 18 เมกะวัตต์ และจะจ่ายไฟเข้าระบบจำหน่ายของ กฟภ. รวม 12 เมกะวัตต์ โดยให้ใช้เชื้อเพลิงเศษไม้ยางพาราเป็นเชื้อเพลิงหลัก
ในส่วนแผนงานการผลิตไฟฟ้าจากชีวภาพ กำหนดให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวภาพ จำนวน 30 แห่ง ในพื้นที่ จ.นราธิวาส จ.ปัตตานี และ จ.ยะลา ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 35 เมกะวัตต์ จ่ายไฟเข้าระบบจำหน่ายให้ กฟภ. รวม 30 เมกะวัตต์ ใช้หญ้าเนเปียร์ เป็นเชื้อเพลิงหลัก โดยทั้ง 2 แผนงานนี้ ทุกปีจะมีจัดสรร 10% ของกำไรสุทธิ กลับคืนให้แก่ชุมชนในพื้นที่ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ตลอดจนส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าในรูปแบบกระจายศูนย์ ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นคงในการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงในชุมชนอย่างยั่งยืน

ไม่มีความคิดเห็น: