PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ข่าว28/2/60

ธรรมกาย

นายกฯ นำประชุม คสช. ก่อน ครม. เลี่ยงตอบคุยปมพระธรรมกาย ขณะ มท.1 สั่งภูมิภาคดูแลเข้มงวดประชาชนต่างจังหวัดที่จะเดินทางเข้าวัด

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 08.08 น. พร้อมเป็นประธานประชุม คสช. ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยก่อนประชุม นายกรัฐมนตรีเลี่ยงการตอบคำถามว่าที่ประชุม คสช. จะมีการหารือกรณีวัดพระธรรมกายหรือไม่

ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงการดูแลประชาชนต่างจังหวัดที่จะเดินทางมาที่วัดพระธรรมกาย ว่า ฝ่ายความมั่นคง มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยดูแลส่วนภูมิภาค โดยกำชับให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด และเจ้าคณะจังหวัด เข้ามาช่วยดูแลส่วนนี้ สำหรับความคืบหน้าการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความปรองดองในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ พล.อ.อนุพงษ์ ระบุว่า ฝ่ายปกครองได้ประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดแล้ว ซึ่งต้องรอความชัดเจนในการดำเนินการ คาดว่า จะชัดเจนช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้ ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการรับฟังความเห็นก็ลงพื้นไปทำความเข้าใจประชาชนเช่นกัน
------------
มท. แจ้ง ผจว. ทำความเข้าใจประชาชน ปมชุมนุมวัดพระธรรมกาย พร้อมขอสนับสนุนงาน ป.ย.ป. 

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงกรณีการรวบตัวของกลุ่มมวลชนที่จะเข้ามาร่วมชุมนุมกับวัดพระธรรมกาย ว่า ทางฝ่ายความมั่นคงได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยดูแล โดยได้มีการแจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทำความเข้าใจกับประชาชน โดยให้อาศัยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. อบจ. ซึ่งได้กราบเรียนเจ้าคณะจังหวัดฝ่ายสงฆ์ให้ทำความเข้าใจกับประชาชนอีกทางด้วย

ทั้งนี้ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ตอนนี้ทางกองทัพได้เตรียมประชุมทำความเข้าใจกับผู้ว่าราชการจังหวัด ในการกำหนดแนวทางรับฟังความคิดเห็นจากส่วนต่าง ๆ และทำความเข้าใจกับประชาชน เพื่อสนับสนุนงานของ ป.ย.ป. ซึ่งก็ยังต้องรอความชัดเจนจากคณะทำงานส่วนนี้ก่อนว่าจะให้ดำเนินการอย่างไรต่อไป
------------
นายกฯประชุมคสช.เสร็จแล้ว - โฆษก ยัน ไม่พูดคุยปรับแผนควบคุมวัดพระธรรมกาย

ความเคลื่อนไหวที่ทำเนียบเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้เป็นประธานการประชุมคสช.  โดยภายหลังใช้เวลานานกว่า 90 นาที สมาชิกคสช. อาทิ นายมีชัย ฤชุพันธ์ พลอากาศตอม รุ่งสว่างผบ.ทอ.พลเอกสุรพงษ์ สุวรรณอัต ผบ.สส. ทยอยเดินทางออกทำเนียบทันที โดยไม่ยอมให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนแต่อย่างใด

ขณะที่พันเอกวินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ยืนยันว่า ที่ประชุมวันนี้ไม่มีพูดคุยถึงเรื่องการปรับแผนควบคุมพื้นที่วัดพระธรรมกาย โดยอาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคสช. แต่ได้หารือถึงการจดสิทธิบัตรในการประดิษฐ์ และเรื่องขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ  ขสมก. เกี่ยวกับการบริหารเส้นทางเดินรถ ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือว่าจะใช้มาตรา 44 ในเรื่องนี้หรือไม่ โดยรายละเอียดทั้งหมดจะต้องรอ พลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
-----------
รมช.กต. เข้าร่วมประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ณ สมาพันธรัฐสวิส 27 ก.พ. - 1 มี.ค. นี้

เฟซบุ๊กกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีกำหนดเข้าร่วมการประชุมระดับสูงของการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน

แห่งสหประชาชาติ (UNHRC) สมัยที่ 34 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2560
-------
โฆษก คสช. เผย ที่ประชุมไม่หารือ ปรับแผนมาตรา 44 ควบคุมวัดธรรมกาย

พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. กล่าวภายหลังการประชุม คสช. ว่า ไม่มีการหารือถึงเรื่องการปรับแผนมาตรา 44 ควบคุมพื้นที่วัดพระธรรมกาย ซึ่งที่ประชุมในวันนี้ได้หารือถึงการจดสิทธิบัตรในการประดิษฐ์ที่ยังอยู่ในระหว่างการหารือ และเรื่องขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. เกี่ยวกับการบริหารเส้นทางเดินรถ ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือว่าจะใช้มาตรา 44 ในเรื่องนี้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะมีการแถลงรายละเอียดของการประชุม คสช. ทั้งหมดในวันนี้
----------
หัวหน้า คสช. ไม่เพิ่มกำลังดูวัดพระธรรมกาย พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่เลี่ยงปะทะ ขณะไม่กำหนดกรอบเวลาตรวจค้น

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เป็นประธานการประชุม คสช. ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งที่ประชุมได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินการตรวจค้นวัดพระธรรมกาย โดยนายกรัฐมนตรี ได้สอบถามถึงการจัดวางกำลัง และกำชับเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน ให้พยายามหลีกเลี่ยงการปะทะกัน แต่ให้ใช้วิธีกดดัน ให้อ่อนแรง เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปตรวจค้นได้ โดยไม่มีการปะทะ

ทั้งนี้ การปฎิบัติการยังไม่มีการเพิ่มกำลัง โดยใช้เจ้าหน้าที่  26 กองร้อย เท่าเดิม และไม่ได้กำหนดกรอบเวลาในการดำเนินการแต่อย่างไร
-----------
นายกฯ ยืนยันไม่ยกเลิก ม.44 คุมวัดพระธรรมกาย ขออย่าขัดขวางการตรวจค้น เน้นการพูดคุยยึดกฎหมาย ให้ กต. แจงนานาชาติ ไร้ความรุนแรงกับพระสงฆ์

พล.อ.ประยุทธ์ จันทน์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงการดำเนินการเข้าตรวจค้นวัดพระธรรมกาย เพื่อนำตัว พระธัมมชโย มาดำเนินคดีตามหมายจับด้วยการหาทางออกระหว่างกัน โดยเน้นการพูดคุยที่อยู่ในกรอบของกฎหมาย เพื่อให้ทุกอย่างแล้วเสร็จด้วยความรวดเร็ว และไม่กระทบกับผู้อื่น

ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าจะไม่มีการยกเลิกการคำสั่งตามมาตรา 44 เพราะต้องใช้กฎหมายนี้ในการอำนวยความสะดวกในการทำงานแก่เจ้าหน้าที่ ในการขอเข้าไปตรวจค้นในพื้นที่ พร้อมกันนี้ ได้ให้ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ชึ้แจงการดำเนินการขอเจ้าหน้าที่ว่าทางรัฐบาลไม่ได้ใช้ความรุนแรงกับพระสงฆ์ ตามกระแสข่าวที่ออกมา ซึ่งหากไม่สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีทุกอย่างก็ไม่จบ
------------
พล.อ.ประวิตร รับ คุย มทภ.1 เรื่องวัดพระธรรมกาย ยันยังไม่มีการปรับแผน หวัง "พระธัมมชโย" มอบตัว มั่นใจยังอยู่ในวัด ยันไม่ใช้ไม้แข็งแน่นอน

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า วันนี้ได้มีการพูดคุยกับ พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 และ พล.ต.ธรรมนูญ วิถี รองแม่ทัพภาคที่ 1 ถึงความเคลื่อนหน้าการดูแลรักษาความปลอดภัยพื้นที่โดยรอบวัดพระธรรมกาย แต่ยังไม่มีการปรับแผนใด ๆ เพราะต้องการให้วัดและพระธัมมชโย ออกมามอบตัวเองเพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายและเป็นการยุติเหตุการณ์ทั้งหมด โดยทางเจ้าหน้าที่มีความมั่นใจว่าขณะนี้พระธัมมชโยยังอยู่ที่วัด แต่ก็จะไม่มีการใช้ไม้แข็งกับพระอย่างแน่นอน

พร้อมกันนี้ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ยังระยุว่า ได้สอบถามถึงกรณีที่มีการเก็บค่าอาหารมื้อละ 80 บาท กับทางตำรวจที่เกี่ยวข้องแล้ว ซึ่งตำรวจยอมรับว่าในระยะแรกแม่ค้าเรียกเก็บค่าข้าวกล่อง 80 บาท จริง แต่ปัจจุบันได้ลดเหลือ 50 บาทแล้ว ขณะเดียวกัน ได้ปฏิเสธกระแสว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตรวจค้นวัดพระธรรมกายสูงถึง 60 ล้านบาท ว่าไม่เป็นความจริง เพราะไม่มีการใช้จ่ายงบประมาณใด ๆ
---------
"สุวพันธุ์" ยัน เฝ้าระวังมวลชนหนุนวัดพระธรรมกาย เชื่อมโยงการเมืองแล้ว ยังคงมาตรการเข้มงวดตามปกติ 

นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธณะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยืนยันว่า ในการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. และการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ นายกรัฐมนตรี ไม่มีการสอบถามถึงคดีวัดพระธรรมกาย พร้อมระบุว่า เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานมีการเฝ้าระวังกลุ่มมวลชนผู้สนับสนุนวัดพระธรรมกายที่เคยร่วมชุมนุมทางการเมืองอยู่แล้ว โดยยืนยันว่า ได้รับความร่วมมือจากคณะสงฆ์ในการดูแลกลุ่มสงฆ์ที่รวมตัวกันอยู่บริเวณตลาดกลาง เรื่องอาหารเช้าและอาหารเพลของคณะสงฆ์ ส่วนมาตรการอื่น ๆ ยังคงไว้เช่นเดิมก่อน แต่เนื่องจากทางวัดย้ำมาตลอดว่า พระธัมมชโย ไม่ได้จำวัดภายในวัดธรรมกายแล้ว จึงมีการเพิ่มการสืบสวนสอบสวนรอบพื้นที่รอบนอก เพื่อแกะรอยตามหาพระธัมมชโยมากขึ้น ส่วนการเจรจากับวัดพระธรรมกายนั้น นายสุวพันธุ์ ระบุว่า ยังมีการพูดคุยกันอยู่ และเจ้าคณะจังหวัดก็ได้ช่วยเข้าไปดูด้วย
----------
"สุวพันธุ์" ปัดข่าวเตรียมเปลี่ยนอธิบดี DSI ยันงบประมาณดูแล จนท. รอบวัดพระธรรมกาย ไม่ถึง 60 ล้านบาท ตามข่าวลือ

นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธณะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงงบประมาณที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ใช้ในการจัดการรอบวัดพระธรรมกาย ว่า เป็นไปตามระเบียบราชการ และไม่ถึง 60 ล้านบาท ตามที่วัดพระธรรมกายกล่าวอ้าง ซึ่งส่วนตัวมองว่า สังคมจะต้องเรียนรู้ว่าเหตุการณ์นี้ ว่าทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปอย่างไร หลังหัวหน้า คสช. ประกาศใช้อำนาจมาตรา 44 ให้พื้นที่รอบวัดพระธรรมกายเป็นพื้นที่ควบคุมแล้ว 14 วัน แต่ก็ยังปฏิบัติการไม่สำเร็จ และยังย้ำอีกว่า เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง

อย่างไรก็ตาม นายสุวพันธุ์ ยังปฏิเสธกระแสข่าวการปรับเปลี่ยนตำแหน่งอธิบดีดีเอสใหม่ โดยยืนยันว่า ยังคงเป็น พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง เช่นเดิม
------------
นายกฯขอประชาชนอย่าเชื่อข่าวลือปมวัดพระธรรมกาย ขออย่าสร้างกระแส ไทยพุทธ-มุสลิม มีปัญหากัน 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทน์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีที่ผู้ไม่หวังดีสร้างกระแสว่า มุสลิมอยู่เบื้องหลังการเข้าบุกค้นวัดพระธรรมกาย และพระสงฆ์จากประเทศเมียนมา แสดงความไม่พอใจ ว่า เป็นเพียงกลุ่มไม่หวังดีสร้างกระแส ซึ่งตนเองและจุฬาราชมนตรี ได้มีการพูดคุยกันในการดูแลชาวมุสลิมในประเทศไทย จึงขออย่าสร้างกระแส ว่า ชาวพุทธ และมิสลิมมีปัญหากัน  ขณะเดียวกัน ก็ได้มีการประสานไปยังประเทศเมียนมา ซึ่งก็มีความเข้าใจดีระหว่างกัน ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนวิเคราะห์ว่า สิ่งที่ได้ยินมามีความเป็นไปได้หรือไม่
---------
จนท.ตั้งป้ายประกาศงดพระภิกษุสามเณรชุมนุมขัดขวางเจ้าหน้าที่บริเวณวัดพระธรรมกาย เพิ่มทางเข้าออกรอบวัดพระธรรมกาย อีก 1 จุด ขณะสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ตรวจใบสุทธิพระสงฆ์

ความเคลื่อนไหวที่ตลาดกลางคลองหลวง จ.ปทุมธานี เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารนำแผงรั้วเหล็กกั้นรอบพื้นที่ ตั้งจุดตรวจคัดกรอง โดยได้เพิ่มทางเข้าออกเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในพื้นที่ เพิ่มอีก 1 จุด รวมเป็น 3 จุด มีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจบูรณาการตรวจค้นบุคคลเข้าออก

ขณะที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้ตั้งโต๊ะตรวจใบสุทธิพระสงฆ์ มาแล้วกว่า 3 วัน แต่วันนี้ ได้เพิ่มเจ้าหน้าที่กรมการปกครอง ผู้ใหญ่บ้าน เข้าร่วมตรวจสอบ ป้องกันบุคคลเข้ามาในพื้นที่ พร้อมนำป้ายประกาศงดพระภิกษุสามเณรชุมนุมขัดขวางเจ้าหน้าที่บริเวณวัดพระธรรมกาย ซึ่งเป็นความผิดทางกฎหมายมาติดตั้งไว้ บริเวณด้านหน้าทางเข้าออกตลาดกลางคลองหลวง เช่นเดียวกับบริเวณประตูที่ 7 ที่มีการนำป้ายประกาศ 3 ภาษามาติดไว้เช่นกัน

ส่วนพระภิกษุ 5 รูป ที่อดอาการประท้วง การใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของ คสช. มีอาการอ่อนเพลีย แต่ยังคงนั่งสวดมนต์ โดยทีมมีแพทย์ ของวัดพระธรรมกาย เข้าตรวจร่างกายเป็นระยะ เนื่องจากพระภิกษุทั้ง 5 รูป ได้นั่งสมาธิสวดมนต์มากว่า 6 วัน

นอกจากนี้ บริเวณฝั่งคลองแอนประตู 5 และ 6 วัดพระธรรมกาย พระสนิทวงศ์ วุฒิวังโส ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร เตรียมให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนในเวลา 10.00 น.
-----------
รองโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ เผยค้นภายในวัดพระธรรมกายยังมีบางจุดที่สงสัยอยู่ อุบรายชื่อคนปลุกระดมมวลชน

พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ รองโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เปิดเผยว่า การเข้าค้นภายในวัดพระธรรมกายยังมีบางจุดที่สงสัยอยู่ แต่ไม่สามารถเข้าไปเข้าไปค้นได้เนื่องจากเป็นศาสนสถาน มีพระสงฆ์และลูกศิษย์ จำนวนมากปฏิบัติธรรมอยู่ แม้เจ้าหน้าที่มีมาตรา 44 อยู่ในมือ แต่ยังไม่อยากให้ประชาชนและสังคม มองว่าเจ้าหน้าที่ทำสิ่งที่รุนแรงและไม่เหมาะสม

ส่วนประเด็นว่าเป็นการทำลายศาสนานั้น อยากให้ประชาชนอ่านและศึกษาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาที่แท้จริง เชื่อว่าประชาชนมีวิจารณญาณในการทำความเข้าใจสำหรับ 40 บุคคล ที่มีพฤติการณ์ปลุกระดม ตอนนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่ามีรายชื่อเป็นใครบ้าง แต่เบื้องต้นทราบว่าเป็นชาวไทย ส่วนจะมีชาวต่างชาติเกี่ยวข้องหรือไม่นั้น ต้องขอดูรายชื่อก่อน โดยการประชุมวันนี้คาดว่าจะได้ข้อสรุปว่าจะมีการออกหมายเรียกหรือไม่
----------------
วัดพระธรรมกาย ขอพระสงฆ์เลิกอดข้าวประท้วง ม.44 ยืนยันไม่รู้ จนท. ปืนหาย 400 กระบอก

พระสนิทวงศ์ วุฑฒิวังโส ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย ระบุ ขอให้กลุ่มพระสงฆ์ 5 รูป ยุติการอดอาหารเพื่อคัดค้านการใช้มาตรา 44 เนื่องจากทางวัดมีความเป็นห่วงด้านสุขภาพ และยืนยันทางวัดไม่ทราบเรื่องการติดป้าย We need food เมื่อเจ้าหน้าที่ประสานมาก็ยินดีปลดป้ายดังกล่าวออก ตั้งแต่ช่วงสายของเมื่อวานนี้ แต่สัญญาณถูกตัดขาดจึงประสานไม่ได้เจ้าหน้าที่ได้

ทั้งนี้ พระสนิทวงศ์ ยังเห็นว่าดีเอสไอควรไปทวงเงินกว่าหมื่นล้านจากที่อื่น เนื่องจากเงินทั้งหมดไม่ได้ถูกส่งมาที่วัดพระธรรมกาย โดยพบว่าเงินส่วนใหญ่อยู่ที่บุคคลอื่น ส่วนที่พบว่าถูกบริจาคมาที่พระธัมมชโย มีเพียงร้อยละ 8 จากจำนวนทั้งหมด ซึ่งกลุ่มลูกศิษย์ได้ร่วมลงเงินช่วยเยียวยาผู้เสียหายจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นแล้ว แต่กลับถูกกล่าวหาว่ามีความผิดฐานเรี่ยไร

ส่วนกระแสข่าวว่าปืนเจ้าหน้าที่หายกว่า 400 กระบอก และถูกซุกซ่อนอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์นั้น พระสนิทวงศ์ ชี้แจงว่า ตั้งแต่วันที่ 16 - 18 กุมภาพันธ์ เป็นต้นมา เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจค้นภายในวัด

อย่างละเอียดแล้ว แต่ไม่พบเป้าหมายและสิ่งผิดกฎหมาย ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ เป็นต้นมา วัดก็อยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่ หากมีสิ่งใดผิดปกติไม่เกี่ยวข้องกับวัดเป็นความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ และวันนี้ยังครบกำหนดวันสุดท้ายที่ระบุตามหมายค้นวัดพระธรรมกายของศาลด้วย

อย่างไก็ตาม พระสนิทวงศ์ ยังกล่าวด้วยว่า การติดป้ายประกาศให้พระภิกษุสงฆ์ สามเณร งดการชุมนุมถือว่าผิดหลักทางศาสนา ขอให้ผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนา ทบทวนการออกคำสั่งต่าง ๆ ด้วย
---------
ดีเอสไอ งัดมาตรการเชิงรุก หลังพบการข่าวตลาดกลางคลองหลวงเตรียมยกระดับชุมนุม - ขู่ฟันไม่มีใบสุทธิ ผิดข้อหาแต่งกายเลียนแบบพระ

พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ รองโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เปิดเผยสถานการณ์ล่าสุดว่า วัดพระธรรมกายจากการข่าว พบว่า การจัดตั้งมวลชนบริเวณตลาดกลางคลองหลวง วัดพระธรรมกาย มีความพยายามจะยกระดับการชุมนุม ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ต้องมีความจริงจังในการเรียกบุคคลที่อยู่เบื้องหลังมารายงานตัว อีกทั้งมีข้อมูลว่ามีการพยายามใช้มวลชนเล็ดลอดเข้าในพื้นที่ในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งเจ้าหน้าที่มีการสกัดกั้นตามขั้นตอน เนื่องจากวัดพระธรรมกายเป็นพื้นที่ควบคุม

พร้อมยืนยันว่าจากนี้ ดีเอสไอ สำนักพระพุทธศาสนาและหน่วยที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งทางฝ่ายสงฆ์จะใช้มาตรการเชิงรุกมากขึ้นในการปฏิบัติ เช่น การตรวจสอบใบสุทธิ หากอ้างไม่มีใบหรือตรวจไม่พบจะถูกดำเนินคดีในฐานแต่งกายเลียนแบบพระสงฆ์

อย่างไรก็ตาม ยังระบุว่าวันนี้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เรียกข้าราชการในสังกัดและผู้ที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายเกี่ยวข้องการขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่มารายงานตัวด้วย
-----------
จนท. บูรณาการตั้งจุดคัดกรองพระสงฆ์ที่ไปตลาดกลางคลองหลวง ตรวจสอบใบสุทธิวันนี้ 14 รูป

บรรยากาศความเคลื่อนไหวที่ตลาดกลางคลองหลวง เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ได้ร่วมกับ ฝ่ายปกคอง สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และทหาร บูรณาการตั้งจุดคัดกรองพระสงฆ์ที่จะผ่านเข้าไปยังตลาดกลางคลองหลวง

โดย นายพลังชาติ เหมือนแก้ว พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ชำนาญการพิเศษ (8) ดีเอสไอ เปิดเผยว่า ตั้งแต่ช่วงเช้ามีพระสงฆ์ที่ได้เข้ามาในพื้นที่ และทำการตรวจสอบใบสุทธิไปแล้วทั้งหมด 14 รูป ซึ่งเป็นพระสงฆ์ที่อยู่นอกเขตวัดพระธรรมกาย และขณะนี้ ไม่อนุญาตให้เข้าไปในพื้นที่ตลาดกลางคลองหลวงเพื่อร่วมชุมนุม ตามประกาศของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยได้เชิญให้กลับไปยังวัดที่เดินทางมา แต่มีพระสงฆ์ต้องการกลับวัดไปแล้วเพียง 4 รูป เท่านั้น

สำหรับการคัดกรองในจุดนี้ตั้งมาแล้ว 2 วัน มียอดรวมพระสงฆ์ที่อยู่นอกเขตวัดพระธรรมกายรวม 38 รูป มีใบสุทธิทั้งหมด โดยเจ้าหน้าที่ จะเน้นการตรวจใบสุทธิ และถามเหตุผลที่เข้ามาในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่จะอ้างว่าเคยเข้าร่วมในการบวชของวัดพระธรรมกาย และศรัทธาในพระธัมมชโย จึงต้องการมาร่วมการสวดมนต์

ส่วนด้านตัวแทนสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ชี้แจงว่า ทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้นำป้ายเข้ามาติดตั้งเพิ่มเติม ตามประตูต่าง ๆ ทางเข้าวัดพระธรรมกาย ว่าห้ามพระสงฆ์ชุมนุมขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ แต่ยังไม่มีคำสั่งใด ๆ ถึงแนวทางการปฏิบัติต่อไป และในวันนี้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จะมาลงพื้นที่บริเวณตลาดกลางคลองหลวง ด้วย
-----------
พระสงฆ์ ลูกศิษย์วัดพระธรรมกาย นั่งสวดมนต์ตลาดกลางคลองหลวง ต่อเนื่อง 

ความเคลื่อนไหวที่บริเวณตลาดกลางคลองหลวงจังหวัดปทุมธานี ยังคงมีพระสงฆ์ลูกศิษย์วัดพระธรรมกายนั่งสวดมนต์ภายในเต็นท์อย่างต่อเนื่องขณะที่ท่าทีของพระสงฆ์ 5 รูป ที่ประกาศอดอาหารประท้วง การบังคับใช้มาตรา 44  ภายหลัง พระสนิทวงศ์ วุฒิวังโส ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย ได้ขอให้ยุติภารกิจ ล่าสุด ตัวแทนพระสงฆ์ 1 ใน 5 รูป ได้ระบุว่าจะต้องไปพูดคุยกันและขอสงวนท่าทีการเคลื่อนไหว แต่ยังยืนยันจุดยืนที่เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก มาตรา 44 และตลอด 7 วันที่ผ่านมา พระสงฆ์มีความอ่อนล้า แต่ได้พยายามฉันน้ำเข้าไปในร่างกายให้มากที่สุด ประมาณ 3 - 4 ลิตรต่อวัน

ขณะที่มาตรการการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ยังคงเป็นไปอย่างเข้มงวด มีการตั้งจุดคัดกรองบุคคลที่ผ่านเข้าออกและตรวจค้นกระเป๋าสัมภาระ
-----------
พระภิกษุ 5 รูป อดอาหารประท้วง ยังนั่งสวดมนต์ตามปกติ ท่ามกลางตำรวจ ทหาร ที่ดูแลความปลอดภัยเข้มงวด

ความเคลื่อนไหวที่บริเวณตลาดกลางคลองหลวง จ.ปทุมธานี ตัวแทนพระสงฆ์ ยังคงเทศนาผ่านเครื่องกระจายเสียงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ลูกศิษย์ยังคงนั่งสวดมนต์ภายในเต็นท์ แม้สภาพอากาศจะค่อนข้างร้อนอบอ้าว

ส่วนพระภิกษุ 5 รูปที่อดอาหาร ประท้วงการบังคับใช้มาตรา44 ล่าสุดได้กลับมานั่งสวดมนต์ ตามปกติ โดยยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการยกเลิกการอดอาหารตามคำร้องขอ ของ พระสนิทวงศ์ วุฑฒิวังโส ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ตลาดกลางคลองหลวง ยังคงมีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ตำรวจอารักขาและควบคุมฝูงชนหญิง (อคฝ.หญิง) เจ้าหน้าที่กรมการปกครองสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ ตั้งจุดตรวจคัดกรองอย่างเข้มงวด
--------------
โฆษก DSI ระบุ ตั้งป้ายประกาศ ไม่ให้พระสงฆ์เข้าชุมนุม รอบวัดพระธรรมกาย พร้อมออกหมายเรียกบุคคลที่พยายามเข้ามาเคลื่อนไหว รวม 21 ราย

พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล โฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ กล่าวถึงความคืบหน้าในการปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นวัดพระธรรมกาย ว่า ขณะนี้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นผู้ดำเนินการกับพระสงฆ์ที่เข้ามาในพื้นที่ โดยเบื้องต้นได้มีการดำเนินการติดตั้งป้ายประกาศ ไม่ให้พระสงฆ์เข้าร่วมชุมนุม รอบพื้นที่ และตั้งโต๊ะ ตรวจสอบใบสุทธิพระที่บริเวณประตู 7 โดยพบว่า มีพระสงฆ์พยายามจะเข้าในพื้นที่วัดพระธรรมกาย ประมาณ 50 - 100 รูปต่อวัน นั้น ส่วนมากเป็นพระสงฆ์ที่เดินทางมาจากเครือข่ายของวัดพระธรรมกายในต่างจังหวัด ที่ถูกชักชวนให้เข้ามาร่วมต่อต้าน โดยมีการให้ข้อมูลว่า ทางเจ้าหน้าที่พยายามทำลายศาสนา ซึ่งไม่เป็นความจริง

ส่วนประเด็นที่ทางเครือข่ายวัดพระธรรมกายในต่างประเทศ ได้มีการพยายามไปรวมตัวชุมนุมที่นครเจนีวา ต่อที่ประชุมสิทธิมนุษยชน ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ยึดแนวทางการปฏิบัติตามขั้นตอนทางกฎหมาย โดยยึดหลักสิทธิมนุษยชนอยู่แล้ว

โฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ดำเนินการออกหมายเรียกบุคคลที่พยายามเข้ามาเคลื่อนไหว สนับสนุนในพื้นที่ไปแล้วแบ่งเป็น ออกหมายเรียก พระสงฆ์รอบแรก 14 รูป และบุคคลที่เคลื่อนไหว 4 คน และล่าสุด ช่วงกลางดึกเมื่อคืนทีผ่านมา มีการดำเนินการออกหมายเรียกเพิ่มเติมอีก 3 คน รวมขณะนี้มีการดำเนินการออกหมายเรียกไปแล้ว 21 ราย และยังคงมีกลุ่มบุคคลที่พบข้อมูลว่าพยายามเข้ามาเคลื่อนไหวอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งหากพบว่าเข้ามาเคลื่อนไหวในพื้นที่ก็จะดำเนินการออกหมายเรียกทันที
----------------
ดีเอสไอ เชิญตัวแทนพระสงฆ์ที่ปักหลักชุมนุมตลาดกลางคลองหลวง หารือ ขอไม่ให้พระสงฆ์เข้ามาเพิ่มอีก

คณะสงฆ์ นำโดยเจ้าคณะอำเภอคลองหลวง จ.ปทุมธานี สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ และเจ้าหน้าที่ทหาร ได้เชิญ พระเสกสรรค์ อัถตะธรรมโม ตัวแทนพระสงฆ์ ที่ปักหลักชุมนุมในตลาดกลางคลองหลวง จ.ปทุมธานี เข้ามาหารือภายในรถนานกว่า 1 ชั่วโมง โดยเจ้าหน้าที่ที่เข้าร่วมฟังการพูดคุย ระบุเบื้องต้นว่า ได้มีการขอความร่วมมือแนวทางการจัดระเบียบพระสงฆ์ที่จะเดินทางเข้ามาในตลาด ไม่ให้เพิ่มจำนวนมากกว่าที่มีอยู่ประมาณ 100 รูป ซึ่งจะจำกัดจำนวนไว้เท่านี้ ส่วนพระสงฆ์ที่กังวลว่า หากออกจากพื้นที่แล้วจะไม่ได้กลับเข้ามาในพื้นที่ตลาดกลางอีก ให้นำใบสุทธิ และทำประวัติก่อน เนื่องจากเมื่อจะกลับเข้ามาแล้ว เจ้าหน้าที่มีการตรวจสอบ พบว่าได้มีการทำประวัติไว้ก่อนหน้านี้ ก็จะอนุญาตให้เข้ามาในพื้นที่เช่นเดิม สำหรับการที่เชิญตัวแทนเข้ามาพูดคุยเพียงไม่กี่คนนั้น ก็เพื่อเป็นการลดความตรึงเครียดและการเผชิญหน้าของทั้งสองฝ่าย

อย่างไรก็ตาม ทางพระสงฆ์ ยังคงต้องมีการหารือร่วมกันอีกครั้ง ก่อนที่เวลา 17.00 น. วันนี้จะมีการแถลงจุดยืนและกำหนดแนวทางการเคลื่อนไหว ร่วมทั้งท่าทีของพระสงฆ์ 5 รูป ที่อดอาหารประท้วงการบังคับใช้มาตรา 44 ว่า จะยกเลิกภารกิจตามที่หลายฝ่ายเป็นห่วงหรือไม่
-------------------
////////////////
ปรองดอง

ปลัด กห. คุยปรองดอง 4 พรรค พรุ่งนี้เปิดเวทีระดับภูมิภาค ให้ผู้ว่าฯ เป็นเจ้าภาพดำเนินการ

พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธานคณะอนุกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง ครั้งที่ 9 โดยวันนี้ ได้เชิญพรรคการเมืองเข้ามาให้ข้อเสนอแนะในการสร้างความปรองดอง โดยเรียงตามตัวอักษร ประกอบด้วย พรรคทวงคืนผืนป่าประเทศไทย พรรคพลังเครือข่ายประชาชน พรรคพลังสหกรณ์ พรรคมหาชน และพรรคยางพาราไทย ซึ่งการหารือในวันนี้ "พรรคมหาชน" ไม่ได้ร่วมเข้าหารือ เนื่องจากติดภารกิจ และในพรุ่งนี้ จะเป็นคิวของ"พรรคพลังชล"

อย่างไรก็ตาม การหารือดังกล่าวจะยึดแนวทางการปรองดองตามกรอบแนวทางของรัฐธรรมนูญทั้ง 10 ข้อ และสอดคล้องกับการทำงานของ คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง หรือ ป.ย.ป. ส่งเสริมแผนต่าง ๆ ตามนโยบายคณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ดำเนินต่อไปด้วยความรวดเร็ว

ทั้งนี้ พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (1 มีนาคม 2560) เป็นวันแรกที่จะเปิดเวทีการปรองดองในระดับภูมิภาค ทั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค เป็นผู้กำกับในระดับภาค ส่วนในระดับจังหวัดจะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นเจ้าภาพในการดำเนินการ ระบุใช้เวลา 1 เดือน ในการรับฟังความคิดเห็น
-------------
"เสรี" มั่นใจ รายงานปรองดองของอนุฯ ครอบคลุมปัญหาในอดีต ยึดหลักการของกฎหมาย มีผลในทางปฏิบัติได้ 

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมการธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง (สปท.) ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมกรรมาธิการ ว่า ได้อ่านรายงานของคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษารวบรวมความเห็น วิเคราะห์ ประเด็นแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดอง ทางการเมืองแล้ว เห็นว่า เป็นรายงานที่ครอบคลุมถึงปัญหาความขัดแย้งในอดีต และข้อเสนอในการแก้ปัญหา น่าจะมีผลในทางปฏิบัติได้ โดยยังคงให้ยึดหลักการของกฎหมายและการพิสูจน์ความถูกต้อง ซึ่งผู้ที่กระทำความผิดต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่มีโอกาสได้รับการให้อภัยกลับคืนสู่สังคม ทั้งนี้ อาจมีกฎหมายพิเศษมารองรับ ซึ่งไม่น่าจะกระทบต่อความเห็นทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการ จะได้พิจารณาปรับแก้ เพื่อให้สมบูรณ์และเสนอต่อที่ประชุม วิป สปท. ในวันพฤหัสบดีที่ 2 มีนาคม นี้ ว่าจะตัดสินใจนำรายงานนี้ส่งตรงไปที่ คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) หรือส่งให้ สปท. ได้พิจารณาในที่ประชุมใหญ่ก่อนส่งให้ รัฐบาลรับไปดำเนินการ
---------------
"ชาญชัย" เรียกร้อง ป.ป.ช. ใช้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ขอข้อมูลจัดการคนผิดสินบนโรลส์ - รอยซ์ 

นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวเรียกร้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นำอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ปี ค.ศ.2003 ซึ่งไทยร่วมเป็นภาคีสมาชิกกับองค์การสหประชาชาติ มาใช้เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับกรณีบริษัท โรลส์ - รอยซ์ เนื่องจากในอนุสัญญาดังกล่าว ข้อ 43 ระบุถึงความร่วมมือระหว่างประเทศที่รัฐภาคีสมาชิกต้องให้ความร่วมมือ ร่วมกันในการสืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับการทุจริต และข้อ 46 ระบุไว้ว่า ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางกฎหมาย ที่รัฐภาคีต้องข่วยเหลือในการสืบพยานหลักฐาน สอบปากคำบุคคล ส่งเอกสารของศาล ค้น ยึด และอายัด ตรวจสอบวัตถุและสถานที่ให้ข้อมูล พยานหลักฐาน

นอกจากนี้ ยังมีข้อ 23 เรื่องการฟอกเงิน ในกรณีการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างหรือให้สินบน ถือเป็นการฟอกเงินที่ได้มาจากการทุจริต ก็ให้ใช้กฎหมายฟอกเงินเข้าดำเนินการได้ทันที ดังนั้น จะเห็นได้ว่าอนุสัญญานี้เปิดช่องให้สามารถดำเนินการครบถ้วน และทำใช้ได้ทันที

ทั้งนี้ นายชาญชัย ยังกล่าวด้วยว่า ไม่เข้าใจ ทำไม ป.ป.ช. จึงยังไม่ดำเนินการ โดยอ้างว่าต้องรอให้สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นผู้ขอข้อมูลตามกฎหมายอาญาระหว่างประเทศ เพราะในทางปฏิบัติ ป.ป.ช.
ไม่จำเป็นต้องรอให้มีการดำเนินคดีอาญาภายในประเทศก่อนตามที่มีการกล่าวอ้าง
------------------

ไม่มีความคิดเห็น: