PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

โลกก่อหนี้ทุบสถิติ อุ้มศก.เอาใจประชาชน

(Feb 27) โลกก่อหนี้ทุบสถิติ อุ้มศก.เอาใจประชาชน : สแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ (เอสแอนด์พี) องค์กรจัดอันดับเรตติ้งชื่อดัง คาดการณ์ว่า รัฐบาลทั่วโลกจะออกพันธบัตรเพิ่มขึ้นอีก 6.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 237 ล้านล้านบาท) ส่งผลให้ปริมาณหนี้พันธบัตรรัฐบาลทั่วโลกพุ่งขึ้นแตะ 44 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1,535 ล้านล้านบาท) ในปีนี้ มากที่สุดทำสถิติใหม่ นำโดยรัฐบาลประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐที่พร้อมจะก่อหนี้ตามแผนของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ และญี่ปุ่นที่ประสบกับปัญหาเศรษฐกิจมาอย่างยาวนาน
เอสแอนด์พี ระบุว่า สหรัฐจะกู้ยืมเพิ่มผ่านการออกพันธบัตรในปีนี้อีก 2.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 76 ล้านล้านบาท) ขณะที่ญี่ปุ่นเตรียมจะออกพันธบัตรเพิ่มอีกมากกว่า 1.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 62 ล้านล้านบาท) โดยการออกพันธบัตรใหม่ทั้งสองชาติคิดเป็นสัดส่วน 60% ของแนวโน้มการออกพันธบัตรใหม่ทั้งหมดในปีนี้
การกู้ยืมเพิ่มดังกล่าวมาในยุคที่ประชาชนกังวลเรื่องการขาดดุลงบประมาณกันน้อยลง โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วที่การเติบโตไม่ได้ร้อนแรงเช่นประเทศตลาดเกิดใหม่ และรัฐบาลไม่ต้องการเสี่ยงทำให้ประชาชนไม่พอใจด้วยการรัดเข็มขัดจนเกินไป ท่ามกลางกระแสชาตินิยมที่ร้อนแรง ซึ่งเห็นได้ชัดจากสหรัฐและอังกฤษที่ต่างเจอเหตุการณ์พลิกผันเมื่อปีก่อน
ทรัมป์ให้สัญญาจะกระตุ้นทางคลังด้วยการปรับลดภาษีทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา รวมถึงยังจะใช้จ่าย
ด้านโครงสร้างพื้นฐานอีกมหาศาล โดยองค์กรนอกรัฐที่ติดตามการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินในสหรัฐอย่างสภาเพื่อการใช้จ่ายงบประมาณอย่างมี ความรับผิดชอบ คำนวณว่า นโยบายของทรัมป์จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อขนาดเศรษฐกิจ (จีดีพี) เพิ่มขึ้น จาก 77% ในปัจจุบัน เป็น 105% ในเวลา 10 ปี
แผนการของทรัมป์ทำให้องค์กร จัดอันดับความน่าเชื่อถือในการ ชำระหนี้รายใหญ่อย่าง ฟิทช์ เรทติ้งส์ ออกมาเตือนว่าอาจมีการ ปรับลดเครดิตของสหรัฐลงในอนาคต แม้ในระยะสั้นจะยังไม่มีผลกระทบ เนื่องจากปัจจุบันค่าเงินเหรียญสหรัฐแข็งค่าขึ้น ทำให้ง่ายต่อการจ่ายหนี้ รวมถึงสินทรัพย์ของสหรัฐยังมีฐานะเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศด้วย
ทว่า สำหรับด้านอังกฤษแล้ว ภายหลังการทำประชามติออกจากสหภาพยุโรป (อียู) หรือเบร็กซิต เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2016 บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่างเดินหน้าลดเครดิตของสหราชอาณาจักร โดยเอสแอนด์พีปรับลดลงมา 2 ระดับ จาก AAA เป็น AA ขณะที่ฟิทช์ลดจาก AA+ เป็น AA กระนั้น เพียงไม่กี่วันถัดมา จอร์จ ออสบอร์น รัฐมนตรีคลัง ในขณะนั้น ได้ยกเลิกแผนการทำให้งบประมาณเกินดุลภายใน ปี 2020 ไป
จากการรวบรวมข้อมูลของนิตยสารอีโคโนมิตส์ ระบุว่า ในปัจจุบันมีเพียง 11 ชาติเท่านั้นที่ได้เรตติ้งสูงสุดระดับ AAA จากฟิทช์ เพียงแค่ 11 ชาติ ลดลงจากปี 2009 ที่อยู่ที่ 16 ชาติ หรือหากคิดเป็นมูลค่า
พันธบัตรรัฐบาลคิดเป็นสัดส่วน 40% ของโลกอยู่ที่ระดับความน่าเชื่อถือสูงสุด ลดลงจาก 48% เมื่อ ทศวรรษก่อน
ความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการคลังเพื่อรองรับกับความต้องการของประชาชนในประเทศ ไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ทำให้รัฐบาล ยังคงออกหนี้เพิ่มขึ้นในทุกปี โดยการ ที่นักลงทุนและธนาคารกลางยังคงถือครองพันธบัตรในประเทศพัฒนาแล้ว เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลกล้าที่จะก่อหนี้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นเป็นชาติที่มีแนวโน้มจะก่อหนี้เป็นอันดับ 2 ของปีนี้ โดยระดับหนี้สาธารณะของญี่ปุ่นอยู่ที่ 245% ของ จีดีพี และเอสแอนด์พีลดอันดับเครดิตของญี่ปุ่นลงในปี 2015 จาก AA- เป็น A+ หลังนโยบายเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ อาจ ไม่ได้ผลต่อเศรษฐกิจ ขณะที่ด้านฟิทช์ออกโรงเตือนญี่ปุ่นเมื่อปี 2016 ที่ผ่านมาว่า อาจมีการปรับลดอันดับเครดิตด้วยเหตุผลเดียวกัน รวมถึงยังเป็นเพราะญี่ปุ่นเลื่อนแผนขึ้นภาษีขายออกไปอย่างน้อยจนปี 2019
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงลงทุนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอย่าง ต่อเนื่อง และผลตอบแทนพันธบัตรญี่ปุ่นก็นับว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี อยู่ที่ 0.06% ในปัจจุบัน ปรับขึ้นมาจากแดนลบในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ประกาศใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบส่งผลให้นักลงทุนเข้าหาพันธบัตรซึ่งถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย จนราคาพันธบัตรซึ่งสวนทางกับผลตอบแทนพุ่งสูงขึ้น
นอกเหนือไปจากความเสี่ยงด้านความสามารถชำระหนี้ ซึ่งจะวัดจากอันดับเครดิตแล้ว นักลงทุนจะพิจารณาความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยในตลาด โดยเมื่อใดก็ตามที่อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ราคาของสินทรัพย์ปลอดภัย อย่างพันธบัตรมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากสินทรัพย์อื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้นตามดอกเบี้ยมีความน่าดึงดูด ในการลงทุนเพิ่มขึ้นนั่นเอง และในปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยของบีโอเจ อยู่ที่ลบ 0.1%
ปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนยังคงให้ความสนใจพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นที่แม้จะเป็นประเทศที่มีหนี้สาธารณะสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของโลก คือ อัตราเงินเฟ้อ โดยปัจจุบันญี่ปุ่นยังคงประสบปัญหาอย่างมากในการทำให้อัตราเงินเฟ้อกระเตื้องขึ้นให้ถึงเป้าหมายของบีโอเจที่ 2% จึงไม่มีแนวโน้มที่จะใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดอย่างการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นปัจจัยลบต่อพันธบัตร
นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อยังไป ลดแรงซื้อของนักลงทุนอีกด้วย ยกตัวอย่าง หากลงทุนซื้อพันธบัตรในปัจจุบันด้วยเงิน 100 เยน เมื่ออัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมาเป็น 4% จะทำให้ราคาสิ่งของที่ซื้อมาเพิ่มขึ้นเป็น 104 เยน โดยผลตอบแทนของพันธบัตรยังคงเท่าเดิมที่ 1% ส่งผลให้เมื่อถึงเวลาไถ่ถอน นักลงทุนจะได้รับเงินคืน 101 เยน แม้ในปัจจุบันราคาที่เพิ่มขึ้นจากเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 104 เยน เท่ากับขาดทุนไป 3 เยน โดยหากประสบกับภาวะเงินฝืดจะให้ผลในทางตรงกันข้าม
ขณะเดียวกัน พันธบัตรของญี่ปุ่นยังมีลูกค้ารายใหญ่อีกรายหนึ่ง นั่นคือ บีโอเจ ที่ใช้มาตรการซื้อคืนสินทรัพย์ (คิวอี) ขนานใหญ่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยในปี 2016 ที่ผ่านมา แม้บีโอเจเปลี่ยนทิศทางนโยบายด้วยการจะเข้าซื้อหรือขายพันธบัตรเพื่อให้พันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี มีผลตอบแทนอยู่ที่ราว 0% โดยไม่ยึดติดกับปริมาณการเข้าซื้อปีละ 80 ล้านล้านเยน (ราว 24 ล้านล้านบาท) แต่จากการคำนวณของดอยช์แบงก์ บีโอเจถือพันธบัตรรัฐบาลเป็นสัดส่วนมากที่สุดในตลาดเกิดใหม่ ด้วยสัดส่วนมากกว่า 30% ของพันธบัตรรัฐบาลทั้งหมด
การที่นักลงทุนหรือธนาคารกลางยังคงพร้อมที่จะถือครองพันธบัตรรัฐบาลอยู่ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลทั่วโลกกล้าจะออกพันธบัตรรัฐบาลเพิ่ม นอกเหนือไปจากการใช้งบประมาณทางการคลังเพื่อดำเนินนโยบายแบบประชานิยม
การกู้ยืมเพิ่มมาในยุคที่ประชาชนกังวลถึงการขาดดุลงบประมาณกันน้อยลง โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วที่การเติบโต ไม่ร้อนแรงเช่นประเทศตลาด เกิดใหม่
โดย ชญานิศ ส่งเสริมสวัสดิ์
Source: Posttoday

ไม่มีความคิดเห็น: