PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

."เงินคงคลังถังไม่แตก":เปลว สีเงิน

."เงินคงคลังถังไม่แตก"
Thursday, February 9, 2017 - 00:00

หูตาแหกเป็นเจ๊กตื่นไฟ..!!! จับแพะชนแกะเสร็จแล้ว แอบทิ้งลูกตาลให้กระต่ายตื่นตูม วิ่งหนีกันหูตาแหก มั่วไปถึงขั้นรัฐบาลถังแตก..!!! ประเทศจะถึงกาลฉิบหายแล้ว..!!!

ครับ...จากเงินคงคลัง กลายไปเป็นเงินสำรองระหว่างประเทศ แล้วไปสรุปว่ารัฐบาลไม่มีเงินเหลือแม้จะจ่ายเงินเดือนข้าราชการสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้แน่นอน...

เล่นกันถึงขั้นว่า ต้องสิ้นชาติในเดือนวาเลนไทน์ ต้องกู้ไอเอ็มเอฟกันอีกรอบ..!!!

ข่าวสารยุคนี้มันไปไวครับ ไล่งับกันในโลกโซเชียล ใครช้าเหมือนตกเทรนด์ ยิ่งเป็นพวกต่อต้านรัฐบาล คสช.ด้วยแล้ว แชร์กันรัว

ไม่ต้องไปดูกันหรอกครับว่า ข้อเท็จจริงคืออะไร

ฉะนั้นวันนี้มาเรียนเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นกันหน่อย

เงินคงคลัง ถูกนิยามเอาไว้ว่า คือเงินสดหรือสิ่งใกล้เคียงเงินสดที่รัฐบาลมีไว้เพื่อการใช้จ่ายในการดำเนินงานของรัฐ

เป็นเงินรายรับที่เหลือจากการใช้จ่ายซึ่งรัฐบาลเก็บสะสมไว้ในแต่ละขณะ ดังนั้น ปัจจัยสำคัญที่มีผลให้เงินคงคลังเปลี่ยนแปลง คือ การจัดเก็บรายได้ การเบิกใช้รายจ่าย และการนำเงินคงคลังมาใช้

สำหรับประเทศไทย เนื่องจากการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล มาจากเงินภาษีเป็นหลัก รอบของการตกงวดภาษีสำคัญๆ ที่มีกำหนดช่วงเวลาไว้ เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ยื่นภายในเดือนมีนาคมของทุกปี
หรือภาษีเงินได้นิติบุคคล งวดปีและงวดครึ่งปี ยื่นภายในเดือนพฤษภาคมและสิงหาคมของทุกปี เป็นต้น
เมื่อเปรียบเทียบกับการเบิกใช้รายจ่ายที่ส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายประจำ อาทิ เงินเดือน เบี้ยหวัด ซึ่งมักมีภาระต้องจ่ายอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ระดับเงินคงคลังได้รับอิทธิพลจากปัจจัยด้านฤดูกาลที่ว่าข้างต้น

เงินคงคลังเปรียบเสมือนเป็นเงินออมของประเทศ อาจจะมีจำนวนมากขึ้นหรือลดลงก็ได้ โดยมีปัจจัยหลักที่สาคัญ ๓ ประการ ที่จะส่งผลกระทบต่อสถานะของเงินคงคลัง คือ
การจัดเก็บรายได้ของรัฐ
การใช้จ่ายของรัฐ
และการนำเงินคงคลังออกมาใช้

เงินคงคลังไม่ใช่กลไกด้านนโยบายหลักที่ขับเคลื่อนการใช้จ่ายของรัฐบาลในการบริหารราชการแผ่นดิน แต่การมีเงินคงคลังในระดับที่เพียงพอ ก็ย่อมสร้างเสริมความมั่นใจได้ว่ารัฐบาลยังมีเครื่องมือไว้ดูแลในกรณีที่มีเหตุการณ์จำเป็นเร่งด่วนให้ต้องใช้จ่ายเงิน อันรวมถึงความสามารถในการหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของหน่วยงานภาครัฐ

ส่วนเงินสำรองระหว่างประเทศ คือสินทรัพย์ที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นธนาคารกลางของประเทศ เก็บรักษาไว้ให้ทุกคน ประกอบด้วย ทองคำ เงินตราต่างประเทศ หลักทรัพย์ต่างประเทศ เป็นต้น
พูดง่ายๆ คือ ทุนสำรองที่แบงก์ชาติ ต้องลงทุนเฉพาะในต่างประเทศ ไม่สามารถนำมาลงทุนภายในประเทศในรูปเงินบาทได้ เพราะจะทำให้แบงก์ชาติควบคุมปริมาณเงินไม่ได้

ปัจจุบัน ไทยมีเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในลำดับที่ ๑๓ ของโลก ๑๗๕,๐๗๓ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ตัวเลขปี ๒๕๕๙)

ในอดีตปี ๒๕๔๐ วิกฤติต้มยำกุ้ง แบงก์ชาตินำเงินไปสู้การโจมตีค่าเงิน ทุนสำรองจาก ๔๐,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เหลือก้นถุงอยู่เพียง ๕๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ครับ...มาที่เงินคงคลังปัจจุบันเหลืออยู่ ๗.๔๙ หมื่นล้านบาท

เหลือแค่นี้ถือว่ารัฐบาลถังแตกหรือยัง?

"กรณ์ จาติกวณิช" อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ไว้วันก่อนว่า

“เงินคงคลังคือปริมาณเงินสดที่รัฐถืออยู่ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง มันไม่ได้สะท้อนถึงความมั่งคั่งของประเทศแต่อย่างใด เพราะเงินคงคลังไม่ได้หมายถึงรายได้ หรือกำไรที่เป็นส่วนเกินของประเทศ เงินที่กู้ยืมมาก็ถือว่าเป็นเงินคงคลังได้เช่นกัน สมมติว่าอยากให้มีเงินคงคลังเยอะๆ ก็ไปกู้มาเยอะๆ ได้ ถามว่านั่นคือเรื่องที่ดีไหม ก็ไม่ใช่

. นึกภาพง่ายๆ ว่าสมมติเรามีธุรกิจร้านค้าเล็กๆ เราก็ต้องประเมินว่าวันวันหนึ่งเราจะต้องใช้เงินสดเท่าไร เราก็เก็บเงินสดไว้ในลิ้นชักให้เพียงพอ มากเกินไปก็ไม่ดี เพราะแทนที่เงินนั้นจะอยู่ในบัญชีธนาคารเพื่อกินดอกเบี้ยก็กลับมาอยู่ในลิ้นชักเฉยๆ ซึ่งถือว่าเสียโอกาส แต่น้อยไปก็ไม่ดี เผื่อว่าวันดีคืนดีมีเรื่องต้องจ่ายเงินมากกว่าที่คิด ถ้าเงินสดหรือเงินหมุนเวียนไม่เพียงพอก็คงแย่ ดังนั้นมันเป็นเรื่องของการบริหารเงินสดในมือ ไม่ได้สะท้อนถึงความมั่งคั่งของประเทศแต่อย่างใด"

เป็นการอธิบายตรงไปตรงมา ไม่ได้สร้างความแตกตื่น สับสน ให้สังคม เพราะโดยหลักการมันเป็นเช่นนั้น

หรือพูดง่ายๆ การเคลื่อนไหวของเงินคงคลัง จะขึ้นอยู่กับรายรับ รายจ่าย ในแต่ละเดือน

รายรับ หมายถึงการจัดเก็บภาษีของกระทรวงการคลังที่มี ๓ ทางหลักๆ คือ
จากกรมสรรพากร เป็นภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทห้างร้านต่างๆ ภาษีมนุษย์เงินเดือน หรือภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งต้องถูกหัก ณ ที่จ่ายอยู่แล้วในแต่ละเดือน และภาษีมูลค่าเพิ่ม

ถัดมา ภาษีจากกรมศุลกากร ที่มาจากการจัดเก็บภาษีนำเข้าและส่งออก

และช่องสุดท้าย ภาษีสรรพสามิต ที่เก็บจาก เหล้า บุหรี่ สุรา ยาเมา

เดือนไหน จัดเก็บภาษีได้เยอะ แต่การเบิกจ่ายงบน้อย ก็จะเหลือสุทธิเป็นเงินคงคลังที่ค่อนข้างเยอะ แต่หากเดือนไหน การเบิกจ่ายงบประมาณ เป็นไปได้ดี ตามเป้า ก็อาจทำให้เงินคงคลังลดลง

หรือถ้ารัฐบาลมีรายจ่ายพิเศษ ก็จะมีผลต่อเงินคงคลังด้วยเช่นกัน

สิ่งที่อธิบายนี้อยู่บนสมมุติฐานว่าในปีนั้นเศรษฐกิจไม่มีปัญหา

คือ...เดินได้เรื่อยๆ การไหลเข้าของภาษีไม่สะดุด วัฏจักรของเงินคงคลังก็จะเป็นเช่นนี้

แต่ที่เป็นข่าวเมื่อไม่กี่วันมานี้ คือ การเบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดินของงบประมาณปี ๒๕๖๐ เป็นไปตามเป้า

ดีกว่าปีที่ผ่านๆ มาที่การเบิกจ่ายงบของภาครัฐค่อนข้างอืด

เงินคงคลังจึงเหลือน้อยกว่าปกติ!

ประเด็นนี้ยังไม่มีใครกล่าวถึงนัก โดยเฉพาะนักการเมืองไม่ค่อยจะอยากพูดถึง เพราะการเบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดินให้เป็นไปตามเป้า มันเกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพการบริหารราชการแผ่นดินเช่นกัน

บางปีที่ เงินคงคลังเหลือมากๆ อย่าเพิ่งดีใจนะครับ เพราะปีนั้นงบเบิกจ่ายไม่ออก โครงการลงทุนมีปัญหา หรือรัฐบาลไม่ใส่ใจติดตามงาน

การที่เงินคงคลังเหลือกว่า ๗ หมื่นล้านบาท มันจึงไม่ใช่คำตอบว่ารัฐบาลถังแตก แต่ต้องมองประสิทธิภาพในการเบิกจ่ายด้วย

ถ้าจะเอากรณีถังแตก กระเป๋าฉีกกันจริงๆ ต้องย้อนกลับไป ๓๓ ปีที่แล้วครับ

ก่อนลดค่าเงินบาท ปี ๒๕๒๗ ยุคนั้นเศรษฐกิจไทยย่ำแย่อย่างหนัก ขาดดุลการค้า น้ำมันแพง
รัฐบาลแทบไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนข้าราชการ

นี่คือส่วนหนึ่งของที่มาของการลดค่าเงินบาท เพื่อให้การส่งออกสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้

การตัดสินใจของรัฐบาลยุคนั้นถือว่ากล้าหาญ เพราะเป็นแผนที่เสี่ยงพอสมควร

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และรัฐมนตรีคลัง สมหมาย ฮุนตระกูล กินไม่ได้นอนไม่หลับอยู่หลายเดือน
ในที่สุดการตัดสินใจในครั้งนั้น ทำให้ประเทศไทยสามารถกลับมาเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสำเร็จเป็นครั้งแรกในปี ๒๕๒๙

หลังจากที่ประเทศไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดติดต่อกันถึง ๒๐ ปีก่อนหน้านั้น

วันนี้ไทยแลนด์ ๔.๐ เศรษฐกิจไม่ได้แย่เหมือนช่วงปี ๒๕๒๗ ฉะนั้น ไม่ควรอ้ำอึ้งครับ

รัฐมนตรีคลังต้องพูดให้ชัดว่า งบที่เบิกจ่ายไปได้อย่างรวดเร็วตามเป้านั้น นำไปใช้จ่ายอะไรบ้าง ซึ่งก็ไม่ยากครับ

มันจะชัดเจนกว่าไปอ้างเรื่องไม่กู้เงินมาถือไว้ให้ตัวเลขเงินคงคลังดูดี แต่จะเป็นภาระต้องจ่ายดอกเบี้ย เพราะเมื่อเขาสวนเรื่องที่ท่านกู้มาเมื่อไม่กี่เดือนก่อน มันกลายเป็นว่าท่านพูดไม่จริง

แล้วมันจะเสียทั้งรัฐบาล

ฉะนั้นตัวเลขพวกนี้ไม่ได้สะท้อนว่ารัฐบาลไม่มีเงิน ตราบเท่าที่มีการอธิบายให้เห็นภาพชัดเจน

เหมือนกรณีทุนสำรองระหว่างประเทศที่ไทยมีมากกว่าอเมริกานั่นแหละครับ มันไม่ได้หมายความว่า คนไทยจะรวยกว่าอเมริกัน

นักการเมืองในพรรคเพื่อไทย ก็ควรพูดตามข้อเท็จจริง ไม่ใช่เอาตัวเลขมาจับแพะชนแกะหลอกชาวบ้าน ว่ารัฐบาลมือเติบใช้เงินหมดแล้ว

ถ้าพูดเรื่องรัฐบาลมือเติบ สมัยรัฐบาลไทยรักไทย นายทักษิณ ชินวัตร กระสันอยากได้ ทุนสำรองระหว่างประเทศมาเล่นแร่แปรธาตุ แต่ถูกขัดขวาง

เพราะไม่เชื่อเรื่องความโปร่งใสครับ

พวกนักการเมืองสันดานไม่เคยเปลี่ยน

เมื่อไหร่ที่อยู่ในอำนาจ โง่เพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์ แต่พอเสียอำนาจ ฉลาดเพื่อให้ตัวเองได้กลับเข้าสู่อำนาจ

จิตสำนึกการใช้เงินภาษีประชาชนให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเพื่อชาติประชาชนไม่มีหรอกครับ

ห่วงแค่เรื่องอำนาจจะอยู่ในมือตัวเองเมื่อไหร่

เท่านั้นจริงๆ!

ผักกาดหอม

เปลว สีเงิน

ไม่มีความคิดเห็น: