PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

"มีชัย"ไม่ชัวร์กม.ลูกเสร็จทัน

"นายวิษณุ เครืองาม" ระบุนับจากวันนี้อีก 1 ปี จะมีการเลือกตั้ง แต่ยอมรับยังระบุวันเลือกตั้งที่แน่นอนไม่ได้ ด้าน"นายมีชัย ฤชุพันธุ์" ยอมรับยังบอกไม่ได้ว่ากฎหมายลูก 10 ฉบับจะเสร็จภายในปีนี้หรือไม่ เพราะต้องรอให้รัฐธรรมนูญประกาศใช้ก่อน จึงจะเริ่มขั้นตอนน
(8/2/60)นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ หรือ กฎหมายลูกว่า ทางกรธ.ได้ดำเนินการตามตารางเวลาที่กำหนดไว้ โดยขณะนี้ต้องรอให้รัฐธรรมนูญประกาศใช้ก่อน จึงจะเริ่มต้นนับหนึ่งได้ แต่ระหว่างนี้ทางกรธ.ก็ได้มีการพิจารณากฎหมายลูกล่วงหน้าแล้ว ส่วนจะเสร็จทันภายในปีนี้หรือไม่ยังบอกไม่ได้ เพราะยังไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลานานเท่าไร
ข้อสำคัญคือเมื่อกฎหมายลูกออกมาแล้วต้องไปดูด้วยว่า กกต.กับพรรคการเมืองจะใช้เวลานานเท่าไร ในการปรับตัวเข้ากับเนื้อหากฎหมายใหม่ ส่วนกฎหมายว่าด้วยด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ยังต้องฟังความเห็นอีกหลายกลุ่มเพื่อหาข้อยุติให้ได้ แต่ กรธ.ดูรอบแรกไปแล้ว คงไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งขณะนี้ กรธ.กำลังพิจารณาร่างกฎหมายลูกป.ป.ช. อยู่ ซึ่งตัวร่างกฎหมายยาวมาก จึงต้องตัดเนื้อหาให้สั้นลง
นายมีชัย ยังกล่าวถึงความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่มีข้อเสนอให้คดีไม่มีอายุความ หรือ ยืดอายุความออกไปให้นานที่สุดว่า เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้เชิญตัวแทนจากศาลฎีกามาหารือแล้ว โดยกระบวนการจะเป็นไปในแนวทางว่า ให้จำเลยเลือกว่า จะมาศาลหรือไม่เพราะถ้าไม่มาก็สามารถพิจารณาลับหลังได้ เพราะถือว่าให้สิทธิจำเลยแล้ว ดีกว่าไปขยายอายุความ เพราะกระบวนการยุติธรรมต้องเดินหน้าต่อไป
ด้านนายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. เปิดเผยว่า ในสัปดาห์นี้ ทางกรธ. ได้มีการพิจารณาร่างกฎหมายลูกว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยมีประเด็นสำคัญที่กรธ.ได้ข้อสรุปเบื้องต้น คือ จะไม่บัญญัติให้มี ป.ป.ช.ประจำจังหวัด ตามเนื้อหาของร่างกฎหมายที่ถูกส่งเข้ามา เพราะกรธ. วางเจตนาของกลไกการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น คือ การกำกับและควบคุมโดย ป.ป.ช.ส่วนกลาง ที่เน้นทำเรื่องการเมืองระดับสูง ขณะที่ประเด็นย่อย หรือท้องถิ่นนั้น เป็นสิ่งที่ ป.ป.ช. สามารถส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการได้
แต่หากป.ป.ช.กลางต้องการข้อมูลในระดับท้องถิ่น สามารถแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ หรือคณะบุคคลเข้าไปดำเนินการตามภาระกิจได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีพนักงานหรือเจ้าหน้าที ป.ป.ช.ประจำพื้นที่ดำเนินการ ส่วนสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดนั้น ยังไม่มีข้อสรุปว่า จะยุบ หรือยกเลิก เพราะสำนักงานอาจมีส่วนช่วยเหลือในการปฏิบัติหน้าที่
สำหรับการเตรียมการรับฟังความเห็นของประชาชนนั้น ล่าสุดได้เตรียมจัดเวที เพื่อรับฟังความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง ต่อ ร่างกฎหมายลูกว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน ในวันที่ 15 ก.พ. นี้ และจัดเวทีรับฟังความเห็นต่อร่างกฎหมายลูกว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในวันที่ 1 มี.ค. นี้
ขณะที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นับจากวันนี้อีกประมาณ 1 ปี คาดว่า จะมีการเลือกตั้ง แต่เป็นเพียงการประมาณเท่านั้น จึงขอสื่อย่าไปคาดคั้น เพื่อหาวันเลือกตั้งที่แน่นอน แต่เมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้ หลายอย่างต้องลงมือปฏิบัติทันที เช่น มาตรา 77 ในรัฐธรรมนูญ กำหนดว่าการออกกฎหมายต้องรับฟังความเห็นผู้เกี่ยวข้องทุกขั้นตอน ซึ่งอาจจะทำให้การออกกฎหมายยากขึ้น แต่เพื่อประโยชน์ประชาชน โดยอาจจะเปิดช่องทางรับฟังผ่านเว็บไซต์ หรือให้ประชาชนสามารถแจ้งโดยตรงไปยังหน่วยงานนั้น ซึ่งทุกหน่วยงานต้องดำเนินการ หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ไม่เช่นนั้นจะถือว่า มีความผิดฐานบกพร่องทางวินัย

ไม่มีความคิดเห็น: